วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

บุ๋มๆๆๆๆแบ๊ะๆๆๆ / โดย ทีมข่าวการเมือง

On May 1, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

“ยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการอนุมัติเงียบ คณะรัฐมนตรีทั้งคณะรู้ทั้งหมด ที่ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมไม่ชี้แจงให้ประชาชนทราบ เดี๋ยวก็ทราบกันเอง ถึงเวลาก็ทราบ อย่างเรื่องรถถังอนุมัติมา 1-2 เดือนแล้วก็เพิ่งทราบ แล้วก็มาเขียน โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำใช้เวลาศึกษามา 9 ปี กว่าจะสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน กว่าจะมีการอนุมัติ ไม่ใช่คิดเพียง 1-2 วัน ถือเป็นยุทธศาสตร์เก่าซึ่งกองทัพเรือต้องการมานานแล้ว จึงได้วางยุทธศาสตร์และแผนพัฒนากองทัพไว้ มีการตั้งกองเรือดำน้ำมาตั้งนานแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีเรือ มีแต่คน”

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ Yuan Class S26T จากจีน เมื่อวันที่ 18 เมษายน แต่ไม่มีการแถลงให้ประชาชนรับทราบ จนกระทั่ง พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าเป็นความจริง แต่ที่ไม่แถลงเพราะทางกองทัพเรือขอให้เป็นความลับ ทั้งสื่อเองก็ไม่ได้ถาม

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประวิตรยืนยันว่า เรื่องนี้อธิบายมานานแล้วว่าจะซื้อทีละลำ เพราะกว่าจะได้ต้องใช้เวลา 5-6 ปี จึงมีการวางแผนระยะยาว โครงการนี้จะใช้เวลาทั้งหมด 11 ปีกว่าจะได้ทั้งหมด 3 ลำ ยืนยันว่าทุกอย่างดำเนินการตามขั้นตอน การจัดซื้อจัดหาต้องทำให้โปร่งใส ครั้งนี้เป็นการซื้อในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) โดยตรง

สาเหตุที่กองทัพเรือเลือกซื้อจากจีนเนื่องจากราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับ 9 ประเทศแพงกว่าทั้งหมด ทั้งยังไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์และเครื่องมือต่างๆติดมาด้วย เรือดำน้ำของจีนสามารถดำน้ำได้นานสูงสุด 21 วัน ซึ่งรายละเอียดต่างๆกองทัพเรือจะชี้แจงให้ทราบอีกครั้ง ส่วนการใช้งบประมาณเป็นของกองทัพเรือโดยเฉพาะ ไม่ใช่งบกลาง ถือเป็นการใช้งบประมาณต่อเนื่องของกองทัพเรือตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนากองทัพเรือ ซึ่งมีแผนพัฒนาของแต่ละกองทัพอยู่แล้ว โดยการจัดซื้อครั้งนี้ทั้งหมด 36,000 ล้านบาท จำนวน 3 ลำ ส่วนรายละเอียดจะแบ่งจ่ายอย่างไรสื่อไม่จำเป็นต้องรู้ เอาเป็นว่าใช้เวลาทั้งหมด 11 ปี เป็นการทยอยจ่าย

“เรายืนยันในเรื่องการจัดซื้อจัดหา เราทำโปร่งใส โดยกองทัพเรือเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ถ้าเราตัดสินใจซื้อจากประเทศอื่นในราคาลำเดียวก็เท่ากับซื้อของจีนได้ถึง 2 ลำ แถมยังไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ติดมาด้วย คณะกรรมการจากกองทัพเรือ 20-30 คน พิจารณาอย่างรอบคอบ มีการเปรียบเทียบทั้งคุณภาพและราคาก่อนจะดำเนินการ ซึ่งทำตามขั้นตอนทุกอย่าง และที่ซื้อก็ไม่ถือว่าเป็นราคาที่แพง มีประโยชน์มากในฝั่งทะเลอันดามันที่เราจะใช้ในระยะ 200 ไมล์ทะเลที่เราไม่เคยเข้าไป ที่สำคัญต้องใช้เวลา 5-6 ปีกว่าจะได้เรือดำน้ำลำแรก ไม่ใช่ซื้อวันนี้ได้พรุ่งนี้”

