วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ป๋า มีไว้ทำไม? / โดย ทีมข่าวการเมือง

On March 20, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

แม้อารมณ์ฉุนตบกบาลบาร์เทนเดอร์ที่ดันมาเรียกสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ว่า “ป๋า” จบลงด้วยทั่น สปท. อารมณ์ขึ้นไปพบตำรวจยอมจ่ายค่าปรับ 10,000 บาท ฐานตบหน้าพนักงานร้านอาหารชื่อดังแห่งหนึ่ง (10 มีนาคม) โดยเจ้าตัวมือตบออกมาขอโทษสังคมอ้างว่าแค่หยอกล้อ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ชอบให้เรียก “ป๋า” เตือนแล้วแต่ไม่ฟัง ยอมรับถือเป็นบทเรียน

ด้านบาร์เทนเดอร์หนุ่มบอกว่า วันเกิดเหตุแค่ตกใจที่ถูกเรียกเลยเรียก “ป๋า” ทั้งที่ปรกติจะเรียกคุณตลอด ขณะที่ สปท. เตรียมส่งคณะกรรมการจริยธรรมสอบสวนภายใน 60 วัน เหตุการณ์นี้เป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ หรือตกเป็นขี้ปากในสังคมออนไลน์โดยอัตโนมัติ มีการขุดประวัติว่าเป็นถึงหลานตาจอมพลถนอม กิตติขจร มีการไปดูรูปที่ทั่น สปท. เคยโพสต์กับสาวสวยมากมาย ขณะที่พริตตี้สาวโวยมีรูปคู่ว่อนเน็ตยังต้องเดือดร้อนออกมายืนยันว่าแค่รับงานเอนเตอร์เทนกินข้าว ไม่มีอะไรเกินเลย

ประเด็นอาจไม่ใช่แค่อารมณ์ร้อนแล้วบันดาลโทสะ คดีนี้อาจดูเป็นคดีเล็กๆน้อยๆและคงจบไปในไม่ช้า แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาในสังคมไทยภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย 99.99% (ฮา) ก็คือ ไม่มีผู้ปกครองบ้านเมืองคนไหนเป็นคนดีแท้ดีเทียมไปกว่ากัน ต่างกันแค่ว่าใครจะถูกตรวจสอบได้มากน้อยแค่ไหนมากกว่ากันเมื่อขึ้นสู่อำนาจ?

ทหาร (ยังไม่) ควรกลับเข้ากรมกอง?

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองที่นครราชสีมา (11 มีนาคม) ที่มีบางคนต้องการให้ “ทหารควรกลับเข้ากรมกอง” ว่า คงไม่ผิดปรกติอะไร ถือเป็นมุมมองและข้อคิดเห็นหนึ่ง ที่จริงแล้วโดยทั่วไปหากสภาพการณ์บ้านเมืองปรกติจะเห็นว่าทหารคงอยู่ในกรอบงานและปฏิบัติงานตามปรกติ ซึ่งอาจแตกต่างไปบ้าง แต่ช่วงนี้ยังเป็นช่วงเวลาที่ไม่ปรกติ จึงเห็นเจ้าหน้าที่ทหารมีภาระหน้าที่เพิ่มเติมบ้างตามคำมอบหมายงานผ่านคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เพื่อให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย พร้อมทั้งเสริมประสิทธิภาพงานด้านต่างๆ

ทหารเป็นทั้งคู่กรณี-คู่ความ-คู่ขัดแย้ง

การเรียกร้องให้ทหารกลับเข้ากรมกองและลงสัตยาบันว่าจะไม่ทำรัฐประหารอีกนั้น เพราะทั้งฝ่ายการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาชน เห็นว่าหากจะสร้างความปรองดองจริง ทุกฝ่ายต้องยอมรับความจริงว่ามีส่วนในความขัดแย้ง กองทัพและรัฐบาลทหารก็ต้องยอมรับความจริงด้วยว่าทหารเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง ไม่เช่นนั้นประเทศไทยคงไม่มีการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจะอ้างความไม่สงบทางการเมือง หรือการทุจริตคอร์รัปชันของฝ่ายการเมือง กองทัพไทยจึงมีบทบาททางการเมืองมาโดยตลอด

นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวถึงคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ว่า คู่ขัดแย้งในภาษากฎหมายเรียกคู่ความ ภาษายุติธรรม ศาลทหารใช้คำว่าคู่ความ ภาษาศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญใช้คำว่าคู่กรณี ภาษาทั่วไปเรียกว่าคู่พิพาท ยืนยันว่าทหารเป็นส่วนหนึ่งของคู่กรณี คู่ความ คู่ขัดแย้งด้วย ทหารไทยตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันถูกปลูกฝังให้มีความเชื่อว่าตัวเองจะเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมืองตลอดมาทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร แต่ประวัติศาสตร์การเมืองก็บ่งบอกว่าการแก้ปัญหาด้วยการรัฐประหารแก้ไม่ได้ มีแต่ถอยหลัง สถานการณ์การเมืองทั่วโลกก็เช่นเดียวกัน

นายชำนาญย้ำว่า ทหารที่จะสร้างความปรองดองได้ต้องเป็นทหารอาชีพ เป็นทหารที่กลับเข้าสู่กรมกองแบบต่างประเทศ จึงต้องเปลี่ยนที่แนวความคิดเสียก่อน เมื่อนั้นทหารก็จะเป็นวีรบุรุษที่แท้จริง

นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักวิชาการรัฐศาสตร์ ไม่เห็นด้วยที่จะให้ทหารลงนามเอ็มโอยูว่าจะไม่ทำการรัฐประหารและไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องแบบนี้อยู่ที่จิตใจที่เป็นประชาธิปไตยของทหารหรือรักประเทศชาติแค่ไหนมากกว่า อย่าใช้ข้ออ้างเรื่องความจำเป็นทำให้ต้องรัฐประหารโดยที่ไม่ดูผลเสียที่จะตามมา เพราะการรัฐประหารไม่ใช่แนวทางตามระบอบประชาธิปไตย สำคัญที่สุดคือทำตามกฎหมายหรือไม่

นายอัษฎางค์ยังให้ดูความจริงว่า คนกี่เปอร์เซ็นต์ของประเทศที่ทะเลาะกัน วิธีแก้ปัญหาไม่ใช่การจับคนนั้นคนนี้มาเซ็นเอ็มโอยูแล้วทุกอย่างจะจบ ปัญหาความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขร่วมกันในเรื่องความเป็นธรรม หากสร้างความเป็นธรรมในสังคมได้เมื่อใด เมื่อนั้นความปรองดองจะเกิดขึ้นได้เอง เท่าที่เห็นตอนนี้ยังไม่เห็นวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน ถ้ายังเป็นแบบนี้ก็คงแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้ รัฐบาลต้องดูว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่แก้ปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่ โดยเฉพาะคณะกรรมการ

ต้องเปิดกว้างและยอมรับความจริง

ความเห็นของนักวิชาการไม่ต่างมากนักกับพรรคการเมืองต่างๆที่พูดคุยและเสนอแนะกับ ป.ย.ป. โดย พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การเสนอและพูดคุยเพื่อความปรองดองจะให้ทุกภาคส่วนมาหารือและเสนอความเห็น โดย กอ.รมน. จะเปิดเวทีรับฟังให้ครบ 77 จังหวัด ความปรองดองจะต้องหาจุดร่วมที่เป็นทิศทางเดียวกัน จึงจำเป็นต้องรับฟังทุกฝ่ายอย่างกว้างขวาง ขอให้จริงใจและต้องการให้ความปรองดองเกิดเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาสู่การปรองดองในระบอบประชาธิปไตย

ข้อสรุปเบื้องต้นบางส่วนที่ได้จากฝ่ายการเมืองไม่ได้แตกต่างจากที่ทุกภาคส่วนเคยพูดถึง โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม โปร่งใส และไม่เลือกปฏิบัติ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏของวิกฤตบ้านเมืองกว่า 10 ปี และปัจจุบันภายใต้การรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง กระบวนการยุติธรรมถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของความขัดแย้ง ไม่ว่ากระบวนการยุติธรรมปรกติหรือองค์กรอิสระ ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในการไล่ล่า กล่าวหา และจับกุมฝ่ายที่เห็นต่าง กองทัพปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง

การเรียกร้องให้ทหารกลับกรมกองคือการคืนอำนาจให้กับประชาชนและยุติการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ โดยกองทัพต้องปฏิรูปตัวเองเช่นเดียวกับที่ทุกฝ่ายเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจและองค์กรอิสระ

ดังนั้น ตราบใดที่กองทัพไม่ยอมรับความจริงว่าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งก็ไม่ต่างกับการปิดกั้นการแสดงความเห็นของทุกฝ่าย อย่างที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวหลังจากพรรคเพื่อไทยแสดงความคิดเห็นต่อคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองเมื่อวันที่ 8 มีนาคมว่า หัวข้อต้องเปิดกว้างและครอบคลุมมากกว่านี้ ต้องมีหลายภาคส่วนมาคุยมากกว่านี้ ต้องมีผู้ฟังที่เป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ คนมีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม หรือคนกลางที่เป็นกลางมาช่วยรับฟัง ไม่ใช่มีแต่ข้าราชการและทหารเป็นหลักซึ่งมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความขัดแย้งทั้งก่อนและหลังการรัฐประหาร ทั้งผู้นำ คสช. ก็มักพยายามตัดบท เช่น ไม่ต้องการพูดถึงอดีต กำหนดเงื่อนไขต้องไม่อย่างนั้นอย่างนี้ จึงคาดหวังได้ยาก คงไม่เกิดผลอะไรเท่าไร แต่ยินดีที่จะติดตามต่อไปว่าทหารและ คสช. จะทำสำเร็จหรือไม่

กระชับอำนาจรัฐเผด็จการ

นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในบทความ “ทำไม (ไม่ควร) ปรองดอง” ตอนหนึ่งถึงการปรองดองสมานฉันท์ของแอฟริกาใต้ ซึ่งเนลสัน แมนเดลา ดึงสาธุคุณเดสมอนด์ ตูตู ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมาช่วยทำให้สำเร็จ มีการตั้งกรรมการเพื่อค้นหาความจริงในอดีต โดยสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชน วางหลักเกณฑ์การนิรโทษกรรมและการชดเชยให้เหยื่อจากความอยุติธรรม

โมเดลการปรองดองของแอฟริกาใต้กลายเป็นตัวอย่างที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก และมีอิทธิพลต่อหลายประเทศที่ต้องการสร้างความปรองดองและความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน โดยมี 3 ปัจจัยสำคัญคือ 1.ผู้นำกระบวนการต้องมีความจริงใจ ผู้คนเชื่อถือศรัทธา ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง 2.การปรองดองเกิดขึ้นในบริบทของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่ได้รับการสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ในประเทศ และ 3.รากฐานวัฒนธรรมความเชื่อท้องถิ่นที่เคารพความเป็นมนุษย์ ถือว่าทุกชีวิตมีค่าและมีความสำคัญต่อกันและกัน

ด้วยเหตุนี้การปรองดองจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสังคมที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการที่ผูกขาดอำนาจอยู่กับชนชั้นนำไม่กี่คน ปิดกั้นเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน กฎหมายถูกบังคับใช้อย่างไม่เสมอภาค เต็มไปด้วยการเลือกปฏิบัติ ใช้อำนาจรัฐกดทับความจริงไม่ให้ประชาชนสามารถแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและความทุกข์ร้อนได้ ไม่เคารพความแตกต่างหลากหลาย บังคับให้ทุกคนในสังคมต้องเชื่อฟังและคิดเห็นเหมือนรัฐ ใครมีมุมมองที่แตกต่างก็จะถูกทำให้กลายเป็นศัตรูของชาติที่ต้องถูกกำจัด

