วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ชิตังมา..โป้ง..กรวย! / โดย ทีมข่าวการเมือง

On March 13, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการจับกุม “พระธัมมชโย” สึกหลังการถอดสมณศักดิ์ว่า เป็นคนละเรื่องกัน โดยมหาเถรสมาคม (มส.) และรัฐบาลจะประชุมหารือในวันที่ 10 มีนาคม ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะนำประเด็นต่างๆเข้าหารือ เชื่อว่าจะมีข้อสรุปเรื่องการสึกพระธัมมชโย และแนวทางการจัดระเบียบของวัดพระธรรมกาย

ขณะที่พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม (พุทธะอิสระ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คเรื่องการดำเนินการกับพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกายว่า จะต้องมีผู้รับผิดชอบและต้องร่วมกันรับผิดชอบ โดยเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการถอดถอนสมณศักดิ์กลุ่มนักบวชที่เอื้อประโยชน์ให้พวกกบฏผีบุญ (เป็นคำที่พระสุวิทย์เปรียบเทียบวัดพระธรรมกายเป็นกบฏผีบุญ) สังฆมณฑลจักได้งดงามเจริญกว่าที่เป็นอยู่คือ

1.เจ้าคณะใหญ่หนกลาง สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) วัดพิชยญาติการามวรวิหาร

2.เจ้าคณะภาค 1 พระเทพสุธี (สายชล ฐานวุฑฺโฒ ป.ธ.9) วัดชนะสงคราม

3.เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี พระเทพรัตนสุธี (สมศักดิ์ โชตินฺธโร ป.ธ.5) วัดเขียนเขต

4.เจ้าคณะอำเภอคลองหลวง พระครูมงคลกิจจารักษ์ (สันติชัย จิตฺตกาโร) วัดมงคลพุการาม

5.เจ้าคณะตำบลคลองสี่ พระครูวิจิตรอาภากร วัดสว่างภพ

พุทธะอิสระยังอ้างว่า เพื่อนพระจังหวัดต่างๆโทร.มาแจ้งว่าขณะนี้พวกลัทธิกบฏผีบุญใช้มุกใหม่ส่งตัวแทนซึ่งมีทั้งนักบวชและฆราวาสไปตามวัดในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะที่มีสำนักสาขาของลัทธิกบฏผีบุญตั้งอยู่หรือวัดเครือข่ายและสำนักเรียนปริยัติธรรม ให้ช่วยระดมพระ คนในท้องที่ ออกไปตามศาลากลางจังหวัดเพื่อยกป้ายประท้วงต่อต้านมาตรา 44 หวังให้มีภาพและบทสัมภาษณ์ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก เพื่อให้โลกเข้ามาล้อมประเทศไทย

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา

หลังพระธัมมชโยถูกถอดจากสมณศักดิ์ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2560 หลายฝ่ายได้จับตามองว่าสถานการณ์ของวัดพระธรรมกายจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ขณะที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) บอกว่า การถูกถอดสมณศักดิ์ของพระธัมมชโยจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายขึ้น และไม่ได้ขยายความว่าจะทำให้ง่ายขึ้นอย่างไรหรือทำไม แต่มั่นใจว่าการใช้มาตรา 44 ปิดล้อมวัดพระธรรมกายใกล้จบแล้ว งานเลี้ยงต้องมีวันเลิกรา ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่มีวันเลิกรา ใกล้จบแล้ว

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย้ำว่า เจ้าหน้าที่ต้องเข้าได้ทุกที่ภายในวัด ถ้าพระธัมมชโยบอกว่าไม่ผิดก็ออกมาให้ศาลพิจารณา อย่าเอาเรื่องศรัทธาของศิษยานุศิษย์มาเกี่ยวกัน

