วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เงินคงคลัง?

On February 7, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

คำถามประมาณว่าหน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้ องค์กรนั้น องค์กรนี้มีเอาไว้ทำไม กำลังฮิตติดปากประชาชนทั่วไป ทำนองว่าเมื่อเห็นความไม่ถูกต้องชอบธรรม ความไม่เป็นธรรม การปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง หรือละเว้นการทำหน้าที่ ก็ตั้งคำถามกับหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ว่า “มีไว้ทำไม?” เมื่อมีแล้วไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง

ส่วนที่จั่วหัวเอาไว้ว่า “เงินคงคลัง..มีไว้ทำไม?” นั่นไม่เกี่ยวอะไรกับความไม่เป็นธรรม ความไม่ถูกต้อง แต่เป็นการตั้งคำถามเพื่อให้ประชาชนฉุกคิดในยามที่สถานะเงินคงคลังในปัจจุบันลดลงเป็นอย่างมาก ลดลงอย่างน่าใจหาย และลดลงอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่รัฐบาลทหาร คสช.เข้ามาบริหารประเทศ

ทั้งนี้มีข้อมูลว่ายอดเงินคงคลัง ณ ธันวาคม 2559 เหลืออยู่ทั้งสิ้น 74,907 ล้านบาท จากที่เคยมีอยู่ ณ กันยายน 2557 ทั้งสิ้น 495,747 ล้านบาท

รัฐบาลทหารคสช.บริหารประเทศมาเกือบครบ 3 ปี เงินคงคลังลดลงไป420,840 ล้านบาท

นั่นหมายความว่ารัฐบาลนี้ใช้ไปมากกว่าหาได้

มีคำชี้แจงจาก นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง โดยยืนยันว่าจำนวนเงินคงคลังที่เหลืออยู่นี้มีความเหมาะสม พร้อมระบุว่าไม่จำเป็นต้องกู้เงินมาเติมเอาไว้ให้เสียดอกเบี้ย

มีการระบุว่าตัวเลขเงินคงคลังที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 50,000-100,000 ล้านบาท การที่รัฐบาลนี้บริหารประเทศจนเงินคงคลังเหลือ 74,907 ล้านบาท ไม่ถือว่าต่ำจนเกินไป หากมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายฉุกเฉินมีกรอบให้กู้เงินมาเติมได้ 80,000 ล้านบาท

คำชี้แจงที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคือ การที่ตัวเลขเงินคงคลังช่วงต้นปีงบประมาณเหลือน้อยเป็นเรื่องปรกติ เนื่องจากภาษียังไม่เข้ามา ยิ่งปี 2559 ต่ำกว่าทุกปี เพราะกระทรวงการคลังเปลี่ยนระบบวิธีการบริหารจัดการเงินคงคลังใหม่ และเร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อนำไปใช้ในโครงการต่างๆ

น่าสนใจคือเงินภาษีที่เก็บได้ในปี 2559 ที่ผ่านมาต่ำกว่าทุกปีบ่งบอกถึงอะไร หากไม่บ่งบอกถึงสภาพเศรษฐกิจในช่วงปีที่ผ่านมา

หากใครติดตามการทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีตั้งแต่รัฐบาลทหาร คสช.เข้ามาบริหารประเทศจะเห็นว่าระหว่างเดือนกันยายน 2557 ถึง ธันวาคม 2559 รัฐบาลทหาร คสช. ได้กู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณมาแล้วถึง 744,187 ล้านบาท

ย้อนไปก่อนหน้านี้หลายปีประเทศไทยเคยมั่งคั่งมียอดเงินคงคลังกองอยู่จำนวนมากจนสมัยหนึ่งรัฐบาลต้องการแก้กฎหมายเพื่อนำเงินคงคลังจำนวนมากนี้ไปตั้งกองทุนเพื่อหารายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่งเพราะเห็นว่าการเอาเงินไปกองไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทยโดยฝากเป็นบัญชีประเภทกระแสรายวันนั้นไม่ได้รับดอกเบี้ย

จากวันนั้นที่คิดจะเอาเงินคงคลังไปลงทุนเพื่อหารายได้เพิ่มเติมเข้าประเทศ มาวันนี้เงินคงคลังลดลงอย่างน่าใจหาย ดีไม่ดีอาจต้องกู้มาสำรองเอาไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉินอีกด้วย

ที่นี้มาย้อนดูคำถามที่ตั้งไว้ว่า “เงินคงคลัง..มีไว้ทำไม?”

ตำราเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นอธิบายเอาไว้ให้เข้าใจง่ายๆว่า เงินคงคลังมีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ประเทศจะอยู่หรือล่มนั้นส่วนหนึ่งก็มีสาเหตุมาจากเงินคงคลัง

เงินคงคลังเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการสภาพคล่องของรัฐบาลนอกเหนือไปจากการกู้เงินทั้งด้วยการออกตั๋วเงินคลังและการออกพันธบัตรของรัฐบาล ทั้งนี้ แม้เงินคงคลังจะไม่ใช่กลไกด้านนโยบายหลักที่ขับเคลื่อนการใช้จ่ายของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่การมีเงินคงคลังในระดับที่เพียงพอ ย่อมสร้างเสริมความมั่นใจได้ว่ารัฐบาลยังมีเครื่องมือไว้ดูแลในกรณีที่มีเหตุการณ์จำเป็นเร่งด่วนให้ต้องใช้จ่ายเงิน อันรวมถึงความสามารถในการหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของหน่วยงานภาครัฐ

ยิ่งหากเงินคงคลังปรับเพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บรายได้ได้เพิ่มขึ้น ก็อาจสะท้อนได้ถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวในเกณฑ์ค่อนข้างดี ในทางตรงกันข้าม หากเงินคงคลังอยู่ในระดับต่ำ อาจก่อให้เกิดความกังวลว่ารัฐบาลจะประสบกับภาวะขาดสภาพคล่อง ซึ่งสะท้อนว่ารัฐบาลอาจไม่มีเงินเหลือเพียงพอสำหรับการเบิกใช้เงิน โดยเฉพาะหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น

ความสำคัญของเงินคงคลังก็มีด้วยประการฉะนี้…ส่วนจะสะท้อนอะไรบ้างนั้นคงไม่ต้องทวนซ้ำ


You must be logged in to post a comment Login