วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

‘คนร้ายหน้าใส’ขโมยหมุด? / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On April 24, 2017

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ตั้งแต่วันที่ 14 เมษายนมีการแชร์สะพัดในสังคมออนไลน์เรื่อง “หมุดคณะราษฎร” ที่เคยติดตั้งบริเวณข้างพระบรมรูปทรงม้า หน้าสนามเสือป่า ถูกคนร้ายขโมยและเปลี่ยนเอาหมุดใหม่มาใส่แทน และมีข้อความอันแปลกประหลาด ชาวสังคมออนไลน์จึงเรียกหมุดใหม่ว่า “หมุดหน้าใส” ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า “หมุดคณะราษฎร” ดั้งเดิมนั้นมีความหมายทางประวัติศาสตร์ในฐานะ “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ฝังไว้ ณ จุดที่ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ยืนอ่านประกาศยึดอำนาจเมื่อเช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ต่อมากระทรวงมหาดไทยสมัย น.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ได้สร้างหมุดทองเหลืองเพื่อระลึกเหตุการณ์การปฏิวัติ โดย พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนาในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิธีฝังหมุดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479 หมุดมีข้อความว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”

สำหรับหมุดอันใหม่ที่นำมาปักแทนมีข้อความ 2 ส่วน ส่วนแรกอยู่บนวงกลมล้อมรอบความว่า “ความนับถือรักใคร่ในพระศรีรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง” ข้อความท่อนนี้นำมาจากคาถาสุภาษิตบนตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ และส่วนที่สองตรงกลางหมุดมีข้อความว่า “ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน” เป็นข้อความผสมใจความโดยเอาคำว่า “ประเทศสยาม” มาใส่ ทั้งที่มีการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2482 คำว่า “หน้าใส” ก็มาจาก “ไพร่ฟ้าหน้าใส” ในศิลาจารึกหลักที่ 1 แต่โดยรวมแล้วข้อความทั้งหมดของหมุดใหม่ไม่ได้สะท้อนลักษณะทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้สื่อความหมายอะไรเลย เป็นข้อความไร้สาระวลีหนึ่งเท่านั้น จนกระทั่งสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์สอนประวัติศาสตร์สมัยใหม่คนสำคัญ อธิบายว่า ข้อความนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนที่ทำการลักหมุดเปลี่ยนข้อความเป็นพวกปัญญาอ่อนมาก

ผลกระทบโดยตรงทันทีของเหตุการณ์คือ เกิดกระแสเรียกร้องทวงคืน “หมุดคณะราษฎร” และให้ดำเนินการจับโจรลักหมุดมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็ว แต่กระแสตรงข้ามคือกลุ่มปฏิกิริยาฝ่ายขวาก็ถือโอกาสพยายามหาเรื่องถึงขั้นสร้างเรื่องโจมตีคณะราษฎร เพื่ออธิบายความชอบธรรมการถอน “หมุดคณะราษฎร” ว่าเป็นสิ่งถูกต้อง

ที่น่าสังเกตคือ ฝ่ายราชการหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่ารัฐบาลทหาร ฝ่ายสำนักงานเขตดุสิตที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ หรือกรมศิลปากรที่ดูแลวัตถุทางประวัติศาสตร์ ต่างพยายามหลีกเลี่ยงจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวหรือรับผิดชอบ ทั้งที่ “หมุดคณะราษฎร” คือสมบัติของทางราชการ การรื้อและปักหมุดใหม่ต้องมีการขุดซีเมนต์และโบกปูนซึ่งใช้เวลาเป็นชั่วโมง เป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่จะไม่รับรู้ ข้อมูลของนายศาสตรินทร์ ตันสุน อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ส่งนักศึกษาทำรายงานยืนยันว่า การขโมยเปลี่ยนหมุดเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1-8 เมษายน ซึ่งวิเคราะห์ได้ว่าการเปลี่ยนหมุดน่าจะเกิดคืนวันที่ 6 เมษายน ที่ทางราชการกำลังปิดถนนบริเวณดังกล่าวเพื่อบูรณะพระบรมรูปทรงม้า จึงเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่จะไม่ทราบเรื่อง

