วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567

‘สงกรานต์แห้ง’เงียบจนน่ากลัว? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On April 20, 2017

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

วันหยุดยาว “สงกรานต์” ผ่านไปไวเหมือนโกหก เผลอแป๊บเดียวคนส่วนใหญ่ก็กลับมาทำงานต่อสู้ชีวิตกันต่อไป โดยปรกติช่วงสงกรานต์ผมไม่ได้เดินทางออกต่างจังหวัด เพราะเป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิด แต่ก็มีโอกาสได้ร่วมประเพณีนี้และได้รดน้ำดำหัวกันตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะในเขตสายไหมที่ผมเคยเป็นผู้แทนราษฎรอยู่ทุกปี

สงกรานต์ปีนี้กรุงเทพฯเงียบเชียบเรียบร้อยที่สุด ถนนหนทางที่ผมผ่านไปทุกที่ “แห้งสนิท” สมใจและสะใจคนบางคนที่ไม่อยากเห็นการเล่นน้ำสาดน้ำแบบที่ผ่านมา ผมมั่นใจว่าคนเราพออายุมากขึ้นก็มักจะลืมว่าเมื่อตอนตัวเองเป็นเด็กหรือวัยรุ่นเคยมีความสุขและสนุกสนานกับวันสงกรานต์มากแค่ไหน เพราะพอเป็นผู้ใหญ่มีหน้าที่รับผิดชอบก็จะมีเหตุผลและข้ออ้างสารพัดว่า การเล่นสงกรานต์ของคนทั่วไปเลวทรามเหมือน “ผีบ้า” และเป็นสิ่งที่ต้องรีบกำจัดออกไปจากสังคม

นอกจากในกรุงเทพฯจะวังเวงแล้ว บรรยากาศในต่างจังหวัดก็เงียบเหงาไม่แพ้กัน ผมคุยกับเพื่อนๆซึ่งส่วนใหญ่จะพาครอบครัวไปพักผ่อนตามสถานที่ต่างๆ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เงียบจนน่ากลัว” ผมเองยังแซวเพื่อนเลยว่า ไม่ดีเหรอที่คนน้อยๆ จะได้ไม่ต้องไปแย่งกันกินแย่งกันเที่ยว ทุกคนก็ตอบผมกลับมาในทำนองเดียวกันว่า เรื่องความแออัดยัดเยียดของการจราจรและการกินอยู่อาจจะดีขึ้นจริง แต่สิ่งที่หายไปและมันคือหัวใจของวันปีใหม่ไทยนั่นก็คือ บรรยากาศในการเล่นน้ำสงกรานต์นั่นเอง

เราอาจจะพอเข้าใจได้ว่า การห้ามเล่นน้ำสงกรานต์ในห้วงที่ประเทศไทยยังไม่มี “ประชาธิปไตย” เป็นเรื่องที่ “กระทำได้ไม่ยาก” เพราะบ้านเมืองอยู่ในสภาพไม่ปรกติ และประชาชนยังถูก “ปิดหูปิดตาปิดปาก” ด้วยกฎหมายและอำนาจพิเศษ แต่ก็น่าคิดทีเดียวถ้ามาตรการมากมายที่ประกาศออกมาบังคับใช้จะกลายเป็นมาตรฐานถาวรที่ใช้กันอย่าง “มักง่าย” ในปีต่อๆไป

ผมขออนุญาตผู้ที่เห็นต่างและชื่นชอบบรรยากาศ “สงกรานต์เงียบ” หรือ “สงกรานต์แบบมีเงื่อนไข” สักนิด ท่านอาจจะเชื่อว่ามาตรการและกฎระเบียบต่างๆที่ประกาศใช้กันอย่างเข้มงวดจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ “คนไทยปลอดภัยและตายน้อยลง” แต่หลังจากพ้นวันหยุดสงกรานต์และมีการสรุปยอดสถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต จะเห็นว่ามาตรการต่างๆไม่ได้ทำให้คนไทยได้รับความปลอดภัยและตายน้อยลงแต่อย่างใด

ในทางตรงข้าม ข้อบังคับต่างๆกลับเป็นอุปสรรคให้กับผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะ “ตำรวจ” ซึ่งมักจะโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง เมื่อรัฐบาลทหารประกาศนโยบายออกมาชัดเจน ผู้ปฏิบัติทั้งหมดไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากนำนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ และการบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆอย่างเข้มงวดและเข้มข้นย่อมทำให้หลัก “นิติศาสตร์” และ “รัฐศาสตร์” ขาดความสมดุล ผลลัพธ์ก็คือ นอกจากมาตรการต่างๆจะไม่ได้ผลตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายแล้ว ยังส่งผลให้การเล่นน้ำสงกรานต์ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของวันหยุดยาวครั้งนี้สูญหายไปด้วยเช่นกัน

ผมนำเรื่องจริงที่เกิดขึ้นมาบ่นให้ท่านผู้อ่านฟัง เพราะผมไม่เห็นด้วยกับมาตรการฉายแสงคีโมให้กับผู้ป่วยมะเร็งขั้นเริ่มต้น เพราะยังมีวิธีการอื่นๆในการรักษาอยู่อีกมากมาย เป็นที่ทราบกันดีว่าการฉายแสงเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งร้ายอย่างที่ทำกันอยู่นั้นย่อมฆ่า “เซลล์ดี” ให้ตายตามกันไปด้วย ดังนั้น “คีโม” จึงเป็นวิธีการ “สุดท้าย” ที่คุณหมอจะเลือกใช้สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายเท่านั้น

