วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567

ชิงเค้กพลังงาน

On March 30, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

บ้านเมืองมีสถานการณ์ร้อนให้ติดตามกันทุกวัน

วันนี้ (30 มี.ค.) ต้องโฟกัสไปที่การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีวาระสำคัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมวาระที่สอง เรื่องร้อนคือคณะกรรมาธิการที่พิจารณาเรื่องนี้ได้เพิ่มเติมมาตรา 10/1 เพื่อให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) โดยมีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้านดังระงม

ในส่วนของฝ่ายคัดค้านนั้น ดูจะพยายามนำเสนอเหตุผลให้สังคมได้ร่วมกันพิจารณา สำหรับในส่วนของผู้สนับสนุน นอกจากนำเสนอข้อมูลของตัวเองแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวจะจัดการชุมนุมเพื่อสนับสนุนการตั้ง NOC ด้วย

ความสำคัญของการเสนอให้ตั้ง NOC คือให้เป็นผู้ครอบครองสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศ ซึ่งในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงาน ให้กรมพลังงานทหารเป็นหน่วยงานทำหน้าที่ NOC ไปก่อน

คนที่คัดค้านเห็นว่าการให้กรมพลังงานทหารเป็นหน่วยงานทำหน้าที่ NOCไปก่อน อาจมีปัญหาขึ้นได้ เพราะกรมพลังงานทหารอาจไม่มีความเชี่ยวชาญหรือชำนาญการพอที่จะมาทำหน้าที่เป็นผู้ถือสิทธิ์ปิโตรเลียมทุกอย่างในประเทศ และหากมีการใช้อำนาจดึงกรรมสิทธิ์พลังงานทุกชนิดมาอยู่ที่ NOC วิสาหกิจและกิจการของบริษัทพลังงานต่างๆหลายแห่งจะดำเนินอยู่ต่อไปได้อย่างไร อาจก่อให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจได้

นอกจากนี้ การรวบอำนาจไว้ที่หน่วยงานเดียวยังอาจมีปัญหาเรื่องความโปร่งใสในการทำงานและทำให้ยากต่อการตรวจสอบ

ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนให้จัดตั้ง NOC มีเหตุผลสนับสนุนคือเพื่อเปิดกว้างให้การผลิตพลังงานในประเทศมีหลายรูปแบบแทนระบบการให้สัมปทานแต่เพียงอย่างเดียวอย่างที่ผ่านมา การมี NOC จะเพิ่มทางเลือกการแบ่งปันผลผลิต และจ้างบริการ

สรุปง่ายๆคือผู้สนับสนุนบอกว่าเป็นการเพิ่มทางเลือกในการผลิตพลังงาน สามารถหารูปแบบที่เหมาะสมได้ ป้องกันการผูกขาดของผู้ได้รับสัมปทานและจะทำให้ประเทศชาติประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากแหล่งพลังงานในประเทศ เพราะกำไรทุกบาททุกสตางค์จะตกเป็นของแผ่นดินไม่ใช่ผู้ได้รับสัมปทาน

ขณะที่ผู้คัดค้านก็มองว่าการตั้ง NOC คือการผูกขาดที่แท้จริง เพราะจะเข้ามาถือสิทธิ์พลังงานทุกอย่างในประเทศ และจะเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ของผู้ที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการ NOC ก่อให้เกิดการทุจริตได้ง่าย ตรวจสอบยาก

ทั้งสองฝ่ายถกเถียงกันบนผลประโยชน์ก้อนโต

ฝ่ายหนึ่งก็อ้างเหตุผลเพื่อไม่ให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว ฝ่ายหนึ่งก็อ้างเพื่อไม่ให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับใครแต่ฝ่ายเดียวเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเสียงคัดค้านดังมากจากทั่วสารทิศแต่เชื่อว่าการ NOC คงถือกำเนิดขึ้นแน่ เพราะฝ่ายที่พลักดันให้จัดตั้งกับฝ่ายที่พิจารณาร่างกฎหมายเป็นฝ่ายเดียวกัน

เมื่อสุดท้ายต้องมีการจัดตั้ง NOC ขึ้นมา มีประเด็นให้พิจารณาต่อว่ากระบวนการจัดตั้งเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร

ตามหลักการการจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาองค์กรหนึ่ง โดยเฉพาะที่ต้องมาทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ก้อนโตของชาติปีละกว่า 500,000 ล้านบาทนั้น ควรจะออกเป็นกฎหมายจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเป็นการเฉพาะหรือไม่ ไม่ใช่สอดแทรกห้อยติ่งไว้ในกฎหมายอื่นเพียงมาตราเดียว โดยที่ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรที่ชัดเจน ทั้งเรื่องอำนาจหน้าที่ และที่มาที่ไปของผู้บริหารองค์กร

ไม่ว่าจะคัดค้านหรือสนับสนุนล้วนพูดกันอยู่บนผลประโยชน์ก้อนโตจากแหล่งพลังงานในประเทศทั้งสิ้น


You must be logged in to post a comment Login