วันพฤหัสที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

3ภาพที่ถูกลักขโมย / โดย ทีมข่าวการเมือง

On February 7, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

กรณีนายสุภัฒ สงวนดีกุล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ขโมยภาพ 3 ภาพจากโรงแรมที่พักที่ญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา เป็นข่าวดังไปทั่วทั้งไทยและญี่ปุ่น การช่วยเหลือของทางการไทยไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ ทำให้พนักงานอัยการนครโตเกียวยอมยุติคดีและปล่อยตัว โดยถือว่าเป็นคดีเล็กน้อยที่ไม่ได้วางแผนไตร่ตรองไว้ก่อนและไม่ได้สร้างความเสียหายแก่ผู้อื่น ขณะที่ทางโรงแรมก็ยอมรับการจ่ายเงินค่าเสียหาย

ล่าสุดนายสุภัฒได้ส่งจดหมายถึงสื่อขอโทษประชาชนชาวไทย ข้าราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญาและกระทรวงพาณิชย์ และประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดยอ้างว่าในวันเกิดเหตุได้สังสรรค์กับเพื่อนที่ญี่ปุ่นจนเมาและขาดสติ และน้อมรับการดำเนินการทางวินัย ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงพาณิชย์ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเข้าข่ายความผิดวินัยร้ายแรงจริง จึงตั้งคณะกรรมการสอบวินัยโดยมีผู้แทนกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วยผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงพาณิชย์ โดยโทษความผิดวินัยร้ายแรงมี 2 อย่างคือ ปลดออกกับไล่ออก

ระบบอุปถัมภ์-อภิสิทธิ์ชน

กรณีของนายสุภัฒเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในสังคมออนไลน์ว่าสะท้อนชัดเจนถึงระบบอุปถัมภ์และอภิสิทธิ์ชนในระบบราชการไทย ซึ่งประชาชนทั่วไปไม่มีทางที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลและส่วนราชการอย่างเท่าเทียมกัน อีกทั้งรัฐมนตรีบางคนยังพยายามบิดเบือนทำให้สังคมเห็นใจว่าเป็นคนดี คนเก่ง หรือพยายามชี้ว่าเป็นลักษณะโรคจิตเภท

เมื่อเปรียบเทียบกับกรณี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจญี่ปุ่นดำเนินการจับกุมในข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองและถูกควบคุมตัวหลายวันก่อนที่อัยการนครโตเกียวจะไม่สั่งฟ้องนั้น แทบไม่มีข่าวว่าได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหมือนกรณีนายสุภัฒเลย ทั้งยังมีกลุ่มการเมืองและสื่อเลือกข้างพยายามให้ลงโทษทางอาญาในไทยอีกด้วย เพียงเพราะ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ให้ความเคารพอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร

จากข่าวที่เกิดขึ้น นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนักวิเคราะห์วิจารณ์ข่าว กล่าวถึงนายสุภัฒที่ได้ฉายา “รองมือฉก” ว่าจุดประกายให้สังคมไทยยิ่งฉุกคิดถึงชนชั้นอภิสิทธิ์ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องขโมยภาพ แต่ยังสะท้อนถึงเรื่องสินบนและการทุจริตคอร์รัปชันต่างๆที่ไม่มีทางที่คนธรรมดาจะได้รับ

ปราบโกงแบบ คสช.

“ใบตองแห้ง” คอลัมนิสต์นักวิจารณ์ข่าว โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คว่า “พลิกฝาพามันส์” โดยระบุว่า ปลายปีที่ 3 ใกล้ขึ้นปีที่ 4 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ราบรื่น ยิ่งอยู่ยาวยิ่งเสียดทานไม่ต่างจากรัฐบาลนักการเมือง ต่อให้ปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์แค่ไหน ถ้ามองแต่ละกรณีจะเห็นในภาพรวมอย่างรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่อง “สถาบันข้าราชการ” ที่ยกตนดีนักหนา พอพลาดพลั้งสังคมก็เลยชี้หน้า แถมยังช่วยอุ้มช่วยเจรจาจนพ้นคดีอีก นี่คือคนกำลังเบื่อหน่ายระบอบอภิสิทธิ์ชน

