วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

กลัวตกขบวน

On February 23, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

สถานการณ์บ้านเมืองมีเรื่องให้ต้องตามติดกันอยู่หลายเรื่อง

ที่ดูเหมือนจะเป็นไฮไลท์เกิดความขัดแย้งก็ดูเบาบางลงไปพอสมควร เพราะรัฐบาลสามารถแกะปมที่อาจก่อปัญหาไปได้ทีละเปลาะทีละข้อ

เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ หลังมีการรวมตัวชุมนุมของผู้คัดค้านมีการเจรจาก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะซื้อเวลาออกไปได้ และประเด็นนี้อาจไม่ก่อปัญหาอะไรให้กับรัฐบาลจนกว่าจะพ้นจากอำนาจ

ส่วนเรื่องวัดพระธรรมกายก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะถือไพ่อยู่ในมือเหนือกว่าฝ่ายวัดอยู่หลายขุม เพราะสามารถกางกฎหมายจิ้มเลือกที่มีประโยชน์ต่อปฏิบัติการมาใช้ได้อีกหลายฉบับหลายมาตรา ทั้งกฎหมายปรกติ กฎหมายพิเศษ ฝ่ายวัด พระ ลูกศิษย์ต้องเป็นฝ่ายตั้งรับและก็คงพ่ายแพ้ไปในที่สุด

แต่ประเด็นที่ต้องติดตาม และมีประเด็นให้พูดถึงกันอย่างต่อเนื่องคือเรื่องการสร้างความปรองดองที่คนรับหน้าเสื่อจัดเวทีรับฟังความเห็นจากฝ่ายการเมืองอย่าง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก คุยว่าสำเร็จไปกว่าครึ่งทางแล้ว

น่าสนใจว่าความสำเร็จที่ว่านั้นเป็นความสำเร็จในระดับไหน อย่างไร

เมื่อฝ่ายการเมืองทุ่มความสนใจไปที่การเจรจาเพื่อสร้างความปรองดอง การเคลื่อนไหวด้านอื่นจึงขาดแรงหนุนจากฝ่ายการเมือง ทำให้ขาดพลัง ดังนั้นแนวรบด้านอื่นจึงจะไม่ก่อให้เกิดปัญหากับรัฐบาล

นับเป็นความชาญฉลาดที่เลือกเดินหมากปรองดองในตอนนี้

แม้แต่พรรคการเมืองที่ถูกมองว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลทหารคสช.อย่างพรรคเพื่อไทยยังทุ่มความสนใจไปที่การเข้าร่วมวงคุยปรองดอง โดยจะส่งตัวแทนระดับบิ๊ก 9 คน เข้าพูดคุย

ชื่อตัวแทนที่เปิดเผยออกมา เช่น พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค นายปลอดประสพ สุรัสวดี รักษาการรองหัวหน้าพรรค นายโภคิน พลกุล นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค และ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานฝ่ายกฎหมายพรรค

ที่สำคัญไม่ปิดโอกาสที่จะส่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและแกนนำพรรค เป็นตัวแทนหารือวงปรองดอง

แม้จะขัดใจสาวกกองเชียร์อยู่บ้าง แต่ท่าทีของพรรคเพื่อไทยก็ชัดเจนว่าไม่อยากตกขบวนปรองดอง

ประเด็นปัญหาจากนี้คือข้อเสนอที่พรรคเพื่อไทยจะนำไปวางบนโต๊ะคุยปรองดองทั้งทางเปิดและทางปิดนั้นจะมีอะไรบ้าง

จะเป็นข้อเสนอที่บรรดาสาวกกองเชียร์รับได้หรือไม่

การตัดสินใจเข้าร่วมโต๊ะถกปรองดองครั้งนี้ถือว่าเป็นความเสี่ยง และจะเสี่ยงมากขึ้นหากสุดท้ายแล้วในวงปรองดองปรากฏชื่อของน.ส.ยิ่งลักษณ์

แค่ปรากฏชื่อของ นายจาตุรนต์ นายปลอดประสพ หรือแม้แต่ นายภูมิธรรม ก็ถือได้ว่าพรรคเพื่อไทยยอมเสี่ยงที่จะหันผิดใจกับมวลชนที่สนับสนุน โดยเฉพาะมวลชนที่ยึดมั่นในหลักการมากกว่าตัวบุคคลของพรรค

การเข้าร่วมวงปรองดองจึงเป็นเดิมพันครั้งสำคัญของพรรคเพื่อไทย เพราะเมื่อเข้าร่วมแล้วต้องเสนอในสิ่งที่ตัวเองต้องการ และเมื่อเอ่ยปากข้อเสนอออกไปแล้วข้อเสนอนั้นจะเป็นบ่วงผูกมัดพรรค หากเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์เฉพาะบุคคล ข้อเสนอนั้นจะกลายเป็นไพ่อีกใบที่ส่งให้อีกฝ่ายกำไว้ในมือที่จะหงายออกมาน็อกเมื่อไหร่ก็ได้


You must be logged in to post a comment Login