วันพฤหัสที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ปรองดอง..โปรดฟังอีกครั้ง ?? / โดย ทีมข่าวการเมือง

On January 30, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

“รัฐบาลให้ทุกคนมีโอกาสเข้ามาพูดจาในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศ หากไม่พูดก็แสดงว่าไม่ได้มองประเทศอยู่ในสายตา ไม่มองว่าเราจะเดินหน้าประเทศกันอย่างไร จะเดินยุทธศาสตร์ชาติอย่างไร จะพัฒนาแก้ไขเศรษฐกิจให้ทันต่อสถานการณ์โลก ถ้าเขาไม่พูดเรื่องเหล่านี้ แล้วเขาจะเข้ามาเป็นรัฐบาลกันได้หรือในวันข้างหน้า ขอร้องว่าอย่าให้ต้องคิดกันแบบนี้”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอบคำถามผู้สื่อข่าวหากพรรคการเมืองใหญ่ไม่เข้าร่วมกระบวนการปรองดอง (24 มกราคม) ทั้งกล่าวถึงข้อเสนอที่ให้นำสูตรการปรองดองคือ คำสั่ง 66/23 และ 66/25 สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ มาใช้ว่า อยากให้ทุกคนกลับไปทบทวนให้ดี เพราะสูตรดังกล่าวเป็นคนละกรณีกัน ครั้งนี้เป็นการแบ่งฝ่ายต่อสู้กัน ทั้งการใช้กำลัง ใช้อาวุธสงคราม ซึ่งเป็นคนละเรื่อง สูตร 66/23 เป็นการนำคนกลับเข้ามาเพื่อเป็นกลุ่มพัฒนาชาติไทย แต่ปัจจุบันไม่ได้แบ่งกันเป็นคนละลัทธิ วันนี้อยู่ที่จะทำให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้อย่างไรด้วยกลไกปรกติ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงคณะกรรมการด้านการปรองดองที่แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มว่า ได้มอบหมายให้ศึกษาทั้งหมดแล้วว่าสิ่งไหนที่ตรงกัน ทำได้มากน้อยแค่ไหน อะไรที่ไม่ตรงกันก็รับทราบไว้เฉยๆแล้วค่อยหาทางออกอีกครั้ง ทุกอย่างต้องทำงานอย่างมีพื้นฐาน ไม่ใช่คิดเองทั้งหมด ขอยืนยันว่าอะไรที่เป็นเรื่องของกฎหมายก็ให้กฎหมายดำเนินการไป ความผิดต่างๆก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและชั้นศาล เว้นแต่ใครบางคนไม่ยอมเข้า เราก็พูดกันไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าเข้ามาตามกระบวนการ ทุกๆปีก็มีการลดโทษอยู่แล้ว อย่ามาทำให้กระบวนการเสียหาย อย่าอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆขึ้นมาแล้วนำทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถ้าไม่ผิดหรือมีปัญหาแล้วจะตัดสินออกมาได้อย่างไรว่าผิดหรือถูก ถ้าเป็นเช่นนั้นกระบวนการศาลก็ใช้ไม่ได้ทั้งหมด แล้วที่ตัดสินมาเป็นพันเป็นหมื่นคดีก็ศาลเดียวกันทั้งนั้น ท้ายที่สุดขอให้เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมและตัดสินตามกระบวนหลักฐานที่มีอยู่

ไม่ซื้อเวลา ไม่มีมวยล้ม

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เห็นด้วยกับการใช้คำสั่ง 66/23 และ 66/25 โดยระบุว่าแนวทางของตนเองจะไม่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย แต่เน้นการสร้างความเข้าใจของทุกฝ่ายเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า บรรยากาศความปรองดองเป็นไปในเชิงบวก ทุกคนต้องการให้เกิดความปรองดองเพื่อให้ประเทศชาติสงบสุข เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ ประชาชนสามารถทำมาหากินได้อย่างปรกติสุข ตนยังไม่ได้ติดต่อกับกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองใด ไม่ดีลกับใครอยู่แล้ว เพราะต้องรอรายชื่อคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองก่อน โดยจะให้ทุกกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะเข้ามา เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาในภาพรวมทั้งหมด จะพยายามให้ทุกกลุ่มเข้ามาพูดคุยหารือ ยืนยันว่าคณะกรรมการที่มีคนในกองทัพไม่ใช่ปัญหา เพราะกองทัพเป็นกลาง ทหารไม่มีความขัดแย้งกับใคร และคณะกรรมการก็ไม่ใช่เด็กๆ ล้วนแต่เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งนั้น

