วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567

อนาคตที่มืดมน? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On March 23, 2017

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

สมัยผมยังเด็กๆจำได้ว่า เศรษฐกิจไทยตกต่ำเมื่อไร พี่น้องผู้มีรายได้น้อยที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดจะทยอยกลับบ้าน เพราะไม่มีการจ้างงาน เมื่อกลับไปบ้านก็พอจะเอาตัวรอดได้ เพราะรากฐานของคนชนบทยังมีเกษตรกรรมเป็นหลัก แม้ราคาพืชผลจะย่ำแย่แค่ไหนก็ตาม ชาวบ้านก็ยังได้กินได้ใช้ผลผลิตของตัวเอง เหมือนกับคำโบราณที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” คนไทยอยู่ที่ไหนยังไงก็ไม่อดตาย

แต่ปี พ.ศ. 2560 บริบทและสถานการณ์ของเมืองไทยเปลี่ยนไปไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะเจ้าของที่ดินที่ใช้สำหรับการทำเกษตรกรรมที่มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ สวนทางกับความจริงที่ว่าสมัยรุ่นพ่อแม่มีลูกหลายคน พอพ่อแม่แก่ตัวลงก็จะแบ่งที่ดินให้ลูกๆ ดังนั้น จำนวนเจ้าของที่ดินควรมีมากขึ้น แต่จากตัวเลขการทำสำมะโนการเกษตรกลับพบว่าจำนวนเจ้าของที่ดินกลับลดลง สอดคล้องกับการเป็นเจ้าของแปลงที่ดินที่ใหญ่ขึ้น แปลความได้ว่า เมื่อมาถึงรุ่นลูกคงมีการขายที่ดินให้นายทุนไปจำนวนไม่น้อย

ใครเป็นนายทุนใหญ่ไม่กี่ตระกูลที่ถือครองที่ดินจำนวนมหาศาลไม่ใช่เรื่องสำคัญและไม่ใช่ประเด็นที่ผมจะนำมาบ่นให้ฟังในสัปดาห์นี้ แต่เรื่องที่ผมสนใจและอยากนำมาถ่ายทอดต่อคือ เรื่องราวของลูกชาวนาชาวไร่ที่ขายที่ดินให้นายทุน เพราะประเด็นสำคัญอยู่ที่เมื่อเขาขายที่ดินแล้วย่อมหมายถึงการทิ้งถิ่นฐานภูมิลำเนาเก่าไปอาศัยอยู่ในถิ่นที่อยู่ใหม่ ซึ่งจากการสำรวจสำมะโนประชากรพบว่า ส่วนใหญ่มักย้ายเข้ามาอยู่ในหัวเมืองใหญ่แทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

การย้ายมาอยู่ที่ใหม่ไม่ใช่เพียงแค่การย้ายบ้านเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่แทบทั้งหมด จากเดิมที่คุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบชนบทที่สามารถใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ประหยัด และเอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์ แต่การเข้ามาสู่เมืองใหญ่ที่แม้จะมีข้อได้เปรียบเรื่องความเจริญทันสมัย ความสะดวกสบาย แต่ต้องพบกับความวุ่นวาย การต่อสู้แย่งชิง ค่าครองชีพสูง และไม่มีที่ว่างให้กับผู้แพ้

การขายที่ดินในชนบทแล้วนำเงินก้อนมาซื้อทาวน์เฮาส์หลังเล็กๆแถบชานเมือง สองคนผัวเมียช่วยกันทำงานเป็นแรงงานฝีมือในโรงงานเพื่อสร้างครอบครัว ดูเหมือนเป็นวิถีชีวิตของชาวเมืองรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ครอบครัวเล็กๆพ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตามอัตภาพ ทิ้งความเป็นเกษตรกรในยุคของพ่อแม่เอาไว้เบื้องหลัง

ในช่วงเริ่มต้นเมื่อหลายสิบปีก่อนดูเหมือนจะเป็นการตัดสินใจที่ประสบความสำเร็จอยู่ไม่น้อย เพราะคนเมืองรุ่นใหม่เหล่านี้สามารถสร้างครอบครัวและดูแลส่งเสียบุตรหลานให้เข้าถึงการศึกษาและความเจริญด้านต่างๆที่ยังหาไม่ได้ในชนบทได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสามารถสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับครอบครัวได้ในระดับที่น่าพอใจ

อย่างไรก็ดี เวลาแห่งความสุขหมดลงในระยะเวลาไม่นาน เมื่อการรัฐประหารครั้งแรกที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2549 ได้ส่งสัญญาณเตือนภัยว่า ชีวิตที่มีความมั่นคงปลอดภัยของครอบครัวรุ่นใหม่ที่ย้ายถิ่นมาอาจต้องเจอกับสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงและอันตรายต่อความเป็นอยู่ของครอบครัว เนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติย่อมไม่มีใครที่ต้องการคบค้าสมาคม ดังนั้น ธุรกิจในภาคการผลิตจึงได้รับผลกระทบอยู่ไม่น้อย

โชคยังดีที่การรัฐประหารครั้งแรกอยู่ไม่นานจนเกินไป จึงส่งผลกระทบไม่มากนัก แต่การรัฐประหารของทหารครั้งแรกก็ส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่า หากมีสถานการณ์นี้เกิดขึ้น ครอบครัวของผู้มีรายได้น้อยย่อมได้รับผลกระทบก่อนใครๆ และแน่นอนว่าครอบครัวผู้มีรายได้น้อยจำนวนมากย่อมรู้สึกได้ และบางครอบครัวกว่าจะผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ก็แทบตายเหมือนกัน

