วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

พุทธแท้ พุทธเทียม? /โดย ทีมข่าวการเมือง

On March 6, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

การผูกคอตายคาเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์คลองหลวง ปทุมธานี ของนายอนวัช ธนเจริญณัฐ วัย 64 ปี พร้อมป้ายข้อความให้ยกเลิกมาตรา 44 ว่า “พระ เณร คนแก่ ถูกข่มเหงรังแกด้วยวิธีต่างๆนานา สังคมปัจจุบันคนดีอยู่ยาก” ถือเป็นการสูญเสียชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์จากการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งส่งผลสะเทือนต่อความรู้สึกของคนไทย

ลุงอนวัชปีนเสาประท้วงตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00 น. และผูกคอตายประมาณ 21.00 น.เศษของวันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2560 ระยะเวลากว่า 3 ชั่วโมงที่ลุงอนวัชประท้วงอยู่บนยอดเสาอากาศส่งสัญญาณนั้น พระ เณร และชาวบ้าน พยายามห้ามปรามอย่างไรก็ไม่เป็นผล ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลที่มาตามคำสั่งมาตรา 44 ที่ไม่ทำอะไรจนปล่อยเวลา 3 ชั่วโมงให้ผ่านไป

ที่เลวร้ายที่สุดคือระหว่างที่บางสำนักข่าวได้ถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ณ เวลานั้น คอมเมนต์ของฝ่ายเกลียดชังที่เข้ามาดูได้ส่งสติ๊กเกอร์ยิ้มร่าชอบใจ มีคอมเมนต์ด่าว่าลุงอยากดังประท้วงแค่เป็นข่าวบ้าง ไม่กล้าตายจริงบ้าง และท้าทายให้ลุงที่กำลังประท้วงกระโดดลงมาตายเร็วๆ ซึ่งผิดวิสัยชาวพุทธที่เรียกตนเองว่าเป็น “พุทธแท้”

จนเมื่อถึงเวลา 21.00 น.เศษ ลุงอนวัชได้ตัดสินใจเลือกสละชีวิตโดยใช้เชือกผูกคอตนเองแทนการปีนลงมาเพื่อแสดงให้เห็นเจตนาตามอุดมการณ์ที่เขียนไว้ด้วยลายมือตนเองว่า “ขอความเมตตากรุณายกเลิกมาตรา 44 หากทำไม่ได้ก่อน 21.00 น. วันนี้ เก็บศพได้เลย”

เหตุใดท่ามกลางความเสียใจและสลดใจกลับปรากฏข้อความสะใจ ย่ำยี เยาะเย้ย และเหยียดหยันการตัดสินใจของคุณลุงผ่านสื่อออนไลน์ในกลุ่มผู้เกลียดชังวัดพระธรรมกาย กลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นชาวพุทธและอ้างว่าต้องการปฏิรูปพระพุทธศาสนา

เหตุการณ์ส่งยิ้มสะใจ กดไลค์กันมากมายที่เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์ แทบไม่ต่างกับภาพรอยยิ้มของเด็กและความไม่รู้สึกหดหู่ของผู้คนที่มุงดูเมื่อครั้งเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีคนใช้เก้าอี้ฟาดศพนักศึกษาที่ถูกจับแขวนคอกับต้นมะขามที่ท้องสนามหลวง เหมือนการฉายภาพซ้ำๆ นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ประกาศว่าเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา

ไม่ว่าการตัดสินใจประท้วงด้วยการฆ่าตัวตายของลุงอนวัชจะเพราะมีศรัทธาต่อวัดพระธรรมกาย หรือประท้วงการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของรัฐก็ตาม สิ่งที่น่าหวาดกลัวในสังคมอาจไม่ใช่เรื่องความเชื่อ ความศรัทธา หรือการใช้อำนาจรัฐด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม แต่ที่สาหัสไปกว่านั้นคือ คนไทยมาถึงจุดที่เชียร์ให้ฆ่า เชียร์ให้ตาย หรือยิ้มสะใจเพื่อให้คนอีกคนหนึ่งที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยโกรธแค้นกัน ตายๆไปต่อหน้าได้อย่างไร

กฎหมายแท้-กฎหมายเทียม?

