วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ผิดคิวและท้าทาย

On April 19, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

พลันที่กำลังทหาร ตำรวจ คุมตัว นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ไปกองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ขณะเดินทางไปถึงศูนย์บริการประชาชน เพื่อยื่นหนังสือต่อศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้ติดตามเอาผิดกับกลุ่มคนที่รื้อถอนหมุดคณะราษฎรและให้นำหมุดเก่ากลับมาไว้ที่เดิม ก็มีปฏิกิริยามากมาย

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่า “แทนที่จะหาตัวผู้ที่ทำให้หมุดหายไปมาดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมาย ทำไมกลับมาคุมตัวและสอบผู้ที่ร้องเรียนทวงถามหาหมุดที่หายไป”

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ปล่อยตัวศรีสุวรรณทันที ระบุเป็นการควบคุมตัวโดยผิดกฎหมาย เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าประเทศไทยขาดซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แม้กระทั่งการใช้ช่องทางการตรวจสอบที่รัฐจัดไว้ให้ก็ไม่สามารถกระทำได้

ไม่ต่างจาก นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ระบุทำนองเดียวกันว่า การสอบถามหรือขอรับทราบข้อมูลจากรัฐในเรื่องสาธารณะนั้นถือเป็นสิทธิที่ประชาชนสามารถกระทำได้ อยากให้ทางเจ้าหน้าที่ออกมาชี้แจงถึงเหตุผลในการควบคุมตัว เพราะบริเวณศูนย์บริการประชาชน เป็นพื้นที่ที่ประชาชนสามารถเข้าไปติดต่อได้ ไม่ใช่สถานที่ต้องห้ามแต่อย่างใด

เช่นเดียวกันกับ นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ที่ออกแถลงการณ์ ขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวศรีสุวรรณโดยทันที พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดจับตาความเคลื่อนไหวของประชาชนในเรื่องนี้ ให้หันกลับไปทำหน้าที่ติดตามสืบสวนและสอบสวนหาคนผิดที่ขโมยทรัพย์สมบัติของชาติไป

ขณะที่ปฏิกิริยาจากสองผู้มีอำนาจสูงสุดในเวลานี้แสดงท่าทีไปในทิศทางเดียวกันว่า “หมุด” ไม่ได้มีความสำคัญอะไร

“บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมบอกว่า ไม่ทราบรายละเอียดการคุมตัวนายศรีสุวรรณ เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่และขออย่าทำอะไรให้บ้านเมืองวุ่นวาย ส่วนการเปลี่ยนหมุดก็ไม่รู้เพราะไม่ใช่งานของกระทรวงกลาโหม ส่วนตัวไม่ได้ติดตามเรื่องนี้เพราะไม่ใช่เรื่องสำคัญไม่เกี่ยวอะไรกับความอดอยากปากแห้งของประชาชน

ด้าน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่าไม่อยากให้นำเรื่องการเปลี่ยนหมุดมาเป็นประเด็น ได้สั่งการให้ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจติดตามเรื่องนี้แล้ว

“เราเป็นประชาธิปไตยมากว่า 80 ปี แล้ว ผมเองก็ยืนยันว่าผมก็เป็นประชาธิปไตย ดังนั้นก็อยู่ที่ใจของพวกเราทุกคนว่าเราจะเดินหน้าประเทศกันอย่างไรมากกว่า ที่เหลือก็เป็นเรื่องของกระบวนการสืบสวนสอบสวนที่ต้องว่ากันไป ถ้าพูดกันไปมา ก็ไม่มีวันจบ ก็ขอให้ดำเนินการไปตามขั้นตอน”

ฟังจาก “บิ๊กป้อม” คือไม่รู้ไม่เห็น ไม่สนใจ

ฟังจาก “บิ๊กตู่” ดีขึ้นมาหน่อยตรงที่สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องสืบหาข้อเท็จจริงแล้ว แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรมากเพราะเชื่อว่าประชาธิปไตยอยู่ที่ใจไม่ใช่หมุด

ฟังจากฝ่ายเรียกร้องทวงคืนหมุด หมุดไม่ใช่แค่วัตถุที่หายไป แต่มีเรื่องราว มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องมากมาย

ฟังจากฝั่งนักสิทธิมนุษยชนได้ความว่าการควบคุมตัวคนที่ไปยื่นหนังสือร้องเรียนคาศูนย์ร้องทุกข์ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นมาเองเป็นเรื่องเกินกว่าเหตุ จะมีศูนย์ร้องทุกข์ขึ้นมาทำไมหากไม่สามารถไปยื่นเรื่องร้องเรียนได้

สรุปทิศทางของเรื่องนี้คงออกไปในแนวจะเรียกร้องจะเคลื่อนไหวอะไรก็ทำไป ล้ำเส้นก็จับ ล้ำเส้นก็ควบคุมตัวโดยอ้างเรื่องความมั่นคง การสอบสวนหาความจริงก็คงเป็นแค่การสั่งแบบขอไปที จะไม่มีการติดตามเร่งรัดอย่างจริงจัง

ประเด็นคือหากมีใครไปรื้อถอนหมุดใหม่ซึ่งไม่มีที่มาที่ไปออกบ้าง ฝ่ายรัฐจะยึดแนวทางปฏิบัติเดียวกันนี้หรือไม่

เรื่องนี้ถือว่าท้าทาย

ท้าทายทั้งฝ่ายที่ต้องการรู้ว่าหมุดเดิมหายไปไหน ท้าทายทั้งฝ่ายที่อยากรู้ว่าใครเป็นเจ้าของหมุดอันใหม่ ท้าทายทั้งฝ่ายคุมอำนาจรัฐว่าหากเกิดการรื้อถอนหมุดใหม่จะมีปฏิกิริยาอย่างไร

นับเป็นเรื่องท้าทายที่ไม่เป็นผลดีต่อการสร้างความปรองดอง


You must be logged in to post a comment Login