วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

วงเล็ก-ทางลับ

On February 6, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ก่อนไปว่ากันด้วยเรื่องทิศทางบ้านเมืองสัปดาห์นี้ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับ 3 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หน้าใหม่ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งตามคำกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้วประกอบด้วย 1.พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม 2.พล.อ.สสิน ทองภักดี เสนาธิการทหารบก 3.พล.ท.ธนเกียรติ ชอบชื่นชม ผู้อำนวยการศูนย์รักษาความปลอดภัยกองทัพบก

เห็นรายชื่อแล้วโนคอมเมนต์ว่าสอดคล้องหรือสวนทางกับคำพูดของบิ๊กๆในรัฐบาลเกี่ยวกับระบบอุปถัมภ์ในการแต่งตั้งโยกย้ายอย่างไรเพราะเชื่อว่าประชาชนคงมีคำตอบอยู่ในใจ

มาว่ากันที่เรื่องทิศทางการเมืองในสัปดาห์นี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการสร้างความปรองดองที่ถูกจุดพลุมาตั้งแต่ต้นปี และมีกรอบเวลาพูดคุยกันให้ได้น้ำได้เนื้อในเวลา 3 เดือน แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่เห็นหน้าคณะกรรมการที่จะมาเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้

การเสนอแต่งตั้งถูกเลื่อนมาเรื่อยๆ แต่เข้าใจว่าแม้จะยังไม่มีกรรมการมาทำงานด้านนี้โดยตรง แต่ในทางลับได้มีการพูดคุยกันมาโดยตลอด

ดังจะเห็นได้ว่าท่าทีของฝ่ายการเมือง กลุ่มการเมืองในช่วงหลังที่พูดถึงเรื่องการสร้างความปรองดองจะเป็นไปในทำนองเห็นดีเห็นงามตอบรับกับการดำเนินการของรัฐบาล

บางพรรค บางกลุ่มได้นำเสนอแนวทางสร้างความปรองดองต่อผู้เกี่ยวข้องไปแล้งทั้งเสนอในทางเปิดเผยต่อสาธารณะและเสนอในลักษณะใส่ซองปิดผนึกไปให้พิจารณา

เมื่อเอาข้อเสนอไปใส่ตะกร้าเขย่าจนตกผลึกในส่วนที่เห็นพ้องต้องกันแล้ว เชื่อว่าถึงตอนนั้นจะได้กฤษ์เปิดหน้าคณะกรรมการและการดำเนินการในทางเปิดเผยต่อประชาชนเพื่อให้ได้ภาพของความร่วมมือไม้ร่วมมือเห็นพ้องต้องกันทุกฝ่าย

ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อถึงเวลาทำงานเปิดเผยแล้วจะดำเนินการไปตามที่ตกลงกันไว้หลังเวทีได้ทั้งหมดหรือไม่ หากมีการเบี้ยวข้อตกลงเกิดขึ้นไม่ว่าฝ่ายใดภาพของความร่วมมือจะแปรเปลี่ยน

นี่จึงเป็นที่มาของความพยายามยื่นเงื่อนไขว่าเมื่อตกลงกันได้แล้วต้องทำเอ็มโอยูร่วมกัน โดยเฉพาะฝ่ายรัฐที่ต้องการให้มีการเซ็นเอ็มโอยูเพราะไม่มั่นใจท่าทีของฝ่ายการเมือง

ขณะที่ฝ่ายการเมืองก็ไม่มั่นใจในความต่อเนื่องของการดำเนินการตามข้อตกลง เพราะเป็นที่รู้กันว่าอายุของรัฐบาลทหารคสช.มีอีกไม่มาก เงื่อนไขสร้างความปรองดองหลายเรื่องมีหลายขั้นตอนต้องใช้เวลาดำเนินการ จึงไม่มั่นใจว่าจะเร่งทำข้อตกลงให้สำเร็จลุล่วงก่อนรัฐบาลทหารคสช.ลงจากอำนาจหรือไม่

หากทอดเวลาไปถึงรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเกรงว่าไม่อาจดำเนินการตามข้อตกลงต่อไปเพราะทั้งไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จที่ดำเนินการและทั้งเสี่ยงต่อการถูกนำไปเป็นประเด็นโจมตีกล่าวหากันทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีกรณีพักโทษ ลดโทษคดีความต่างๆ

ขณะนี้จึงมีความพยายามกดดันฝ่ายรัฐบาลทหารคสช.ให้ถ่ายทอดสดการประชุมเพื่อสร้างความปรองดองที่จะจัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนรับรู้จะได้ไม่มีใครกล้าบิดพลิ้วข้อตกลง

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการถ่ายทอดสดการประชุมไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะหากมีการถ่ายทอดสดโอกาสที่การพูดคุยจะได้ข้อยุติแทบเป็นไปไม่ได้เลยเพราะทุกฝ่ายต่างต้องรักษาจุดยืนเพื่อรักษาน้ำใจผู้สนับสนุน

หากต้องการประสบความสำเร็จต้องคุยกันวงเล็กเฉพาะผู้มีอำนาจตัดสินใจของแต่ฝ่ายในทางลับเท่านั้น

ถ้าต้องการให้สังคมร่วมรับรู้เป็นพยานรอทำตอนที่ได้ข้อตกลงวางบนโต๊ะทุกฝ่ายแสดงตนเห็นชอบจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า


You must be logged in to post a comment Login