วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ภัยต่อความ(ไม่)มั่นคง / โดย ทีมข่าวการเมือง

On April 3, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

กลายเป็นกระแสร้อนทั้งในทางการเมืองและโลกออนไลน์ เมื่อสถานีโทรทัศน์ Voice TV ทีวีระบบดิจิตอลที่ใช้เงินมหาศาลประมูลใบอนุญาต กลายเป็นทีวีช่องแรกที่ถูกคำสั่งให้ “จอดำ” หลังจากเมื่อวันที่ 27 มีนาคม คณะอนุกรรมการกำกับผังรายการและเนื้อหารายการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เสนอที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ให้พักใช้ใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ Voice TV ทั้งช่องเป็นเวลา 3 วัน แต่ กสท. มีมติพักใบอนุญาตเพิ่มเป็น 7 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2560 เวลา 00.01 น.

พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. และ กสท. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับผังรายการและเนื้อหารายการ ระบุว่า เนื่องจากการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ Voice TV รายการใบตองแห้งออนแอร์ รายการ In Her View และรายการ Overview มีลักษณะเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร อันเป็นการต้องห้ามมิให้ออกอากาศตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และเป็นการกระทำผิดซ้ำในรูปแบบเดิม หลังจากมีผู้ร้องเรียนการดำเนินรายการของสถานีโทรทัศน์ Voice TV ในปีที่แล้วรวม 10 ครั้ง และปีนี้ 2 ครั้ง ซึ่งสถานีโทรทัศน์ Voice TV ยังไม่ปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน ส่วนสาเหตุที่ กสท. เพิ่มจำนวนวันพักใบอนุญาต เนื่องจากที่ผ่านมาได้กำหนดให้มีการสั่งพักใบอนุญาตขั้นต่ำ 7 วัน

หลังมีคำสั่งของ กสท. วอยซ์ทีวีได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามพื้นฐานวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด แม้เนื้อหาอาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ยืนยันว่าไม่กระทบต่อความมั่นคง ที่ผ่านมาวอยซ์ทีวีได้เข้าชี้แจงและให้ความร่วมมือต่อคณะอนุกรรมการผังรายการ กสทช. รวมทั้งหารือคณะทำงานติดตามสื่อของ คสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขรายการให้สอดคล้องและเหมาะสม ดังนั้น วอยซ์ทีวีจะพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน รวมทั้งดำเนินการทางแพ่งและปกครองตามความเหมาะสมต่อไป เนื่องจากมติดังกล่าวมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท

ขณะที่เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานว่า รายการที่ถูกพิจารณามีทั้งสิ้น 4 รายการ ได้แก่ วันที่ 15 มีนาคม 2560 จำนวน 1 รายการคือ รายการใบตองแห้งออนแอร์ เวลาประมาณ 19.11 น. หัวข้อ “จากธัมมี่ถึงทักกี้ ประเทศนี้ยังปรองดองได้อยู่หรือ” และวันที่ 20 มีนาคม 2560 จำนวน 3 รายการคือ รายการ In Her View เวลา 19.30 น. หัวข้อ “ไล่เรียงเหตุการณ์จังหวะแห่งข่าวโกตี๋กับอาวุธ พร้อมแถลงการณ์แผนลอบสังหาร” รายการ Overview หัวข้อ “กองทัพป้องทหาร ยันยิงทิ้งเด็กลาหู่ถูกต้องทุกกรณี” และรายการ Voice News ช่วง Voice News Report เวลา 20.13 น. หัวข้อ “นายวีระ สมความคิด แสดงความคิดเห็นกรณีบ่อนตาพระยา”