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ก็ยืนยันว่า ต้องดำเนินคดีกับพระธัมมชโย เป็นเรื่องทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ส่วนมาตรการทางสงฆ์ก็ดำเนินการไปตาม พ.ร.บ.สงฆ์ ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และมหาเถรสมาคมอยู่ระหว่างดำเนินการ “วันนี้อย่าหลงประเด็น เพราะถ้าไม่มีความผิดต่างๆก็ไม่มีอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่ต้องยอมรับในกระบวนการยุติธรรมและเข้ามาต่อสู้ในกระบวนการ ทุกอย่างก็จบ ความเดือดร้อนต่างๆก็ลดลง”

ในขณะที่พระปลัดเสกสรรค์ อัตตทมโม พระลูกวัดพระธรรมกาย กล่าวถึงการถอดถอนสมณศักดิ์พระธัมมชโยว่า ไม่มีผลต่อการรวมตัวและไม่ได้สนใจเรื่องยศ เพราะเคารพด้วยความเป็นอาจารย์ ซึ่งพระปลัดเสกสรรค์ก็เป็นหนึ่งในพระที่ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกหมายเรียกให้ไปรายงานตัว ถ้าไปรายงานตัวแล้ว (8 มีนาคม) ไม่ได้กลับมาก็ยิ่งสะท้อนถึงเหตุผลที่พระธัมมชโยไม่ออกมามอบตัว ซึ่งเป็นปัญหาระหว่างดีเอสไอกับพระธัมมชโยมาตั้งแต่ขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหาที่ฝ่ายพระธัมมชโยเชื่อว่ามีเบื้องหลังมากกว่าการเดินทางไปรับทราบข้อหาปรกติ จึงทำให้เรื่องบานปลายมาจนทุกวันนี้

ไล่พระออกเพื่อยึดอำนาจบริหารวัด?

ความตึงเครียดของสถานการณ์ขณะนี้จึงอยู่ที่ความไม่ชัดเจนของดีเอสไอว่าจะทำให้เรื่องยุติอย่างไร ขณะที่กองเชียร์แต่ละฝ่ายก็ออกมาให้ความเห็นแตกต่างกันสุดขั้ว อย่างนายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เสนอให้คณะสงฆ์ลงดาบสองออกคำสั่งให้พระธัมมชโยพ้นจากสมณเพศ ซึ่งเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค หรือเจ้าคณะใหญ่หนกลาง สามารถดำเนินการได้ตามอำนาจ นอกจากนี้ยังเสนอให้เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีใช้อำนาจแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายองค์ใหม่แทนรักษาการที่ทำหน้าที่อยู่

ถือเป็นข้อเสนอที่แข็งกร้าวสุดโต่ง แต่อาจเป็นทางเลือกที่ดีของฝ่ายรัฐที่อยากทำให้เรื่องจบและเก็บโต๊ะเพราะงานเลี้ยงเลิกรา ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีคำสั่งจากมหาเถรสมาคมให้พระธัมมชโยพ้นจากสมณเพศแล้วแต่งตั้งเจ้าอาวาสองค์ใหม่ เท่ากับไล่ออกแล้วยึดอำนาจวัดให้คณะผู้บริหารใหม่เข้าไปจัดการควบคุมกิจการแทน โดยเชื่อว่าการจัดการกับพระลูกวัดพระธรรมกายไม่ยาก เพราะยังคงอำนาจมาตรา 44 ไว้ รวมถึงใครมีคดีความจากการชุมนุมหรือคดีอื่นๆก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งพระที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายล้วนเป็นระดับแกนนำของวัด

นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ เรียกร้องให้สึกพระธัมมชโยแล้วเข้าไปเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติ โดยระบุว่าเปลี่ยนแปลงแค่คณะกรรมการบริหารของวัดเพียง 5 คนเท่านั้นก็บริหารวัดแทนได้แล้ว

จึงต้องจับตาว่ารัฐบาลทหารจะใช้แนวทางนี้หรือไม่ ส่วนด้านวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโยที่ได้แต่ตั้งรับมาตลอด เมื่อเจอดาบสองและดาบสาม รวมถึงการกระชับพื้นที่ในทุกๆด้าน ก็มีทางเลือกไม่มาก เพราะไม่ว่าพระธัมมชโยจะยังอยู่ภายในวัดพระธรรมกายหรือไม่ก็ตาม วัดพระธรรมกายก็อยู่ในฐานะเสียเปรียบทุกด้าน แม้จะมีการเคลื่อนไหวจากสาขาทั่วโลกก็ไม่ต่างกับการรัฐประหารที่รัฐบาลทหารไม่สนใจการต่อต้านของประชาคมโลก

