วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ยาปรองดอง?

On February 3, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ตอบโต้ปฏิเสธกันไปกับบทวิเคราะห์สื่อต่างชาติที่ยกให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดรัฐประหารสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกในปีนี้

เมื่อเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ได้รับความสนใจ เลยต้องมีเรื่องใหญ่กว่าเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ นั่นคือข่าวขู่ลอบสังหารบิ๊กในรัฐบาลอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.กับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ไม่ต้องรอให้คนอื่นพูด พล.อ.ประวิตร พูดเรื่องนี้ด้วยตัวเอง

“ถามแต่ข่าวปฏิวัติ ที่มีคนเขียนหรือโพสต์ว่าจะฆ่าผม ไม่เห็นมาสอบถามกันบ้าง”

เป็นคำพูดที่พล.อ.ประวิตร ย้อนถามสื่อที่ไปถามเรื่องความเสี่ยงการเกิดรัฐประหารในไทย

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประวิตร ระบุว่ามีคนโพสต์เรื่องนี้ในโซเชียล ส่วนจะเป็นฝ่ายการเมืองหรือไม่นั้น ไม่ทราบ ให้สื่อไปดูกันเอง

“ผมไม่รู้ว่าใครมาขู่ฆ่าผม ไม่รู้จริงไหม ไปดูเอาสิ ในโซเชียลน่ะ ไม่รู้ฝ่ายไหนเหมือนกัน”

พร้อมระบุว่า เมื่อมีข่าวก็ต้องระวังตัว และต้องวิเคราะห์ว่ามีมูลความจริงแค่ไหน อย่างไร

ทั้งนี้ มีรายงานว่าก่อนหน้านี้ กองทัพบกได้ตรวจสอบกรณีที่มีคนโพสต์ข้อความผ่านทางโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับกระแสข่าวการลอบสังหารพล.อ.ประวิตร และโพสต์การลอบสังหาร พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งบุคคลที่โพสต์เปิดร้านขายของอยู่ที่ห้างดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

เมื่อดูบุคคลที่โพสต์ข้อความที่เป็นแค่พ่อค้าขายของในห้างแล้ว ข่าวนี้จึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะเป็นข่าวใหญ่เพื่อกลบเรื่องอื่นได้

ย้อนไปที่บทวิเคราะห์เรื่องโอกาสการเกิดรัฐประหารในไทย พล.อ.ประวิตร ระบุว่าทหารไม่ได้ยากทำรัฐประหารนอกจากประเทศจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ และหากเราปรองดองกันได้ ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ คิดว่าการทำปฏิวัติรัฐประหารไม่มีทางเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

“ถ้านักการเมืองทั้งหมดสามารถคุยกันได้ และสามารถดูแลประชาชนได้ ฝ่ายทหารก็อยู่ภายใต้นักการเมือง หากตกลงกันได้หมดแล้วไม่มีความขัดแย้งก็จะหาทางว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติอย่างไรต่อไป เรื่องปฏิวัติรัฐประหารซ้อน คงไม่มีเพราะทหารเป็นหนึ่งเดียว รวมถึงรัฐบาลและ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เป็นหนึ่งเดียว เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ทำทุกอย่างเพื่อประเทศ ยืนยันว่าไม่มีปฏิวัติรัฐประหารซ้อน ก็มีเพียงแต่สื่อมวลชนคิดเรื่องการปฏิวัติ”

จากคำกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะเห็นว่า การสร้างความปรองดองกลายเป็นเงื่อนไขที่จะไม่ทำให้เกิดการก่อรัฐประหาร เช่นเดียวกับที่เป็นเงื่อนไขการคืนอำนาจให้ประชาชนว่าหากยังมีความขัดแย้งก็ให้เลือกตั้งไม่ได้

จะมีรัฐประหารหรือไม่ อยู่ที่ตกลงร่วมมือปรองดองกันได้หรือไม่

จะมีเลือกตั้งหรือไม่ อยู่ที่ตกลงร่วมมือปรองดองกันได้หรือไม่

เงื่อนไขความกดดันถูกโยนไปที่ฝ่ายการเมืองทั้งนักการเมืองและกลุ่มการเมือง ว่าหากให้ความร่วมมือในการสร้างความปรองดองรอบใหม่ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำลังพยายามดำเนินการอยู่ในตอนนี้ทุกอย่างก็จะเป็นไปด้วยดี

หากไม่ร่วมมือก็ไม่รับประกันทั้งการรัฐประหารซ้อนและการคืนอำนาจให้เลือกตั้ง

เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ฝ่ายทหารลอยตัว ถ้าทำข้อตกลงปรองดองได้ถือว่าเป็นผลงานประสบความสำเร็จหากทำข้อตกลงปรองดองกันไม่ได้ก็เป็นเพราะฝ่ายการเมืองที่ไม่ร่วมมือ


You must be logged in to post a comment Login