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า การซื้อครั้งนี้ไม่ใช่ลักษณะบาร์เตอร์เทรด ไม่มีเรื่องการแลกเปลี่ยน ไม่มีเงื่อนไขอะไรเป็นพิเศษทั้งสิ้น เงื่อนไขพิเศษมีเพียงอย่างเดียวคือ จีนต้องมอบอาวุธยุทโธปกรณ์และขีปนาวุธยิงจากใต้น้ำสู่อากาศฟรี ถือเป็นออพชั่นที่ติดมากับเรือ ซึ่งความจริงเป็นเรื่องลับ กองทัพเรือจะเป็นผู้ชี้แจงอีกครั้ง

ส่วนที่ไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เพราะเป็นเอกสารลับ ไม่ว่าจะเป็น ครม.ชุดไหนก็เหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นเอกสารทางด้านยุทธศาสตร์ เรื่องยุทธวิธีเป็นเอกสารลับทั้งหมด

เมื่อถามว่า ครม. อนุมัติเมื่อวันที่ 18 เมษายนใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบกลับว่า “ผมจำไม่ได้ ผ่านไปนานแล้ว เอาเป็นว่าผมอยู่ในที่ประชุมแล้วกัน พวกสื่อจะรู้ไปทำไม หรือจะต้องถามด้วยว่าจะหายใจอย่างไร จะต้องถามกันอย่างไร จะเกิดประโยชน์อะไรกับประเทศบ้าง ในเมื่ออนุมัติแล้ว แล้วเป็นอย่างไร ก็ให้รู้ว่าอนุมัติแล้วก็จบ ไม่ต้องไปลงว่าอนุมัติวันที่เท่าไร ในเมื่อเป็นเอกสารลับก็ต้องลับอย่างนี้ ดีก็แล้วกัน ไม่เห็นเป็นอะไรเลย”

เมื่อถามถึงความชัดเจนของประโยชน์เรือดำน้ำที่ ครม. อนุมัติคืออะไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า มีความจำเป็นอย่างแน่นอน พูดมาแล้วหลายครั้ง ในประเทศอาเซียนหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ทุกประเทศมีแล้ว โดยเฉพาะเวียดนามมีถึง 12 ลำ ประเทศที่อยู่ใกล้ทะเลทั้งหมดมีการเตรียมการจัดซื้อเรือดำน้ำ เพราะมีความจำเป็นต้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติในระยะ 200 ไมล์ทะเล ประเทศไทยก็จำเป็นต้องมี กองทัพเรือจึงวางแผนยุทธศาสตร์รักษาทรัพยากรทางทะเลไว้

ส่วนหลักประกันในอนาคต เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลจะยังมีการให้จัดซื้อเรือดำน้ำอีก 2 ลำหรือไม่นั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่รู้เหมือนกัน แต่ทำแผนไว้เช่นนี้ ถ้าไม่อนุมัติก็ไม่อนุมัติถ้ามองไม่เห็นถึงความจำเป็น แต่กองทัพเรือต้องเสนอแน่นอน ไม่เช่นนั้นต้องเอางบไปทำและสร้างอย่างอื่น ไม่เห็นจะเป็นอะไร จากนี้เลิกพูดถึงเรื่องเรือดำน้ำเสียที ไปดำอย่างอื่นแทน

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 เมษายน พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษกกองทัพเรือ ได้ยืนยันถึงความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนว่า เพราะตลอด 60 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เรือดำน้ำชุดแรกของกองทัพเรือปลดประจำการ ทำให้มีรูโหว่การดูแลพื้นที่ใต้น้ำ ที่ผ่านมาเคยเสนอหลายรัฐบาลให้จัดซื้อ แต่เนื่องจากมีงบประมาณจำกัดทำให้ไม่คืบหน้า เพิ่งสามารถผลักดันได้มากที่สุดในรัฐบาลชุดปัจจุบัน