ถ้าพระธัมมชโยอยู่ภายในวัดและถูกจับได้ก็จะถูกดำเนินคดี แต่ปัญหาของวัดพระธรรมกายก็ยังไม่ยุติ เพราะจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงภายในครั้งใหญ่แน่นอน โดยเฉพาะการบริหารจัดการที่พุทธะอิสระและนายไพบูลย์เคลื่อนไหวมาโดยตลอด ซึ่งนายสุวพันธุ์กล่าวว่า ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ทำหนังสือถึงเจ้าคณะใหญ่หนกลางแจ้งถึงพฤติกรรมของพระธัมมชโยว่าอาจขัดต่อพระธรรมวินัยแล้ว และขอให้พิจารณาพร้อมกับดำเนินการเรื่องนี้ ส่วนการปกครองได้เสนอไปแล้วว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถพูดคุยกับผู้มีอำนาจในวัดหรือรักษาการเจ้าอาวาสได้ เพราะไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด จึงขอให้เจ้าคณะใหญ่หนกลางพิจารณาเรื่องการปกครองให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและสามารถยุติการขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่

กสม. เสนอทางออก

ที่น่าสนใจคือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกแถลงการณ์เสนอแนวทางเพื่อไม่ให้เหตุการณ์บานปลายจนนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงและเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้นคือ

1.ให้เจ้าหน้าที่ใช้ความอดทนต่อสถานการณ์และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าที่อาจนำไปสู่การปะทะกันอย่างรุนแรง และพิจารณาใช้มาตรการที่เหมาะสมในการติดตามจับกุมผู้ต้องหา

2.พระสงฆ์และศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายควรใช้สติและอยู่ในความสงบ หลีกเลี่ยงการกระทำที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และขอให้มหาเถรสมาคมมีบทบาทในการแก้ไขปัญหา เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม

3.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามและวัดพระธรรมกายควรมีความร่วมมือกันในการปฏิบัติงานตามกฎหมาย ทั้งนี้ ควรให้มีองค์กรอื่นรวมทั้งประชาสังคมเข้าร่วมเป็นพยานในการปฏิบัติงานตรวจค้นเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และหากไม่พบพระธัมมชโยก็ขอให้ยุติการตรวจค้นและยกเลิกมาตรา 44

แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่เคยเสนอทางออกไว้ว่า เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็วสมประโยชน์ของทุกฝ่าย เสนอให้มีการตรวจค้นวัดพระธรรมกายโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง แต่จะต้องมีคนกลางซึ่งได้รับการยอมรับจากทั้งสองฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยานในการตรวจค้นด้วย เช่น ตัวแทนทางการทูต เจ้าหน้าที่จากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชน เป็นต้น ในระหว่างการตรวจค้นเจ้าหน้าที่จะต้องแสดงความโปร่งใสด้วยการยินยอมให้มีการบันทึกภาพและถ่ายทอดสดได้ตลอดเวลา เมื่อสิ้นสุดการตรวจค้น ไม่ว่าจะพบพระธัมมชโยหรือไม่ ถือว่าเหตุการณ์และความจำเป็นสิ้นสุดลงแล้ว รัฐบาลจะต้องยกเลิกคำสั่งมาตรา 44 ถอนกำลังเจ้าหน้าที่และคืนพื้นที่ทั้งหมดให้กับวัดพระธรรมกายทันที

