วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ต้องมีความรู้จึงจะยั่งยืน! / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On April 20, 2017

คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

เมื่อวันจันทร์ที่ 17 เมษายน ผมไปงานเผาศพครูฉลบชลัยย์ พลางกูร ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน เห็นครูทำโรงเรียนดรุโณทยาน แถวถนนพญาไท แล้วย้ายไปคลองประปา ต่อมาก็ปิดไป ทำให้นึกถึงโรงเรียนวรรณวิทย์ที่ ม.ร.ว.รุจีสมร สุขสวัสดิ์ ทำที่ซอยสุขุมวิท 8 หากท่านเสียชีวิตในอนาคตก็คงปิดเช่นกัน จะทำอย่างไรให้ยั่งยืน ผมมีตัวอย่างให้ดูคือ โรงเรียนพร้อมพรรณวิทยาที่ผมเคยเรียน

โรงเรียนดรุโณทยานของครูฉลบชลัยย์ตั้งอยู่เยื้องโรงแรมเอเชีย ต่อมาพัฒนาเป็นฮอลลีวูดสตรีทและกลายเป็นอาคารชุดพักอาศัยในที่สุด โรงเรียนต้องย้ายไปอยู่ที่คลองประปา ถ้ามีการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีราคาถูกก็คงไม่ต้องย้าย หรือถ้าย้ายก็ยังมีเงินเหลือในการพัฒนาการศึกษาต่อได้อีกมาก และสามารถทำให้โรงเรียนเอกชนที่อุทิศตนเพื่อสังคมมีความยั่งยืนได้

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ม.ร.ว.รุจีสมร สุขสวัสดิ์ ผู้อำนวยการและผู้จัดการโรงเรียนวรรณวิทย์ ท่านเคยบอกว่าที่ดินแปลงนี้มีขนาด 3 ไร่ มีผู้มาขอซื้อเป็นเงิน 1,000 ล้านบาท ท่านก็ไม่ขาย ตั้งใจจะทำเป็นโรงเรียนเช่นนี้ตลอดไป ท่านบอกว่าถ้าท่านไม่อยู่แล้วก็ยังมีคนดำเนินการต่อ ผมในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สินประมาณการในเบื้องต้นว่าที่ดินแปลงนี้น่าจะมีราคาตารางวาละ 1.2 ล้านบาท คิดเป็นเงินรวม 1,440 ล้านบาท ตามคำบอกเล่าของ ม.ร.ว.รุจีสมร ที่ดินแปลงนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของหลานแล้ว

ท่านให้เหตุผลว่าที่ไม่ขายเพราะเด็กๆจะไม่มีที่เรียนหนังสือ แต่การที่นักเรียนลดลง จากจำนวนนับพันคนเหลือเพียง 500 คนนั้น แสดงว่าความต้องการสถานศึกษาน้อยลง บริเวณที่ตั้งของโรงเรียนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยราคาแพงของผู้มีรายได้สูงที่คงไม่ส่งบุตรหลานมาเรียนที่นี่ และในบริเวณใกล้เคียงยังมีโรงเรียนเอกชนในเชิงอุดมการณ์แห่งอื่นๆที่คิดค่าเล่าเรียนถูกๆเช่นเดียวกับโรงเรียนวรรณวิทย์ หรือหลายแห่งก็ไม่เสียค่าเทอมเลย เพราะเป็นโรงเรียนของรัฐบาล และอยู่ใกล้ย่านชุมชนของเขาเอง ไม่ต้องเดินทางมาถึงโรงเรียนวรรณวิทย์

อย่างไรก็ตาม เพื่อตอบสนองปณิธานของ ม.ร.ว.รุจีสมร โรงเรียนก็อาจคงสภาพเช่นนี้ไว้จนตลอดชั่วอายุของท่าน ซึ่งก็อีกนานพอสมควร เพราะท่านยังมีสุขภาพแข็งแรงดี ผมอาจไปก่อนก็ได้ แต่ในอนาคตแม้ทางราชการจะช่วยซ่อมแซมโรงเรียนให้หรือกระทั่งสร้างใหม่ก็ถือว่าใช้เงินไม่คุ้มค่า และยังมีทรัพยากรจัดการศึกษาไม่เพียงพอ หากทางโรงเรียนต้องการส่งเสริมการศึกษาแก่สังคมอย่างมีนัยสำคัญก็ควรดำเนินการพัฒนาที่ดินโรงเรียนแห่งนี้ใหม่

