วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567

ความซับซ้อนปัญหาธรรมกาย / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On March 13, 2017

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

ปัญหาธรรมกายเป็นเรื่องที่พูดถึงกันมานานมากในสังคมไทย แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ เพราะเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนหลายมิติ ทั้งข้อกล่าวหาทางกฎหมาย ความเชื่อทางศาสนา เสรีภาพทางศาสนา ความเกี่ยวพันกับการเมืองทางสงฆ์ การเมืองทางโลก ภายใต้โครงสร้างอำนาจคณะสงฆ์และอำนาจรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

เรื่องคดีพระธัมมชโยไม่เกี่ยวกับประเด็นความเชื่อและเสรีภาพทางศาสนา แต่เป็นเรื่องการทำผิดกฎหมายปรกติที่เกิดขึ้นได้ในทุกสังคม ไม่ว่าพระ นักการเมือง ข้าราชการ หรือคนในกลุ่มใดๆก็อาจเกี่ยวพันกับการทุจริตผิดกฎหมายได้ ซึ่งต้องใช้กฎหมายปรกติในการดำเนินการให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระและเป็นกลาง

แต่เรื่องคำสอนและการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาของวัดพระธรรมกายเป็นเรื่อง “ความเชื่อทางศาสนา” ที่ต้องได้รับการคุ้มครองโดย “หลักเสรีภาพทางศาสนา” เหมือนกับความเชื่อพุทธ พราหมณ์ ผี และอื่นๆ ที่ไม่ละเมิดสิทธิพลเมือง

คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีเสรีภาพทางศาสนา เพราะรัฐธรรมนูญรับรองเสรีภาพทางศาสนาไว้ และข้อเท็จจริงคนไทยก็มีอิสระในการเลือกนับถือผี พุทธ พราหมณ์มาแต่โบราณ ปัจจุบันจะเลือกนับถือคริสต์ อิสลาม หรือศาสนาใด หรือเลือกเป็นคนไม่มีศาสนาก็ได้

แต่หลักเสรีภาพทางศาสนาในความหมายสมัยใหม่หรือเสรีภาพทางศาสนาในกรอบคิดเสรีนิยมถือว่าในสังคมที่มีเสรีภาพทางศาสนานั้น รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา มีหน้าที่รักษาเสรีภาพและความเสมอภาคในการนับถือและไม่นับถือศาสนาเท่านั้น จะไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งการนับถือศาสนา การที่รัฐไทยมีองค์กรสงฆ์ของรัฐที่พระมีสมณศักดิ์ ตำแหน่ง อำนาจทางกฎหมายคณะสงฆ์ ในการควบคุมการสอน การปฏิบัติถูกผิดพระไตรปิฎก และยังถือว่าศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์รัฐคืออุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” จึงไม่ใช่รัฐที่มีเสรีภาพทางศาสนาตามกรอบคิดเสรีนิยม มีเพียง “เสรีภาพทางศาสนาแบบไทย” เหมือน “เสรีภาพทางการเมืองแบบไทย” ภายใต้ระบอบ “ประชาธิปไตย/เผด็จการแบบไทย” เท่านั้น

สภาวะที่รัฐไทยไม่มีเสรีภาพทางศาสนาในความหมายเสรีนิยมดังกล่าวทำให้กลุ่มที่ตีความคำสอนพุทธศาสนาแตกต่าง เชื่อแตกต่าง หรือมองว่าธรรมกายสอนผิด ปฏิบัติผิดธรรมวินัยในไตรปิฎก เป็น “ลัทธินอกรีต” เป็น “พุทธเทียม” สามารถเรียกร้องให้ใช้อำนาจคณะสงฆ์มาจัดการธรรมกายได้ เมื่ออำนาจคณะสงฆ์จัดการไม่ได้หรือไม่จัดการตามข้อเรียกร้องของพวกตนจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาจัดการ

ปัญหาทางศาสนาดังกล่าวไม่ต่างจากปัญหาทางการเมืองภายใต้ระบอบที่ไม่มีเสรีภาพทางการเมืองตามกรอบเสรีประชาธิปไตย ทำให้กลุ่มที่มีความคิด อุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกัน สามารถเรียกร้อง “อำนาจพิเศษ” มาจัดการกับกลุ่มอื่นได้ตลอดเวลา