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องปลดล็อกเพื่อให้ประชุมพรรค เพราะไม่ได้ต้องการมติพรรค แต่ต้องการการแสดงความคิดเห็นว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความสงบขึ้นหลังจากมีการเลือกตั้ง ป้องกันการประท้วง การออกมาตีกัน ใครอยากเสนออะไรก็สามารถเสนอได้ เบื้องต้นได้วางกรอบในการพูดคุยหารือและคำถามต่างๆสำหรับทุกฝ่ายไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเมือง ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูป

“เราจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ในการที่จะรับฟังข้อคิดเห็นทั้งหมด ไม่ใช่ว่ากระบวนการเสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน จากนั้นนำความคิดเห็นต่างๆมาเผยแพร่และเข้าสู่กระบวนการต่อไป”

พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าคณะกรรมการอำนวยการการปรองดอง กล่าวว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นฝ่ายต่างๆทั้งพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองจะใช้เวลา 3 เดือน โดยจะสรุปข้อเสนอทั้งหมดทำเป็นข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งยังไม่สามารถระบุกรอบเวลาที่ชัดเจนได้ ต้องรอดูข้อมูลที่จะได้รับก่อน ยืนยันการดำเนินการครั้งนี้ไม่ใช่การซื้อเวลา ไม่มีมวยล้มต้มคนดูอย่างแน่นอน

เพื่อไทยให้ 5 แกนนำลุย

อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวว่า ยินดีให้การสนับสนุนถ้าทุกอย่างเป็นประโยชน์กับประเทศ แต่ให้ยึดหลักความเป็นกลาง ความเป็นธรรม และเป็นไปตามกฎหมายที่ทุกฝ่ายมีความมั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม โดยหวังว่ากลไกภาครัฐและทหารจะเป็นผู้ประสานงานที่ดี ถ้าเป็นไปได้อยากให้เชิญผู้ที่มีความเป็นกลางโดยเฉพาะนักวิชาการหรือผู้ที่สังคมให้การยอมรับเข้ามาแลกเปลี่ยนให้ความรู้และเป็นคณะกรรมการด้วย หาก ป.ย.ป. จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศคงไม่มีผู้ใดปฏิเสธ เพราะทุกคนต้องคิดถึงส่วนรวมเป็นหลัก แต่ต้องทราบถึงนิยามคำว่าปรองดองก่อนแล้วจึงจะพิจารณาที่กลไกปฏิบัติ

นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเรียกร้องให้นักการเมืองร่วมมือกันสร้างความปรองดองให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่แค่ให้พรรคการเมืองมาพบกันและจัดทำเอ็มโอยูเท่านั้น ปัญหาความไม่ปรองดองไม่ใช่เกิดจากพรรคการเมืองฝ่ายเดียว แต่เกี่ยวพันกับคนหลายกลุ่ม หลายฝ่าย หลายองค์กร ที่เกี่ยวพันกับปัญหาประเทศเชิงโครงสร้างในหลายส่วน รวมถึงผู้มีอำนาจในปัจจุบันก็มีส่วนเกี่ยวข้อง

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ปัจจัยที่จะทำให้ความปรองดองเป็นผลสำเร็จ ความหมายที่แต่ละฝ่ายยึดถือและเข้าใจในเรื่องความปรองดองต้องตรงกันจึงจะสามารถเป็นจุดเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาได้ สำหรับพรรคเพื่อไทยเข้าใจว่าการปรองดองหมายถึงการอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติภายใต้หลักนิติธรรมบนพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือการอำนวยให้เกิดความยุติธรรมและการยอมรับการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างที่แต่ละฝ่ายมี ซึ่งพรรคเพื่อไทยมอบให้นายโภคิน พลกุล นายชัยเกษม นิติสิริ นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นผู้ดำเนินการติดตามเรื่องนี้และรายงานให้ที่ประชุมรับทราบ

