วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ฤาจะมีวาระซ่อนเร้น? / โดย ทีมข่าวการเมือง

On February 27, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

“หลักการสำคัญในเรื่องนี้คือการบังคับใช้กฎหมาย ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นจุดที่เรียกว่าเป็นลัทธิตัวอย่างที่กฎหมายไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ ซึ่งเราจะยอมให้เป็นอย่างนั้นไม่ได้”

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งมาตรา 44 ควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกาย ซึ่งคำพูดดังกล่าวชัดเจนว่าการส่งเจ้าหน้าที่กว่าครึ่งหมื่นไปปิดล้อมวัดพระธรรมกายไม่ใช่แค่การจับ “พระธัมมชโย” แต่ยังเห็นว่า “ธรรมกาย” เป็น “ลัทธิตัวอย่าง” ที่ต้องจัดการให้สะเด็ดน้ำโดยเร็ว

แน่นอนเหนืออื่นใดคือ การสอดประสานกับพระสุวิทย์ ธีรธมฺโม (พุทธะอิสระ) วัดอ้อน้อย ที่ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ค Buddha Isara ขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ที่ออกคำสั่งมาตรา 44 ว่าทำให้กฎหมายเป็นกฎหมาย และทวงคืนความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของพระธรรมวินัยกลับคืนแก่พุทธบริษัททั้ง 4 ที่ถูกพวกอลัชชีย่ำยีมาเนิ่นนานนับสิบปี ทั้งเรียกร้องให้ถือโอกาสนี้ล้างบางคำสอนและข้อปฏิบัติที่บิดเบือนผิดเพี้ยนของลัทธิธรรมกายให้หมดไปจากพระธรรมวินัย

“ไพบูลย์” ไล่บี้ “ธัมมชโย”

ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งพยายามให้ดำเนินการสึกพระธัมมชโยมาตลอดเวลา ได้ถือโอกาสเชิญผู้แทนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และมหาเถรสมาคม (มส.) ให้ชี้แจงถึงสถานภาพของพระธัมมชโยว่าปาราชิกและต้องดำเนินการสึกตามพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่ทรงมีพระวินัจฉัยไว้เมื่อปี 2542 ซึ่งนายสมชาย สุรชาตรี โฆษก พศ. ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ได้ชี้แจง สปช. ว่าเรื่องปาราชิกยังไม่มีความชัดเจน เพราะมีเอกสารบางส่วนที่ขัดแย้งกันอยู่ และเรื่องนี้ก็ผ่านมาแล้วกว่า 16 ปี

ยิ่งไปกว่านั้นนายไพบูลย์ยังเตรียมจะเชิญตัวแทนจากสำนักงานป้องกันและปรามปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มาชี้แจงเรื่องการเงินของวัดพระธรรมกาย โดยเฉพาะเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 13,000 ล้านบาท ในวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ ซึ่งพระธัมมชโยถูกตั้งข้อหาร่วมกันฟอกเงินหรือรับของโจร (ที่นำมาบริจาค) จากคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งเป็นคดีพิเศษที่ 27/2559 รวมเป็นเงิน 1,400 ล้านบาท แม้ทางสหกรณ์ที่เป็นผู้เสียหายจะถอนฟ้องพระธัมมชโยไปแล้ว เพราะได้รับเงินในส่วนที่อดีตผู้บริหารสหกรณ์เคยนำไปบริจาคคืนมาแล้วก็ตาม แต่คดีนี้ก็ยังไม่จบทางข้อกฎหมาย

ล้างบาง-จัดระเบียบใหม่

พล.อ.ประยุทธ์ได้แถลงถึงการเสนอข่าวของโทรทัศน์บางช่องที่ระบุว่าการใช้มาตรา 44 กับวัดพระธรรมกายไม่มีความหมาย รัฐบาลไม่มีน้ำยาว่า กลายเป็นเชียร์มวยว่าใครจะชนะระหว่างพระกับเจ้าหน้าที่ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นคดีความ ถ้าสู้ตามกระบวนการทุกอย่างก็จบ ทั้งยังตำหนิพระที่ปิดหน้าปิดตาว่าเหมาะสมหรือไม่ ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันไม่ยกเลิกคำสั่งมาตรา 44 แม้จะครบ 7 วัน จนกว่าพระธัมมชโยจะมอบตัวหรือนำตัวมาดำเนินคดีได้