คดีของพระธัมมชโยมีความละเอียดอ่อนและถูกจับตามองจากทั้งภายในและต่างประเทศ รัฐบาลจึงควรทำให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่าพระธัมมชโยจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อให้มีโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่โดยยังคงดำรงสถานะความเป็นพระไว้ อันจะทำให้ข้ออ้างในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหมดไป ส่วนคดีทางธรรมก็ควรจะมีการกล่าวหาเสียในคราวเดียวกัน ปัญหาของวัดพระธรรมกายที่สะสมมานานก็จะสิ้นสุดลง แต่หากรัฐบาลมีเจตนาอื่นแอบแฝง เช่น ต้องการให้พระธัมมชโยขาดจากความเป็นพระ หรือต้องการยึดหรือทำลายวัดพระธรรมกายตามความเชื่อของศิษยานุศิษย์ ก็ต้องถือเป็นเวรกรรมของประเทศ เพราะคนไทยจะได้เห็นการนองเลือดอีกครั้ง ช่วยกันดึงฟืนออกจากกองไฟดีกว่า บ้านเมืองแตกแยกมากพอแล้ว อย่าไปเพิ่มความขัดแย้งอีกเลย

กฎหมายแยกทรัพย์สินวัด-พระ

กล่าวกันว่าการใช้มาตรา 44 ครั้งนี้อาจไม่ใช่แค่จัดการกับพระธัมมชโยเพียงรูปเดียว หรือต้องการล้มล้างวัดพระธรรมกายให้สิ้นซากเท่านั้น เพราะผลกระทบต่อเนื่องอาจต่อยอดถึงวัดทั่วประเทศให้ต้องหนาวไปด้วย โดยก่อนหน้านี้ (21 กุมภาพันธ์) นายจรัญ ภักดีธนากุล คณะทำงานปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เสนอให้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ใน 2 มาตราคือ มาตรา 1222 ระบุว่า การรับมรดกตกทอดของบุคคลที่บวชเป็นพระไม่ควรที่จะได้รับมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ เพราะไม่มีความเหมาะสม เนื่องจากไม่ได้เป็นฆราวาส และมาตรา 1223 เสนอว่า บุคคลที่มาบวชเป็นพระ เมื่อได้รับปัจจัยต่างๆที่มีมูลค่ามากไม่ควรจะเก็บไว้เอง ควรจะเป็นของวัด หรือให้ตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน

ขณะที่เมื่อวันที่ 1 มีนาคม นายไพบูลย์ได้ยื่นหนังสือกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช และ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอร่าง พ.ร.บ.สภาพุทธบริษัทแห่งชาติ เพื่อตีความพระธรรมวินัยไม่ให้มีผู้นำไปบิดเบือนดังเช่นศาลรัฐธรรมนูญที่ตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งเสริมให้กิจการพระพุทธศาสนาอยู่ในหลักการแห่งพระธรรมวินัย รวมถึงร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินวัดและพระภิกษุ เพื่อให้การจัดการทรัพย์สินของวัดและทรัพย์สินของพระภิกษุเป็นไปอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับหลักพระธรรมวินัย โดยเน้นหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการเพื่อการมีส่วนร่วมของพุทธบริษัท และให้วัดที่เข้าเกณฑ์จะต้องมีระบบการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัดที่เป็นไปตามมาตรฐานบัญชีมีผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตรับรอง และส่งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาฯเปิดเผยให้พุทธศาสนิกชนทราบ ทรัพย์สินของวัดให้หมายความรวมถึงทรัพย์สินของมูลนิธิหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยวัดหรือเกี่ยวเนื่องกับวัดด้วย

“ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศให้ถือเป็นทรัพย์สินของวัดที่พระภิกษุนั้นสังกัดอยู่ และให้พระภิกษุใช้จ่ายทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามความจำเป็นเพื่อการดำรงสมณเพศเพื่อประโยชน์แก่วัดและศาสนกิจเท่านั้น เมื่อพระภิกษุพ้นจากความเป็นพระภิกษุหรือมรณภาพให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นทรัพย์สินของวัดที่พระภิกษุนั้นสังกัดอยู่ และพระภิกษุจะต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินที่อยู่ในการดูแลของตนให้คณะกรรมการจัดการทรัพย์สินของวัดที่ตนสังกัดอยู่ทราบทุกปี”