สินบนโรลส์-รอยซ์ถ้าเป็นยุคยิ่งลักษณ์ก็ตายแน่ แล้วยังตกนรกซ้ำซาก ถ้าเกิดยุค คสช. หมาดๆก็ไม่เท่าไร แต่ก็ทำให้คนเริ่มมองเห็นแล้วว่าไม่ใช่แค่นักการเมืองหรอกที่โกง เพราะสินบนตอกย้ำว่ามีการจ่ายกันมาถึง 3 ยุคสมัย เริ่มต้นยุคใครถ้าไม่ใช่ยุคทหาร ทำให้กลับไปมองเรื่อง GT200 ซื้อรถถังยูเครน และซื้อเรือดำน้ำ ทั้งที่งบประมาณขาดดุลจนชาวบ้านเขาคัดค้านและถอยไปครั้งหนึ่ง แต่ก็กลับมาใหม่ เพราะมั่นใจในอำนาจ จะเอาให้ได้ ไม่เกรงใจใคร

แบบเดียวกับดัชนีโปร่งใสไม่ใช่แค่องค์กรเพื่อความโปร่งใสเอาเกณฑ์ประชาธิปไตยมาวัด แต่ยังมีดัชนี GI (Global Insight Country Risk Rating ประเมินปัจจัยเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่ต้องเกี่ยวกับคอร์รัปชัน การแทรกแซงของเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินธุรกิจ การให้สินบนและสิ่งตอบแทนสำหรับพิจารณาสัญญาและขอใบอนุญาต) ซึ่งปีนี้ใช้ของธนาคารโลกประเมินปัจจัยการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับสินบนคอร์รัปชันที่มาจากการสอบถามนักลงทุนเอง แปลว่าพอเข้าสู่ปีที่ 3 ความเชื่อว่า “ปราบโกง” “ไม่โกง” เริ่มตกต่ำ แถมเห็นกันชัดๆเจ้าสัวเข้าร่วมประชารัฐ ไม่ต่างตอบแทนเลยหรือไร

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้แจงถึงองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตปี 2016 ซึ่งไทยได้ 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ลดลง 3 คะแนน และได้ลำดับที่ 101 จาก 176 ประเทศว่า หนึ่งในข้อมูลที่ใช้วัดคือความหลากหลายของประชาธิปไตย การเลือกตั้ง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของทุกฝ่าย รวมถึงพฤติกรรมการคอร์รัปชันในระบบการเมืองในระดับฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ซึ่งทั้งหมดเป็นปัญหาของประเทศไทย เพราะอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร

ทำไมสอบไม่ผ่านปราบโกง?

สำนักข่าวบีบีซีไทยวิเคราะห์ “2 ปี 9 เดือนผ่าน ทำไมรัฐบาลยังสอบไม่ผ่านปราบโกง” ทั้งที่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คสช. ประกาศจะปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงที่ฝังรากลึกในประเทศให้สิ้นซาก แต่ผ่านมา 2 ปี 9 เดือน ภาพลักษณ์การทุจริตภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับตกต่ำลง จากดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index-CPI) ซึ่งไม่ต่างจากรัฐบาล คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) เมื่อปี 2550 ก็มีคะแนน CPI ไม่ได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญใดๆเลย

แม้แต่รัฐบาล คสช. ที่ออกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 การแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่รับสินบนมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต (มาตรา 123/2) และให้เอาผิดกับเอกชนที่จ่ายสินบนด้วย (มาตรา 123/5) การนำมาตรฐานป้องกันการทุจริตในระดับนานาชาติมาใช้กับโครงการของภาครัฐ ทั้งข้อตกลงคุณธรรม โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) และโครงการความโปร่งใสในอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรธรรมชาติ (EITI) การตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่อต้านปราบปรามการทุจริต การตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ปฏิรูปการทำงานของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพและความโปร่งใสมากขึ้น การยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้มีมาตรการป้องกันการทุจริตอย่างเข้มข้น หรือการใช้มาตรา 44 พักงานข้าราชการที่อยู่ระหว่างถูกสอบสวนว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริต

แต่ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จนั้น สิ่งที่หายไปคือ “กลไกตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล” จึงไม่น่าแปลกที่การวัดความหลากหลายด้านประชาธิปไตย การมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไทยจะได้เพียง 24 คะแนน น้อยกว่าเมียนมาถึง 1 เท่าตัว เพราะแม้แต่การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 รัฐบาล คสช. ยังจับกุมและดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญและไม่ให้ผู้แทนจากภายนอกเข้าไปสังเกตการณ์

บีบีซีไทยยังชี้ว่า การปราบโกงโดยภาครัฐฝ่ายเดียวไม่ได้ทำให้ดัชนีความโปร่งใสไทยดีขึ้น ตราบใดที่ภาครัฐไม่เปิดให้ฝ่ายต่างๆเข้ามาตรวจสอบและช่วยปราบโกงอย่างจริงจังและจริงใจ ซึ่งพูดกันมานานแล้วว่าปัญหาการคอร์รัปชันเป็นเรื่อง “เชิงโครงสร้าง” อย่างที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพิ่งผลักดันให้มีการแก้ไขระบบอุปถัมภ์ที่เป็นต้นธารของการทุจริตอย่างหนึ่ง การแก้ไขปัญหานี้จึงเป็นเรื่องที่ใหญ่โตมโหฬาร ต้องทำพร้อมกันทุกภาคส่วนและทั้งสังคม

เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ

ร่างรัฐธรรมนูญที่ คสช. และพวกพ้องยืนยันว่าเป็นฉบับปราบโกงที่ดีที่สุดและจะทำให้การเมืองไทยใสสะอาด แต่ก็สอดไส้อำนาจ ส.ว.แต่งตั้งจาก คสช. ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็ยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตย 99.99% แบบไทยๆ ไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบอย่างประชาคมโลก

จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. จะถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมายถึงเรื่อง “เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ” ที่เป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งเป็นคำขวัญการปฏิวัติประชาชนในฝรั่งเศสและเป็นคำขวัญประจำชาติของฝรั่งเศสจนทุกวันนี้

เสรีภาพ (Liberté) คือ การเน้นในเสรีภาพของบุคคลหรือปัจเจกชนนิยม ที่หมายถึงเสรีภาพในด้านความคิด ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาหาความรู้ การพิมพ์และเผยแพร่ข่าวสาร รวมทั้งเสรีภาพในทางการเมือง

เสมอภาค (Égalité) คือ ความเท่าเทียมกันตามกฎหมายที่อยู่บนหลักความเที่ยงธรรม ความเท่าเทียมในสิทธิและหน้าที่ เช่น การเสียภาษี การรับใช้ชาติในการเป็นทหาร และสิทธิการออกเสียงเลือกตั้ง

ภราดรภาพ (Fraternité) คือ ความเป็นพี่เป็นน้องกัน มนุษย์ทุกคนต้องมีความเท่าเทียมกันและปฏิบัติต่อกันดุจพี่น้อง ไม่แบ่งแยกด้วยผิวพรรณหรือเผ่าพันธุ์

ภาพการจับกุมกลุ่มที่เห็นต่างและการรณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตยภายใต้รัฐบาล คสช. กลายเป็นเรื่องปรกติและชินชาในสังคมไทย แม้แต่ยืนเฉยๆยังถูกจับ แสดงสัญลักษณ์เพื่อให้มีการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันด้วยการนั่งรถไฟก็ถูกดำเนินคดีและถูกลงโทษจำคุก ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดแดกดันถึงพวกที่เรียกร้องแต่เรื่องปรองดอง ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ว่าเป็นพวกที่ยังมีความคิดดักดาน