ถ้าพิจารณาในบริบทที่กว้างขึ้น การรื้อถอน “หมุดคณะราษฎร” ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์ปัจจุบันที่สังคมไทยถอยหลังสู่ระบอบเผด็จการและอนุรักษ์นิยมขวาจัดมากยิ่งขึ้น ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมามีความพยายามสร้างความชอบธรรมของเผด็จการและทำลายความชอบธรรมของประชาธิปไตยตามแบบสากล จนในที่สุดแนวคิดเรื่องอำนาจสูงสุดของประชาชนถูกละเลย ระบอบรัฐสภาที่มาจากเลือกตั้งถูกดูแคลน และไปเชื่อถือยอมรับสภาจากการแต่งตั้งที่ทำงานไม่ได้เรื่อง เช่นเดียวกับการยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ทำลายอำนาจประชาชน รักษาอำนาจองค์กรอิสระ จึงนำไปสู่การย้อนประวัติศาสตร์ด้วยการปฏิเสธความชอบธรรมของคณะราษฎร ปฏิเสธความถูกต้องของระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย นำมาสู่ความกระเหี้ยนกระหือรือจะทำลายสัญลักษณ์ของคณะราษฎร คณะโจรลักหมุดจึงเป็นเพียงแนวหน้าของพวกขวาจัดที่มุ่งหวังจะลบอดีต เปลี่ยนประวัติศาสตร์ และเขียนเรื่องราวใหม่ให้สอดคล้องแนวคิดอนุรักษ์นิยมแบบด้อยสติปัญญา

ด้วยเหตุนี้จึงมีคำอธิบายเช่นกันว่า การเปลี่ยนหมุดครั้งนี้สะท้อนสังคมการเมืองที่เป็นจริงของไทยปัจจุบัน ซึ่งประชาธิปไตยและระบอบรัฐธรรมนูญที่ชอบธรรมไม่มีแล้ว มีแต่ระบอบการเมืองกึ่งสุกกึ่งดิบที่ดำเนินไปตามอำเภอใจชนชั้นนำ ถ้าจะเรียกว่าระบอบการเมืองแบบ “หน้าใส” ก็เก๋ไม่น้อย ยิ่งประเมินว่าความตั้งใจรื้อหมุดและลงหมุดใหม่อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องไสยศาสตร์ก็ยิ่งสะท้อนความเหลวไหลของระบอบการเมืองแบบหน้าใสมากขึ้น

อีกกระแสหนึ่งมีความเห็นว่า การเปลี่ยนหมุดเพื่อทำลายประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรไม่มีทางที่จะสำเร็จได้ เพราะมรดกของคณะราษฎรก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองหลายลักษณะ ที่เป็นรูปธรรม เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ปราบกบฏ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อาคารสองฝั่งราชดำเนินกลาง โรงแรมรัตนโกสินทร์ สะพานเฉลิมวันชาติ เป็นต้น ส่วนที่ถูกรื้อไปแล้วคือ อาคารที่ทำการศาลฎีกาข้างสนามหลวงเดิมและศาลาเฉลิมไทย แต่เป็นไปได้ยากที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะรื้อถอนทั้งหมด รวมถึงมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ธนาคารแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร (บางเขน) ทรัพย์สินที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รัฐบาลคณะราษฎรมอบให้ตาม พ.ร.บ. พ.ศ. 2482) และรัฐวิสาหกิจแทบทั้งหมดที่ตั้งสมัยคณะราษฎร

นอกจากนี้ยังมีผลงานเชิงนามธรรม เช่น เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นประเทศไทย กำเนิดเพลงชาติไทย การเคารพธงชาติ เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่แบบสากล (1 มกราคม) ส่วนระบอบการเมือง เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เต็มรูปแบบคงไม่สามารถย้อนกลับ การเมืองที่มีรัฐธรรมนูญและรัฐสภา (ไม่ว่าแบบไหน) ก็ต้องดำเนินต่อไป เช่นเดียวกับราชการแบบใหม่ที่ขึ้นกับความรู้ ไม่ใช่แบบเก่าที่ตำแหน่งและเงินเดือนขึ้นกับความพอใจของเจ้านาย เศรษฐกิจอิงศักดินาก็กลายเป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่ โครงสร้างสังคมชนชั้นที่มีฐานันดรก็คงไม่หวนกลับมาอีก

สรุปแล้วการทำลายความทรงจำทางสังคมและดอกผลประชาธิปไตยของคณะราษฎรเป็นไปไม่ได้ที่จะรื้อฟื้นโลกเก่าแบบจารีต การกระทำของคณะโจรเปลี่ยนหมุดจึงน่าสมเพช บทความนี้ขอจบด้วยกลอนของกุลวดี ศาสตร์ศรี ที่กล่าวถึงหมุดคณะราษฎรดังนี้

“มิใช่เพียงแผ่นโลหะเหล็กดาดดาด แต่เป็นหมุดประวัติศาสตร์สำคัญยิ่ง

แจ้งให้รู้เหตุการณ์เกิดขึ้นจริง ไม่อาจกลิ้งกลับวงล้อที่หมุนแล้ว”


You must be logged in to post a comment Login