วิกฤตการเมืองที่ต่อเนื่องมายาวนานกว่า 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน และมีการทำรัฐประหารถึง 2 ครั้ง สะท้อนชัดเจนว่าการทำรัฐประหารไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้เลย เพราะวันนี้บ้านเมืองก็ยังจมปลักกับความขัดแย้งและแตกแยก แล้วยังพยายามจะสร้างความปรองดอง พร้อมๆกับวาทกรรมขายฝัน “ปฏิรูปประเทศ” ภายใต้ “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” และรัฐธรรมนูญปราบโกง(ฝ่ายตรงข้าม)ในระบอบประชาธิปไตย 99.99%

คนไทยมากมายหลายกลุ่มหลายฝ่ายถามว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?” ในขณะที่ประชาคมโลกส่วนใหญ่หันหลังให้กับอำนาจเผด็จการและเดินหน้าสู่โลกยุค 4.0 แม้แต่เมียนมาร์ก็ปลดแอกตัวเองจากอำนาจของกองทัพ แต่ประเทศไทยกลับจมปลักกับรัฐบาลทหารและอำนาจของกองทัพ แทนที่จะก้าวสู่ “ประเทศไทย 4.0” เหตุใดจึงกลายเป็น “ประเทศไทย ม.44”

นอกจากประเทศจะไม่สามารถเดินหน้าสู่ความปรองดองและกอบกู้เศรษฐกิจที่ตกต่ำได้แล้ว กลับสร้างความขัดแย้งและแตกแยกที่ร้าวลึกเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะการเอาการเมืองไปยุ่งกับเรื่องทางศาสนาซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

เป็นธรรมดาที่ไม่มีใครเชื่อใจว่า การที่รัฐบาลทหารอ้างว่าต้องทำให้ “กฎหมายเป็นกฎหมาย” โดยไม่เลือกปฏิบัตินั้นจะทำได้จริงอย่างไร เมื่อ “กฎหมาย” ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกฎหมายที่มาจากคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือเขียนกฎหมายขึ้นใหม่ในบรรยากาศที่ไม่มีฝ่ายค้านและไม่มีการตรวจสอบ แม้จะอ้างว่ามีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ย่อมถูกต้อง และกฎหมายต่างๆก็ผ่านสภานิติบัญญัตติแห่งชาติ (สนช.) ยกมือโหวตผ่านโดยมีเสียงค้านเป็น 0 ก็ตาม จึงถูกตั้งคำถามว่าเป็นกฎหมายแท้หรือกฎหมายเทียม? สภาแท้หรือสภาเทียม? ที่มี สนช.นักโดดร่มหลายคนรับเงินเดือนยกมือผ่านกฎหมายต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ฝ่ายอาณาจักรรุกดินแดนศาสนจักรอย่างเช่นกรณีที่เกิดขึ้นที่วัดพระธรรมกาย ด้วยการใช้มาตรา 44 ให้วัดพระธรรมกายและบริเวณโดยรอบเป็นเขตควบคุม ใช้คำสั่งต่างๆเป็นกฎหมายมาจัดการพระธัมมชโย แต่กลับเหมือนจะจัดการวัดพระธรรมกายทั้งวัดแทนหรือไม่ การใช้กฎหมายที่เอื้อให้เจ้าหน้าที่รัฐทำงานโดยสะดวก อาจสะดวกเกินโดยไม่ต้องรับผิดนั้นถูกต้องหรือไม่ เกินกว่าวัตถุประสงค์คือการจับพระธัมมชโยในข้อหาฟอกเงินหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่ถูกตั้งคำถาม ยิ่งการให้อำนาจอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เรียกตัวพระ 14 รูปให้มารายงานตัวโดยไม่ระบุความผิด ถ้าไม่มาก็ถือว่าผิดกฎหมายนั้น เป็นคำสั่งที่ดุดันและน่าสะพรึงกลัวเหมือนคำสั่งหลังการยึดอำนาจที่เรียกบุคคลต่างๆมารายงานตัวหรือไม่?

สื่อแท้-สื่อเทียม?