ทำให้เห็นชัดเจนว่าปฏิบัติการวัดพระธรรมกายครั้งนี้ อีกวาระหนึ่งในเป้าหมายคือ ถือโอกาสเข้าไปจัดระเบียบวัดพระธรรมกายใหม่ โดยให้ พศ. และ มส. เข้าไปวางกฎระเบียบ เพื่อให้เหมือนวัดทั่วไป ไม่สามารถขยายอิทธิพลทางความคิด (ลัทธิธรรมกาย) กว้างไกลไปกว่านี้ การจัดระเบียบจึงต้องครอบคลุมถึงเรื่องเงินบริจาคและการนำเงินไปใช้ แนวทางคำสอนที่หลายฝ่ายกล่าวหาว่าบิดเบือนพระไตรปิฎกเหมือนการสร้างลัทธิความเชื่อใหม่

กรณีจับพระธัมมชโยไม่ได้หรือไม่มอบตัวนั้น ยังมีแนวทางให้สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง อาจใช้อำนาจเรียกตัว ซึ่งหากออกคำสั่งให้มารายงานตัวแล้วพระธัมมชโยไม่มาก็สามารถใช้อำนาจจับสึกจากความเป็นพระได้

เส้นทางของพระธัมมชโยขณะนี้จึงเหมือนบทสรุปสุดท้ายในอาณาจักรยิ่งใหญ่ของวัดพระธรรมกาย เพราะไม่ว่าพระธัมมชโยจะมอบตัวหรือไม่ วัดพระธรรมกายก็จะต้องเปลี่ยนไปคือ ต้องเป็นไปตามการจัดระเบียบตามกรอบที่จะถูกกำหนดขึ้น เท่ากับเป็นการล้างบางอิทธิพลวัดพระธรรมกายไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่า ฝ่ายพระและลูกศิษย์วัดพระธรรมกายที่มีนับล้านคนจะยอมรับอำนาจของรัฐบาลทหารหรือไม่ แม้จะให้ พศ. และ มส. เป็นกลไกในการจัดระเบียบก็ตาม และหากความขัดแย้งลุกลามบานปลาย วัดพระธรรมกายก็อาจมีการปลดแอกเป็นเอกเทศไม่ขึ้นกับองค์กรสงฆ์เหมือนกลุ่มสันติอโศก ซึ่งกรณีของวัดพระธรรมกายทั้งศรัทธาและทรัพย์สินที่มีนั้นแตกต่างกับสันติอโศกมากมาย ข่าวลือที่ออกมาว่าอาจถึงขั้นใช้อำนาจพิเศษเข้ามาจัดการทรัพย์สินของวัดพระธรรมกายด้วยนั้นจึงแพร่สะพัด

อำนาจที่ปราศจากความเป็นธรรม

พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ วัดสร้อยทอง กล่าวเตือนรัฐบาลถึงการใช้มาตรา 44 กับวัดพระธรรมกาย (20 กุมภาพันธ์) ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ประกาศให้พระภิกษุที่ไม่ใช่พระของวัดพระธรรมกายออกจากพื้นที่ รวมถึงตรวจสอบผู้ที่พักภายในวัด หากไม่มีรายชื่อก็ต้องออกจากพื้นที่วัดว่า เราอาจไม่ชอบพระอย่างพระธัมมชโยอย่างไรก็ได้ ต้องการให้พระธัมมชโยเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายในเร็ววันนี้อย่างไรก็ได้ แต่เราจะเห็นด้วยกับการใช้วิธีการแบบไหนก็ได้ในการจัดการกับวัดพระธรรมกายอย่างนี้ไม่ได้

