วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ภาวะจนตรอก? / โดย Pegasus

On March 27, 2017

คอลัมน์ : เพื่อชาติประชาชน
ผู้เขียน : Pegasus

คำพังเพยไทยที่ว่า “สุนัขจนตรอก” คนเฒ่าคนแก่มักเตือนลูกหลานว่าอย่าต้อนสุนัขให้จนตรอก เพราะปรกติสุนัขนั้นเชื่องอยู่แล้ว ถ้าไปทำให้มันตื่นตกใจและจนตรอก สุดท้ายมันก็จะแว้งกัดและกัดไม่เบาด้วย เพราะมันต้องการเอาตัวรอดจากความอับจน

ธรรมชาติของสัตว์จะไม่ต่อสู้เพื่อความบันเทิง แต่จะต่อสู้เพื่อความจำเป็นเท่านั้น เช่น แย่งอาหาร แย่งคู่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดเป็นความรุนแรงอย่างที่สุดและจะเกิดขึ้นได้เมื่อจำเป็น

ส่วนเรื่องทางการเมืองนั้น ในอดีตจะไม่มีการไล่ล่ากันถึงตาย จะเปิดทางถอยให้อีกฝ่ายเสมอ แต่ระยะหลังฝ่ายไล่ล่าไม่อาจอ้างความชอบธรรมในการทำสิ่งที่ผิดปรกติได้อีก จึงกลับกลายเป็นความจำเป็นที่จะต้องใช้ทุกวิถีทางในการกวาดล้างและทำลายล้างฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมืองให้สิ้นซาก

การไล่ล่าเช่นนี้ทำให้การออมชอมเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ ความปรองดองยิ่งเป็นเรื่องเหลวไหล การเผชิญหน้ากลับกลายเป็นความจำเป็นและต้องเลือกระหว่างการดับสูญหรือการเอาชีวิตรอด เมื่อเป็นเช่นนี้การดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดกลายเป็นความจำเป็น ไม่ว่าศัตรูหรือสิ่งคุกคามจะเป็นอะไร การต่อสู้เอาตัวรอดจากภัยคุกคามนั้นจะนำมาซึ่งความรุนแรงอย่างที่คาดหมายได้ยาก

การปราบปรามผู้ต่อต้านบางครั้งก็ได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด เช่น กรณีคนขาวกำจัดชาวอินเดียนแดงด้วยปืนและโรคระบาด การล่าอาณานิคมในยุคหนึ่งบางครั้งการต่อต้านก็ได้ชัยชนะคือ การประกาศอิสรภาพทั้งที่เป็นการต่อสู้โดยตรงหรือฉวยโอกาส เมื่อประเทศเจ้าอาณานิคมหมดอำนาจลงเนื่องจากความบอบช้ำจากสงครามโลก

บางครั้งผู้ไล่ล่าก็นึกไม่ถึงว่าจะมีการต่อต้านและประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือ กรณีการประกาศอิสรภาพของชาวอเมริกัน ซึ่งในระยะแรกเจ้าอาณานิคมอังกฤษมองว่าชาวอาณานิคมเป็นแค่ไพร่ในสายตาของตนเท่านั้น อาวุธหรือวิธีการต่อสู้ก็ต่ำชั้นกว่า แต่เมื่อชาวอเมริกันใช้การรบแบบกองโจรหรือเอาประสบการณ์จากการสู้รบระหว่างอาณานิคมอังกฤษกับฝรั่งเศสและการใช้วิธีการแบบชาวอินเดียนแดงทำให้การต่อสู้ยืดเยื้อ ทหารอังกฤษที่ไม่ชินกับการลอบสังหารแบบกองโจรจึงเสียหายอย่างมาก สุดท้ายด้วยการช่วยเหลือจากฝรั่งเศส อาณานิคมอเมริกันก็สามารถประกาศอิสรภาพได้

สิ่งที่น่าสนใจในคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐคือ คำปรารภว่าชาวอาณานิคมอเมริกันไม่ได้เคยคิดที่จะแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรเลย แต่เพราะการเก็บภาษีรุนแรงจนอยู่ไม่ได้และการไม่สนใจชีวิตความเป็นอยู่ของอาณานิคมอเมริกันเลยทั้งที่เป็นชนชาติเดียวกัน แต่ถูกมองอย่างหมางเมิน จึงทำให้ตัดสินใจลุกขึ้นต่อสู้ นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เกิดระบอบการปกครองใหม่ล่าสุดในโลกในเวลานั้นคือระบอบประธานาธิบดี ซึ่งแยกอำนาจต่างๆออกจากกัน มีการเลือกตั้งในทุกเรื่อง ทุกระดับ มีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลที่ใช้ประโยชน์ได้ดีและมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้คนในโลกใหม่นี้พึ่งพาตัวเองได้ในที่สุด

การจนตรอกของมนุษย์อื่นๆก็คือ ความอดอยาก เศรษฐกิจถดถอย ทำให้เกิดความต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำรงชีวิต เพราะเหตุว่าทุกอย่างถึงทางตันและมีแต่จะทำให้จมปลักในความยากจนหากไม่คิดทำสิ่งใด เรื่องแบบนี้แม้จะเป็นเรื่องโบราณมาก เช่น ในการปฏิวัติประชาชนประเทศต่างๆ อย่างน้อยก็จะเห็นว่าความอดอยากและความคับแค้นเป็นต้นเหตุของความเปลี่ยนแปลงได้ไม่ยาก

ความจนตรอกที่สัตว์ต้องหันมาต่อสู้ ทั้งที่ปรกติแล้วจะกลัวมนุษย์ อาจเห็นได้จากการโจมตีชุมชนมนุษย์ที่รุกรานเขตป่าและเส้นทางเดินเท้าของสัตว์ สัตว์เหล่านี้ไม่ได้ดุร้ายเพราะนิสัย แต่เกิดจากความคับแค้นและไร้ทางออก ทำให้เกิดความเครียดและพบว่าการยอมแพ้อยู่ข้างเดียวนั้นเป็นวิธีที่สิ้นคิด แม้ว่าสิ่งนี้อาจจะนำความตายมาให้สัตว์นั้นเอง แต่การเสี่ยงนั้นหากหมายถึงโอกาสรอดสัตว์เหล่านั้นก็พร้อมที่จะต่อสู้

สุนัขจนตรอกก็ไม่ต่างจากสัตว์ทั้งหลาย เมื่อเกิดความจำเป็น เกิดความเสี่ยงต่ออันตราย การหันกลับมาต่อสู้จึงเป็นวิธีการหลีกหนีจากภัยอันตรายต่างๆที่มีเหตุมีผลไม่น้อยทีเดียว


You must be logged in to post a comment Login