วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

รอตัดริบบิ้น?

On April 24, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

แนวโน้มการเมืองสัปดาห์นี้ความร้อนแรงจากการหายไปของหมุดคณะราษฎรหรือหมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญน่าจะลดระดับลง

แม้ช่วงที่ผ่านมาจะมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง มีคนดังในหลายแวดวงร่วมลงชื่อทวงคืน แต่สุดท้ายก็คงได้แค่ทวง แต่ไม่ได้คืน โดยหมุดหน้าใสอันใหม่ที่ถูกนำมาฝังไว้แทนจะยังอยู่ต่อไปชนิดใครก็แตะต้องไม่ได้

ที่บอกว่าได้แค่ทวงไม่ได้คืน ก็เพราะดูจากปฏิกิริยาของหน่วยงานรัฐทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้วชัดเจนว่าเรื่องนี้ขอลอยตัวไม่เกี่ยวข้อง

ส่วนใครที่คิดว่าเรื่องหมุดคณะราษฎรหายจะกลายเป็นชนวนการเมืองให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองจนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาลทหารคสช.ก็คงต้องผิดหวัง เพราะเสียงดังในกลุ่มคนทวงคืนมีแค่ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองบางส่วน นักวิชาการบางส่วนและนักการเมืองบางส่วนเท่านั้น

คนที่มีศักยภาพในการนำต่างเลือกที่จะพูดในเชิงหลักการ โดยเฉพาะบรรดานักการเมืองใหญ่ต่างตีกรรเชียงไม่ขอเกี่ยวข้อง

นี่เป็นธรรมชาติของนักการเมือง เมื่อมองเห็นสนามเลือกตั้งกำลงจะเปิดให้ได้ลงเล่น ไฉนเลยจะเคลื่อนไหวทำอะไรให้เกิดผลกระทบจนการเลือกตั้งถูกเลื่อนหรือยกเลิก

นักการเมืองมองเป้าหมายเดียวกันในตอนนี้คือม่งสู่การเลือกตั้ง เรื่องอื่นเอาไว้ที่หลัง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หมุดคณะราษฎรแม้จะมีประวัติศาสตร์ทางการเมืองเกี่ยวข้องมากมาย แต่นักการเมืองกลับไม่มีใครเทคแอ็คชั่นเรื่องนี้เท่าที่ควร

สิ่งเดียวที่จะเกิดจากการหายไปของหมุดคณะราษฎรในครั้งนี้คือทำให้ประชาชนตื่นตัวศึกษาประวัติศาสตร์ทางการเมืองมากขึ้น และเกิดการสะสมความไม่พอใจต่อรัฐบาลทหารคสช.จากประชาชนที่ไม่ชอบมากขึ้นเท่านั้นเอง

เรื่องหมุดคณะราษฎรหายที่ทำท่าว่าจะร้อนจึงจะไม่ส่งผลร้ายแรงทางการเมืองอย่างที่คิดกันและน่าจะคูลดาวน์ลงไปเรื่อยๆจนเงียบหายไปจากความสนใจในที่สุดนับแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม การเมืองไม่มีเหงาเพราะจะมีประเด็นใหม่ๆให้พูดถึงกันตลอด เรื่องที่จะมาแรงสัปดาห์นี้น่าจะเป็นความเห็นต่อการพิจารณาร่างกฎหมายสองฉบับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการในวาระที่หนึ่งไปแล้ว

ร่างแรกคือร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งร่างพ.ร.บ.นี้จะส่งผลกระทบอยู่พอสมควร โดยเฉพาะกกต.ในปัจจุบันที่ 3 ใน 4 คนต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติตามข้อกำหนดใหม่ รวมถึงกกต.จังหวัดก็จะถูกโละทั้งประเทศด้วย

แน่นอนว่าคนที่ได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายก็ต้องออกมาส่งเสียงโวยวายเป็นธรรมดา
อีกฉบับที่จะมีการพูดถึงกันมากคือร่าง พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ…ที่ สนช.ลงมติรับหลักการวาระแรกไปแล้วเช่นเดียวกัน

ที่ต้องพูดถึงเพราะร่างพ.ร.บ.นี้ถือเป็นซูเปอร์กฎหมาย มีศักดิ์ที่เหนือกว่าทุกฉบับ มีผลผูกพันกับทุกองค์กร หากพบว่าหน่วยงานใดไม่ปฏิบัติตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ จะมีมาตรการในเชิงบังคับ หากไม่ดำเนินการ จะถูกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาความผิดได้ และหากป.ป.ช.ชี้ว่ากระทำผิดจริง จงใจฝ่าฝืน สามารถดำเนินการกับหัวหน้าส่วนราชการตามกฎหมายได้ แม้จะมีคำยืนยันว่า ยุทธศาสตร์ชาติแก้ไขได้ แต่ต้องทำให้เหมือนตอนตั้งต้น คือต้องผ่านการรับฟังความเห็นประชาชนและต้องผ่านความเห็นชอบสภา แต่ในความเป็นจริงคงแก้ได้ยาก

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็จะเป็นเหมือนเรื่องการหายไปของหมุดคณะราษฎร อาจมีการแสดงความเห็นในเชิงท้วงติงคัดค้านกันบ้าง แต่คนที่ท้วงติงคัดต้านไม่อยู่ในฐานะที่ทำอะไรได้เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาร่างกฎหมาย

การเคลื่อนไหวนอกสภาก็คงอีหรอบเดียวกับหมุดคณะราษฎร อาจส่งเสียงโวกเวกโวยวายให้ผู้มีอำนาจรู้สึกรำคาญบ้าง แต่จะไม่เกิดผลกระทบอะไร

ที่เป็นเช่นนี้เพราะฝ่ายการเมืองต่างตั้งตารออย่างเดียวคือ รอวันตัดริบบิ้นเปิดสนามเลือกตั้งให้เล่น


You must be logged in to post a comment Login