- กลืนเลือดไม่ให้เสียใจPosted 1 day ago
- ระลึกถึงพ่อหลวง ร.9Posted 2 days ago
- 5 ธ.ค.วัดสวนแก้วแตกแน่Posted 3 days ago
- จะกลับมาแบบไหนPosted 4 days ago
- เลือกงานให้โดน บริหารคนให้เป็น ตาม“ลัคนาราศี”Posted 4 days ago
- ต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์ อยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างPosted 4 days ago
- โลภ•ลวง•หลง เกมพลิกชีวิต รีแบรนด์หรือรีบอร์นPosted 4 days ago
- กูไม่ใช่ไก่ต้มเว้ย! อย่ามาต้มกูเลย..Posted 4 days ago
- หยุดความรุนแรง-ลวงโลกPosted 5 days ago
- อ.เบียร์ช่วยวัดสวนแก้วPosted 1 week ago
ปล้นกลางแดด? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
ผมสำเร็จการศึกษาในระดับเตรียมอุดมศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารเหมือนท่านผู้นำสูงสุด เพียงแต่ผมเป็นรุ่นน้องท่านหลายปี จากนั้นก็เข้าศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาตรีจากโรงเรียนนายเรืออากาศและติดยศเป็นเรืออากาศตรี ทำงานรับใช้กองทัพอากาศจนกระทั่งมียศนาวาอากาศเอกจึงได้ลาออกจากราชการ
ระหว่างการศึกษาหลักสูตรต่างๆในโรงเรียนทหารตั้งแต่โรงเรียนเตรียมทหารเรื่อยมาจนกระทั่งถึงโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ ผมได้รับการสั่งสอนด้านวิชาการทหารต่างๆมากมาย ดังนั้น ผมจึงมั่นใจว่ามีความเข้าใจเรื่องราวต่างๆของกองทัพไทยอยู่ไม่น้อย เมื่อลาออกมาทำหน้าที่นักการเมืองจึงมีบ่อยครั้งที่ถูกมอบหมายให้ตรวจสอบโครงการต่างๆของกองทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆของกระทรวงกลาโหม
ต้องเรียนว่าการตรวจสอบโครงการต่างๆของกองทัพถือว่าเป็นเรื่องปรกติของประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่มีเพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น ประเทศอื่นๆเขาก็ทำกัน แม้ว่าการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จะเป็นเรื่องของความมั่นคงและมีความจำเป็นต้องรักษา “ความลับ” ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากองทัพจะจัดซื้ออะไรมาก็ได้ตามอำเภอใจเหมือนกับประเทศเผด็จการอื่นๆ นอกเสียจากเวลาไม่ปรกติที่ประเทศไทยมีรัฐบาลทหารจากการปฏิวัติเท่านั้น
ที่ผ่านมาการเข้าไปตรวจสอบโครงการต่างๆของกองทัพ ต้องยอมรับว่ามีอยู่หลายโครงการที่ถูกตั้งคำถามตั้งแต่ก่อนการจัดซื้อ แต่เมื่อโอกาสอำนวยหรือมีการ“อุ๊บอิ๊บ” จัดซื้อยุทโธปกรณ์ที่มีปัญหาดังกล่าวเข้ามาใช้งาน อาวุธเหล่านั้นก็กลับกลายเป็นภาระของกองทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้งาน เข้าตำรา “คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ” ล่วงเลยมาถึงวันนี้ไม่แน่ใจว่ามีกี่โครงการที่อุปกรณ์ต่างๆต้องกองเป็นเศษเหล็กไร้ค่า ทั้งๆที่เสียเงินเสียทองเสียเวลากันไปไม่รู้เท่าไร
บ่นมาถึงตรงนี้ผมต้องเรียนท่านผู้อ่านก่อนว่า การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพเป็นเรื่องที่กระทำได้และต้องกระทำ ที่สำคัญไม่ได้หมายความว่าการจัดซื้อทุกครั้งจะได้แต่ของด้อยคุณภาพและไม่โปร่งใส แต่ที่นำมาบ่นให้ฟังผมเน้นเฉพาะโครงการที่มีปัญหา เพราะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเชื่อว่ากองทัพไทยได้พัฒนากองทัพให้มีศักยภาพก้าวไกลและเจริญรุ่งเรืองมาได้อย่างต่อเนื่องไม่แพ้ชาติอื่นๆ
อย่างไรก็ดี การจัดซื้อในกระทรวงกลาโหมก็เหมือนกระทรวงอื่นๆที่ควรจะต้อง “โปร่งใสและตรวจสอบได้” ที่สำคัญก่อนจะเข้าไปตรวจสอบเรื่องใดๆ คงไม่ถูกต้องอย่างแน่นอนถ้าไม่ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียด ดังนั้น ผมจึงอยากเรียนเรื่องแนวคิดและหลักนิยมของกองทัพไทยให้ได้ทราบพอเป็นสังเขปเสียก่อน
สถานการณ์ด้านความมั่นคงของประเทศไทยในอดีตกับปัจจุบันต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะช่วงที่มีสงครามเย็น ขณะนั้นประเทศไทยถือเป็น “ประเทศกันชน” ที่อยู่ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกองทัพที่เข้มแข็งและมีขนาดใหญ่ เพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวเองจากการต่อสู้กันของประเทศมหาอำนาจ และรัฐบาลต้องเตรียมกองทัพให้พร้อมสำหรับการทำสงครามเต็มรูปแบบ