เราจะไปวางใจว่าอำนาจเผด็จการจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนผู้บริสุทธิ์ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในวัดพระธรรมกายตอนนี้ ทั้งพระ เณร และฆราวาส ทั้งคนแก่ ทั้งเด็กเล็ก ไม่มีทางเป็นไปได้เลย และต้องไม่ลืมว่าทหารและตำรวจถนัดในการใช้กำลัง ใช้ความรุนแรง ในประวัติศาสตร์บาดแผลที่ผ่านมาทหารและตำรวจก็มีส่วนในการสังหารเข่นฆ่าคนบริสุทธิ์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์หรือชาวบ้านที่ราชประสงค์ ทั้งไม่เคยต้องรับผิดชอบอะไรเลย อ้างความมั่นคง แล้วแบบนี้เรายังจะคาดหวังความปรองดอง ความสมานฉันท์ได้อยู่หรือ

พระมหาไพรวัลย์ยืนยันว่า มาตรา 44 ให้โทษมากกว่าให้คุณ ถ้าคนมีอำนาจจะพอสำเหนียกรู้อยู่บ้าง หรือมีหิริโอตตัปปะอย่างที่ชอบพร่ำจริง ควรจะมีโยนิโสมนสิการ ก่อนที่จะตัดสินใจใช้อำนาจอะไรก็ตามควรรู้จักการวางท่าทีเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความรุนแรงและความสูญเสียกับผู้บริสุทธิ์

บ้านเมืองเราแตกแยกเป็นเสี่ยงๆมานานแล้ว ขอให้ยอมรับข้อเท็จจริงอันนี้ ถ้าขืนยังคิดว่าจะต้องกำจัดกันให้สิ้นซากไปข้างหนึ่ง แทนที่จะประนีประนอมโดยเห็นแก่ความสันติสุขอันจะพึงเกิดกับสังคม หรือเห็นแก่คนบริสุทธิ์ทั้งพระเณรและฆราวาสซึ่งศรัทธาในแนวทางของวัดพระธรรมกาย เกรงว่าบ้านเมืองจะหาความสงบอีกไม่ได้เลย หรือเราไม่อยากเห็นคนในชาติมีความเป็นอยู่อย่างปรกติสุขกันกระนั้นหรือ

“อาตมาจะฝากแง่คิดไว้นะครับว่า ถึงต่อให้คุณจัดการกับพระธัมมชโยได้ จัดการกับพระเณรทั้งหมดในวัดพระธรรมกายได้ ยึดทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของธรรมกายได้ แต่หากสิ่งที่ทำไปนั้นเป็นไปโดยวิถีทางของความรุนแรงและใช้กำลังในการบีฑาข่มเหง คุณคิดหรือครับว่าคุณจะเปลี่ยนคนเป็นล้านที่นับถือพระธัมมชโยได้ จะเปลี่ยนคนเป็นล้านที่เข้าวัดพระธรรมกายได้ จะเปลี่ยนความคับแค้นใจและความเห็นใจของคนเหล่านั้นที่มีต่อธรรมกายได้ ไม่มีทางเลยครับ อำนาจที่ปราศจากความเป็นธรรมไม่เคยนำชัยชนะมาให้กับผู้ที่ถืออำนาจนั้นนะครับ นี่อยากจะฝากไว้ด้วยความหวังดี”

อย่าสุมไฟความขัดแย้งให้ขยายตัว

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊คการใช้มาตรา 44 กับวัดพระธรรมกาย (21 กุมภาพันธ์) ว่าการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 5/2560 ขัดมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่อนุญาตให้ออกคำสั่งเพื่อ “ป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน” นอกจากนี้คดีที่อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายถูกกล่าวหาว่าฟอกเงินหรือรับของโจรเกิดตั้งแต่ปี 2552-2554 จึงไม่เหลือเหตุจะต้องออกคำสั่งเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามสิ่งใดต่อไปอีกแล้ว

วัดพระธรรมกายเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย พุทธศาสนิกชนจึงมีสิทธิที่จะเข้าวัดเพื่อปฏิบัติศาสนกิจตามความเชื่อของตน หัวหน้า คสช. ไม่มีอำนาจออกคำสั่งควบคุมพื้นที่ห้ามประชาชนหรือสงฆ์เข้าออกวัด ความผิดฐานฟอกเงินหรือรับของโจรเป็นคดีอาญาทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ทั้งยังเป็นการกล่าวหาต่อตัวบุคคลซึ่งไม่เกี่ยวกับวัดที่เป็นองค์กรทางศาสนา และการกระทำที่อ้างเป็นความผิดยุติลงเนิ่นนานแล้ว เหลือเพียงการนำตัวอดีตเจ้าอาวาสเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเหมือนคดีอาญาอื่นอีกนับหมื่นคดีที่ยังติดตามตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีไม่ได้ ซึ่งก็ไม่เคยมีการออกคำสั่งที่เลือกปฏิบัติเช่นนี้มาก่อน

“การยกกำลังเจ้าหน้าที่หลายพันคนในชุดพร้อมรบไปปิดล้อมวัดเพื่อจับกุมพระที่มีอายุกว่า 70 ปี ห้ามคนเข้าออก ทำลายทรัพย์สินของวัด ทำร้ายประชาชนและพระสงฆ์ รวมทั้งออกคำสั่งให้พระกว่า 10 รูปมารายงานตัว หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก คือการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ที่อ้างว่าต้องการดำเนินการกับผู้ที่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ยิ่งรับฟังไม่ได้ เพราะรัฐต่างหากที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ส่วนที่ว่าต้องการปกป้องคุ้มครองผู้บริสุทธิ์จากสถานการณ์ความรุนแรงก็เป็นรัฐเองที่เป็นต้นเหตุ หากรู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่นและปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายก็จะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ฝ่ายที่ต้องถูกประณามคือรัฐที่เลือกปฏิบัติใช้อำนาจเกินเลยขอบเขต ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง และละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเป็นแนวทางของทรราช เพราะนอกจากจะเป็นการทำร้ายพระและประชาชนผู้บริสุทธิ์แล้ว ยังเป็นการสุมไฟความขัดแย้งให้ขยายตัวมากขึ้นอีกด้วย”

ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยุติคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 5/2560 ซึ่งขัดต่อหลักนิติรัฐและมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยเฉพาะเจาะจงกับวัดพระธรรมกาย ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนจำนวนมาก เจ้าหน้าที่รัฐจึงควรใช้อำนาจตามกระบวนการยุติธรรมปรกติ เพราะความยุติธรรมไม่อาจเกิดได้โดยการบังคับใช้อำนาจที่ปราศจากความรับผิด

การวิจารณ์-โจมตีกับอำนาจรัฐประหาร

นายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา กล่าวถึงปัญหาพื้นฐานด้านศาสนาในเว็บไซต์ประชาไทว่า เคารพความเชื่อทางศาสนาและการวิพากษ์วิจารณ์ เปิดโปง โจมตีนักการเมืองและธรรมกาย โดยกล่าวถึงกลุ่มบุคคลที่มีการกระทำที่ก่อให้เกิดปัญหาพื้นฐานสำคัญอย่างน้อย 3 ประการคือ

1.คุณไม่แฟร์กับคนอื่น เพราะคุณวิจารณ์ เปิดโปง โจมตีความเชื่อทางศาสนาของคนอื่น หรือการทุจริตของคนอื่นๆ พร้อมกับเรียกร้องให้ใช้รัฐประหารและอำนาจรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารจัดการกับคนอื่น

2.ต่อให้กลุ่มศาสนา กลุ่มการเมือง หรือบุคคลทางศาสนา บุคคลทางการเมืองที่คุณกล่าวหาได้ทำผิดจริง และการกระทำของคุณอาจอ้างได้ว่ามีประโยชน์ต่อสังคม เพราะสามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้ แต่ประโยชน์ต่อสังคมดังกล่าวก็เทียบไม่ได้กับความเสียหายจากการล้มระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐของสังคม

3.การวิจารณ์ เปิดโปง โจมตีคนอื่นพร้อมๆกับสนับสนุนเรียกร้องให้อำนาจรัฐประหารจัดการกับคนอื่น ย่อมไม่ใช่การใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่เป็นการสนับสนุนการทำลายเสรีภาพดังกล่าวโดยตรง ทำให้คุณเองหรือใครๆก็ไม่มีเสรีภาพวิจารณ์ ตรวจสอบอำนาจที่คุณเรียกร้องให้จัดการกับคนอื่นได้ เท่ากับคุณกำลังสนับสนุนการดำรงอยู่ของอำนาจที่ทำลายหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน พูดง่ายๆคือ กำลังสร้างบรรทัดฐานที่มุ่งตรวจสอบเอาผิดคนอื่นฝ่ายเดียว ไม่ว่าจะมองด้วยหลักการศาสนา หลักการทางการเมืองที่มีความเป็นอารยะ การกระทำดังกล่าวย่อมไม่มีความถูกต้องชอบธรรม

ตรวจสอบเสมอหน้า แยกศาสนาจากรัฐ

นายวิจักขณ์ พานิช นักวิชาการอิสระด้านปรัชญาศาสนา ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจในเว็บไซต์ประชาไทว่า จริงๆเรื่องคดีฟอกเงินรับของโจรนี่น่าสนใจ ถ้าตั้งสติดีๆและมองว่าเป็นปัญหาร่วมในวงการสงฆ์มานมนาน ทุกวัดมีปัญหาหมด จะทำอย่างไรให้เงินที่ไหลเวียนเข้าออกวัดตรวจสอบได้และโปร่งใสมากกว่านี้ เงินบริจาคเกินเท่าไรต้อง declare ที่มา วัดต้องมีรูปแบบองค์กรอย่างไร บริหารจัดการอย่างไร สัมพันธ์กับรัฐอย่างไร แหล่งรวมศรัทธาจึงจะไม่กลายเป็นมุมมืดที่ง่ายต่อการทุจริตคอร์รัปชัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับธรรมกายสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของสถาบันสงฆ์ทั้งหมด ตอนนี้ปัญหามีอยู่ในทุกวัด ขึ้นอยู่กับว่าใครจะถูกเล่นเท่านั้น ใครจะขึ้นมามีอำนาจ ใครจะอยู่เป็นและประสานประโยชน์กับผู้มีอำนาจได้ การเมืองที่ครอบงำศาสนาพุทธแบบนี้ ทำให้การอ้างเรื่อง “ความถูกต้องทางศาสนา” มีลักษณะสองมาตรฐานอยู่ตลอดเวลา บอกว่าธรรมกายทำผิดกฎหมาย แล้วพุทธะอิสระทำไมทำอะไรก็ไม่ผิด? แล้วพระในองค์กรคณะสงฆ์ล่ะ ทำไม DSI ไม่จัดการบ้าง? ทำไมทรัพย์สินและที่ดินของสำนักอื่นถึงไม่ถูกตรวจสอบบ้าง?

ถ้ามองเห็นว่าปัญหาของศาสนาพุทธไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างแล้วมีความจริงใจในการแก้ปัญหาก็ควรมองไปที่การแก้ไขอย่างเป็นมาตรฐานเดียวกับทุกวัด ทุกสำนัก ทุกองค์กรทางศาสนา ไม่ใช่แค่ป้ายความเป็นปิศาจให้หนึ่งสำนัก กำจัดมันให้ได้แล้วตัวเองก็ดูบริสุทธิ์ขึ้นมาทันที

สำคัญคือการตระหนักว่าปัญหาเกิดขึ้นจากการที่รัฐเข้ามาก้าวก่ายเรื่องศาสนาและใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือของรัฐ การแยกศาสนาออกจากรัฐจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ในระยะยาวให้แต่ละศาสนา แต่ละความเชื่อ แต่ละสำนักได้ดูแลจัดการกันเองบนพื้นฐานของความแตกต่าง ส่วนรัฐก็มีระยะห่างและสร้างมาตรฐานเดียวในการสัมพันธ์กับทุกองค์กรทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการสนับสนุนเสรีภาพในการนับถือศาสนา ปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือการตรวจสอบทางการเงิน

“การส่งเสริมบรรยากาศของการเคารพกันและกันทั้งทางศาสนาและทางการเมืองน่าจะดีกว่าแนวทางที่รัฐเผด็จการปฏิบัติต่อประชาชนอยู่ในเวลานี้นะครับ”

ม.44 ยิ่งใช้ยิ่งขัดแย้ง

กรณีพระธัมมชโยจะถูกหรือผิดเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม แต่การใช้มาตรา 44 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษก็ยิ่งทำให้วัดพระธรรมกายเป็นข่าวไปทั่วโลก เพราะวัดพระธรรมกายมีสาขาในหลายประเทศและมีผู้ศรัทธานับล้านคน รวมถึงชาวต่างชาติอีกนับไม่ถ้วนที่จับตามายังรัฐบาลไทยว่ากำลังปฏิบัติการอะไรกับพระรูปเดียวด้วยกองกำลังที่เสมือนออกไปทำสงครามกับผู้ก่อการร้าย จนเป็นข่าวที่มีผู้คนออกมาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างและสร้างความร้าวฉานขัดแย้งทั้งในวงการเมืองและศาสนา หรืออาจจะลุกลามบานปลายจนสะเทือนไปทั้งแผ่นดิน

ข่าวใหญ่อย่างการปิดล้อมวัดพระธรรมกายเพื่อจับพระ 1 รูป จนกำลังจะกลายเป็นการจับพระสึกยกวัด เพราะขัดคำสั่งที่เรียกพระออกไปรายงานตัวนอกวัดแล้วไม่ไป ทำให้เรื่องอื่นๆ รวมถึงข่าว 7 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่พบข้อมูลว่า “โดดร่มล่องหน” ไม่เข้าประชุมบ่อยครั้งจนอาจขาดความเป็นสมาชิกภาพจึงถูกลืม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ แม้ สนช. จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจริยธรรมหลังจากนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือให้ สนช. ตรวจสอบจริยธรรม 7 สนช. และยังยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ที่ยอมรับการลาดังกล่าว ซึ่งเห็นว่าเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

นายพรเพชรกล่าวว่า ได้อนุมัติไปตามหลักการและข้อบังคับทุกประการ ไม่ได้ละเลยหรืออนุมัติให้โดยง่ายและไม่ได้อนุมัติใบลาย้อนหลัง ทั้งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าตระหนักดี ส่วนตัวได้เจอ พล.อ.ปรีชามาประชุมบ่อย แต่ที่ปรากฏในข่าวเป็นช่วงที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมและหลายคนยังไม่เกษียณอายุราชการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลาลงมติ ไม่ใช่ขาดประชุม ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า สนช. ทั้ง 7 คนไม่ผิดจริยธรรม เนื่องจากลาอย่างถูกต้องตามระเบียบของสภา และการลายังไปปฏิบัติราชการซึ่งต้องสวมหมวกหลายใบ

ประเด็นการขาดการประชุมของ 7 สนช. คือการทุจริตเวลาทำงาน ซึ่งก็คือการคอร์รัปชันอย่างหนึ่งหรือไม่ เพราะเงินเดือนที่รับมาจากภาษีของประชาชน ถ้าไม่ลาออก สนช. ที่ได้รับการแต่งตั้งมาซึ่งเป็นตำแหน่งที่ทรงเกียรติ น่าภาคภูมิใจต่อวงศ์ตระกูล อย่างน้อยก็ต้องประกาศไม่รับเงินเดือนหรือคืนเงินที่รับไปก็จะได้ความสง่างามมากกว่าอ้างว่ายื่นใบลาถูกต้องตามระเบียบแล้ว