ปัญหาธรรมกายในรัฐที่ไม่มีเสรีภาพทางศาสนาและเสรีภาพทางการเมืองในกรอบเสรีประชาธิปไตยยิ่งซับซ้อนมากขึ้นๆ เมื่อเอาข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตผิดกฎหมายปรกติมาผสมปนเปกับข้อกล่าวหาเรื่องสอนผิด เป็นพุทธเทียม เป็นภัยต่อพุทธศาสนาและความมั่นคง ข้อกล่าวหาว่าธรรมกายสนับสนุนฝ่ายการเมืองที่ถูกทำรัฐประหาร แล้วเรียกร้องให้ใช้อำนาจคณะสงฆ์ อำนาจพิเศษ ใช้กฎหมายพิเศษเข้ามาจัดการ เป็นเหตุให้ธรรมกายต้อง “ดื้อแพ่ง” สร้างวาระทางการเมืองของตนเองต่อสู้กับการเมืองของฝ่ายตรงข้าม เช่น ใช้มวลชน ใช้สงครามข่าวสาร เป็นต้น

การใช้มาตรา 44 และกำลังตำรวจ ทหารจำนวนมหาศาลปิดล้อมวัดพระธรรมกายยืดเยื้อยาวนาน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 2 คน โดยไม่มีฝ่ายใดรับผิดชอบหรือชดเชยใดๆ เท่ากับรัฐบาล คสช. ยกระดับปัญหาคดีทุจริตของบุคคลเพียงคนเดียวให้กลายเป็น “ปัญหาทางศาสนา-การเมืองระดับชาติ” ภาพกองกำลังตำรวจ ทหาร เผชิญหน้ากับมวลชนของพระและฆราวาสถูกตีแผ่ไปทั่วโลก กลายเป็นประเด็นคำถามว่ารัฐบาลไทยกำลังใช้อำนาจเผด็จการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพทางศาสนาหรือไม่

เพราะการใช้มาตรา 44 ที่ตามมาด้วยการตั้งข้อหาพระธัมมชโยเพิ่มขึ้นอีกหลายคดี ตั้งข้อหาพระระดับผู้บริหาร พระที่ปฏิบัติงานตอบโต้ข่าวสารของวัดพระธรรมกาย และคดีอื่นๆเกี่ยวกับการชุมนุมขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กว่า 300 คดี เท่ากับรัฐบาล คสช. ยกระดับปัญหาวัดพระธรรมกายให้กลายเป็นเรื่องการเมืองระดับชาติ ใกล้เคียงกับการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553

อีกทั้งการเดินหน้าต่อด้วยการใช้กองกำลังมหาศาล ตัดสัญญาณโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต การตั้งข้อหามากมาย และการกดดันด้วยวิธีอื่นๆทั้งที่มีคนเสียชีวิตไปแล้ว ย่อมก่อให้เกิดสภาวะตึงเครียด สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงตามมา

เมื่อรัฐบาล คสช. ยกระดับปัญหานี้ให้กลายเป็นปัญหาทางศาสนาและการเมืองระดับชาติ จึงกลายเป็นประเด็นคำถามเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพทางศาสนาที่เป็นข่าวไปทั่วโลก การเดินหน้าใช้มาตรา 44 ต่อไป แม้จะจับกุมพระธัมมชโยได้ในที่สุด แต่ปัญหาจะยังไม่จบ เหมือนการทำรัฐประหาร แม้จะขจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองได้ แต่ปัญหาทางการเมืองและการเรียกร้องประชาธิปไตยก็ไม่จบ จะยังคงมีอยู่ต่อไป

ทำนองเดียวกัน ต่อให้จับพระธัมมชโยได้ รัฐบาลและคณะสงฆ์เข้ามาควบคุมบริหารจัดการวัดพระธรรมกายได้ แต่การเรียกร้องความยุติธรรมให้พระธัมมชโย การเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพทางศาสนาในระดับชาติและนานาชาติจะยังคงมีต่อไป

แต่กว่าจะไปถึงจุดที่จับกุมพระธัมมชโยและควบคุมบริหารจัดการวัดพระธรรมกายได้ ก็ยากที่จะคาดเดาได้ว่าจะเกิดความรุนแรงและการสูญเสียตามมาอีกมากน้อยเพียงใด


You must be logged in to post a comment Login