ภายใต้สังคมแบบนี้เงื่อนไขของการสร้างการปรองดองจึงเท่ากับศูนย์ หรือกระทั่งติดลบ ถ้าจะมีการใช้คำว่า “การปรองดอง” ก็เป็น “การปรองดองเพื่อกระชับอำนาจของรัฐเผด็จการ” มากกว่าปรองดองเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยที่เคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆทั่วโลก

ปรองดองแต่ไล่ล่าผู้เห็นต่าง

การปรองดองที่แท้จริงไม่สามารถถูกบังคับยัดเยียดด้วยกฎหมายหรือคำสั่งใดๆ แต่ต้องเกิดจากจิตใจของทุกฝ่ายในสังคม แต่บรรยากาศการปรองดองขณะนี้กลับตรงกันข้าม หลายสิ่งหลายอย่างที่รัฐบาลทหารกำลังทำ โดยเฉพาะการใช้กฎหมายและกำลังเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้าม หรือทำให้เกิดความหวาดกลัว หรือฉวยโอกาสใช้คำว่าปรองดองเป็นเครื่องมือในการรวบอำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำ

อย่างกรณีการออกหมายจับนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) ในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งนายวีระได้ทำโพลส่วนตัวสอบถามความเห็นประชาชนถึงการทำงานของรัฐบาล โดยนำผลโพลของซูเปอร์โพลที่ระบุว่าได้สำรวจความเห็นประชาชน พบว่าคนส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาลประยุทธ์ทำบ้านเมืองสงบ ช่วยเหลือคนยากจน ชีวิตไม่วุ่นวาย จึงนำข่าวโพลดังกล่าวมาถามประชาชนในเพจของตน ซึ่งคำถามก็ไม่ได้เขียนเอง แต่เอาเพลงคืนความสุขของรัฐบาลมาถาม ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก โพลสำรวจความเห็นใครๆก็ทำ ที่กล่าวหาว่าโพลทำกับคนกลุ่มหนึ่งนั้น เห็นว่าโพลที่ทำกันก็ทำกับคนกลุ่มหนึ่งทั้งนั้น วันที่ทำโพลมีคนมาตอบร้อยกว่าคนทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คนชมก็มี คนด่าก็มี มันหลากหลายและมั่นใจว่าศาลจะมองออก

นายวีระยืนยันว่า ไม่ได้จงใจสรุปชี้นำแต่ประการใด ไม่ได้บอกว่าไม่ต้องเชื่อถือรัฐบาล คนที่มาแสดงความเห็นเพราะเขาไม่เชื่อตามเพลงคืนความสุข กลับไปดูถ้อยคำในคำถามได้เลย ไม่มีท่อนไหนยุยง ปลุกปั่น ที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าต้องออกหมายจับเพราะตนจะหนีและเป็นภัยต่อความมั่นคงนั้น ความจริงไม่ได้เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติอะไรเลย แต่เป็นภัยต่อตัวนายกรัฐมนตรีมากกว่า ข้อหาทั้งหมดเหมือนมีเจตนากลั่นแกล้งมากกว่า เพราะผู้มีอำนาจเห็นว่าตนไม่กลัว และผู้มีอำนาจกลัวความจริง จึงพยายามใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ปิดปาก หวังจะทำให้ประชาชนในสังคมกลัว ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ ต่อไปนี้ทุกคนจะต้องกลัวกันหมด

“ต่อไปนี้ประเทศจะอยู่กันยังไง ข้อมูลต่างๆที่เปิดเผยไปนั้น ถ้าบอกว่าผิดก็ขอให้ดำเนินคดีมาเป็นคดีๆไปว่าเรื่องนั้นบิดเบือน แต่ไม่ใช่การฟ้องร้องด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เรื่องทุจริตต่างๆที่ไม่จริงนั้น ขอให้เถียงมาว่าไม่จริง แต่ที่ผ่านมาเงียบทุกเรื่อง”

นายวีระยังโพสต์ภาพข้อกฎหมายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 และข้อความว่า “เจ้าพนักงานที่มีตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมที่กระทำการแกล้งให้วีระต้องได้รับโทษ ผู้นั้นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตเชียวนะ”