ผมเชื่อว่า “วันสงกรานต์” ยังไม่ได้ป่วยหนักจนถึงขั้นที่ต้องฉายแสง แต่เมื่อท่านผู้นำสูงสุดและคณะเห็นดีเห็นงามไปกับคุณหมอข้างกายที่อัดฉีดข้อมูลอาการป่วยและเลือกใช้วิธีนี้ในการรักษา ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ เราจะเห็นวันสงกรานต์ที่ “อ่อนเพลียและบอบช้ำ” กลายเป็นผู้ป่วยที่ผอมแห้ง น้ำหนักลด ผมร่วง จนเราจำไม่ได้ว่านี่หรือคือ “วันสงกรานต์” ที่เราเคยรู้จัก

ผมบ่นมาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านหลายท่านคงจับประเด็นของผมได้ไม่มากก็น้อย ผมขอขยายความเพิ่มอีกสักนิดแล้วกันว่า “วันสงกรานต์” ไม่ใช่เป็นเพียงแค่วันหยุดยาวของประเทศไทย ไม่ใช่เป็นเพียงวันปีใหม่ไทยที่มีวัฒนธรรมประเพณีสืบทอดต่อเนื่องกันมายาวนาน แต่วันสงกรานต์ถือเป็น “ส่วนต่อสำคัญ” ของ “วงจรเศรษฐกิจ” ในสังคมไทย

เป็นที่ทราบกันดีว่า การดำเนินธุรกิจในเมืองไทยถ้าเป็นสัปดาห์สุดท้ายก่อนหยุดสงกรานต์ งานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนจะเริ่มชะลอตัว ผู้ปฏิบัติงานทั้งหลายในทุกระดับจะไม่ค่อยมีสมาธิในการทำงาน ต่างเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อว่าเมื่อไรจะถึงวันหยุด และเมื่อวันนั้นมาถึง ขบวนรถหลากหลายทุกประเภท ตั้งแต่รถส่วนตัวไปจนถึงรถรับจ้าง รถไฟทุกขบวน ตลอดจนเที่ยวบินต่างๆ จะถูกจับจองโดยนักเดินทางที่ต้องการเดินทางกลับบ้าน หรือต้องการไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆทั้งในและต่างประเทศ

กว่าจะกลับมาทำงานกันอีกครั้งก็ผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ ดังนั้น ในช่วงที่คนไทยพร้อมใจกันหยุดทำงานเกือบทั้งหมด วงจรเศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับภาคการท่องเที่ยวและการบริการเป็นหลัก ซึ่งทุกปีการจับจ่ายใช้สอยของผู้ที่เดินทางกลับบ้านและนักท่องเที่ยวจำนวนมากทำให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาคได้รับการกระตุ้นจากเงินที่สะพัดในช่วงนี้ รัฐเองก็สามารถเก็บรายได้จากภาษีในรูปแบบต่างๆได้เป็นจำนวนมาก

แต่เมื่อรัฐบาลทหารเลือกที่จะเห็นความสงบเรียบร้อยและไม่อยากเห็น “สงกรานต์เปียก” อีกต่อไป มาตรการต่างๆที่ระดมใส่ลงในพื้นที่ต้องถือว่าเป็นอุปสรรคทั้งทางตรงและทางอ้อมกับบรรยากาศในการท่องเที่ยว หากเราไม่ปรับเปลี่ยนและเชื่อว่าสิ่งที่เราทำนั้น “ถูกต้อง” สิ่งที่ประเทศไทยจะต้องพบต่อจากนี้ไปก็คือ ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจจากการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลงอย่างแน่นอน

เรื่องนี้คงไม่ต้องเสียเวลาอธิบายความอะไรเพิ่มเติมอีก เพราะถ้านักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศต้องการเดินทางไปเล่นน้ำสงกรานต์ แต่ไม่รู้ว่าจะไปเล่นกันได้ที่ไหน เล่นน้ำกันยังไงก็ไม่เปียก เพราะไม่มีคนเล่นน้ำ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในประเทศไทยคุณก็เปียกได้ตลอดขอแค่คุณออกจากบ้าน แค่นี้ก็พอมองเห็นภาพแล้วว่า ประเพณีวัฒนธรรมที่สนุกสนาน ปลอดภัย เป็นกันเอง เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ กำลังค่อยๆเลือนหายไปจากมาตรการที่เข้มข้นของรัฐนั่นเอง และต่อจากนี้ไปใครเขาจะมาเที่ยวอีก

ผมเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ชอบบรรยากาศแบบ “สงกรานต์แห้ง” แต่ผมและคนไทยอีกจำนวนมากเช่นเดียวกันที่ชอบเล่นน้ำสงกรานต์และอยากจะ “เปียกได้ทุกที่” เหมือนกับที่ผ่านมาตั้งแต่ผมจำความได้ ดังนั้น ถ้าใครแนะนำท่านผู้นำสูงสุดให้ฉายแสงคีโมใส่วันสงกรานต์ของพวกเราอีก ผมแนะนำให้ท่านตอบกลับเขาไปเลยว่า “เก็บเอาไปฉายใส่หัวตัวเองแทนก็แล้วกัน” เซลล์ฉลาดที่เหลือน้อยจะได้ตายไปให้หมด พบกันฉบับหน้าครับ


You must be logged in to post a comment Login