วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เลิกคุยปรองดอง

On February 9, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การสร้างความปรองดองในชาติรอบใหม่ที่รัฐบาลเบิ้ลเครื่องออกตัวแรง แต่ทำไปทำมาเข้าตำรา “ดังแต่ท่อ ล้อไม่หมุน”

หลังออกแขกมากันพักใหญ่ เพิ่งได้ฤกษ์แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณากลั่นกรองเรื่องเสนอคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความปรองดอง หรือ ป.ย.ป.

ป.ย.ป. มีคณะกรรมการแยกส่วนทำงาน 4 ชุด ถ้าโฟกัสไปเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความปรองดองมีชื่อเรียกขานว่า “คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง”

คณะกรรมการชุดนี้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั่งเป็นประธาน มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นรองประธาน

ในส่วนของกรรมการประกอบด้วยประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ รัฐมนตรีจากหลายกระทรวง ผู้บัญชาการเหล่าทัพที่มากันครบทั้งทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศ ตำรวจ นอกจากนี้ก็มีบรรดาหัวหน้าส่วนราชการต่างๆอีกหลายหน่วยงาน

จะเห็นได้ว่าผู้ที่มาทำงานสร้างความปรองดองมีแต่ข้าราชการ คนในกองทัพ คนในรัฐบาล และคนใน คสช. ส่วนคนนอกที่หลุดเข้าไม่กี่คนก็ล้วนแค่เคยมีประสบการณ์ทำงานปรองดองมาแล้ว และมีแนวทางของตัวเองชัดเจน

คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองมีกำหนดประชุมร่วมกันนัดแรกในวันนี้ (9 ก.พ.)

สำหรับกรอบเวลาการทำงานนั้น กำหนดเอาไว้เบื้องต้น 3 เดือน

ส่วนแนวทางการทำงานจะมีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 4 คณะ ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็น บูรณาการ จัดทำข้อตกลง และการประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่จัดเวทีรับฟังข้อคิดเห็น เพื่อนำความเห็นจากส่วนต่างๆมาสรุปเพื่อทำเป็นข้อตกลงร่วมกัน

วิธีการรับฟังความคิดเห็นคือให้กองทัพ ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ รวมถึงนำผลการศึกษาแนวทางปรองดองที่ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และ นายคณิต ณ นคร อดีตประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้ศึกษาไว้มาผสมผสานร่วมกันว่าจะอยู่กันอย่างสันติในอนาคตอย่างไร

เห็นแนววิธีการและแนวทางการทำงานแล้วรู้สึกคุ้นๆกันหรือไม่

เป็นแนวทางที่ทำงานมาต่อเนื่องหลายครั้งเป็นแนวทางซ้ำๆเดิมๆ เหมือนเป็นการพายเรือในอ่างที่วนไปวนมาหาทางออกไม่เจอ

คนที่มีประสบการณ์ทำงานเรื่องนี้อย่าง น.พ.ประเวศ แนะนำว่าหากอยากสร้างความปรองดอง อย่าคุยเรื่องความปรองดอง หรือพูดคุยกันเรื่องความขัดแย้งในอดีต เพราะจะไม่สำเร็จหากจะทำเรื่องปรองดองที่ถือว่าเป็นเรื่องยากให้ได้นั้น ต้องคุยเรื่องอนาคตที่เป็นเรื่องดี และต้องไม่มีการหาจำเลย

หลักการที่ น.พ.ประเวศ เสนอ คือวางอดีตไว้ข้างหลังเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ เวทีพูดคุยควรพูดกันแต่เรื่องความร่วมมือกันสร้างสิ่งดีๆในอนาคต

แนวทางนี้คือการละลายพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง เพราะถ้าพูดคุยกันเรื่องความร่วมไม้ร่วมมือสร้างสิ่งดีๆให้ชาติ ร่วมกันทำกิจกรรมหรือทำงานเพื่ออนาคตที่ร่วมกันวาดฝันไว้ความขัดแย้งจะสลายไปเอง

“ได้หน้า ลืมหลัง” คือหนทางสร้างความปรองดองที่ผู้มีประสบการณ์ชี้แนะ ส่วนจะเวิร์คหรือไม่คงต้องลองดู


You must be logged in to post a comment Login