วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567

ทีมเศรษฐกิจไร้เทียมทาน! / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On March 16, 2017

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

ช่วงนี้ไปที่ไหนมีแต่คนบ่นเรื่องกระเป๋าแห้ง โดยเฉพาะพี่น้องที่มีรายได้น้อยต้องเรียนว่าน่าเห็นใจจริงๆ เพราะเศรษฐกิจมันไม่ดีเอาเสียเลย ใครทำมาค้าขายคงช่วยออกมายืนยันเรื่องนี้ได้จริงๆว่ามันแย่มากมายแค่ไหน ขนาดไข่ไก่ลดราคาลงมายังไม่มีคนซื้อ สถานการณ์แบบนี้สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนส่วนใหญ่ลดลงจนต่ำติดดินกันเกือบหมดแล้ว

ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลท่านผู้นำสูงสุดที่ตีปี๊บบอกว่า “เจ๋งนักเจ๋งหนา” วันนี้คงเห็นฝีไม้ลายมือกันอย่างชัดเจนว่า “ไร้เทียมทาน” สมราคาคุยจริงหรือเปล่า แต่ก็น่าเห็นใจอยู่ไม่น้อยที่ทีมเศรษฐกิจต้องมาปฏิบัติภารกิจภายใต้การปกครองของรัฐบาลที่นานาชาติส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ ดังนั้น ข้อจำกัดต่างๆจึงมีเยอะแยะไปหมด อยากจะทำมาค้าขายกับใครเขาก็บอกให้รอก่อน สถานการณ์เช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นเป็นปรกติตราบใดที่เรายังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร

เรื่องที่เราถูกเมินเฉยจากประชาคมโลกถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะประเทศประชาธิปไตยอื่นๆเขามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การปฏิเสธที่จะคบค้าสมาคมกับรัฐบาลที่ยึดอำนาจมาจากประชาชนจึงเป็นความชอบธรรมที่ทุกประเทศสามารถกระทำได้และส่วนใหญ่เลือกที่จะแสดงออกอย่าง “เปิดเผย” เราจึงเห็นประเทศโน้นประเทศนี้ออกมาแสดงจุดยืนคล้ายๆกันว่า พวกเขาพร้อมจะกลับคืนสู่สถานะการคบค้าสมาคมกับประเทศไทยแบบเดิมทันทีถ้าประเทศไทยกลับมามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

การขาดโอกาสที่จะคบค้าสมาคมกับต่างชาติถือว่ามีผลกระทบโดยตรงกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อไม่มีใครคบค้าเรื่องของธุรกิจและการลงทุนต่างๆย่อมซบเซาลงไปเกือบทุกด้าน เมื่อไม่มีการลงทุนใหม่ๆหรือธุรกิจที่มีอยู่ต้องลดขนาดลงย่อมส่งผลกระทบโดยตรงกับรายได้ของประชาชน ดังนั้น เรื่องไข่ไก่ขายไม่ได้ บะหมี่สำเร็จรูปขายไม่ออก จึงเป็นตัวชี้วัดง่ายๆว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยในวันนี้เข้าสู่สภาวะวิกฤตกันแล้วหรือยัง

อีกเรื่องที่ผมต้องนำมาบ่นในคอลัมน์สัปดาห์นี้ เพราะถือเป็นเรื่องที่น่าคิดอยู่ทีเดียวและยังเกี่ยวพันกับเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำนั่นก็คือ การที่รัฐบาลจัดเก็บรายได้ได้ต่ำกว่าเป้า เรื่องนี้นักวิชาการด้านการเงินการคลังหลายท่านตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไรในเมื่อรัฐบาลตั้งงบประมาณแบบขาดดุลปีละหลายแสนล้านบาท และเงินที่ขาดดุลดังกล่าวท่านก็เคยชี้แจงว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องกู้มาใช้จ่าย โดยเฉพาะงบประมาณด้านการลงทุนในโครงการต่างๆเพื่อการพัฒนาประเทศ

เรื่องที่แปลกแต่จริงอยู่ตรงจุดนี้แหละที่นักวิชาการเขาสงสัย คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ เงินหลายแสนล้านบาทที่รัฐบาลนำไปลงทุน ทำไมถึงไม่สร้างรายได้กลับคืนสู่ประเทศในจำนวนที่เหมาะสม แต่กลับมีลักษณะเหมือนกับการถมทรายลงในทะเลที่มองประโยชน์แทบไม่เห็น

การดำเนินการรูปแบบดังกล่าวในปีแรกยังพอยอมรับได้ว่าอาจมีข้อผิดพลาด แต่ในปีต่อๆมาก็ยังมีสภาพแบบเดิม “การบริหารราชการแผ่นดินที่มีประสิทธิภาพแบบน่างุนงง” นี่เองที่ทำให้นักวิชาการส่วนหนึ่งต้องยอมเสี่ยงออกมาวิเคราะห์เรื่องต่างๆอย่างตรงไปตรงมา แม้จะเสี่ยงกับสวัสดิภาพของแต่ละท่านก็ตาม

