วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ขโมยของไม่ผิด?

On January 31, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

รัฐบาลทหารคสช.ที่ชูจุดขายเป็นรัฐบาลปราบโกง กำลังถูกจุดขายย้อนกลับมาเล่นงานตัวเอง เปรียบเหมือนคนเล่นของที่กำลังถูกของย้อนเข้าตัว

ความพยายามโอบอุ้มและให้ความช่วยเหลือ นายสุภัฒ สงวนดีกุล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่ถูกจับกุมที่ประเทศญี่ปุ่นในข้อหาลักขโมยภาพในโรงแรม จนได้เดินทางกลับประเทศโดยไม่ถูกดำเนินคดี ทำให้สังคมย้อนมองจุดยืนของรัฐบาลทหารคสช.เรื่องการปราบโกงต่อต้านทุจริตอย่างมีข้อสงสัย

ทั้งสงสัยในมาตรฐานการทำงานของหน่วยราชการไทยในการช่วยเหลือคนไทยตกทุกข์ได้ยากในต่างแดน ว่าหากเป็นประชาชนคนธรรมดาทั่วไปถูกจับบ้าง จะได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่แบบเดียวกันนี้หรือไม่

ทั้งสงสัยในกระบวนการพิจารณาลงโทษที่ต้องตั้งกรรมการสอบซ้ำ ทั้งที่มีหลักฐานปรากฏชัดเจน

ทั้งสงสัยในคำพูดของผู้หลักผู้ใหญ่บางคน ที่บอกว่าการลักขโมยไม่ใช่เรื่องใหญ่ร้ายแรง หรือการขอร้องทำนองว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ทำความผิด และขอร้องว่าอย่าเอาเรื่องนี้มาขยายความจนเกินเลย

นับเป็นการส่งสัญญาณผิดจากฝ่ายคุมอำนาจที่ไม่เป็นผลดีต่อตัวเอง ทำให้เครดิตความเป็นรัฐบาลปราบโกงถูกลดทอนลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่เทคแอ็คชั่นตรวจสอบสินบนอื้อฉาวที่เกี่ยวพันกับหลายหน่วยงานที่องค์กรต่างประเทศเปิดเผย

เวลาผ่านมากว่าสองสัปดาห์ มีแต่คำคุยโวจากฝ่ายตรวจสอบว่ารู้ชื่อหมดแล้วว่าใครเกี่ยวข้องกับการรับสินบนบ้าง พร้อมคำยืนยันเอาผิดได้แน่

ย้อนมาที่เรื่องของนายสุภัฒ หลังจากที่ถูกสังคมตั้งคำถามอย่าหนัก ทำให้มีการเร่งรัดการสอบสวน ที่จากเดิมจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ลดมาเหลือแค่จะรู้ผลภายใน 1-2 วันนี้

ผลการสอบสวนประชาชนคงไม่อยากรู้เท่าไหร่ เพราะอย่างไรเสียก็เชื่อว่าจะออกมาสวนทางกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏได้ยาก

สิ่งที่ประชาชนเฝ้ารอดูคือความเด็ดขาดของการลงโทษมากกว่า

ตามระเบียบราชการบทลงโทษทางวินัยมีอยู่ด้วยกัน 5 ระดับ ไล่ตั้งแต่ ภาคทัณฑ์ ลดเงินเดือน ตัดเงินเดือน ให้ออก และไล่ออก

ต้องมารอดูกันว่าโทษของนายสุภัฒจะระดับไหนอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้ คงต้องทำใจเอาไว้แต่เนิ่นๆ เพราะบทลงโทษที่จะออกมาอาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด และไม่สมกับภาพลักษณ์ของการเป็นรัฐบาลปราบโกง

ทั้งนี้ เพราะมีความพยายามอธิบายว่าการขโมยภาพวาดของนายนายสุภัฒเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ถือว่าเป็นความผิดต่อราชการ

เมื่อเจรจาชดใช้กันได้ ผู้เสียหายไม่เอาเรื่อง ประเทศต้นทางปล่อยตัวกลับไม่ดำเนินคดีพฤติการณ์ของนายสุภัฒจึงไม่เข้าองค์ประกอบต่อการทำผิดต่อราชการตามประมวลกฎหมายอาญาตั้งแต่มาตรา 147-116 ที่จะสามารถลงโทษทางวินัยได้

ถ้าว่ากันตามตัวหนังสือที่เขียนไม่มีช่องให้ลงโทษนายสุภัฒ

แต่เพื่อลดกระแสสังคม และลดความเสียหายต่อภาพลักษณ์การต้านโกงของรัฐบาลทหารคสช.จะมีบทลงโทษอะไรออกมาเพื่อให้สังคมรู้สึกว่าไม่ได้วางเฉยต่อเรื่องที่เกิดขึ้นหรือไม่ คงต้องรอดูกันต่อไป


You must be logged in to post a comment Login