นับตั้งแต่ประกาศใช้มาตรา 44 ควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกายเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ สถานการณ์ต่างๆดูสับสนและเต็มไปด้วยข่าวลือต่างๆ เนื่องจากการเสนอข่าวของสื่อสำนักต่างๆซึ่งถูกมองว่ามีบางสื่อที่เสนอข่าวในเชิงปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชัง สื่อบางสำนักยังเอาภาพเก่าของวัดพระธรรมกายมาโพสต์เพื่อบิดเบือนและทำให้ประชาชนเข้าใจผิด เพื่อให้เกิดการปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้วัดพระธรรมกายต้องประกาศไม่ให้สื่อบางสำนักเข้ามาทำข่าวในพื้นที่ของวัด

โดยเฉพาะการปล่อยข่าวใส่ร้ายโยงถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพของคนไทย จนพระสนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ต้องออกมาชี้แจงว่า ทางวัดให้ความเคารพต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มาโดยตลอด แม้แต่ฝ่ายรัฐบาลเองก็มีการให้ข้อมูลที่ฝ่ายวัดพระธรรมกายออกมาตอบโต้ว่าไม่เป็นความจริงหลายเรื่อง

การใส่ร้ายป้ายสีของสื่อเสี้ยมที่มักอวดอ้างตนว่าเป็น “สื่อแท้” จึงน่าวิตกอย่างยิ่ง ยิ่งยุคดิจิตอลที่ข้อมูลข่าวสารสามารถเผยแพร่ได้อย่างรวดเร็ว การสร้างความเกลียดชังเพื่อปลุกระดมให้กวาดล้างอีกฝ่ายเกิดขึ้นแล้วหลายครั้งในสังคมไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์ 6 ตุลาที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งนำภาพการเล่นละครของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาตัดต่อใหม่ แต่งภาพใหม่ ให้เข้าใจว่าเป็นการดูหมิ่นเบื้องสูงจนนำมาสู่การปลุกระดมและสังหารโหดนักศึกษามาแล้ว

ต่อกรณีเหตุการณ์วัดพระธรรมกาย “เจ้าคุณพิพิธ” พระราชวิจิตรปฏิภาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ได้ออกมาเขียนกลอนเตือนสติผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่า

“ไอ้ฝ่ายหนึ่งก็จะจับให้มันจบ อีกฝ่ายหนึ่งก็หลีกหลบถูกตามไล่

ผู้สื่อข่าวก็ฮึกเหิมเติมเชื้อไฟ ผู้เสียใจก็อัดอั้นตันอุรา

ผู้ที่สั่งก็หวังเผด็จศึก ผู้ทำงานก็ไม่คึกกลัวกลัวกล้า

ผู้เกลียดชังก็ห้อยโหนโพนทะนา ระวังพวกศรัทธาฆ่าตัวตาย”

แต่แล้วโศกนาฏกรรมก็เกิดขึ้น สังเวยศพแรกด้วยการแขวนคอตายบนเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ข้างวัดพระธรรมกาย

พุทธแท้-พุทธเทียม?

การสรุปว่าคำสอนของพระธัมมชโยผิดเพี้ยนพระไตรปิฎกจนทำให้วัดพระธรรมกายเป็น “พุทธเทียม” หรือเป็น “ลัทธิ” ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐจริงหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสรุปหรือจัดการกวาดล้างทำลายกันเหมือนเข้าปราบศึกสงคราม เพราะบัดนี้คู่ขัดแย้งได้ขยายตัวมั่วไปหมด
นายวิจักขณ์ พานิช นักวิชาการอิสระด้านปรัชญาศาสนา เคยกล่าวในการเสวนาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 ว่า หากจะพูดถึงความเป็นพุทธในสังคมไทยว่าพุทธแบบไหน เป็นพุทธแท้หรือพุทธเทียมไม่มีประโยชน์ เพราะพุทธศาสนาถูกตีความต่างกันไปตามแต่ละบริบททางประวัติศาสตร์