อย่างไรก็ตาม นายไพบูลย์ยังคงพุ่งเป้าไปที่วัดพระธรรมกาย โดยย้ำถึงหนึ่งในปัญหาที่ต้องปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาคือการตีความพระธรรมวินัย โดยระบุว่าที่ผ่านมามหาเถรสมาคมหละหลวม ไม่เข้ามาแก้ปัญหาในเรื่องนี้ อย่างเรื่องคำสอนให้ยึดในอัตตา หรือเรื่องข้อครหาในตำแหน่งของพระชั้นต่างๆ ซึ่งมหาเถรสมาคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอนหากการดำเนินการกับพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกายผ่านพ้นไปได้

กฎหมาย (ม.44) ต้องเป็นกฎหมาย

นายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาศาสนา ได้ตั้งคำถามกรณีวัดพระธรรมกายไว้อย่างน่าสนใจว่า ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ ถ้าคุณเป็นพระธัมมชโยและชาวธรรมกายจะตัดสินใจอย่างไร แน่นอนเมื่อว่าโดยหลักการแล้ว ไม่ว่าใครก็ตามที่ถูกตั้งข้อหาเกี่ยวพันกับเรื่องทุจริตก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะอยู่ในยุครัฐบาลประชาธิปไตยหรือรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม เพราะเป็นข้อกล่าวหาเรื่องการทำผิดกฎหมายปรกติ ไม่ใช่ข้อกล่าวหาทางการเมือง

คำถามก็คือ กรณีคดีพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกายไม่มีการกล่าวหาแรงจูงใจกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง วาระทางการเมือง และอำนาจทางการเมืองอยู่เบื้องหลังจริง หรือผู้ที่ติดตามข่าวสารมาตลอดไม่จำเป็นต้องเป็น “นักวิเคราะห์” ผู้เชี่ยวชาญก็น่าจะมองออกว่ามีการเมืองเกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร

แม้แต่ในสถานการณ์ปิดล้อมวัดพระธรรมกายขณะนี้ก็มีความสับสนในฝ่ายอำนาจรัฐและฝ่ายผู้สนับสนุนให้ใช้อำนาจรัฐจัดการ เช่น ขณะที่อ้างว่าใช้มาตรา 44 เพื่อจับกุมพระธัมมชโย แต่ผู้มีอำนาจในรัฐบาลก็ให้สัมภาษณ์สื่อว่า “ทำไมเราต้องไปนับถือพระหรือวัดที่สอนผิดหลักพุทธศาสนา” ขณะเดียวกันกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ใช้อำนาจรัฐจัดการพระธัมมชโยมาตลอดก็ออกมาเรียกร้องผ่านสื่อให้ใช้อำนาจรัฐ “ล้างลัทธิธรรมกาย” บางคนก็ชี้เป้าให้ตรวจค้นแหล่งเก็บทองคำและเงินสดของวัดพระธรรมกาย เป็นต้น

ภายใต้สภาวการณ์ที่รัฐไทยไม่มีหลักนิติรัฐเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ถ้าคุณเป็นพระธัมมชโยและชาวธรรมกายที่ถูกปิดล้อมด้วยกองกำลังร่วม 6,000 นาย ถูกตั้งข้อหากว่า 300 คดี คุณจะเชื่อมั่นว่ามีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระ (จากวาระการเมืองทางศาสนาและการเมืองทางโลก) ที่ให้ความยุติธรรมแก่คุณในมาตรฐานเดียวกับคนอื่นๆหรือไม่ และจะตัดสินใจอย่างไร

นายสุรพศยังได้ตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐบาลทหารว่า การทำตามข้อเรียกร้องของพระชื่อดังที่เรียกร้องให้ใช้กำลังปิดล้อม ตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดเสบียง แล้วทำไมบรรดา “พุทธแท้” ยอมรับข้อเรียกร้องของ “พระ” ได้ครับ? เมื่อพระกับทหารจับมือกันใช้ “อำนาจธรรม” และ “อำนาจรัฐ” มันก็เป็นอย่างที่เห็น