ทางเลือกหนึ่งก็คือการก่อสร้างอาคารใหม่ โดย

1.ที่ดินแปลงนี้มีขนาด 3 ไร่ (ตามข่าว) หรือ 4,800 ตารางเมตร

2.หากพื้นที่ก่อสร้างคลุมดิน (Building Coverage Ratio) เป็น 75% หรือ 3,600 ตารางเมตร และในบริเวณนั้นสามารถก่อสร้างได้สูงไม่เกิน 23 เมตร หรืออาคาร 8 ชั้น ก็สามารถสร้างอาคารได้ 28,800 ตารางเมตร

3.หากมีค่าก่อสร้างตารางเมตรละ 20,000 บาท ก็รวมเป็นเงิน 576 ล้านบาท

4.ในการแบ่งพื้นที่ ชั้น 7-8 สามารถใช้เพื่อการศึกษา ดาดฟ้าก็ใช้เป็นลานกิจกรรมของนักเรียน พื้นที่ส่วนที่เหลือชั้น 3-6 ปล่อยเช่าชดเชยค่าก่อสร้างอาคารและยังมีรายได้เข้ามาบำรุงการศึกษาหรือไปบำเพ็ญประโยชน์ในพื้นที่อื่น ส่วนชั้น 1-2 อาจเป็นที่จอดรถหรือบริการอื่น

หากดำเนินการตามนี้จะสามารถบริหารการเงินให้กิจการโรงเรียนดำรงต่อไปอย่างยั่งยืน โรงเรียนก็จะมีอิสรภาพทางการเงิน และหากในอนาคตจำนวนนักเรียนยังลดลงต่อเนื่องจนไม่มีนักเรียนเพียงพอแล้วก็อาจเปลี่ยนเป็นการให้เช่าอาคารเพื่อนำรายได้ไปจัดการศึกษาในแหล่งชุมชนยากจนหรือในชนบทในนามมูลนิธิของ ม.ร.ว.รุจีสมร เพื่อเชิดชูเกียรติคุณของท่านด้วยทรัพยากรที่ท่านรักษาไว้นั่นเอง ทำแบบนี้จะทำให้ ม.ร.ว.รุจีสมรเป็นอมตะในการสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กๆผู้ยากไร้

ยังมีโรงเรียนอีกแห่งหนึ่งชื่อโรงเรียน (สตรี) พร้อมพรรณวิทยา ผมเรียนตั้งแต่ชั้นเตรียมประถมจนจบประถมศึกษาปีที่ 7 (ปี 2514) เจ้าของโรงเรียนคือ ครูพร้อมพรรณ ศิริพัฒน์ ปัจจุบันมีอายุ 90 ปี ในสมัยที่ผมเรียนมี “พร้อมพรรณ” อยู่ 2 ฝั่งถนนดินแดง ฝั่งชายและฝั่งหญิง แต่ปัจจุบันไม่มีฝั่งชายแล้ว เพราะโรงเรียนเอกชนสู้ไม่ไหว เหลือแต่ฝั่งหญิง ซึ่งท่านทำได้อย่างดี มีการปรับตัวโดยมีหลักสูตร 2 ภาษา รักษาบุคลากรคุณภาพไว้ ครูพร้อมพรรณก็มีความรอบรู้ในการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ จึงสามารถยืนหยัดทำโรงเรียนได้อย่างไม่ย่อท้อ และการที่มีความสุขกับการทำโรงเรียนนี้เองจึงเป็นเสมือนโอสถที่ทำให้ครูพร้อมพรรณ ครูรุจีสมร และครูฉลบชลัยย์ มีอายุราว 100 ปีได้

จะทำอะไรให้ยั่งยืนต้องมีความรู้ด้านอสังหาริมทรัพย์นั่นเอง


You must be logged in to post a comment Login