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการออกหมายจับนายวีระว่า มีคนร้องทุกข์กล่าวโทษมา ตนไม่ได้เป็นคนร้องทุกข์ ตนไปสั่งใครไม่ได้อยู่แล้ว เวลาเรื่องอย่างนี้มาบอกว่าไม่เป็นธรรม ถ้าอะไรที่เข้าตัวเองก็โดนหมด กลับมาหมด แต่เวลาตัวเองทำไม่รู้ว่าทำผิดอะไร กฎหมายมีอยู่แล้ว แต่ไม่ระมัดระวังเอง “มีกระบวนการยุติธรรมที่ดูแลเรื่องกฎหมายอยู่ รัฐบาลไม่ต้องไปสั่งทุกเรื่อง ถ้าเขายังพูดจาทำให้เสียหายอีกก็จะมีคนฟ้องอีก ก็ขอให้ระมัดระวังด้วยทุกคน ผมไม่ไปยุ่งเกี่ยวตรงนี้”

อภินิหารกฎหมายบี้ภาษี “ทักษิณ”

เช่นเดียวกับการดำเนินการเรียกเก็บภาษีกับอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร กรณีขายหุ้นชินคอร์ป 16,000 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้อดีตนายกฯทักษิณถูกยึดทรัพย์จากกรณีขายหุ้นชินคอร์ปไปแล้ว 46,000 ล้านบาท ทั้งที่นักกฎหมายและนักวิชาการต่างวิพากษ์วิจารณ์และถามถึงความถูกต้องชอบธรรมเช่นเดียวกับครั้งนี้ กรมสรรพากรยืนยันว่าได้ดำเนินการมาถึงที่สุดแล้ว และอายุความของคดีได้สิ้นสุดไปตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2555 แต่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เสนอให้ใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีอายุความ 10 ปี ซึ่งกรมสรรพากรก็ยืนยันว่าไม่สามารถดำเนินการได้ (อ่านรายละเอียด-จับกระแสการเมือง หน้า 8)

ล่าสุด (14 มีนาคม) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องเก็บภาษีขายหุ้นชินคอร์ปยังไม่แน่ชัดว่าใครผิดใครถูก เพราะกรมสรรพากรระบุว่าอาจดำเนินการไม่ได้ แต่ก็ยังไม่มั่นใจ ส่วนจะแน่ใจเมื่อไรจำเป็นต้องมีคำพิพากษาศาล จะมาคิดเองไม่ได้ ต้องให้มีการประเมินและดำเนินการไปตามขั้นตอน โดยหลักการต้องรู้ว่าเรื่องนี้มีการเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าการเสียภาษีกรณีนี้ไม่ถูกต้อง ก็ต้องทำให้ถูกต้องโดยเรียกให้เสียภาษี ส่วนจะทำได้หรือไม่ ขณะนี้มี 2 ความเห็นว่า ถ้ายึดความเห็นที่หนึ่งของกรมสรรพากรคือเรียกไม่ได้ อีกความเห็นคือ สตง. สามารถเรียกเก็บได้

เมื่อยังไม่รู้ว่าใครถูกผิดก็ต้องไปทำให้ชัดเจนคือ ประเมินให้ความเป็นธรรมและสามารถอุทธรณ์ จากนั้นถ้าไม่มีการจ่าย รัฐก็ต้องไปฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง ถ้าตัดสินแล้วไม่พอใจก็ยังไปอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้ การดำเนินการเป็นไปตามกระบวนการประเมินภาษีปรกติทุกอย่าง เมื่อมีคำตัดสินแล้วจะได้ใช้เป็นบรรทัดฐาน เพราะ สตง. แจ้งว่ามีกรณีลักษณะนี้หลายสิบคดี

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ไม่มีการขยายเวลา ไม่มีการขยายอายุความ ไม่มีการใช้มาตรา 44 ใช้ประมวลรัษฎากรปรกติทุกอย่าง ซึ่งเวลาที่เหลือ 16 วันก็ไม่ยากอะไร เมื่อยื่นประเมินแล้วอายุความก็หยุด