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้เงินกู้มาลงทุนในโครงการของรัฐบาลทหารเรื่องแรกที่ถูกตั้งคำถามคือ หลังจากใช้เงินไปแล้วทำไมประชาชนส่วนใหญ่ถึงไม่รับรู้หรือไม่รู้สึกว่ามีโครงการใหม่ๆอะไรออกมาให้ประชาชนสัมผัสได้จริงๆ การลงทุนปีละหลายแสนล้านบาทควรจะสร้างให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกลับพบแต่ความซบเซาไปทั่วประเทศอย่างที่เห็น

ที่แย่ไปกว่านั้นคือ “โครงการประชานิยม” ที่ประชาชนเคยได้รับโดยตรงผ่านโครงการของรัฐบาลหรือผ่านทางท้องถิ่นก็พลอยหดหายตามไปด้วย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไรกับการนำเอาเงินภาษีของประชาชนไปใช้จ่าย ผมคิดว่าพวกเราคงเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะรัฐบาลประกาศชัดเจนตั้งแต่วันแรกที่เข้ามายึดอำนาจว่าโครงการประชานิยมคือเป้าหมายสำคัญที่ต้องถูกกำจัดออกไปจากระบบ และวันนี้ท่านก็ลงมือกันอย่างจริงจังโดยไม่ลังเล แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า “ใครคิดถูก” และ “ใครคิดผิด”

ที่จริงแล้วโครงการ “ประชารัฐ” ของรัฐบาลทหารก็นำมาจากแนวคิดของโครงการประชานิยมนั่นแหละ แต่ที่ไม่เหมือนกันและต่างกันในสาระสำคัญก็คือผู้รับผิดชอบในการใช้จ่ายงบประมาณ เพราะ “ประชานิยม” คือโครงการที่ประชาชนเจ้าของเงินเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับโครงการ แต่ “ประชารัฐ” เป็นโครงการที่รัฐจัดให้กับประชาชนผ่านทางผู้รับผิดชอบที่รัฐแต่งตั้ง ดังนั้น ประโยชน์จะไปอยู่กับใครมากกว่ากันคงไม่ต้องเสียเวลาถามกันอีก

น่าเสียดายเงินหลายหมื่นหลายแสนล้านบาท หากเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม พวกเขาจะบอกได้ตรงประเด็นมากที่สุดว่าท้องถิ่นต้องการอะไร เมื่อได้โครงการตรงใจอย่างที่ชาวบ้านอยากได้ การลงทุนในหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมไทยก็เกิดขึ้น เมื่อมีการจับจ่ายใช้สอยซื้อของ จ้างแรงงานในท้องถิ่นพร้อมกันทั่วประเทศ การกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะเกิดขึ้น และรัฐบาลนั่นแหละที่จะมีความสุขกับการจัดเก็บรายได้ที่หลั่งไหลมาสู่การคลังของประเทศ

ที่ผมพาท่านผู้อ่านวกเข้ามาที่โครงการประชารัฐเพราะผมเชื่อเหมือนนักวิชาการอีกหลายท่านว่า มันคือส่วนหนึ่งของปัญหาที่ทำให้รัฐจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า และเรื่องดังกล่าวสอดคล้องกับทฤษฎี “ไอติม” ที่ถูกเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนว่า ถ้าไอติมเปลี่ยนคนถือหลายคน กว่าจะไปถึงคนสุดท้ายก็เหลือเพียงแค่เศษติดไม้ หรือแย่ไปกว่านั้นก็คือเหลือแต่ไม้จับ แต่ถ้าเปิดโอกาสให้ประชาชนเจ้าของเงินภาษีมีส่วนร่วมในการถือไอติมไว้คนเดียวตั้งแต่ต้นแบบโครงการประชานิยม วิธีการเช่นนี้น่าจะดีกว่าหรือไม่ที่จะทำให้ประชาชนได้บริโภคไอติมจริงๆ!!!

กลับมาเข้าเรื่องปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณในงบลงทุนของรัฐบาลต่ออีกประเด็นคือ การเลือกลงทุนในโครงการที่ไม่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนส่วนใหญ่ หรือหากได้ประโยชน์บ้างก็น้อย เรื่องนี้คงไม่ต้องอธิบายกันมากเช่นกัน เพราะการช็อปปิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆของกองทัพปรากฏอยู่ชัดเจนแล้วในพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี เงินลงทุนเหล่านี้ถูกนักวิชาการตั้งคำถามว่า ในขณะที่เศรษฐกิจในประเทศตกต่ำแบบนี้ รัฐบาลมีความจำเป็นมากแค่ไหนในการซื้ออาวุธ และการลงทุนซื้ออาวุธจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร?

สิ่งที่ผมนำมาบ่นในสัปดาห์นี้เป็นแค่เพียงน้ำจิ้ม เพราะประเด็นการใช้เงินแบบขาดประสิทธิภาพของรัฐบาลเป็นเรื่องของนโยบายที่อาจมีข้อผิดพลาดกันได้ แต่ประเด็นที่ผมเห็นว่ามีคนหลายกลุ่มคิดเหมือนกันและพยายามนำเรื่องไม่ชอบมาพากลเหล่านี้มาเปิดเผยเพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลนำไปแก้ไขนั่นก็คือเรื่อง “การทุจริตในโครงการต่างๆของภาครัฐ” เรื่องนี้สำคัญอย่างไรติดตามกันต่อในฉบับหน้าครับ


You must be logged in to post a comment Login