วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567

ต้องยกเลิกมาตรา 44! / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On March 2, 2017

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

เดือนกุมภาพันธ์ ปีพุทธศักราช 2560 คงเป็นอีกเดือนที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกเหตุการณ์สำคัญต่างๆไว้มากมาย โดยเฉพาะการใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เขียนขึ้นเอง เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าปฏิบัติการและปิดล้อมวัดพระธรรมกาย เรื่องนี้ใครจะผิด ใครจะถูก ผมขออนุญาตไม่แสดงความคิดเห็น เพราะจากที่มีโอกาสสัมผัสกับพี่น้องประชาชนจำนวนมาก ต้องยอมรับว่ามีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนพอสมควร ส่วนฝ่ายไหนมีจำนวนมากกว่ากันนั้นยากจะบอกได้

แต่ที่แน่ๆงานนี้ไม่มีใครยอมใคร เพราะแต่ละฝ่ายย่อมเชื่อว่าสิ่งที่ตนเองทำลงไปนั้นถูกต้อง ดังนั้น เรื่องนี้จึงยากแบบสุดๆที่จะลงเอยแบบแฮปปี้เอนดิ้ง เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมให้ความเห็นเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนจึงไม่ขออธิบายอะไรเพิ่มเติมอีก นอกจากขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกจงดลบันดาลประทานพรให้ผู้ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบ จงคลาดแคล้วจากภยันตรายทั้งปวง และสามารถรักษาพุทธศาสนาของไทยให้อยู่รอดปลอดภัยเป็นเนื้อนาบุญอำไพให้กับพุทธศาสนิกชนทุกท่านทุกคนตลอดไป

อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้ยังมีเรื่องที่ต้องนำมาบ่นให้ฟังอีกไม่น้อยทีเดียว เรื่องแรกอาจไม่ได้เป็นข่าวครึกโครมโด่งดังแต่อย่างไร แต่สำหรับนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนค่อนข้างให้ความสำคัญทีเดียวคือ การตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องการออกแถลงการณ์ให้ คสช. ยกเลิกการใช้มาตรา 44 อย่างพร่ำเพรื่อของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

หลังจากสถาบันออกแถลงการณ์ไม่นาน ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมหิดลก็สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาความผิดในกรณีดังกล่าวทันที ทำให้นักวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัยจำนวนมากรู้สึกไม่สบายใจ เพราะรู้สึกว่าเสรีภาพทางวิชาการของพวกเขากำลังถูกคุกคาม ทั้งที่การออกแถลงการณ์แสดงความเห็นดังกล่าวเป็นการกระทำที่ถูกต้อง และรัฐบาลก็ควรจะรับฟัง

การสั่งการของผู้บริหารมหาวิทยาลัยครั้งนี้ ทำให้ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง คณบดีคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องออกแถลงการณ์ให้กำลังใจการทำหน้าที่ของสถาบันสิทธิมนุษยชนฯที่ถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยตั้งกรรมการสอบเอาผิด

แถลงการณ์ของอาจารย์อนุสรณ์กล่าวชัดเจนว่า ถือเป็นความตกต่ำของสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่ยึดมั่นในหลักการแห่งวิชาการ ทั้งๆที่สถาบันสิทธิมนุษยชนฯทำหน้าที่ตามภารกิจของสถาบันบนพื้นฐานของประสบการณ์และความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาอย่างแท้จริง ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเสียด้วยซ้ำที่แสดงพฤติกรรมข่มขู่ คุกคาม แทนที่จะใช้หลักการของเหตุผลมาหักล้าง

ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้บุคลากรและองค์กรของมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกันที่นำเอาชื่อของมหาวิทยาลัยมหิดลไปใช้เคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสนับสนุนกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่งอย่างชัดเจน แต่ผู้บริหารทั้งหลายกลับไม่แสดงท่าทีใดๆ ซึ่งวิธีการเช่นนี้จะส่งผลต่อความเสื่อมศรัทธาในสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงของประเทศอย่างยิ่ง เพราะยากที่จะปฏิเสธว่าการจัดการดังกล่าวไม่เป็นแบบสองมาตรฐาน

คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่าหลังจากนี้ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมหิดลจะมีบทลงโทษอย่างไรกับสมาชิกผู้ร่วมออกแถลงการณ์ แต่ความเห็นส่วนตัวของผมเชื่อว่าการที่สถาบันสิทธิมนุษยชนฯออกแถลงการณ์ขอให้ คสช. ยกเลิกมาตรา 44 เป็นเรื่องที่ชอบแล้ว เพราะวัตถุประสงค์ของการเขียนกฎหมายข้อนี้ก็เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารราชการแผ่นดินให้ราบรื่นด้วยการรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จไว้ที่หัวหน้า คสช. แต่เพียงผู้เดียว หรือที่เรียกว่า “เผด็จการ” นั่นแหละ

ทบทวนกันสักนิดว่ามาตรา 44 มีหลักการที่สำคัญอย่างไร หลักการคือ ให้อำนาจแก่ท่านผู้นำสูงสุดแบบเบ็ดเสร็จ กล่าวคือ ในกรณีที่หัวหน้า คสช. เห็นความจําเป็น ให้หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. มีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใดๆได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

คิดดูก็แล้วกันว่าหลังจากประเทศไทยถูกปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาได้สักพัก คำสั่งของท่านผู้นำสูงสุดที่ใช้อำนาจมาตรา 44 ฉบับแรกก็คลอดออกมาก่อนสิ้นปี 2557 หลังจากนั้นมาตรา 44 ก็กลายเป็นเครื่องมือสารพัดประโยชน์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้เป็นฐานอำนาจในการออกคำสั่งต่างๆนานัปการ

ดูเอาเองก็แล้วกัน เพราะออกคำสั่งโดยใช้อำนาจจากมาตรานี้เพียบไปหมด มีทั้งการโยกย้ายข้าราชการ การแก้ปัญหาการบริหารงานในกระทรวงศึกษาธิการ การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว การไม่แต่งตั้งกรรมการ กสทช. การออกมาตรการหรือนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะ การแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย การแก้ปัญหาการขายสลากกินแบ่งเกินราคา การตั้งกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ฯลฯ และล่าสุดการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการปิดล้อมวัดพระธรรมกาย

การปกครองภายใต้กฎหมายที่มีนิติรัฐ นิติธรรม ย่อมแตกต่างจากการปกครองโดยเผด็จการที่อยู่ได้ด้วยกฎหมายที่ตัวเองเขียนขึ้นเอง เพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องมาจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างชอบธรรม แต่การปกครองโดยเผด็จการที่บังคับใช้กฎหมายที่ตัวเองเขียนขึ้นย่อมปราศจากความชอบธรรมและอยู่ได้ด้วยการใช้อำนาจพิเศษเท่านั้น

การใช้อำนาจพิเศษอย่างพร่ำเพรื่อถือเป็นดาบสองคม แม้ว่าการออกคำสั่งบางประเภทจะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินง่ายขึ้นก็ตาม แต่ในทางตรงข้ามการออกคำสั่งบางประเภทก็ถือว่าเป็นโทษ ดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยยังมีความจำเป็นในการคบค้าสมาคมกับมิตรประเทศ การใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงการออกคำสั่งเพื่อให้ไปละเมิดกฎหมายตามปรกติ ย่อมทำให้ความน่าเชื่อถือของประเทศไทยลดลงไปเรื่อยๆจนสุดท้ายอาจไม่มีใครอยากจะคบค้าสมาคมด้วยก็เป็นได้

สุดท้ายนี้เผื่อว่าท่านผู้นำสูงสุดจะยังไม่ทราบว่าประเทศไทยของเรามีเศรษฐกิจที่แย่ลงมาโดยตลอดตั้งแต่พวกท่านเข้ามายึดอำนาจ ส่วนหนึ่งเชื่อได้ว่ามาจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ชอบธรรม ดังนั้น ถ้าทุกท่านเลิกแก้ตัวด้วยการโยนความผิดไปให้คนอื่นและหันมาพิจารณาปัญหาต่างๆด้วยเหตุด้วยผล ผมเชื่อว่าท่านผู้นำสูงสุดจะไม่มีความจำเป็นต้องออกคำสั่งด้วยกฎหมายพิเศษมาตรา 44 อีกต่อไป และเมื่อไรท่านเลิกใช้มาตรา 44 รับรองว่าประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าได้อย่างแน่นอน


You must be logged in to post a comment Login