ถ้าแต่ละครอบครัวมองเห็นอนาคตว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีการรัฐประหารโดยกองทัพถึง 2 ครั้ง ผมเชื่อว่าคนเมืองรุ่นใหม่เหล่านี้คงไม่ขายที่ดินและทิ้งถิ่นฐานในชนบทมาแบบถาวรแน่นอน เพราะการปฏิวัติรัฐประหารเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ และอุตสาหกรรมเป็นภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เมื่อโรงงานไม่มีออเดอร์ก็ต้องลดกำลังการผลิต แรงงานฝีมือเหล่านี้ย่อมขาดรายได้หรือตกงาน เมื่อไม่มีรายได้มาจุนเจือครอบครัวก็ต้องถามต่อไปว่าจะแก้ปัญหารายได้ไม่เพียงพออย่างไร!

ทันทีเมื่อมีการรัฐประหารรอบที่ 2 ใน พ.ศ. 2557 สัญญาณอันตรายของครอบครัวคนเมืองรุ่นใหม่ก็ดังขึ้นอีกครั้ง รอบนี้ต่างกับรอบที่แล้วมากถ้าเราคิดจาก “สภาพเศรษฐกิจ” เพราะการรัฐประหารรอบแรกคนไทยยังอยู่ดีกินดีมีความสุขบนสภาพเศรษฐกิจขาขึ้นที่กำลังวิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว แต่การรัฐประหารรอบที่ 2 เกิดขึ้นหลังจากความวุ่นวายที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นเวลาเกือบ 1 ปี และสภาพเศรษฐกิจเริ่มอ่อนแอจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศที่กลุ่มผู้สนับสนุนทหารเป็นผู้สร้างขึ้น

ผมเขียนถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงเดาออกแล้วว่าจะบ่นเรื่องอะไรต่อ ผมบ่นเรื่องนี้ให้ฟังจากตัวเลขทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของประชาชน เชื่อหรือไม่ว่าเกือบ 3 ปีมานี้เกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวของผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะครอบครัวของคนรุ่นใหม่ที่ทิ้งถิ่นฐานเดิมและเปลี่ยนบริบทจากความเป็นอยู่ในชนบทมาเป็นคนเมืองเพื่อมาเป็นผู้ใช้แรงงานที่มีทักษะ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ได้อย่างพอเพียงถ้ามีงานทำ

หลังรัฐประหารรอบที่ 2 สถานการณ์ระหว่างประเทศย่ำแย่กว่าเดิมมาก โดยทั่วไปรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารย่อมอยู่ชั่วคราว เมื่อคลี่คลายสถานการณ์ข้อขัดข้องต่างๆได้ระดับหนึ่ง ผู้มีอำนาจย่อมรีบจัดให้มีการเลือกตั้ง เพราะทราบกันดีว่าถ้าปล่อยให้ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองของคณะทหาร การบริหารราชการแผ่นดินโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจย่อมกระทำได้ยากและมีข้อจำกัด ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อปัญหาปากท้องของประชาชน

เกือบ 3 ปีแล้วที่งานต่างๆมีจำนวนลดลงไปเรื่อยๆ หมายถึงเงินในกระเป๋าก็ลดลงไปด้วยเช่นกัน เงินที่อดออมไว้ต้องถูกนำมาใช้ในสภาพที่แร้นแค้นแบบนี้ และล่วงเลยมาถึงวันนี้ก็ยังมองไม่เห็นอนาคตว่าประเทศจะกลับไปสู่สภาพเดิมเหมือนก่อนการรัฐประหารได้เมื่อไร

สาระสำคัญอยู่ตรงนี้แหละครับ เมื่อก่อนไม่มีงานทำ พี่น้องของเราก็กลับบ้าน กลับไปสู่ชนบท ยังไงก็ยังพออยู่พอกินได้บ้าง แต่วันนี้บ้านสวนบ้านไร่ขายให้นายทุนไปหมดแล้ว อยากจะกลับก็ไม่มีบ้านให้กลับ จึงต้องต่อสู้ปากกัดตีนถีบกันอยู่ในเมืองใหญ่ หันไปทางไหนก็เจอแต่คนจนด้วยกัน สภาพย่ำแย่แบบนี้เกิดขึ้นนานเหลือเกิน และผมเชื่อว่ามันเกินกว่าที่ครอบครัวเหล่านี้จะแบกรับกันได้อีกต่อไป

ก่อนจบผมอยากเตือนใจผู้มีอำนาจทั้งหลายว่า ไม่มีบ้าน ไม่มีรถ ไม่มีทรัพย์สมบัติ คนก็ยังพออยู่ได้ แต่ “ถ้าไม่มีกินเมื่อไรก็อดตายเมื่อนั้น” เชื่อผมเถอะ “ไม่มีใครยอมให้ครอบครัวตัวเองต้องอดตายอย่างแน่นอน” ดังนั้น พวกท่านไปคิดต่อเอาเองว่า ถ้าปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข หลังจากนี้อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป?


You must be logged in to post a comment Login