ปัญหาธรรมกายมีทางออกที่ไม่ต้องสูญเสียมากกว่านี้ถ้าสื่อไม่เชียร์ให้ปราบเหมือนที่เคยเชียร์ให้ล้อมปราบเสื้อแดงปี 2553 แต่น่าเศร้าที่สื่อกลุ่มเดิมๆ คนกลุ่มเดิมๆ กลับปลุกเร้าความเกลียดชังและเชียร์การใช้มาตรา 44 อย่างย่ามใจหนักกว่าเดิม เพราะอำนาจรัฐอยู่ฝ่ายตน หรือฝ่ายตนสนับสนุนมาตลอด บทบาทสื่อคือตั้งคำถามอำนาจรัฐว่าใช้วิธีการที่ชอบธรรมและอยู่บนหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ไม่ใช่ช่วยรัฐไล่ล่าผู้ถูกกระทำโดยไม่คำนึงว่าพวกเขาถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไรบ้าง

ชิตังมา..โป้ง..กรวย!

ประเด็นวัดพระธรรมกายอาจไม่ใช่แค่จัดการกับพระธัมมชโยเพียงรูปเดียวตามข้อกล่าวหาว่าพระฟอกเงินหรือรับของโจรจนถูกออกหมายจับ เพราะเป้าหมายซ่อนเร้นแท้จริงอาจต้องการเข้าไปจัดระเบียบไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหวใดๆในวัดพระธรรมกาย รวมถึงการจัดการทรัพย์สินมหาศาลนับแสนล้านใช่หรือไม่?

การที่นายไพบูลย์หลุดปากในรายการทีวีรายการหนึ่งว่า “อาจจะเปลี่ยนผู้บริหารแค่ 5 คนเท่านั้น” จึงเป็นเรื่องต้องฉุกคิด เพราะถ้าหากเป้าหมายที่แท้จริงเป็นเช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการมีวาระซ่อนเร้นด้วยการยืม “มาตรา 44” เปิดทางเข้าไปยึดอำนาจการบริหารจัดการทรัพย์สินในวัดพระธรรมกายตามที่ตั้งธงไว้หรือไม่?

การกระเหี้ยนกระหือรือที่จะเผด็จศึกด้วยการใช้กำลังกองทัพทหาร กองทัพตำรวจ เยี่ยงการเข้าปราบอริราชศัตรูของแผ่นดิน จึงคล้ายกับครั้งที่กลุ่ม กปปส. นำมวลชนเป่านกหวีดชัตดาวน์กรุงเทพฯ และการนำของพระสุวิทย์หรือพุทธะอิสระด้วยการตั้ง “กรวย” ปิดถนนยึดศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ บุกยึดที่ทำการดีเอสไอ ฯลฯ เรียกร้องให้ทหารออกมาล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างไม่ผิดเพี้ยน เพียงแต่เปลี่ยนจาก “รบทัพจับศึก” เป็นการ “รบทัพจับ(พระ)สึก” พร้อมทั้งปรับวาทกรรมจาก “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” มานำด้วยวาทกรรม “กฎหมาย (ม.44) ต้องเป็นกฎหมาย” พร้อมทั้งขบวนการคู่ขนานที่ใช้การแก้กฎหมายต่างๆผ่าน สนช. ที่มาจากการแต่งตั้งจากอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่ยึดอำนาจมารองรับวาทกรรม “ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย” ไว้เสร็จสรรพ

เมื่อก่อนเรามีกองทัพไว้ยามจำเป็นต้อง “รบทัพจับศึก” แต่ปัจจุบันเหตุใดกองทัพจึงจำเป็นต้องมาถึงจุดที่ต้องหันมาใช้กำลังมหาศาล “รบทัพจับ(พระ)สึก” กันแล้วหรืออย่างไร?

“ชิตังเม..โป้ง..รวยๆๆ” อืม..ไม่ใช่แล้วสิตอนนี้ ต้องเป็น.. “ชิตังมา..โป้ง..กรวยๆๆ” มากกว่า!!??


You must be logged in to post a comment Login