วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

สนิมปรองดอง?

On February 2, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

เทศมองไทยเว็บไซต์วอชิงตันโพสต์ รายงานบทวิเคราะห์เรื่อง “ประเทศใดที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการรัฐประหารขึ้นในปี 2560?” ปรากฏว่า ประเทศไทยติดอยู่อันดับ 2 รองจากประเทศบุรุนดีที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการรัฐประหารมากที่สุดในโลก

ส่วนเหตุผลที่คิดว่าไทยเสี่ยงที่จะมีรัฐประหารในปีนี้เป็นอัน 2 ของโลกจากทั้งหมด 161 ชาตินั้น เขาคาดการณ์จากความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงผู้นำทั่วโลก โดยเอาเหตุการณ์ในอดีตมาวิเคราะห์และสภาพความผันผวนความไม่มั่นคงทางการเมืองในปัจจุบัน

ประเทศไทยปัจจุบันยังคงมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเรือนนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยมีการผ่านร่างรัฐธรรมนูญใหม่เมื่อปี 2559 และคาดว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 2560 แต่นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า การเลือกตั้งมักจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นที่จะทำให้เกิดความพยายามในการก่อรัฐประหาร พร้อมย้ำด้วยว่าแม้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากรัฐประหารจะสร้างความประหลาดใจแต่การก่อรัฐประหารไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจสำหรับประเทศที่มีความเสี่ยงลำดับต้นๆ ซึ่งรวมถึงไทยที่มีความเสี่ยงอยู่ในอันดับ 2 ด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะมีความเสี่ยงในการก่อรัฐประหารเป็นอัน 2 ของโลกในปีนี้ แต่ละระดับความเสี่ยงมีเพียงแค่ 11% เท่านั้น แต่ถ้าเกิดขึ้นจริงเขาเชื่อว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าที่จะล้มเหลว

แม้บทวิเคราะห์จะชี้ว่ามีความเสี่ยงสูง และมีโอกาสประสบความสำเร็จอย่างมากหากมีการทำรัฐประหาร แต่นั่นเป็นการมองจากข้างนอกเข้ามา หากมองจากปัจจัยภายในตอนนี้การก่อรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลทหารคสช.แทบไม่มีความเป็นไปได้เลย

แม้ก่อนหน้านี้จะมีอดีตนายพลในกองทัพออกมาเตือนเรื่องรัฐประหารซ้อน แต่ก็ถูกมองว่าเป็นเพียงทหารแก่ที่เริ่มหลงๆลืมๆ ยิ่งเมื่อมองไปที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยเฉพาะกองทัพบกที่มีศักยภาพนำในการทำรัฐประหาร ยิ่งแทบจะปิดประตูตายสำหรับเรื่องนี้ในตอนนี้ได้เลย เพราะยืนยันชัดเจนว่าสนับสนุนทุกภารกิจของรัฐบาลทหารคสช.

ความเสี่ยงที่ท้าทายต่ออำนาจของรัฐบาลทหารคสช.จึงไม่ใช่ความเสี่ยงจากกองทัพ แต่เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการทำงานและจุดยืนของรัฐบาลทหารคสช.มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการอำนวยความยุติธรรม และการรักษามาตรฐานในการปราบโกง

ขณะที่รัฐบาลกำลังใส่เกียร์ห้าเดินหน้าเรื่องการสร้างความปรองดองนั้นสิ่งสำคัญคือต้องไม่สร้างเงื่อนไขขัดแย้งรอบใหม่ ไม่ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะท้าทายต่อความจริงใจของรัฐบาลในการทำเรื่องปรองดองคือกรณีของ “ไผ่ ดาวดิน” นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา ที่ยังไม่ได้รับสิทธิ์ประกันตัวในคดีแชร์ข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศที่ถูกมองว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสม โดยถูกพนักงานสอบสวนยื่นฝากขังเป็นผลัดที่หกแล้ว

คดีนี้มีคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมมากมาย และมีผู้คน องค์กรต่างๆทั้งในและต่างประเทศร่วมกันเรียกร้องสิทธิ์การประกันตัว

ขณะที่รัฐบาลกำลังเร่งเรื่องปรองดองและจะมีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เพื่อใช้กระบวนการยุติธรรมพิเศษเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย หรือถูกดำเนินคดี ช่วงเหตุการณ์ ปี 2548- 2557

แต่กรณีของ “ไผ่ ดาวดิน” ไม่เพียงกำลังทำลายความเชื่อมั่นต่อความจริงใจในการสร้างความปรองดอง แต่ยังจะเป็นชนวนขัดแย้งรอบใหม่ที่มาขัดขวางภารกิจปรองดองไม่ให้สัมฤทธิ์ผลตามที่ต้องการได้


You must be logged in to post a comment Login