“ถึงที่สุดแล้วพุทธแท้นั้นไม่มีอยู่จริง พุทธที่จะอยู่รอดต้องเคารพคุณค่าสากลและส่งเสริมเสรีภาพ ซึ่งก็คือพุทธที่อ่อนน้อมถ่อมตัว พุทธที่คุยกับคนอื่นรู้เรื่อง ไม่ใช้ศีลธรรมสุดโต่ง และกล้าถกเถียงในประเด็นสาธารณะอย่างมีเหตุมีผล”

นายวิจักขณ์ยังย้ำว่า เมื่อเอาศาสนาผูกโยงกับรัฐ เท่ากับเอาพื้นที่ของศาสนาซึ่งเป็นคุณค่าที่เกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวมาใช้ในพื้นที่สาธารณะ ท้ายที่สุดจะเป็นการทำร้ายตัวศาสนาเอง เพราะเมื่อศาสนาถูกทำให้เป็นสถาบันสำคัญของรัฐ ของชาติเสียแล้ว ศาสนาก็จะคับแคบในการตีความ และในที่สุดนำไปสู่สังคมที่ไม่ส่งเสริมเสรีภาพ จึงควรเอาอำนาจรัฐออกจากศาสนา อันจะนำสู่สังคมที่ส่งเสริมเพิ่มพูนเสรีภาพและสอดคล้องกับคุณค่าสากลในระบอบประชาธิปไตย

นายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการอิสระด้านปรัชญาศาสนา ก็มองว่า ขณะที่พากันตั้งคำถามเกี่ยวกับพุทธบริสุทธิ์ พระดี การเมืองบริสุทธิ์ นักการเมืองที่เป็นคนดี กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองบริสุทธิ์ ม็อบศาสนาบริสุทธิ์ ฯลฯ อำนาจเผด็จการก็ทำงานแบบเดิมๆต่อไป มีคนบาดเจ็บ มีคนตายเรื่อยไป มองไม่เห็นอนาคตประชาธิปไตยต่อไป เล่นวาทกรรม “บริสุทธิ์” ภายใต้อำนาจเผด็จการกันต่อไป

พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ วัดสร้อยทอง ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คถึงการถกเถียงหรือการตั้งคำถามเรื่องความเป็นพุทธแท้-พุทธเทียมว่า มีความสับสนและไม่เข้าใจในความเป็นตัวเองสูง ทั้งไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือความพอใจที่จะเชื่อแบบคนพุทธส่วนใหญ่ในสังคมไทยจริงๆ (เดี๋ยวกูก็ไปไหว้ผี ดูหมอ ขอพรเทพเจ้าเหมือนเดิม) จึงงงว่าจะมาเถียงกันทำไมเมื่อคนพุทธในสังคมส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่พุทธแท้แต่เดิมอยู่แล้ว วัดในประเทศไทย 80 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ใช่พุทธเวอร์ชั่นแรกที่เป็นออริจินอล คือมันผสมผสานกันมั่วไปหมด บางวัดนึกจะเป็นมหายานกูก็เป็น บางวัดนึกจะเป็นฮินดูกูก็เป็น สร้างเจ้าแม่กวนอิม สร้างพระพิฆเนศกันมั่วไปหมด แล้วคนส่วนใหญ่ก็ชอบ

เมื่อเป็นแบบนี้จะมาถามหาความเป็นพุทธแท้-พุทธเทียมกันทำไม ถามหาสิ่งซึ่งไม่มีอยู่ในความเป็นจริงไปเพื่ออะไร เหมือนอย่างที่กำลังซีเรียสกับวัดพระธรรมกาย บางคนจะเป็นจะตายด่าธรรมกายเหมือนเป็นสิ่งแปลกปลอมอันเดียวในท่ามกลางสังฆมณฑลอันมีความสะอาดบริสุทธิ์ทั้งหมด บางคนอยากให้กำจัดธรรมกายให้สิ้นซาก หรือมีความรู้สึกเหยียดดูถูกพวกที่ศรัทธาวัดพระธรรมกายว่าโง่ดักดาน ทำไมไม่รู้สึกถึงความย้อนแย้งในตัวเองบ้าง หรือไม่รู้สึกว่าวัดแถวบ้านกูบางอย่างนี่แย่กว่าธรรมกายอีก หรือกูบางทีก็แย่กว่าคนที่เข้าวัดพระธรรมกายอีก