เช่นเดียวกับ สปท. เสนอร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หรือกฎหมายควบคุมสื่อและจัดตั้งสภาวิชาชีพนั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็พูดชัดเจนว่าจำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานวิชาชีพทุกอาชีพในประเทศไทย ไม่ใช่ใครทำอะไรก็ได้ทั้งหมด ซึ่งต้องดูว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ในองค์กรสื่อเองก็ควบคุมกันไม่ได้มากนัก จึงต้องควบคุมเพื่อให้มีจรรยาบรรณ คือการสื่อสารให้ประชาชนมีโอกาสที่จะเลือกรับฟัง ติดตาม และเชื่อถือในข้อมูลที่สมดุลกันทั้ง 2 ทาง ไม่ใช่เอียงข้างใดข้างหนึ่งตลอดเวลาอยู่แบบนี้ทำไม่ได้ ทำให้ประเทศชาติเกิดความสับสนวุ่นวาย ประชาชนขัดแย้งกัน รัฐบาล ข้าราชการก็ทำงานไม่ได้ นั่นคือปัญหาที่ สปท. เสนอมา ซึ่งการปฏิรูปสื่ออยู่ใน 11 วาระการปฏิรูปของ คสช.

ขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยืนยันว่า หลักการร่างรัฐธรรมนูญให้สื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพดีกว่าอาชีพอื่น และวางกลไกให้สื่อกำกับการทำหน้าที่กันเอง เพราะสื่อมวลชนถือเป็นอาชีพพิเศษ การออกกฎหมายจึงต้องยึดโยงรัฐธรรมนูญ หากขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ถือว่ากฎหมายใช้ไม่ได้

เรื่องกฎหมายควบคุมสื่อสะท้อนให้เห็นถึงความคิดของ พล.อ.ประยุทธ์และบรรดาคนดีลากตั้งได้อย่างดีว่า ให้ความสำคัญกับระบอบประชาธิปไตยที่มาจากประชาชนและเป็นของประชาชนหรือไม่ อย่างไร

สังคมไทยจึงไม่ควรคาดหวังเรื่องเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ จากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นทางการเมืองหรือกระบวนการยุติธรรม ตราบใดที่ประเทศไทยยังอยู่ภายใต้ “ระบอบพิสดาร” ที่บังคับให้รัฐบาลเลือกตั้งในอนาคตต้องทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่มาจากคนไม่กี่คนไม่กี่กลุ่มที่เพ้อฝันว่าจะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และเป็นประเทศมหาอำนาจได้ จากระบอบประชาธิปไตยภายใต้กระบอกปืน รถถัง เครื่องบินรบ เรือเหาะ เรือดำน้ำ ฯลฯ

ขณะที่กว่า 2 ปีของการยึดอำนาจซึ่งรัฐบาล คสช. มีอำนาจล้นฟ้า แต่กลับล้มเหลวสิ้นเชิงในการสร้างความปรองดอง ซึ่งเป็นข้ออ้างสำคัญในการรัฐประหารยึดอำนาจ อีกทั้งยังล้มเหลวในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่เริ่มเด่นชัดว่าไม่สามารถทำได้อย่างที่พูด จนเริ่มมีการออกตัวแล้วว่าไม่เชี่ยวชาญด้านบริหารเศรษฐกิจ

การลักขโมยภาพที่ญี่ปุ่นของท่าน “รองมือฉก” ไม่ใช่โทษร้ายแรง เช่นเดียวกับการรัฐประหารในประเทศไทยก็ไม่ใช่โทษร้ายแรงอะไร?

3 ภาพที่ถูกลักขโมยจากญี่ปุ่นอาจจบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง เจ๊าๆกันไปในระบบอุปถัมภ์แบบไทยๆ แต่ 3 ภาพคือ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ที่ถูกลักขโมยไปจากแผ่นดินไทยอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยังคงเป็นมหากาพย์ไม่จบลงง่ายๆ!!??


You must be logged in to post a comment Login