วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ด่านทดสอบอำนาจ

On April 6, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ประเด็นร้อนที่สุดในสังคมไทยตอนนี้เห็นจะไม่พ้นเรื่องการใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายจราจร โดยสรุปตามประเภทได้ดังนี้คือ

รถจักรยานยนต์ ต้องสวมหมวกนิรภัยทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายนั่งไม่เกิน 2 คน (รวมผู้ขับขี่)

รถยนต์ ห้ามนั่งเกิน 5 คน รัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง

รถแท็กซี่ ห้ามนั่งเกิน 5 คน รัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง

รถกระบะ (มีแคป) ห้ามนั่งแคป, ห้ามนั่งบนกระบะท้าย, รัดเข็มขัดทุกที่นั่ง (2 คนหน้า)

รถกระบะ 4 ประตู ห้ามนั่งเกิน 5 คน, ห้ามนั่งบนกระบะท้าย, รัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง

รถตู้โดยสารสาธารณะ ห้ามนั่งเกิน 13 คน รัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง

ทั้งหมดมีโทษปรับมากน้อนลดหลั่นกันไป และเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา

ตามคำชี้แจงของผู้ที่ออกกฎนี้มาบังคับใช้คือเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถเป็นหลัก เนื่องจากต้องการลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินหากเกิดอุบัติเหตุ

ในขณะที่ฝ่ายปฏิบัติอย่าง พล.ต.ท.วิทยา ประยงค์พันธ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วยผบ.ตร.) ยืนยันว่าจะบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างจริงจังทั่วประเทศ รถขนส่งสาธารณะ รถโดยสาร และรถยนต์ทุกประเภทที่ฝ่าฝืนไม่รัดเข็มขัดนิรภัย หากพบว่าไม่รัดเข็มขัดนิรภัยก็ต้องถูกปรับ 500 บาท

รถกระบะที่มีแคปห้ามบรรทุกคนโดยสารหากพบเห็นจะถูกปรับทันที เพราะวัตถุประสงค์ของแคป คือ มีไว้เพื่อตั้งวางสิ่งของเท่านั้น ไม่มีอุปกรณ์สำหรับความปลอดภัยของผู้ที่นั่งอยู่ในแคป และไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้คนนั่ง ที่ผ่านมากลับมีการใช้บรรทุกคนจนเคยชิน

รถกระบะที่บรรทุกคนโดยสารในแคป จะถูกจับปรับในข้อหา ใช้รถยนต์ผิดประเภท เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ 2522 มาตรา 21 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งเช่นเดียวกับกรณีที่ให้ผู้โดยสารนั่งข้างหลังกระบะ

อย่างไรก็ตาม หากต้องการบรรทุกผู้โดยสารสามารถทำได้โดยนำรถไปต่อเติมหลังคาและติดตั้งที่นั่ง 2 แถว และนำรถไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกเป็นรถโดยสารสาธารณะ 7 ที่นั่งขึ้นไป แต่ไม่เกิน 12 ที่นั่ง จึงถือว่าไม่ผิดกฎหมาย

สำหรับรถยนต์กระบะ 4 ประตู สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ปรกติ แต่ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง เพราะรถกระบะ 4 ประตู จดทะเบียนเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง ที่ผ่านมาประชาชนใช้รถผิดประเภทมาโดยตลอด

เป็นคำอธิบายจากฝ่ายบังคับใช้กฎหมายคือ ตำรวจ

ความจริงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่มันเป็นเรื่องขึ้นมาเพราะที่ผ่านมาเราปล่อยปละละเลยการใช้รถยนต์ผิดประเภทกับที่จดทะเบียนไว้จนเป็นความเคยชิน เมื่อเคยชินแล้วจึงรู้สึกต่อต้านว่าทำไมสิ่งที่ทำจนเคยชินนั้นไม่สามารถทำได้

หากว่ากันตามหลักการเรื่องนี้ถือว่าถูกต้อง และไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เพราะเรามี พ.ร.บ.รถยนต์ บังคับใช้อยู่แล้ว

สิ่งที่ผู้มีอำนาจอธิบายมาทั้งหมดเป็นเรื่องที่ถูก

แต่ความเคยชินที่ประชาชนทำต่อๆกันมาคือปัญหาใหญ่ และเรื่องนี้จะเป็นประเด็นร้อนส่งผลกระทบต่อผู้มีอำนาจได้ เพราะเป็นเรื่องที่คนส่วนมากของประเทศได้รับความเดือดร้อน ดังจะเห็นได้จากการออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านของคนหลายระดับ และแสดงท่าทีคัดค้านแตกต่างกันออกไป

การลุกขึ้นมาบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังแม้เป็นเรื่องดีแต่ถือว่าถูกที่ ไม่ถูกเวลา

เนื่องจากการมาประกาศบังคับใช้กฎหมายจริงจังกันตอนใกล้เทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนต้องเดินทางกันจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงคมนาคมประเมินเองว่าช่วงสงกรานต์นี้จะมีประชาชนเดินทางมากถึง 35 ล้านคน

คิดดูว่าใน 35 ล้านคนที่ต้องเดินทางใช้รถกระบะกี่คัน ประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนกี่ล้านคนที่ไม่สามารถเดินทางได้โดยสะดวกในช่วงสงกรานต์ปีนี้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมืองเพราะประชาชนทุกสีเดือดร้อนเหมือนกันหมด หากประชาชนพร้อมใจกันฝ่าฝืนอะไรจะเกิดขึ้น

ทำถูก ทำดี แต่ผิดที่ ผิดเวลา อำนาจก็อาจสั่นคลอนได้


You must be logged in to post a comment Login