“อาตมาไม่เข้าใจว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงคิดว่าถ้ากำจัดธรรมกายได้แล้ว พุทธศาสนาในประเทศไทยมันจะมีแต่ความเป็นของแท้ บริสุทธิ์ผุดผ่องอำไพ หรือจะสถิตสถาพรอย่างหมดจดตลอดไป อ้อ..ไอ้ที่เข้าวัดไปเที่ยวกันวันหยุด ไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไปขอพรเทพเจ้า ไปร่วมพิธีสะเดาะเคราะห์ เช่าวัตถุมงคล กระซิบข้างหูรูปปั้นหนู เอาหน้าผากแตะนิ้วมือเทพทันใจ นี่มันสังกัดสำนักธรรมกายหมดเลยใช่ไหม หรือว่าเป็นสาขาย่อยเป็นพวกหน้าโง่ที่ศรัทธาธรรมกาย”

พระมหาไพรวัลย์ชี้ว่า หากยังมองพุทธศาสนาโดยพื้นฐานของความเป็นพุทธแท้-พุทธเทียมอย่างมีความเกลียดชัง ดูแคลน จนถึงขั้นต้องกำจัดกันให้สิ้นซาก เราจะไม่เหลือสิ่งที่เรียกว่าศาสนาพุทธให้นับถือเลย ถึงมีที่ใกล้เคียงกับของแท้ดั้งเดิมจริงๆ ดีไม่ดีเราอาจไม่ชอบด้วยซ้ำ เพราะมันไม่ถูกจริตและเข้าถึงยากเกินไป ถามว่ามีกี่คนที่ไปสวนโมกข์เพื่อปฏิบัติธรรมทุกเดือน หรือเข้าวัดหนองนาป่าพงเพื่อไปถือศีลทุกอาทิตย์ รักษาอุโบสถศีล แยกนอนกับผัวหรือเมียทุกวันพระใหญ่

เอาเข้าจริงคนส่วนใหญ่ที่พูดถึงความแท้ของพุทธศาสนาก็ชอบพุทธแบบเมืองๆ พุทธที่เทียมครึ่งหนึ่งแท้ครึ่งหนึ่ง พุทธที่มีพระมาบิณฑบาตตอนเช้าแล้วซื้อกับข้าวสำเร็จรูปแกงถุงข้าวถุงใส่บาตรโดยไม่สนใจว่าพระจะฉันได้ไม่ได้ยังไง ใส่ซองให้พระแล้วก็ไปด่าพระว่ารับเงินรับทอง ชอบพุทธแบบที่ถือถังสังฆทานราคา 299 แต่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย ไปวัดชอบพุทธแบบที่พระให้พร พรมน้ำมนต์ ให้เจิมรถ เจิมบ้าน ได้พุทธแบบจะไปสะเคราะห์ปล่อยปลา ปล่อยเต่า เอาเงินใส่ตู้เพื่อซื้อโลงศพ หรือไถ่ชีวิตโคกระบือเมื่อไรก็ได้เพื่อความสบายใจ ชอบพุทธสายปฏิบัติแบบที่ห้องวิปัสสนาต้องเปิดแอร์เย็นฉ่ำ หรือมีห้องน้ำสะอาดๆ ห้องนอนหรูๆในวัดไว้บริการ

“ทั้งหมดที่พูดมานี่พุทธแบบที่พวกคุณชอบใจกัน หรือถูกกับจริตและอัธยาศัย นับถือกันมาจนทุกวันนี้เป็นพุทธแท้แน่แล้วใช่ไหม มีแค่วัดพระธรรมกายใช่ไหมที่มันนอกรีต ไหนใครช่วยตอบอาตมาที เผื่อว่าอาตมาจะเข้าใจความเป็นพุทธแท้-พุทธเทียมของคนในสังคมพุทธบ้านเมืองนี้ได้ดีกว่านี้”

นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ตั้งคำถามไว้อย่างน่าสนใจว่า ใครพุทธแท้กว่ากันระหว่างวัดพระธรรมกายกับกลุ่มต้านวัดพระธรรมกาย หรือจริงๆไม่มีใครอ้างได้เลยว่าตัวเองเป็นพุทธแท้กว่าใคร หรือการไล่ล่าวัดพระธรรมกายตอนนี้เป็นเครื่องมือของคนที่อยากอวดอ้างความเป็นพุทธที่แท้ จนลืมไปว่าความเป็นพุทธไม่ใช่การตั้งตัวเองเป็นเจ้าของพุทธศาสนาฝ่ายเดียวจนอวิชชาเบ่งบาน?