“เราจำเป็นต้องให้มีเรือดำน้ำในช่วงเวลานี้ เพราะรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ” พล.ร.อ.จุมพลกล่าวและชี้แจงว่า ที่เลือกซื้อจากจีนเนื่องจากราคาถูกกว่าชาติอื่นๆ ขณะที่มีศักยภาพค่อนข้างดีคือ ดำน้ำได้นานและยิงขีปนาวุธจากใต้น้ำมายังผิวน้ำจนถึงบนฝั่งได้

ส่วนที่มีเสียงวิพากษ์เรื่องความลึกในการดำนั้น พล.ร.อ.จุมพลชี้แจงว่า ปัจจุบันยุทธศาสตร์การใช้เรือดำน้ำเปลี่ยนไป ส่วนใหญ่ใช้ยิงบริเวณน้ำตื้นมากกว่าน้ำลึกด้วยซ้ำ ที่ต้องซื้อถึง 3 ลำ เนื่องจากลำหนึ่งจะใช้ในการปฏิบัติการ อีกลำใช้สแตนด์บาย และลำสุดท้ายอาจหยุดพักซ่อมบำรุงหรือใช้ฝึกซ้อม หากซื้อปีนี้กว่าจะได้เรือก็ปี 2566 และกว่าจะสามารถปฏิบัติการได้จริงก็อีก 10 ปีถัดไป หากบำรุงรักษาดีๆเรือดำน้ำจะมีอายุการใช้งานราว 30 ปี

โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี

การชี้แจงทุกคำถามของ พล.อ.ประวิตรทำให้เห็นความชัดเจนที่ ครม. อนุมัติให้กองทัพเรือซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ ซึ่งความจริงก็ไม่น่าจะเป็นความลับสุดยอด เพราะรัฐบาลและกองทัพเรือก็พูดมาตลอดถึงความจำเป็น แม้จะมีเสียงคัดค้านมากมายทั้งจากนักวิชาการและฝ่ายการเมือง

โดยเฉพาะคำถามด้านยุทธศาสตร์ทางทหารในอนาคตถึง “ความจำเป็นต้องมีและต้องใช้” แม้ราคาจะถูก อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การันตีว่าเรือดำน้ำจากจีนถูกสุดและใช้ได้ เหมือนซื้อ 2 แถม 1 แต่ยังมีคำถามว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและคุ้มค่าจริงหรือไม่

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เขียนบทความโดยตั้งคำถามว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำมูลค่า 36,000 ล้านบาทเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากและละเอียดอ่อน เพราะเกี่ยวข้องกับงบประมาณผูกพันในอนาคตค่อนข้างสูงและมีรายละเอียดเชิงเทคนิคค่อนข้างซับซ้อน ทั้งยังมีการเปรียบเทียบว่าเรือดำน้ำใหม่จากจีนก็ยังมีราคาสูงแม้จะซื้อ 2 แถม 1 ก็ตาม เพราะในอดีตกองทัพเรือเคยเสนอขอจัดซื้อเรือดำน้ำมือสองจากเยอรมนีในงบประมาณที่น้อยกว่ามาก จึงยิ่งทำให้มีการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและความจำเป็นในการจัดซื้อ

ถ้างบประมาณและรายได้ไม่ใช่ข้อจำกัด ไม่ว่าใครก็คงอยากจะขับรถดีที่สุด แรงที่สุด แพงที่สุดเหมือนกันทั้งนั้น แต่ในความเป็นจริงเรามีทรัพยากรจำกัดและสิ่งของทุกอย่างล้วนมีต้นทุน เราจึงต้องเลือกใช้เงินที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่การตัดสินใจว่าอะไรสำคัญกว่าอะไรไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งถ้ารัฐมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายในโครงการใหม่ๆ

