วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

แก้พ.ร.บ.สงฆ์?

On February 24, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การเผชิญหน้ากันระหว่างพระ ลูกศิษย์วัดพระธรรมกายกับเจ้าหน้าที่อาจยืดเยื้อต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง และหากไม่มีอะไรมาผสมโรงสถานการณ์ก็คงทรงๆต่อไปแบบนี้ไม่บานปลาย

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่สถานการณ์ยังอยู่ในช่วงชุลมุนกลับมีประเด็นที่อาจถูกนำไปขยายความจนเกิดการผสมโรงให้เรื่องบานปลายออกไปมากขึ้น

นั่นคือกรณีที่คณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอข้อแก้ไขพ.ร.บ.สงฆ์เพิ่มเติมอีก 2 มาตรา

เป็นสองมาตราที่เกี่ยวเรื่องการรับทรัพย์ นั่นคือ เมื่อพระสงฆ์มรณภาพทรัพย์มรดกทั้งหมดต้องตกเป็นของแผ่นดินหรือของวัดไม่ใช่ญาติ และห้ามรับปัจจัยจากญาติโยมที่มีมูลค่ามาก

แม้ร่างกฎหมายจะยังไม่ได้ถูกเสนอเข้าสู่สารบบอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการศึกษาเรื่องนี้กันอยู่ โดยอยู่ในขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องคือพระสงฆ์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และรัฐบาล

ในจำนวนกลุ่มที่เปิดรับฟังความเห็นจากรัฐบาลน่าจะมีน้ำหนักมากที่สุดว่าจะตีธงเรื่องนี้ไปในทิศทางใด เหมือนกับกรณีที่แก้พ.ร.บ.สงฆ์เกี่ยวกับการพิจารณาแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชก่อนหน้านี้ ไม่ว่ารัฐบาลจะตีธงไปทางไหน สนช.พร้อมตอบสนองอยู่แล้ว

แม้จะมีคำยืนยันว่าการเตรียมเสนอแก้พ.ร.บ.สงฆ์เกี่ยวกับการรับทรัพย์สินจะไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาวัดพระธรรมกายที่กำลังมีเรื่องกันอยู่ แต่คงทำให้หลายฝ่ายอดนำไปผูกโยงไม่ได้ เพราะรู้กันดีว่าฝ่ายที่เคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขนั้นล้วนแสดงตนเป็นฝ่ายตรงข้ามวัดพระธรรมกายแทบทั้งสิ้น

จะเรียกว่าเป็นดาบสองในแผนที่จะแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จเพื่อไม่ให้ต่อไปในภายภาคหน้าเกิดวัดใหญ่ๆ มีทรัพย์สินมากๆ มีลูกศิษย์จำนวนมาก มีอิทธิพลทางความคิดต่อคนมากๆ อย่างวัดพระธรรมกายเกิดขึ้นอีก

เมื่อประกาศเป้าหมายชัดเจนว่าแล้วว่าจะทำวัดพระธรรมกายให้เหมือนวัดทั่วไป เมื่อกำราบวัดพระธรรมกายสำเร็จก็ต้องตีกรอบไม่ให้เกิดวัดแบบธรรมกายขึ้นมาอีกในอนาคต

นอกจากแนวคิดแก้พ.ร.บ.สงฆ์เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์มรดกและการรับบริจาคแล้ว ยังมีแนวคิดที่จะแก้ไขให้มีข้อบังคับควบคุมพระที่ประพฤติเสื่อมเสีย ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และเรื่องเกี่ยวกับการจัดการศาสนสมบัติ

แนวทางแก้ไขทั้งหมดถือว่ามีผลกระทบต่อพระภิกษุ และวัดทั่วประเทศ

หากพิจารณาตามแนวทางที่ต้องการแก้ไขก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะสังคายนาวงการสงฆ์ใหม่ เพื่อให้เหลือแต่พระสงฆ์ที่บวชเพื่ออุทิศตนให้พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ไม่ใช่หนีคดีมาบวช บวชเพื่อหารายได้ไปทำทุน บวชเพื่อส่งรายได้ให้ทางบ้าน หรือไม่รู้จะทำมาหากินอะไรก็มาบวชแล้วนั่งๆนอนๆไม่ได้ทำอะไรเพื่อเชิดชูหรือสืบสานให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ต่อไป

แต่การหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพูดในระหว่างที่มีการเผชิญหน้าระหว่างพระสงฆ์จำนวนหนึ่ง พุทธศาสนิกชนจำนวนหนึ่งกับเจ้าหน้าที่ที่ยังตรึงเครียดอยู่ที่วัดพระธรรมกายก็ดูจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมเท่าไหร่นัก

ที่สำคัญเมื่อเป็นกฎหมายแล้วก็ต้องบังคับใช้กับพระสงฆ์ทุกรูป วัดทุกวัดเหมือนกันหมดทั่วประเทศ ไม่ใช่บังคับใช้แบบสองมาตรฐานเหมือนที่มีคนพูดกันอยู่ในตอนนี้ เพราะไม่ว่ากฎหมายจะออกมาดีอย่างไร หากไม่บังคับใช้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ก็หนีไม่พ้นความความขัดแย้งอยู่ดี เพียงแต่ความขัดแย้งนั้นจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้า มากหรือน้อยเท่านั้นเอง


You must be logged in to post a comment Login