สะเทือนธุรกิจทีวีดิจิตอลอีกหลายช่อง

วันที่ 28 มีนาคม นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) พร้อมกับคณะกรรมการ ซึ่งมีนายธีรัตถ์ รัตนเสวี ผู้อำนวยการฝ่ายรายการและสื่อดิจิตอล สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ได้เข้าพบ พล.ท.พีระพงษ์เพื่อขอความชัดเจนในการลงโทษว่าใช้มาตรการจากเบาไปหาหนักหรือไม่ ซึ่ง พล.ท.พีระพงษ์ย้ำถึงเหตุผลที่มีมติดังกล่าวคือ การกระทำผิดซ้ำในรูปแบบเดิม นำเสนอข้อมูลไม่รอบด้าน โดยก่อนหน้านี้ได้ลงโทษตักเตือนแล้ว 13 ครั้ง ซึ่งหากกลับมาเปิดช่องอีกครั้ง หากพบกระทำผิดซ้ำก็จะต้องมีการพิจารณาบทลงโทษ โดยยืนยันว่าไม่ได้รับใบสั่งหรือทหารเข้ามาแทรกแซง

นายสุภาพได้แสดงความคิดเห็นว่า การปิดช่องก็เท่ากับโทษประหารสื่อ การลงดาบวอยซ์ทีวีครั้งนี้สร้างความหวาดหวั่นกับสื่อดิจิตอลอีกหลายช่อง จึงยื่นข้อเสนอให้ตั้งคณะบุคคลทำการเจรจาระหว่างสถานีกับ กสทช. เพื่อเป็นการบอกกล่าวและร่วมหาทางแก้ไขในวิธี “สื่อกำกับกันเอง” ซึ่งก่อนหน้านี้นายสุภาพได้แสดงความเห็นผ่านวอยซ์ทีวีว่า คำสั่งปิดทีวีทั้งช่องกระทบต่อธุรกิจและความไม่มั่นใจของผู้ประกอบการอย่างมาก กสท. ควรลงโทษตามความผิดในแต่ละกรณี ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคลหรือรายการนั้นๆ การปิดทีวีทั้งช่องเหมือนในอดีตที่รัฐบาลเผด็จการสั่งปิดหนังสือพิมพ์ ซึ่งสื่อก็ต่อสู้จนมีการยกเลิก ปร.42 ให้การกระทำผิดเป็นไปตามกฎหมายที่สามารถฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญาได้

นายธีรัตถ์ระบุว่า ที่ กสทช. มีหนังสือแจ้งเตือนมา ทางสถานีได้ให้ความร่วมมือแก้ไขปรับปรุงโดยตลอด และยืนยันว่าการเป็นสื่อต้องให้ข้อมูลที่รอบด้าน ทีมนักวิเคราะห์ของสถานีที่วิเคราะห์ข่าวสารก็เป็นเพียงชุดความคิดที่แตกต่าง ประชาชนมีสิทธิเลือกเสพข้อมูลที่ไม่ได้ภัยความมั่นคงต่อรัฐหรือประเทศชาติ

บรรยากาศแห่งความกลัว

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ที่ประกาศยุติการทำหน้าที่ กสทช. ชั่วคราว ทวีตข้อความกรณีวอยซ์ทีวีว่า ท่านที่ถามมติ กสท. พักใช้ใบอนุญาต Voice TV 7 วัน ถ้าวันนี้เรานั่งอยู่ในห้องประชุมก็คงเป็นเสียงข้างน้อยอีก กรณี Voice TV มติลงโทษเกินกว่าเหตุมาก กรณี true visions ก็อ่อนเบามาก พูดไปก็ไร้ประโยชน์ เพราะวันนี้เราไม่มีหน้าที่และ authority อีกต่อไป ทราบว่ามีมติอีกหลายเรื่องที่สังคมยังไม่ทราบ แต่ควรทราบ เราก็เล่าไม่ได้แล้ว