ถ้าคิดจากมุมมองของประชาชนผู้เสียภาษีก็มีคำถาม 3 ข้อ ที่สังคมไทยควรครุ่นคิดและควรตั้งคำถามชุดนี้เช่นเดียวกับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐทุกโครงการคือ คำถามข้อหนึ่ง เราจำเป็นต้องมีและต้องใช้หรือไม่? คำถามข้อสอง ราคาและทางเลือกนั้นดีที่สุดแล้วหรือไม่และคุ้มค่าหรือไม่? และคำถามข้อสาม จะเอาเงินจากไหนมาจ่าย?

ถ้าเป็นการตั้งงบไว้แล้ว แต่งบผูกพันที่ว่าเป็นการตั้งเพิ่ม ไม่ได้มีการตัดลดงบประมาณด้านอื่นมาชดเชย ก็แปลว่าอาจจะไปเบียดบังเงินงบประมาณประเภทอื่นในอนาคต เพราะ “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” เรามีทรัพยากรจำกัดและจะจำกัดขึ้นเรื่อยๆในอนาคต วันหลังคงต้องมานั่งเถียงกันว่า เราต้องตัดลดงบสาธารณสุข การศึกษา หรืองบลงทุน หรือต้องขึ้นภาษีเพื่อให้มีงบเพียงพอ หรือต้องกู้เพิ่มเติมจนเป็นภาระลูกหลานในอนาคต

ซื้อในยุคข้าวยากหมากแพง

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ตั้งข้อสงสัยถึงการซื้อเรือดำน้ำว่า มีการประเมินภัยความมั่นคงที่ต้องประเมิน 5 ปี ซึ่งมีน้ำหนักว่าไทยจะเผชิญภัยคุกคามจากการก่อการร้าย ขณะที่ยุทโธปกรณ์ลักษณะแบบนี้จะใช้กับยุทธการขนาดใหญ่ในสถานการณ์การเผชิญหน้าอย่างเกาหลีเหนือ ขณะที่พื้นที่ภูมิศาสตร์ของไทยไม่ได้เกี่ยวข้อง ทั้งต้องพิจารณาว่าสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจประเทศขณะนี้หรือไม่ และเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่

พล.ท.ภราดรกล่าวว่า เงื่อนไขสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กองทัพเรือประสงค์จะซื้อเรือดำน้ำมือสองจากเยอรมนี แม้เก่าหน่อยก็ไม่เป็นไรประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้มูลค่าสูงขึ้น และสิ่งสำคัญสุดคือ ภาวะเศรษฐกิจบ้านเมืองเวลานี้ข้าวยากหมากแพง การซื้อเรือดำน้ำคุ้มค่าและสอดคล้องกับสถานการณ์หรือไม่ มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ ทั้งต้องผูกพันงบต่อไปเรื่อยๆ มีค่าบำรุงรักษา เรื่องกำลังพล ซึ่งเป็นมุมมองที่ประชาชนก็คลางแคลงใจ

พล.ท.ภราดรกล่าวอีกว่า หากเรื่องนี้ดำเนินการตามกระบวนการปรกติให้สังคมรับทราบก็คงไม่มีปฏิกิริยาในเชิงสงสัยเช่นนี้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องคุณลักษณะและยุทโธปกรณ์จะครบอย่างที่พูดหรือไม่ เพราะจริงๆแล้วเรือดำน้ำนี้ยังไม่มีการสร้างมาขายในทั่วโลก จีนกำลังจะผลิตและให้ไทยใช้ ซึ่งจีนก็มีข้อจำกัด ถ้าผลิตแล้วคุณสมบัติไม่เป็นตามที่คาดหวัง ประเทศไทยก็จะมีปัญหาไม่สามารถมีอย่างอื่นมาชดเชย ตรงนี้จึงต้องคิดให้มากที่กองทัพมีการจัดซื้อทั้งรถถัง รถล้อยาง และเรือดำน้ำ

ยุทธศาสตร์ของใคร?