ตั้งสติแล้วทบทวน

การที่จะสรุปว่าอะไรคือพุทธแท้-พุทธเทียม? สื่อแท้-สื่อเทียม? กฎหมายแท้-กฎหมายเทียม? คนดีแท้-คนดีเทียม? ท่ามกลางสังคมดัดจริตตอแหลนั้นคงเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะความสูญเสียบานปลายอาจเกิดหายนะยิ่งใหญ่และสาหัสเกินกว่าที่สังคมไทยจะรับได้หาก “น้ำผึ้งหลายหยดไหลมารวมกัน”

“โลกวันนี้วันสุข” ขออนุญาตยืมข้อความจากเพจ Chaturon Chaisang ที่ได้เผยแพร่ความเป็นห่วงต่อบ้านเมืองไว้อย่างน่าสนใจกรณีวัดพระธรรมกายของนายจาตุรนต์ ฉายแสง (24 กุมภาพันธ์ 2560) มาเป็นบทสรุปโดยไม่ได้ตัดทอนดังนี้

‘เป็นห่วง’ กรณีวัดพระธรรมกาย

ผมติดตามเหตุการณ์กรณีวัดพระธรรมกายด้วยความเป็นห่วง และดูเหมือนเหตุการณ์จะน่าเป็นห่วงมากขึ้นทุกขณะ ที่จะแสดงความเห็นต่อไปนี้ไม่ใช่ในฐานะผู้สนับสนุนหรือคัดค้านวัดพระธรรมกาย

และผมไม่ต้องการเอาพรรคเพื่อไทยเข้ามาเกี่ยวข้องกับการแสดงความเห็นของผมในครั้งนี้ จึงขอชี้แจงเสียก่อนว่าความเห็นต่อไปนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผมในฐานะนักการเมืองและประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น

#สถานการณ์น่าห่วงใยหลายประการ

อันดับแรก เป็นห่วงว่าจะเกิดความรุนแรงจนถึงขั้นเกิดการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตขึ้น การเป็นห่วงเช่นนี้ก็คงคล้ายกับคนจำนวนมากในสังคมไทยในเวลานี้ รวมทั้งผู้มีอำนาจบางคนในขณะนี้ด้วย เพียงแต่การมองปัญหาอาจจะต่างกัน

เหตุการณ์นี้เริ่มจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องการจะเข้าไปตรวจค้นวัดพระธรรมกายเพื่อจับกุมพระธัมมชโย ซึ่งลำพังแค่นั้นก็ไม่น่าจะลุกลามบานปลายไปมากนัก แต่ที่กลายเป็นการเผชิญหน้าจนอาจจะเกิดเป็นความรุนแรงหรือสูญเสียน่าจะมาจากความพยายามที่จะกระชับพื้นที่บ้าง ยึดพื้นที่บ้าง รวมทั้งการออกหมายเรียกพระสงฆ์ 14 รูปให้มารายงานตัว และการห้ามพระและคนเข้าออกวัด ซึ่งมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งพระและประชาชนตลอดจนวัดพระธรรมกายโดยรวม

# เหตุผลและขอบเขตการปฏิบัติการตามคำสั่ง คสช. ที่คลุมเครือ

ความไม่ชัดเจนในวัตถุประสงค์และขอบเขตของปฏิบัติการครั้งนี้ ทำให้เกิดความหวาดระแวงหรือกระทั่งหวาดกลัวขึ้นอย่างมากยิ่ง เมื่อหัวหน้า คสช. บอกว่า “…ส่วนเรื่องสถานที่นั้นก็ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรต่อไป…” ก็ยิ่งทำให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายเกิดความวิตกกังวลมากยิ่งขึ้นไปอีก