ภายหลังที่สหภาพโซเวียตล่มสลายและโลกเข้าสู่ยุคการแข่งขันด้านเศรษฐกิจอย่างเสรี การแข่งขันกันสะสมอาวุธเพื่อใช้ในการป้องปรามก็หยุดลงไปด้วยเช่นกัน อารยประเทศต่างลดขนาดของกองทัพลงให้ “จิ๋วแต่แจ๋ว” เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเผชิญหน้ากันอีกต่อไป การเตรียมกองทัพสำหรับสงครามเต็มรูปแบบในอดีตถูกเปลี่ยนแปลงลดขนาดให้เหมาะสมกับสถานการณ์แท้จริงที่เป็นอยู่ และเกือบทุกประเทศได้เปลี่ยนภารกิจของยุทโธปกรณ์ที่เคยใช้ “ฆ่าคน” เป็นการใช้เพื่อ “ช่วยคน” เมื่อประชาชนของตัวเองได้รับความเดือดร้อน
แต่ทุกประเทศก็ยังมีความจำเป็นต้องมีกองทัพ เพราะกองทัพคือ “ศักย์สงคราม” สำคัญที่ใช้เป็นเครื่องมือประกอบการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศ กองทัพยังมีบทบาทและเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ และจากสถานการณ์โลกล่าสุดที่มีกลุ่มก่อการร้ายออกปฏิบัติการสังหารผู้บริสุทธิ์และก่อวินาศกรรมในสถานที่ต่างๆทั่วโลก กองทัพก็ถือเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับภารกิจการต่อต้านการก่อการร้ายที่มีความจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและทันสมัยอยู่ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน
ผมเล่ามาถึงตรงนี้เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงเห็นเหมือนผมว่า กองทัพยังถือเป็นเครื่องมือสำคัญของประเทศ แต่การเตรียมกองทัพแบบไหนอย่างไรต่างหากที่เป็นเรื่องต้องนำมาวิพากษ์วิจารณ์กัน ตามตำราเรียนเรื่องการจัดกำลังรบที่ผมเคยศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการบ่งบอกไว้ชัดเจนว่า การจัดกำลังรบและการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ต้องสอดคล้องกับ “ภัยคุกคาม” และต้องพิสูจน์ได้ชัดเจนว่า ภัยคุกคามนั้นๆถือเป็นภัยคุกคามที่แท้จริง ไม่เช่นนั้นการจัดกำลังรบและการจัดซื้อยุทโธปกรณ์จะกลายเป็นการแข่งขันกันสะสมอาวุธเหมือนในอดีตที่ผ่านมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น นอกจากการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ด้อยคุณภาพหรือไม่โปร่งใสอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับบางโครงการในอดีตแล้ว เรื่องการจัดหายุทโธปกรณ์ที่เหมาะสมและมี “ความจำเป็นจริงๆ” ต่อกองทัพก็ถือเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน แม้ว่ากองทัพจะจัดซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวด้วยความโปร่งใส และอุปกรณ์ดังกล่าวมีประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีเลิศก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าการจัดซื้อมี “ความจำเป็น” และต้อง “เหมาะสม” เสมอไป
ด้วยความเคารพต่อกองทัพไทยที่สร้างผมขึ้นมา ผมไม่บังอาจวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” ของกองทัพเรือเป็นอันขาด เพราะผมเชื่อว่าฝ่ายเสนาธิการของกองทัพเรือต้องพิจารณาเรื่องความจำเป็นที่ต้องมีเรือดำน้ำมาอย่างดี ท่านผู้บัญชาการทหารเรือย่อมตัดสินใจลงนามร้องขอให้มีการจัดซื้อโดยเห็นผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของกองทัพเรือ กองทัพไทย และประเทศชาติ เป็นสำคัญอย่างแน่นอน
แต่ในฐานะอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ยังมีโอกาสได้สัมผัสกับความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจที่รุมเร้าเพิ่มขึ้นทุกวัน ผมคิดว่าการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงกลาโหมจัดซื้อเรือดำน้ำให้กองทัพเรือเวลานี้เหมาะสมแล้วหรือไม่!
แม้กระทรวงกลาโหมจะยืนยันว่าเป็นการใช้จ่ายงบประมาณในส่วนของกระทรวงกลาโหมก็ตาม แต่ถ้าพิจารณาการใช้จ่ายงบประมาณด้านอื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน “มากกว่า” และงบประมาณเหล่านั้นต้องถูก “ตัดทิ้ง” เพื่อไปซื้อเรือดำน้ำ การใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนแบบนี้ต่างหากที่เป็นเรื่อง “ยอมรับไม่ได้” ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันทั้งประเทศ และบางคนเรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่า “ปล้นกลางแดด” ครับ
You must be logged in to post a comment Login