วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ปรองดอง-อนาคต‘ปู’

On February 13, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีคำตัดสินของศาลปกครองกลางเกี่ยวกับเรื่องชดใช้ค่าเสียหายอันเกี่ยวเนื่องมาจากโครงการจำนำข้าวที่น่าสนใจ

น่าสนใจเพราะศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องที่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกรวม 5 คน ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและพวกรวม 4 คน ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากโครงการรับจำนำข้าวและโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี

คำสั่งที่ออกมาถือว่าผิดคาดอยู่พอสมควร เพราะแม้แต่ฝ่ายที่ต้องการให้เรียกค่าเสียหายโครงการจำนำข้าวยังคาดการณ์ว่าศาลฯน่าจะออกคำสั่งทุเลาการชดใช้ก่อนที่จะมีคำตัดสิน

เมื่อศาลยกคำร้องการชดใช้ หรือยึดทรัพย์เพื่อชดใช้ ต้องเริ่มต้นขึ้นทันที อย่างไรก็ตาม นายบุญทรงและพวกยังสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุดได้

กรณีของนายบุญทรงถูกเรียกใช้ชดใช้สินไหมทดแทน 1,770 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ร่วมชะตากรรมเดียวกับนายบุญทรงก็มี นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ถูกเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2,300 ล้านบาท พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้า ต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และ นายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ คนละ 4,000 ล้านบาท

เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งออกมาอย่างนี้คนที่ลุ้นระทึกคงไม่พ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกคำสั่งทางปกครองให้ชดใช้ค่าเสียหายจากโครงการจำนำข้าว 35,000 ล้านบาท ซึ่งได้ฟ้องเป็นคดีให้ทุเลาคำสั่งก่อนพิพากษาต่อศาลปกครองกลางไว้เช่นเดียวกัน ซึ่งได้ทำการไต่สวนไปแล้วเมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา แต่ยังไม่นัดอ่านคำตัดสิน เพราะอยู่ระหว่างให้สองฝ่ายทำคำชี้แจงเพิ่มเติม

ข้ามมาที่เรื่องการสร้างความปรองดองหลังจากที่กดปุ่มเปิดป้ายรายชื่อคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการกันไปแล้ว จากที่มีข่าวว่าจะเริ่มคิกออฟการพูดคุยในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นี้ น่าจะไม่สามารถทำได้ เพราะต้องรอการตอบรับจากพรรคการเมืองก่อน ซึ่งขณะนี้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านรับฟังความคิดเห็น คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ได้ร่อนเทียบเชิญออกไปแล้ว

ส่วนเวลาในการนั่งคุยกันไม่ได้กำหนดจะให้ตัวแทนพรรคการเมืองพูดเท่าที่อยากพูด แต่ต้องพูดใน 10 หัวข้อหลักกับ 1 หัวข้อแถมที่กำหนดเอาไว้เท่านั้น

สำหรับหลักการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.วางเอาไว้คือไม่รับข้อเสนอที่สุดโต่ง ทุกข้อเสนอต้องอยู่ใต้กรอบกฎหมาย ส่วนปลายทางของการสร้างความปรองดองครั้งนี้คงไม่มีการลงสัตยาบันเหมือนที่พูดไว้แต่แรก

เท่าที่จับทิศทางได้คือเอาเรื่องที่พูดคุยกันมาใช้เป็นสัญญาประชาคม ใครละเมิดสิ่งที่พูดคุยกันไว้ให้ประชาชนตัดสินเอง

ดูๆแล้วบทสรุปของการสร้างความปรองดองคงไม่พ้นการเคารพกฎหมาย อยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน ไม่ละเมิดกฎหมาย

การสร้างความปรองดองที่เริ่มต้นกันอย่างอึกทึก ตั้งคณะกรรมการทำงานกันใหญ่โตน่าจะเข้าตำรา “ท่าดีทีเหลว” เหมือนละครน้ำเน่าที่ดูฉากเปิดตัวก็เดาตอนจบได้ไม่ยาก


You must be logged in to post a comment Login