วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

มองหาทางลง

On April 12, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

หลังใช้อำนาจมาตรา 44 ออกข้อบังคับให้ประชาชนห้ามขึ้นไปนั่งโดยสารบนท้ายรถกระบะ ห้ามเข้าไปนั่งที่แคปหลังที่นั่งคนขับจนถูกต่อต้านอย่างหนัก ทำให้ต้องยอมผ่อนผันแบบไว้เชิงให้นั่งโดยสารท้ายกระบะได้แต่ต้องไม่เกิน 6 คน และให้เข้าไปนั่งในแคปได้ โดยอาศัยเหตุผลประชาชนต้องเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์มาช่วยให้การถอยดูมีชั้นเชิงมากกว่าการยอมแพ้

แต่เรื่องนี้ยังไม่จบ

ไม่จบเพราะประกาศเอาไว้แล้วว่าหลังเทศกาลสงกรานต์แล้วจะกลับมาบังคับใช้ข้อห้ามตามประกาศมาตรา 44 อย่างเคร่งครัด

ในขณะเดียวกันก็รู้อยู่แก่ใจว่าจะต้องโดนต่อต้านไม่แพ้ช่วงก่อนที่จะยอมผ่อนผันทำให้ตอนนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งช่วยกันคิดหาทางออกที่สวยงาม ก่อนที่จะเผชิญกับเสียงต่อต้านจากประชาชน

ล่าสุด พล.ต.ท.วิทยา ประยงค์พันธุ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วยผบ.ตร.) มีหนังสือ ที่ ตช.0011.14/1217 ลงวันที่ 7 เมษายน เรื่องหลักเกณฑ์รองรับการใช้รถกระบะบรรทุกโดยสาร ตามพ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 เพิ่มเติม ถึงอธิบดีกรมขนส่งทางบก

ข้อความในหนังสือดังกล่าวระบุว่า ด้วยปรากฏว่าตำรวจได้นำแนวทางบังคับใช้เข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2560 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2560 มาปฏิบัติและประชาสัมพันธ์ แต่ได้รับคำร้องเรียนจากผู้ใช้รถยนต์กระบะบรรทุกส่วนบุคคลจำนวนมาก ว่าไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนด ตามพ.ร.บ.รถยนต์ 2522 ที่ห้ามมิให้บรรทุกผู้โดยสารในช่องแคป หรือกระบะท้ายรถยนต์ได้ ด้วยความจำเป็น และข้อขัดข้องในการจดทะเบียนให้ถูกต้องหลายประการ

กรณีนี้ ตำรวจได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กรมการขนส่งทางบกควรพิจารณาออกหลักเกณฑ์ และวิธีการที่มีความปลอดภัยในระดับหนึ่งให้กับประชาชนที่มีความจำเป็นต้องใช้รถยนต์กระบะบรรทุก เป็นรถยนต์โดยสารบ้างเป็นบางโอกาส โดยมิต้องไปจดทะเบียน เปลี่ยนแปลงลักษณะรถ เป็นรถยนต์บรรทุกผู้โดยสารส่วนบุคคล เกิน 7 คน ตามกฎหมาย ดังนี้

1.ที่แคปด้านหลังคนขับ และผู้โดยสารตอนหน้า เฉพาะรุ่นที่มีความกว้างเพียงพอ เห็นสมควรให้อนุญาตติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแบบ 2 จุด หรือ 3 จุด แล้วใช้เป็นที่โดยสารได้

2.สำหรับกระบะบรรทุก ตอนหลังรถ หากมีความจำเป็น จะต้องบรรทุกผู้โดยสารระหว่างการเดินทาง ให้กระทำได้โดยจำกัดจำนวนผู้โดยสาร ที่ให้บรรทุกได้ ไม่เกิน 6 คนและพิจารณากำหนดจุดติดตั้งราวจับยึด หรือติดตั้งเข็มขัดนิรภัยเท่าที่ทำได้

3.กรณีใช้บรรทุกผู้โดยสารตามข้อ 2. จะต้องจำกัดความเร็วให้อยู่ในระดับปลอดภัยมากกว่าปรกติ เห็นควรให้ใช้ความเร็วไม่เกินความเร็วในเขตเทศบาล (80 กิโลเมตร/ชั่วโมง)

จากข้อเสนอนี้แสดงให้เห็นว่าฝ่ายตำรวจซึ่งเป็นผู้ที่ต้องบังคับใช้กฎหมายมีความหวั่นใจต่อการทำหน้าที่หากไม่มีการออกข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติตาม คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2560 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2560 เพราะตำรวจเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายที่ต้องเผชิญหน้ากับประชาชนโดยตรง

ถ้าไม่มีการปรับแก้ก็ต้องทำหน้าที่รักษากฎหมายซึ่งเกิดการกระทบกระทั่งกับประชาชนที่ใช้รถกระบะแน่ หากไม่ทำหน้าที่ก็มีความผิด ตำรวจกลายเป็นหนังหน้าไฟสำหรับกรณีนี้จึงต้องชงให้ผู้เกี่ยวข้องหาทางออกให้ได้ก่อนสิ้นเทศกาลสงกรานต์

ความจริงแม้กรมการขนส่งทางบกจะมีหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องรถโดยตรง แต่กรมการขนส่งทางบกไม่มีอำนาจออกกฎหมาย กรณีนี้หากจะให้ตรงเป้าตำรวจต้องกล้าเสนอความเห็นไปที่หัวหน้าคสช.เพื่อให้ใช้อำนาจพิเศษออกประกาศเพิ่มเติมเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน

เรื่องนี้สะท้อนชัดว่าตำรวจซึ่งต้องเผชิญหน้ากับประชาชนโดยตรงมีความหวาดหวั่นต่อการบังคับใช้กฎหมายตามคำสั่งหัวหน้าคสช. จึงพยายามช่วยคิดหาทางออกลดการเผชิญหน้า ลดการต่อต้าน

ไม่รู้ว่าผู้มีอำนาจจะสนใจบันไดที่ตำรวจพาดให้ไต่ลงหรือไม่


You must be logged in to post a comment Login