ประเด็นเรื่องความคุ้มค่าและประสิทธิภาพเรือดำน้ำของจีนนั้น ก่อนหน้านี้ “สำนักข่าวอิศรา” ก็เคยอ้างแหล่งข่าวในกองทัพว่ามี “ใบสั่งพิเศษ” ให้ซื้อจากจีน แม้ที่ผ่านมาหลายฝ่ายจะมีข้อกังขาเรื่องประสิทธิภาพของยุทโธปกรณ์ที่จีนให้กับกองทัพไทยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นรถถัง เรือรบ แม้แต่อาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศแบบ KS-1C ที่กองทัพอากาศเพิ่งจัดหาเข้าประจำการ

อย่างไรก็ตาม การขายเรือดำน้ำราคาถูกครั้งนี้มีการวิเคราะห์กันว่า ประเด็นสำคัญคือจีนต้องการให้ไทยเป็นพันธมิตรให้ได้ โดยเฉพาะการที่ไทยเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐมานาน ถ้าได้ไทยมาเป็นพันธมิตรหลักก็จะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้กับหลายประเทศในภูมิภาคว่าจีนพร้อมจะเป็นเพื่อน หรือหมายถึงการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic partnership) และเรือดำน้ำก็ถือเป็นอาวุธเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความไว้เนื้อเชื่อใจกัน

ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงใช้เรือดำน้ำเป็นการซื้อใจไทย เหมือนการได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่ายคือ จีนได้พันธมิตร ส่วนไทยได้เรือดำน้ำ แต่ในอนาคตไทยก็จะต้องพึ่งจีนในเรื่องอะไหล่ จึงต้องไม่ทำอะไรขัดใจจีนจนไม่ส่งอะไหล่ให้จนเรือดำน้ำไม่สามารถปฏิบัติการได้ เพราะเรือดำน้ำเป็น “อาวุธยุทธศาสตร์ราคาแพง” จึงมีคำถามว่า สุดท้ายแล้วใครกันแน่ที่ได้กำไร?

บุ๋มๆๆๆๆ แบ๊ะๆๆๆ

ความจริงการที่ ครม. อนุมัติให้กองทัพเรือซื้อเรือดำน้ำจะเป็นเรื่อง “ลับสุดยอด” หรือ “จำเป็นที่ต้องซื้อ” หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่เป็นคนละเรื่องกับ “ความโปร่งใส” แม้ พล.อ.ประวิตรจะใช้วาจายืนยันแล้วว่า “โปร่งใส” หรือคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ว่า นี่เป็นราคาถูกที่สุด “ซื้อสองแถมหนึ่ง” รัฐบาลทหารและกองทัพเรือก็ต้องมีคำตอบชัดเจนว่า ทำไมต้องเจาะจงซื้อเรือดำน้ำจากจีน ทำไมไม่เปิดให้มีการเสนอราคา ให้มีการแข่งขันจากผู้ขายชาติอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงเพราะได้ราคาที่ดีที่สุดเท่านั้น แต่ยังต้องได้เรือดำน้ำที่มีคุณภาพเหมาะสมและคุ้มค่ากับงบประมาณหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นงบประมาณมหาศาลสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะในยุคที่มีปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้

ยิ่งการซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ พล.อ.ประวิตรยืนยันว่าเป็นการซื้อโดยไม่มีการแลกเปลี่ยน หรือตั้งเงื่อนไขใดๆให้จีนซื้อสินค้าจากไทยในลักษณะการค้าต่างตอบแทนเหมือนโครงการอื่นๆที่เคยทำก่อนหน้านี้ ก็ยิ่งทำให้การอนุมัติเงียบและลับสุดยอดเมื่อวันที่ 18 เมษายนมีข้อกังขา เพราะเหมือนประชาชนไม่มีสิทธิแม้แต่จะตั้งคำถามหรือสงสัยใดๆกับการจัดซื้อเรือดำน้ำที่ถือเป็นความลับสุดยอด