ผมจึงอยากจะเสนอว่า คสช. ควรประกาศเสียให้ชัดว่าต้องการทำอะไรแค่ไหนกับวัดพระธรรมกายกันแน่ ซึ่งการดำเนินการนี้ควรจะเป็นการจำกัดขอบเขตอยู่ที่การดำเนินคดีกับผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาเท่านั้น ไม่ควรเลยเถิดไปเป็นอย่างอื่น

# ผู้รักความเป็นธรรมทั้งหลายไม่ยอมรับการใช้มาตรา 44

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดความรุนแรงถึงขั้นเลือดเนื้อและชีวิตก็คือ การใช้มาตรา 44 และการใช้กำลังทหารเข้าจัดการ

มาตรา 44 นั้นเป็นกฎหมายก็จริง แต่ก็เป็นกฎหมายที่มีที่มาที่ไม่ชอบตามหลักนิติธรรม ทั้งการที่ให้คนคนเดียวมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือกว่าอำนาจอธิปไตยทั้งหลายโดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ทหารที่ถูกใช้มาจัดการปัญหาไม่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อรับมือกับการเผชิญหน้ากับประชาชนที่อยู่กันมากๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกับพระ เมื่อมีการใช้มาตรา 44 เพื่อการนี้ก็เป็นไปได้ว่าทั้งทหารและเจ้าหน้าที่ทั้งหลายจะเข้าใจไปว่าทำอะไรก็ไม่เป็นความผิดใดๆทั้งสิ้นก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงยิ่งขึ้น

ผมจึงเห็นว่าควรยกเลิกการใช้มาตรา 44 เสียโดยเร็ว แล้วหันมาใช้มาตรการหรือวิธีการตามกฎหมายปรกติซึ่งจะละมุนละม่อมกว่า และเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถโต้แย้งหรือร้องเรียนขอความเป็นธรรมหรือความยุติธรรมได้ เจ้าหน้าที่ทั้งหลายก็จะได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

# เป็นปฏิบัติการที่ละเมิดเสรีภาพในการนับถือศาสนา

ข้อห่วงใยประการต่อมาคือ ปฏิบัติการครั้งนี้น่าจะเข้าข่ายการละเมิดต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา และอาจจะมีปัญหาต่อหลักการในเรื่องที่ว่ารัฐพึงมีบทบาทจัดการกับศาสนาหรือผู้นับถือศาสนามากน้อยเพียงใดด้วย

การที่พระจำนวนมากไม่อาจทำกิจวัตรของพระได้ตามปรกติ จะสื่อสารกับชาวบ้านก็ไม่ได้ คนไม่สามารถไปทำบุญหรือปฏิบัติธรรมได้อย่างไม่มีกำหนด ย่อมเป็นการละเมิดเสรีภาพในการนับถือศาสนาและการประกอบกิจกรรมทางศาสนา การให้พระจำนวนมากมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่โดยไม่บอกเหตุผลที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือย่อมกระทบต่ออิสรภาพและเสรีภาพของพระเหล่านั้น

ส่วนปัญหาว่ารัฐกำลังจะทำอะไรแค่ไหนกับวัดพระธรรมกายนี้ ดูจะไม่ใช่การตีตนไปก่อนไข้ของผู้ที่ห่วงใยทั้งหลาย เพราะไม่ว่าการกระชับพื้นที่ก็ดี การยึดพื้นที่ก็ดี รวมทั้งคำพูดที่ว่าเรื่องสถานที่จะต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรต่อไปก็ดี ล้วนทำให้เกิดความห่วงใยว่าอาจจะมีการจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งกับวัดพระธรรมกายก็เป็นได้

# อย่าทำแทนมหาเถรสมาคม

ถ้าดูจากการแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ซึ่งมีอยู่หลากหลายต่างๆกันไป จะพบว่าความห่วงใยที่ว่าก็มีพื้นฐานรองรับอยู่ไม่น้อย กล่าวคือ มีผู้ห่วงใยว่าวัดพระธรรมกายกำลังจะถูกจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง ในขณะที่ก็มีคนอีกจำนวนหนึ่งที่พอใจกับการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยเหตุผลว่า วัดพระธรรมกายเผยแพร่คำสอนที่ไม่ใช่พุทธแท้บ้าง บิดเบือนพุทธศาสนาบ้าง หรือทำกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับพระธรรมวินัยบ้าง ดังนั้น บางคนก็อาจต้องการให้จัดการวัดพระธรรมกายเสีย

