วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567

ฟังเสียงประชาชนก่อนจะไม่ได้ฟัง! / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On April 13, 2017

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

ในที่สุดวันหยุดยาวประจำปีที่ทุกท่านรอคอยก็มาถึง นั่นคือ “เทศกาลสงกรานต์” หรือวันปีใหม่ไทยที่คนไทยทุกคนถือเป็นประเพณีปฏิบัติในการรดน้ำดำหัวเพื่อขอพรจากบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ และครูบาอาจารย์ที่เรานับถือ ซึ่งถือเป็นสิริมงคลแก่ตนและครอบครัวก่อนจะกลับมาเริ่มต่อสู้ชีวิตกันใหม่ในปีต่อไป

บ้านเราเป็นเมืองร้อน จึงไม่แปลกที่การอวยพรในเทศกาลสงกรานต์จะใช้ “น้ำ” เป็น “สื่อ” ผ่านการ “รดน้ำ” และ “เล่นน้ำ” กันอย่างสนุกสนาน สมัยก่อนเล่นสงกรานต์ก็จะไปที่วัด ซึ่งท่านผู้อ่านรุ่นผมขึ้นไปคงจำได้ดี เพราะที่วัดจะมีกิจกรรมต่างๆมากมาย ตั้งแต่ทำบุญ สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ ตลอดจนกิจกรรมการละเล่นต่างๆมากมาย และที่ขาดไม่ได้คือ การสาดน้ำใส่กัน ตอนผมเด็กๆก็ใช้ “ขัน” สาดน้ำใส่กันเป็นหลัก ต่อมาเริ่มมี “ปืนฉีดน้ำ” และอุปกรณ์เล่นน้ำต่างๆถูกพัฒนาขึ้นมาตามยุคสมัย

“สงกรานต์” กลายเป็นเทศกาลที่โด่งดังไปทั่วโลก เพราะเป็นเทศกาลแห่งความสุขและสนุกสนาน นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยมาสัมผัสบรรยากาศของ “Water Festival” ต่างกลับไปเล่าขานกันปากต่อปาก ยิ่งต่อมามีการโพสต์รูป โพสต์วิดีโอทางโซเชียลเน็ตเวิร์คกันอย่างแพร่หลาย สงกรานต์จึงยิ่งกลายเป็นเทศกาลที่นักท่องเที่ยวต่างชาติใฝ่ฝันจะได้มาสัมผัสด้วยตนเองสักครั้ง

ดังนั้น ในช่วงเดือนเมษายนแม้ประเทศไทยจะมีอากาศร้อนจัด แต่เราก็ยังเห็นฝรั่งทั้งหัวดำและหัวแดงเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยกันอย่างไม่ขาดสาย จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีมากขึ้นในช่วงนี้ถือเป็นปัจจัยที่สร้างรายได้ให้กับประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมให้คึกคัก ซึ่งรัฐบาลส่วนใหญ่ที่ผ่านมาต่างให้ความสำคัญกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการควบคุมดูแลให้การเล่นสงกรานต์ทุกปีมีความราบรื่น ปลอดภัย และเรียบร้อย

ต้องยอมรับว่าการเล่นน้ำของหนุ่มสาว โดยเฉพาะวัยโจ๋ทั้งหลาย ถ้าไม่มีกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมมาควบคุม บางครั้งก็มีความสนุกสนานจนเกินเลยอยู่บ่อยครั้ง การเล่นน้ำโดยขาดการยั้งคิด ใช้อุปกรณ์การเล่นที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนการดื่มของมึนเมาจนขาดสติ ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่คดีความและอุบัติเหตุต่างๆมากมายทุกปี

ผู้รับผิดชอบทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ทุกคนต่างก็มีความกังวลและพยายามออกมาตรการที่เหมาะสมที่สุด เพื่อป้องกันเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้น หรือถ้าเกิดขึ้นก็ขอให้มีน้อยที่สุด เพราะแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และทำให้ภาพลักษณ์ที่ดีงามของเทศกาลสงกรานต์ต้องได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย แน่นอนว่าย่อมส่งผลไปถึงการท่องเที่ยวทั่วไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผมเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนมาตรการการป้องกันต่างๆให้มีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการทางกฎหมายที่มีการบังคับใช้ตามปรกติอยู่แล้ว การดื่มจนเมาแล้วขับ การไม่สวมหมวกกันน็อก การไม่รัดเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่กระทำไม่ได้อยู่แล้วแม้ในยามปรกติ ซึ่งถ้าทุกคนทุกฝ่ายมีจิตสำนึกและช่วยกันปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งผู้บังคับใช้กฎหมายก็ไม่ละเลยและจัดการกับทุกคนที่ฝ่าฝืนอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ผมเชื่อว่าอุบัติเหตุและคดีความต่างๆจะลดลงไปอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี การออกคำสั่งบางเรื่องบางอย่าง “มาก” เกินไปก็อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนได้เช่นกัน ยกตัวอย่างการห้ามไม่ให้นำถังน้ำขึ้นท้ายรถเพื่อเล่นน้ำ ผมเห็นด้วยถ้าการกระทำแบบนี้เกิดขึ้นจากคนขับรถที่ขับเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือขับรถดังกล่าวด้วยความหวาดเสียว แต่ไม่เห็นด้วยถ้าการใช้รถดังกล่าวอยู่บนเส้นทางที่ประชาชนเล่นน้ำสงกรานต์ และการใช้ความเร็วของรถก็เป็นไปตามปรกติ ค่อยๆไหลค่อยๆขยับเพื่อสาดน้ำใส่กัน