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้สังคมสบายใจได้ว่ารัฐบาลไม่ได้ไปไล่บี้ทางการเมือง ไม่ได้ไปเกี๊ยะเซียะกับคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการสำคัญ อยากให้เข้าใจว่าการทำงานของรัฐบาลไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องคำนึงถึงวิกฤตศรัทธาประชาชน ข้อกฎหมาย และอะไรหลายอย่าง อยากให้เข้าใจว่าทุกเรื่องที่ดำเนินการต้องคำนึงถึงคุณภาพมาตรฐานจึงจะสามารถนำพาประเทศชาติไปได้

“มันคงเป็นรายละเอียดที่มีกฎหมายเล็กซ่อนอยู่ในกฎหมายใหญ่ โดยที่ประชุม ครม. นายวิษณุใช้คำว่าทำไม่ได้ แต่ทำได้ด้วยอภินิหารของกฎหมาย เพราะฉะนั้นมุมแบบนี้คงไม่สามารถคิดออกได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่ง แต่การประชุมวงนายวิษณุเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ได้เชิญเกจิอาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาจึงคิดออก”

พล.ท.สรรเสริญยังกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าจะไม่ทำอะไรแบบเทาๆ แต่จะทำให้เป็นสีขาว รวมถึงการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่าใครผิดหรือไม่อย่างไร ถ้าผิดต้องมีผู้รับผิดชอบ

อย่าเรียก “ป๋า” ส่งเดช

ไม่ว่ากรณีนายวีระหรืออดีตนายกฯทักษิณ ซึ่งทั้งผู้นำรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างก็อ้างว่าทุกอย่างเป็นไปตามการบังคับใช้กฎหมายคือ “กฎหมายคือกฎหมาย” แต่ก็มีคำถามว่ากฎหมายที่ว่านั้นเป็นกฎหมายภายใต้กระบวนการยุติธรรมปรกติที่สากลยอมรับ หรือกฎหมายภายใต้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่มาจากการยึดอำนาจที่ใช้ตามอำเภอใจ หรือใช้อำนาจพิเศษจากมาตรา 44 เหมือนหลายกรณีที่ใช้กล่าวหาและจับกุมผู้เห็นต่าง

แม้แต่กรณีการจ้องรีดภาษีจากอดีตนายกฯทักษิณ เพราะกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามออกมากดดันและปล่อยข่าวว่ามีความพยายามจะเกี๊ยะเซียะและปรองดองกับอดีตนายกฯทักษิณ จะจริงเท็จอย่างไรก็ตาม แต่ทั้งหมดก็สะท้อนถึงการพยายามสร้างความปรองดองของรัฐบาลทหารขณะนี้ว่ามีความจริงใจจริงหรือไม่

ไม่ว่าประเทศไหนจะปกครองในระบบระบอบใดก็ตาม คำว่าความสามัคคีปรองดองอาจไม่ใช่ปัญหา แต่ประเทศนั้นๆจะอยู่ได้อย่างสงบสุขเพราะการมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างและเคารพความเห็นที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ หรือความเชื่อทางศาสนา โดยไม่จำเป็นต้องโหมกระพือสร้างความปรองดองอย่างที่รัฐบาลทหารทำอยู่ขณะนี้

ความหมายของความปรองดองที่แท้จริงอยู่ที่การที่สังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้แม้จะมีความเห็นที่แตกต่าง ไม่ใช่การใช้อำนาจแบบบ้าคลั่ง ไล่ล่าและจับกุมผู้เห็นต่าง หรือต้องกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองให้สิ้นซาก เห็นได้จากคดีความต่างๆที่ฝ่ายหนึ่งถูก “ดอง” มากกว่าปรองดอง หรือแช่แข็งแทบไม่มีความคืบหน้าใดๆ หรือเข้ามาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็มีการเลื่อนแล้วเลื่อนอีก