ผมคิดว่าการที่คนมีความเห็นต่างกันต่อวัดพระธรรมกายนั้นเป็นเรื่องธรรมดา ใครจะเห็นว่าวัดพระธรรมกายไม่ใช่พุทธแท้หรือสอนอะไรผิดๆก็เป็นสิทธิ ใครจะเห็นว่าการมีโรงอาหารขนาดใหญ่เป็นเรื่องไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาพุทธก็เป็นสิทธิ

แต่ปัญหาที่ผมคิดว่าเราควรจะตั้งหลักกันให้ดีก็คือ แล้วควรจะให้ใครเป็นคนตัดสินว่าอะไรผิดอะไรถูก ใครควรเป็นคนจัดการอะไรอย่างไรกับวัดพระธรรมกาย

วัดพระธรรมกายยังเป็นวัดในสังกัดมหาเถรสมาคมอยู่ไม่ใช่หรือ หากมีประเด็นว่าวัดพระธรรมกายเป็นวัดในพุทธศาสนาหรือไม่ ผู้ที่จะบอกได้ก็น่าจะเป็นมหาเถรสมาคมซึ่งจะมีอำนาจจัดการกับวัดพระธรรมกาย หรือจะถือว่าเป็นนิกายใหม่ก็คงต้องให้มหาเถรสมาคมตัดสินอยู่ดี ถ้าจะถือว่าไม่ใช่ศาสนาพุทธ แต่เป็นศาสนาอื่นหรือเป็นลัทธิความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง ก็คงต้องให้กรมการศาสนามาพิจารณา และยังต้องรับฟังความเห็นจากผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายอีกด้วย

ทั้งหมดนี้ไม่ควรให้รัฐและเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ตัดสินหรือจัดการ เพราะจะเท่ากับเป็นการเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงกิจการของศาสนาโดยปราศจากหลักเกณฑ์ หรือแม้กระทั่งความรู้ความเข้าใจต่อเรื่องที่กำลังจัดการอยู่ จะกลายเป็นการสร้างปัญหาเสียมากกว่าแก้ปัญหา

อย่าลืมว่าเมื่อมีการจัดการมากกว่าการจับผู้ต้องหาตามปรกติทั่วไป เรื่องนี้ก็กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งจากความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ และศรัทธา ซึ่งจะจัดการโดยหักหาญด้วยกำลังไม่ได้ ปฏิบัติการที่ใช้มาตรา 44 และกำลังทหารที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นยุทธการนั้น เสี่ยงต่อการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตที่จะเป็นความอัปยศอดสูอย่างยิ่งอยู่แล้ว

แต่หาก คสช. เข้าไปจัดการกับวัดพระธรรมกายจนเลยเถิดไปอย่างที่มีคนเชียร์ให้ทำ หรือที่มีคนห่วงใยกันอยู่ ก็ย่อมจะทำให้เกิดเป็นความบาดหมางขัดแย้งทางสังคมครั้งใหญ่ที่จะยากต่อการเยียวยาในอนาคต เมื่อมีการจัดการมากกว่าการจับผู้ต้องหาตามปรกติทั่วไป เรื่องนี้ก็กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งจากความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ และศรัทธา ซึ่งจะจัดการโดยหักหาญด้วยกำลังไม่ได้

ความไม่ไว้ใจหรือความหวาดระแวงที่ศาสนิกหรือผู้นับถือศาสนาทั้งหลายมีต่อรัฐจะไม่จำกัดวงอยู่แต่เพียงศาสนาพุทธเท่านั้น แต่จะขยายไปยังศาสนาอื่นๆได้อีกด้วย ในระยะยาวจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและลึกซึ้งต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย ซึ่งก็อ่อนแอและเปราะบางอยู่แล้วด้วย

ตั้งสติแล้วทบทวนเสียเถิดครับ


You must be logged in to post a comment Login