น.ส.สุภิญญายังระบุว่า จากนี้ผู้ประกอบการทั้งหมดต้องพยายามหาข้อมูลวงในเอง มีมติ กสท. หลายเรื่องที่ควรรู้แต่เขาอาจจะไม่แถลงข่าว ดิฉันจะมาทวีตปาวๆก็ไม่ได้ แล้วบอร์ด กสท. เหลือแค่ 3 แล้ว เรื่องต่างๆคงไปเร็วมาก หรือไม่ไปไหนเลย ถ้าไม่มีฝ่ายค้านข้างในคอยถ่วงดุล หรือมีภาคประชาสังคมคอยตรวจสอบจากข้างนอก ส่วนเรื่องเสรีภาพทางความคิดผ่านสื่อทีวีดูแนวโน้มคงถูกจำกัดมากขึ้น โดยเฉพาะถ้าไม่ใช้หลักการและเหตุผลในการตัดสินใจและไม่มีการถ่วงดุลในอำนาจ ถ้าไม่มีคนระดับกรรมการคอยถ่วงดุลอำนาจให้ก็ยากมากที่ระดับปฏิบัติการในสำนักงานจะกล้าทัดทานกับบอร์ดที่เหลือทั้งหมดได้ บรรยากาศจะเงียบลงไปอีกมากในทุกที่ของการใช้อำนาจในการตัดสินใจเรื่องที่กระทบประโยชน์สาธารณะ การมีกลไกถ่วงดุลอำนาจเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะไม่เช่นนั้นจะใช้อำนาจไม่สมดุล เมื่อการใช้อำนาจไม่สมดุลย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นกลาง ไม่เป็นธรรม หลายมาตรฐาน เลือกปฏิบัติ ทำให้สังคมเพิ่มความขัดแย้ง ไม่สงบสุข เป็นวงจร การกำหนดบทลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนเป็นปัญหาหนึ่งของหลักนิติธรรมในการใช้กฎหมาย บางเรื่องผิดกฎหมายชัด แต่ลังเล บางเรื่องเป็นดุลยพินิจ แต่จัดหนักเลย

จอดำที่ช่อง 21 คืนนี้จะส่งผลต่อบรรยากาศแห่งความกลัวไปยังช่องที่เหลือทั้งหมดด้วย เขาเรียกว่า chilling effect อย่าลืมใส่เสื้อหนาวในฤดูร้อน บอกตัวเองอีกครั้งว่า เราไม่มีหน้าที่ใน กสทช. อีก ก็ควรปล่อยวางบ้าง อะไรจะเกิดก็คงเกิด และเราได้ผ่านมันมาแล้ว จากนี้ So be it.

2 สมาคมสื่อจี้ กสทช. ทบทวนคำสั่ง

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยออกแถลงการณ์คัดค้านมติของ กสท. สั่งพักใบอนุญาตวอยซ์ทีวี เรียกร้องให้ กสทช. ทบทวนคำสั่งของ กสท. โดยด่วน เพราะหากรายการใดมีปัญหาก็สามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วจัดการได้ แต่ต้องไม่ใช้อำนาจพักใบอนุญาตทั้งสถานี ด้วยเหตุผลว่าวอยซ์ทีวีเป็นองค์กรธุรกิจและองค์กรสื่อ ซึ่งมีคนทำงานหลายส่วนและไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของรายการหรือมีส่วนรับรู้ในการกระทำของพิธีกรรายการแต่ได้รับผลกระทบไปด้วย ลำพัง กสท. ใช้อำนาจสั่งพักรายการบางรายการก็กระทบการทำหน้าที่ของสื่อโดยตรง แต่การใช้อำนาจพักใบอนุญาตยิ่งก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรง

ดังนั้น กสท. เป็นส่วนหนึ่งของ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ให้ใบอนุญาตกับผู้ประกอบการและกำกับผู้ได้รับใบอนุญาต หากไม่ระมัดระวังในการใช้อำนาจ กสทช. จะเป็นองค์กรที่ทำลายเสรีภาพสื่อและองค์กรธุรกิจสื่อเสียเอง ทั้งที่ กสทช. มีอำนาจและมีหน้าที่โดยตรงในการป้องกันไม่ให้อำนาจฝ่ายอื่นเข้ามาแทรกแซงความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ขององค์กรสื่อที่ได้รับใบอนุญาตในการประกอบกิจการ กรณีที่ กสท. อ้างถึงหนังสือร้องเรียนจากคณะทำงานติดตามสื่อของ คสช. จำนวน 4 รายการ จึงมีมติพักใบอนุญาต เท่ากับ กสท. ยอมและเปิดทางให้อำนาจอื่นเข้ามาทำลายความเป็นอิสระของ กสทช. โดยตรง แล้วยังส่งผลกระทบต่อองค์กรสื่อที่อยู่ภายใต้การกำกับของ กสท. โดยตรง รวมทั้งทำลายความน่าเชื่อถือของ กสท. และความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ขององค์กรสื่อมวลชนภายใต้การกำกับของ กสทช. ให้เลวร้ายลงไปอีก รวมถึงความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนไทยก็ลดลงไปเช่นกัน

นอกจากนี้มติของ กสท. ยังขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญทั้งปี 2540, ปี 2550 และฉบับที่ผ่านประชามติที่ให้การรับรองบุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและใช้เสรีภาพเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพจะกระทำมิได้ การให้นำข่าวสารหรือข้อความใดๆที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจัดทำขึ้นไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือสื่อใดๆจะกระทำมิได้เช่นกัน มติ กสท. ครั้งนี้จึงเป็นการใช้อำนาจที่ขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานในการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน และกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆกำหนดไว้ว่า “การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นจะกระทำไม่ได้” ก็เพื่อให้องค์กรสื่อในส่วนที่ไม่ได้สร้างปัญหายังคงทำหน้าที่ต่อไปได้

ในกรณีของวอยซ์ทีวี หากรายการใดมีปัญหาก็ควรพิจารณาเป็นกรณีไป ไม่ควรใช้อำนาจพักใบอนุญาตทั้งสถานี หรือหากการเสนอเนื้อหาทีวีช่องใดมีผลกระทบต่อความมั่นคง หรือละเมิดสิทธิบุคคล หมิ่นประมาทบุคคลอื่น ผู้เสียหายหรือผู้มีส่วนได้เสียก็ชอบที่จะใช้สิทธิแจ้งความดำเนินคดีหรือฟ้องร้องตามกฎหมายปรกติได้อยู่แล้ว ในแง่ของผู้บริโภคข่าวสาร หากสื่อใดนำเสนอรายการที่ไม่มีความรับผิดชอบหรือละเมิดสิทธิผู้คน กลไกตลาดผู้บริโภคข่าวสารก็จะเป็นคนตัดสินสื่อนั้นได้เช่นกัน

SEAPA ประณามคำสั่งจอดำ

องค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ออกแถลงการณ์ประณามมติ กสท. ที่พักใบอนุญาตวอยซ์ทีวีว่า เป็นการกระทำที่ไม่ได้สัดส่วนอย่างที่สุด ทั้งที่เนื้อหาที่ออกอากาศควรเป็นเอกสิทธิ์ของสถานี การพักใช้ใบอนุญาตเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ เพราะเป็นการปิดทั้งสถานีและทุกรายการ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงอำนาจมหาศาลที่รัฐบาลทหารให้กับ กสทช. ในการกํากับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ให้ กสทช. ปิดสื่อได้โดยไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง อาญา และวินัย กสทช. กลายเป็นหน่วยงานเซ็นเซอร์ทีวีในประเทศไทยแล้วอย่างชัดเจน

ขณะที่คณะกรรมการปกป้องสื่อมวลชน (CPJ) กลุ่มสิทธิเสรีภาพสื่อระหว่างประเทศ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์เรียกร้อง กสท. ยุติการพักใช้ใบอนุญาตของวอยซ์ทีวีโดยทันที โดยฌอน คริสพิน ผู้แทนอาวุโสของซีพีเจประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า รัฐบาลทหารพูดเสมอว่าเตรียมคืนประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย แต่ยังคงปิดกั้นสื่อมวลชนแบบรัฐบาลอำนาจนิยม จึงขอเรียกร้องให้ระงับคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตของวอยซ์ทีวีและยุติการปิดกั้นและรังควานสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี

แถลงการณ์ยังระบุว่า ภายหลังการรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 วอยซ์ทีวีเป็นทีวีดิจิตอลช่องเดียวที่ถูกสั่งปิดเป็นเวลาเกือบ 1 เดือน นอกจากนี้เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการ และนายอธึกกิจ แสวงสุข ผู้ร่วมรายการ ถูกระงับการออกอากาศเป็นเวลา 10 วัน เนื่องจากเสนอความเห็นวิเคราะห์วิจารณ์การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จนถึงขณะนี้รายการของ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ถูกระงับแล้วถึง 4 ครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ซีพีเจได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งคณะรัฐประหารทุกฉบับที่จำกัดเสรีภาพสื่อมวลชนและยุติการผลักดันกฎหมายควบคุมสื่อ

ภัยต่อความ(ไม่)มั่นคง?

การสั่งปิดวอยซ์ทีวีครั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า 4 รายการที่ คสช. ร้องเรียนต่อ กสท. ว่าวอยซ์ทีวีให้ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร อันเป็นการต้องห้ามมิให้ออกอากาศตามประกาศ คสช. นั้น ล้วนเป็นปัญหาที่คลางแคลงใจของสังคมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร กับโกตี๋ กรณีวัดพระธรรมกาย หรือกรณีทหารวิสามัญฆาตกรรม “ชัยภูมิ ป่าแส”

โดยเฉพาะการเสนอข่าวและข้อมูลกรณี “ชัยภูมิ ป่าแส” วอยซ์ทีวีพยายามเสนอความจริงอีกด้านที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่พูดหรือปิดบัง โดยเฉพาะเรื่องกล้องวงจรปิดที่แม่ทัพภาคที่ 3 อ้างเป็นหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ทหารทำถูกต้อง เพราะผู้ตายพยายามต่อสู้และจะปาระเบิดใส่ แต่เมื่อกระแสสังคมทั้งสื่อกระแสหลักและโซเชียลมีเดียเรียกร้องให้นำภาพในกล้องวงจรปิดมาเปิดเผยก็อ้างว่าเป็นพยานหลักฐานทางคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจและศาล ไม่สามารถนำมาเปิดเผยได้ ทั้งที่เป็นหลักฐานสำคัญที่จะคลี่คลายคดีและเปิดสู่ “ความจริง” ได้มากกว่าคำพูดจากพยานทุกฝ่าย

ล่าสุด (28 มีนาคม) พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงกระแสเรียกร้องให้เปิดภาพจากกล้องวงจรปิดว่า ไม่สนใจกระแส เพราะเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมไม่ขอก้าวก่าย ทั้งได้ดูภาพจากกล้องวงจรปิดแล้วก็เห็นว่าไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด หากเปิดให้หลายคนดูเกรงว่าจะเกิดปัญหาต่างคนต่างมองประเด็นที่แตกต่างกัน จึงควรปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม

ขณะที่พยานมากมายที่อยู่ในเหตุการณ์และในพื้นที่ หรือภาพถ่ายขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารตรวจค้นรถยนต์ของชัยภูมินั้น ก็เห็นชัดเจนว่าชัยภูมิไม่ได้พยายามหลบหนีหรือต่อสู้ใดๆ รวมถึงไม่มีระเบิดด้วย เช่นเดียวกับเรื่องเงินในบัญชีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่ามีหลักฐานว่าเชื่อมโยงกับกลุ่มค้ายาเสพติดนั้น ทั้งครอบครัวและผู้ที่เกี่ยวข้องก็ยืนยันว่าเป็นเงินไม่ถึงแสน และได้จากการขายกาแฟ แม้แต่รถยนต์ก็ยังติดผ่อนส่งอยู่