อย่างคดีพันธมิตรเสื้อเหลืองยึดทำเนียบรัฐบาล ปิดสนามบิน วันนี้ก็ยังไม่มีการตัดสิน ขณะที่กลุ่ม นปก. (ก่อนมาเป็น นปช.) ที่เคยชุมนุมบนถนนหน้าบ้านป๋า ถูกฟ้องและถูกตัดสินไปหลายศาลแล้วว่ามีความผิด ไม่ต่างกับคดีของคนเสื้อแดงที่หลายคนถูกดำเนินคดีและติดคุกคนแล้วคนเล่า คดีคืบหน้ารวดเร็ว คดีทางการเมืองหรือนักการเมืองที่อยู่คนละฝ่าย บางฝ่ายน้ำท่วมหลักฐานหาย แต่อีกฝ่ายใช้ “กฎหมายอภินิหาร” ลัดขั้นตอนยึดทรัพย์ก่อนได้ บางคนแม้ได้ประกันตัวออกมา หรือคนที่อยู่ภายนอกจะพูดอะไร แสดงความคิดเห็นอะไร ก็มีโอกาสสูงที่จะถูกเรียกให้ไปรายงานตัวและกินนอนฟรี 7 วันในค่ายทหารอีก ฯลฯ

แม้แต่กรณีวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโยก็ยังดึงการเมืองมาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าเรื่องการตั้งประมุขฝ่ายสงฆ์ หรือกล่าวหาเรื่องพุทธแท้-พุทธเทียมก็เกิดขึ้นจนพระศาสนาขุ่นมัว แม้แต่คดีที่กล่าวหาพระ 1 รูปเรื่องฟอกเงิน รับของโจร ก็ยังสามารถโยงไปถึงวัดพระธรรมกายว่ามีทุนทักษิณอยู่เบื้องหลัง และไปเกี่ยวข้องกับคนเสื้อแดง สื่อทีวีหลายช่องออกข่าวได้สารพัด แต่สื่อทีวีบางช่องที่พูดความจริง กล้าเสนอความเห็นอย่างตรงไปตรงมา ตัวผู้ดำเนินรายการก็ถูกหมายหัวสั่งพักการดำเนินรายการครั้งแล้วครั้งเล่า

จึงไม่แปลกที่โพลของนายวีระจะถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทั้งที่นายวีระยืนยันว่านำผลสำรวจจาก “ซูเปอร์โพล” มาเป็นคำถามที่ระบุว่าได้สำรวจความเห็นประชาชน พบว่าคนส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาลทหารทำบ้านเมืองสงบ ช่วยเหลือคนยากจน และพอใจกับชีวิตที่ไม่วุ่นวาย ซึ่งผลสำรวจที่ผ่านมาซูเปอร์โพลจะสำรวจจากประชาชนกลุ่มใดหรือมากน้อยแค่ไหนก็ไม่รู้เช่นกัน แต่ผลออกมาพบว่าคะแนนนิยมหรือความเชื่อมั่นทั้งตัว “ทั่นผู้นำ” และรัฐบาลสูงปรี๊ดแทบทั้งสิ้น แล้วทำไม “วีระโพล” ที่ระบุที่มาของผลโพลอย่างชัดเจนว่ามาจากเฟซบุ๊คของตนเองจะทำไม่ได้

“วีระโพล” จึงกลายเป็นโพลเทียมที่ทั่นผู้นำไม่อยากได้ยิน ต่างจาก “โคตรโพล” โพลเชลียร์แท้ที่มีแต่ผลสำรวจที่ได้ยินได้ฟังแล้วน่าระรื่นหูกว่าเป็นไหนๆ สรุปแล้วก่อนทำโพลต้องรู้ก่อนว่าโพลต้องออกมาแบบใดถึงจะเผยแพร่ได้

เช่นเดียวกันกับคำเรียกว่า “ป๋า” นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเรียกใครว่า “ป๋า” บางคนก็พอใจที่ถูกยกย่องให้เป็น “ป๋า” แต่บางคนก็แสลงคำว่า “ป๋า” เพราะไม่รู้ว่า “ป๋า” แบบไหน

จะป๋าไม่ป๋า หรือป๋าจะมีไว้ทำไม? ก่อนเรียกใคร “ป๋า” โปรดพิจารณา อย่าไปกระตุ้นให้มีอารมณ์ อาจจะโดนตบกบาลไม่ทันตั้งตัว!!??


You must be logged in to post a comment Login