ทำไมการซื้อเรือดำน้ำหรือยุทโธปกรณ์ต่างๆของกองทัพที่ล้วนเป็นเงินภาษีจากประชาชน แต่ประชาชนกลับไม่มีสิทธิรับรู้ ไม่มีสิทธิตรวจสอบ ทำไมถึงต้องจบเพียงเพราะผู้มีอำนาจบอกว่าทุกขั้นตอนโปร่งใส ซึ่งราคาของเรือดำน้ำไม่ใช่แค่ร้อยล้านพันล้านบาทเหมือนการซื้อรถถัง เรือเหาะ หรือเครื่องจีที 200 แต่ราคาสูงหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งมาจากภาษีของประชาชนนี้ย่อมสามารถนำไปใช้ประโยชน์ที่มีความสำคัญได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพงขณะนี้ การซื้อเรือดำน้ำจึงยิ่งทำให้สังคมสงสัยถึง “ความจำเป็นและเป็นเวลาที่เหมาะสม” หรือไม่? “คุ้มค่า” จริงหรือไม่?

ทำไมโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงต้อง “รอให้ทำถนนลูกรังในประเทศเสร็จก่อน” แต่กลับมีแต่คนเป็นใบ้เมื่อรัฐบาลจากการรัฐประหารจะทำโครงการที่ได้ระยะทางสั้นกว่า ความเร็วต่ำกว่า ในงบประมาณที่สูงกว่า?

ทำไม “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” หรือ “หมุดคณะราษฎร” ถูกรื้อถอนแล้วถูกแทนที่ด้วย “หมุดหน้าใส” ไร้ที่มาจึงได้รับคำตอบเพียงว่า “อย่าไปให้ความสนใจ เพราะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับปัญหาปากท้องประชาชน” แต่พอการอนุมัติซื้อยุทโธปกรณ์ที่มีคนตั้งคำถามว่า “แล้วมันเกี่ยวข้องกับปัญหาปากท้องประชาชนตรงไหน” กลับไม่มีใครตอบได้

ทำไมโครงการช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวที่เสนอนโยบายอย่างเปิดเผยทั้งตอนหาเสียงและแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จึงกลายเป็นความผิด โดนสหบาทาถล่มด้วยข้อหาทำให้ประเทศต้อง “ขาดทุน” แต่สหบาทาเหล่านั้นกลับเป็นใบ้ “แบ๊ะๆๆๆๆ” ไม่มีใครกล้าถามว่า การใช้เงินภาษีไปซื้อยุทโธปกรณ์มากมายในยุคที่ไม่มีการตรวจสอบนั้น จะทำให้ประเทศ “กำไร” ตรงไหน เท่าไร?

ทำไม “การตรวจสอบ” จึงใช้เฉพาะกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น? หรือภายใต้รัฐบาลรัฏฐาธิปัตย์ที่มาจากการรัฐประหาร เมื่อผู้มีอำนาจบอกว่า “โปร่งใส” ก็ต้องเชื่อว่าโปร่งใส บอกว่าเป็น “คนดี” ก็ต้องเชื่อว่าเป็นคนดี? หรือคนดีไม่จำเป็นต้องถูกตรวจสอบ?

การห้ามคิด ห้ามถาม ห้ามวิจารณ์ต่อสรรพสิ่ง โดยเฉพาะกับ “คนที่บอกว่าตัวเองเป็นคนดี” นั้น แล้วเราจะเชื่อได้อย่างไรว่า “ดีจริง”?

ทำไมสังคมไทยจึงนิ่งเฉย ปล่อยให้ “ความถูกต้อง โปร่งใส” จมดิ่ง “บุ๋มๆๆๆๆ…” ลงสู่ก้นมหาสมุทร
ทำไมการตั้งคำถามเพื่อหา “ความดีแท้ดีจริง” จึงเงียบงันได้ยินแต่เสียง “แบ๊ะๆๆๆ”!!??


You must be logged in to post a comment Login