การเสนอข่าวของวอยซ์ทีวีกรณี “ชัยภูมิ ป่าแส” เยาวชนอายุ 17 ปี ที่ถูกกล่าวหาว่าค้ายาเสพติดและจะปาระเบิดใส่ทหาร อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่วอยซ์ทีวีถูกพักใบอนุญาต ทำให้มีคำถามถึง กสท. และ กสทช. ว่าเพราะวอยซ์ทีวีนำข้อมูลที่ไม่ใช่ด้านเดียวมาให้ประชาชนพิจารณาหรือไม่ กรณีเหมือนหรือแตกต่างจากการให้ข้อมูลข้างเดียวจากฝ่ายทหารหรือฝ่ายรัฐบาลหรือไม่

กรณีพักใบอนุญาตวอยซ์ทีวีจึงไม่ใช่แค่ส่งผลกระทบถึงอุตสาหกรรมดิจิตอลทีวี กระทบผู้ประกอบธุรกิจสื่อและเสรีภาพของสื่อมวลชนเท่านั้น แต่ยังทำให้มีคำถามเรื่องความถูกต้องชอบธรรมที่ “ทั่นผู้นำ” ย้ำว่า “กฎหมายคือกฎหมาย” นั้น ได้ใช้มาตรฐานการลงโทษเป็นมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ มีการตรวจสอบการนำเสนอเนื้อหาเช่นเดียวกับช่องอื่นๆหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นทีวีดิจิตอลหรือทีวีดาวเทียม โดยเฉพาะกรณีทีวีดิจิตอลบางช่องที่รายการข่าวหรือวิเคราะห์สถานการณ์ไม่เป็นกลางและยุยงปลุกปั่นให้เกิดความอคติและเกลียดชังอย่างชัดเจนก็ยังออกอากาศได้ตามปรกติ

กระแสโซเชียลมีเดียที่สะท้อนความรู้สึกออกมาจึงดังกระหึ่มด้วยคำถามว่า มาตรฐาน “จอดำ” อยู่ตรงไหน? เช่นเดียวกับการพยายามใช้อำนาจรัฐปิดสื่อและปิดกั้นการนำเสนอข้อมูล “ความจริง(อีกด้าน)” ของ “ชัยภูมิ ป่าแส” แต่กลับถูกกล่าวหาว่า “เป็นภัยต่อความมั่นคง”

การสั่งปิดสถานีทีวีที่เสนอ “ความจริง” อาจไม่ใช่เพราะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ แต่อาจเป็นเพราะ “ความจริง” ต่างหากที่เป็นภัยต่อ “ความไม่มั่นคง” ของรัฐบาลเผด็จการเสียมากกว่า

ถ้าวันนี้สื่อไทยและสังคมไทยยังเพิกเฉยยอมให้รัฐบาลหนึ่งรูดซิปปิดปากได้ นั่นหมายถึงวันหน้าสื่อไทยและสังคมไทยก็จะต้องยอมให้อีกรัฐบาลหนึ่งในอนาคตมารูดซิปปิดปากได้เช่นกัน

“ความเห็นต่าง” ไม่ได้เป็นภัยต่อความมั่นคง แต่การ “ปิดกั้นการแสดงความเห็น” ต่างหากที่เป็นภัยต่อความมั่นคง เพราะยิ่งทำให้เกิดความคลางแคลงและไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อการใช้อำนาจที่ล้นเกิน ทั้งจากประชาชนและคนถืออำนาจ

การเสนอ “ความจริง” และการแสดง “ความเห็น” ไม่ใช่อาชญากรรม แต่การใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมที่ “ถี่” มากขึ้นๆ อาจจะกำลังบ่งบอกถึง “ความไม่มั่นคง” ที่หวั่นไหวกันอยู่ก็เป็นได้!!??


You must be logged in to post a comment Login