ที่ผมนำเรื่องต่างๆมาบ่นให้ฟังในสัปดาห์นี้ เพราะผมเชื่อว่าถ้าผู้มีอำนาจลงมาสัมผัสกับพี่น้องประชาชน เรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นผ่านตัวแทนผู้รับผิดชอบที่มีอยู่มากมาย ท่านจะได้ทราบว่าการออกกฎเกณฑ์ต่างๆที่มากเกินไปย่อมส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติตามประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่นนั้นๆ แน่นอนว่ารัฐบาลอาจจะได้ประโยชน์จากการลดความรับผิดชอบของตัวท่านเอง แต่สิ่งที่ท่านบังคับหรือยัดเยียดให้ประชาชนต้องยอมรับคือภาระรับผิดชอบที่ท่านโยนลงมาให้กับประชาชนนั่นเอง

ท่านเชื่อหรือไม่ว่าเมื่อปีที่แล้วบรรยากาศสงกรานต์ในกรุงเทพมหานครแทบจะหายไปเกือบหมด ตามตรอกซอกซอยและท้องถนนต่างๆที่เคยมีการเล่นน้ำกันอย่างคึกคักแทบกลายเป็นเมืองร้าง เห็นแต่เด็กๆบางบ้านที่มีความพยายามจะสาดน้ำใส่รถที่วิ่งผ่านไปมาตามปรกติเท่านั้น หากมีความประสงค์จะเล่นน้ำสงกรานต์กันจริงๆก็ต้องไปเล่นตามที่ที่ราชการจัดให้ หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือต้องเสียสตางค์ซื้อบัตรเข้าไปเล่นสงกรานต์ตามสถานบันเทิงต่างๆ

ผมยอมรับว่าเรามีกฎหมายที่เข้มงวดบังคับใช้กันอยู่แล้ว การขนของใส่กระบะท้าย การใช้รถผิดประเภท การห้ามโดยสารบนกระบะหลัง ฯลฯ เหล่านี้ล้วนอยู่ในพระราชบัญญัติต่างๆอยู่แล้ว แต่การอนุโลมหรือผ่อนผันในบางกรณีก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยกระทำหรือห้ามกระทำโดยเด็ดขาด ผมเชื่อว่าถ้าเรายึดหลักสายกลางตามคำสั่งสอนในศาสนาพุทธ ร่วมกันปรึกษาหารือหันหน้าเข้าหากัน เราน่าจะได้ทางออกร่วมกันที่ดีกว่านี้ ประชาชนก็ได้ประโยชน์ และรัฐก็ได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน

ผมยืนยันว่าเรื่องนี้ผมไม่บังอาจกล่าวหาใครทั้งสิ้น เพราะบทบาทภาระรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายแตกต่างกันไป จะโทษรัฐบาลหรือโทษประชาชนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ถูก แต่ที่สำคัญคือ รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ใช่รับฟังแต่รายงานหรือเอามาตรฐานของประเทศอื่นๆมาบังคับใช้ในบ้านตัวเองโดยไม่ได้พิจารณาบริบทและความเหมาะสมอย่างถี่ถ้วนอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เพราะนอกจากปัญหาต่างๆไม่ได้ลดลงแล้ว ยังกลับสร้างปัญหาใหม่และนำพาพี่น้องประชาชนให้ได้รับความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า

สุดท้ายนี้ขอฝากไปถึงท่านผู้นำสูงสุด เพราะท่านเคยพูดในที่สาธารณะหลายครั้งว่าท่านเป็นลูกชาวบ้าน ผมเชื่อว่าหากท่านใส่ใจต่อปัญหาของพี่น้องประชาชนจริงๆ มาตรการที่ท่านประกาศออกมาต้องไม่มีเรื่องที่ชาวบ้านเขาด่ากันทั้งเมืองอย่างแน่นอน ดังนั้น แทนที่จะรับฟังรายงานจากฝ่ายเสนาธิการของท่านเพียงอย่างเดียว ถึงเวลาแล้วที่ “ท่านต้องฟังเสียงประชาชนบ้างก่อนที่ประชาชนจะไม่ยอมฟังท่าน” เพราะถ้าท่านรอให้ถึงวันนั้น ความฝันที่จะสืบทอดอำนาจต่อไปจากนี้ “คงริบหรี่เหลือแค่แสงเทียนเท่านั้น”


You must be logged in to post a comment Login