ยิ่งการที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติและประกาศจะทำให้การทุจริตคอร์รัปชันหมดไป แต่บางเรื่องกลับอ้างว่าไม่ใช่หน้าที่ เช่น ทุจริตการบินไทย หรือบางเรื่องเหมือนถูกแช่แข็ง อย่างคดีการจัดซื้อเรือเหาะ คดีจัดซื้อเครื่องมือตรวจสอบวัตถุระเบิด GT200 คดีทุจริตองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) หรือคดีเครือญาติของ “ทั่นผู้นำ” เอง รวมถึงปฏิบัติการต่างๆที่เกิดขึ้นภายใต้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์จากรัฐบาลทหารที่ไม่ได้มาจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงตอกย้ำอยู่กับเรื่องเดิมๆคือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เสมอภาค ไม่เป็นธรรม รวมถึงการเอากฎหมายพิเศษที่เขียนขึ้นมาใหม่มาบังคับใช้อยู่ข้างเดียว กล่าวคือ ตรวจสอบไม่ได้ และผู้ใช้กฎหมายนี้ก็ไม่ต้องรับผิดในทุกกรณี จึงทำให้เกิดความขัดแย้งทับซ้อนมากขึ้น ความหวัง ความฝันที่บ้านเมืองจะกลับสู่ความสงบสุขภายใต้กฎหมายที่เป็นธรรมและบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคจึงแทบมองไม่เห็น ยังไม่นับการคุยโม้โอ้อวดเรื่องศีลธรรม จริยธรรมที่ประกาศตนเหนือกว่าใคร ซึ่งล้วนแต่เป็นการ “ถ่มน้ำลายขึ้นฟ้า” ทั้งสิ้น

ที่แย่ที่สุดที่อาจทำให้ความแตกแยกมีมากขึ้นจนวันหนึ่งถึงจุดที่อะไรก็เอาไม่อยู่แน่ๆคือ การที่รัฐบาลทหารไม่เคยยอมรับความจริงว่ากองทัพเองและการทำรัฐประหารคือหนึ่งในความขัดแย้งสำคัญ ซึ่งกว่า 2 ปีที่ผ่านมาแม้จะใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ปัญหาหลายเรื่องได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาแบบ “ภาพลวงตา” ไม่ต่างอะไรกับการกวาดลูกระเบิดไปซุกไว้ใต้พรมเท่านั้น

ฤาจะมีวาระซ่อนเร้น?

กรณีการใช้มาตรา 44 ประกาศให้พื้นที่ในวัดพระธรรมกายเปลี่ยนจากเขตอภัยทานเป็นเขตสงครามอย่างตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม จะด้วยมีวาระซ่อนเร้นใดๆหรือไม่ก็ตาม ย่อมเกิดคำถามว่ารัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายอาณาจักรกำลังทำอะไรกับศาสนจักรมากกว่าต้องการเพียงแค่จับพระธัมมชโยรูปเดียวที่ถูกกล่าวหาว่าฟอกเงินหรือรับของโจรมาสู่กระบวนการตามกฎหมายจริงหรือไม่?

เหตุใดจึงต้องใช้กำลังครึ่งหมื่นประหนึ่งกำลังเข้าสู่ศึกสงคราม? ทำไมพระจึงเลือกที่จะไม่มอบตัวแล้วประกันตัวออกไปสู้คดี ทั้งที่เป็นคดีที่ไม่ได้ใหญ่โตอะไร หรือต่างฝ่ายต่างรู้ดีว่าอะไรมากกว่านั้นจะเกิดขึ้น? ทำไมพระต้องใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก ต้องการแค่ปิดพรางใบหน้าหรือกลัวติดเชื้อบางอย่างสู่กระแสเลือด? ทำไมต้องมีคำสั่งเรียกพระออกไปรายงานตัวนอกวัด ถ้าไม่ไปมีโทษถึงจำคุก 1 ปี ทั้งที่เพิ่งเข้าไปเจอพระเหล่านั้นแล้วในวัด?

สรุปแล้วพระธัมมชโยอยู่ไหน? ถ้าจับตัวได้แล้วจะจบแบบไหน? ถ้าจับไม่ได้แล้วจะจบอย่างไร? จะจบแค่จับพระธัมมชโย หรือจะจบด้วยการล้างบาง “ลัทธิธรรมกาย” อย่างที่ “ทั่นโฆษกไก่อู” เผลอแพลมออกมา.. เห็นว่าหนังเรื่องนี้โคตร “ดราม่า”.. ต้องดูกันยาวๆ..!!??


You must be logged in to post a comment Login