“สุเทพ” เปลี่ยนท่าที

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ได้รับหนังสือขอความเห็นจากคณะอนุกรรมาธิการปรองดองฯ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แล้ว โดยวันที่ 26 มกราคม จะหารืออย่างไม่เป็นทางการกับสมาชิกพรรคที่สนใจเรื่องนี้เพื่อส่งความเห็นเป็นเอกสารภายในวันที่ 31 มกราคม

“ผมยังยืนยันหลักการเดิมที่เคยเสนอต่อสาธารณชนไปแล้วว่า การปรองดองต้องมองไปที่อนาคต ส่วนเรื่องอดีตปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมทำงานไป ยกเว้นคดีที่เกี่ยวข้องกับประชาชนที่มาชุมนุมแล้วทำผิดกฎหมายพิเศษที่ควรจะนิรโทษกรรม ส่วนกรณีอื่นให้กระบวนการยุติธรรมทำงานเพื่อให้ได้ข้อยุติทั้งข้อเท็จจริงและความรับผิดชอบต่อผลจากการกระทำของตัวเอง จากนั้นจะมีช่องทางอภัยโทษอย่างไรก็มีหลักเกณฑ์ตามกฎหมายอยู่แล้ว” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ที่น่าสนใจคือ การเปลี่ยนท่าทีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (กปปส.) ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เห็นด้วยกับการลงสัตยาบันหรือเอ็มโอยูก็เปลี่ยนท่าทีว่าพร้อมจะสนับสนุนรัฐบาลในการสร้างความปรองดอง เพราะเห็นถึงความตั้งใจจริงของ พล.อ.ประยุทธ์ที่จะปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า การปรองดองเป็นเรื่องละเอียดอ่อน พร้อมจะร่วมแสดงความคิดเห็นหากมีการเชิญไป ส่วนจะร่วมลงนามหรือไม่นั้นไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ เพราะจะต้องรอให้ทุกอย่างเกิดความชัดเจนก่อน

“รัฐบาลหาแนวทางเพื่อทำให้เกิดความปรองดองในระยะยาวให้ได้ ขอให้มีการวิเคราะห์อย่างละเอียดถึงสาเหตุที่แท้จริงที่ก่อให้เกิดความแตกแยก เช่น เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในสังคม หรือเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนบางส่วนอาจรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม เพราะกำลังโดนเอารัดเอาเปรียบ เช่น ขบวนการคอมมิวนิสต์ในอดีตที่เกิดจากการแบ่งแยกและแบ่งชนชั้น ปัญหาต่างๆต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง” นายสุเทพกล่าว

ทำไมต้อง 66/23 และ 66/25

ประเด็นการสร้างความปรองดองที่มีการพูดขณะนี้คือ คำสั่ง 66/23 และ 66/25 ที่เคยใช้สมัย พล.อ.เปรมในการยุติสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แม้ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตรจะไม่เห็นด้วย แต่หลายฝ่ายกลับเห็นว่าสามารถนำมาปรับใช้ได้ ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการเสนอหลายครั้ง โดยเฉพาะ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในยุคนั้นก็เคยเสนอรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2555 ซึ่งถกเถียงกันในการนิรโทษกรรม โดยนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น เสนอว่าควรนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ชุมนุมที่ละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาอื่นๆไม่สมควรให้มีการนิรโทษกรรม

การเสนอแนวความคิดคำสั่ง 66/23 และ 66/25 เกี่ยวข้องกับกฎหมายและการนิรโทษกรรมด้วย ซึ่งการประชุมนัดแรก (23 มกราคม) ของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา รวบรวมความคิดเห็นวิเคราะห์และสังเคราะห์ ประเด็นการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และการสร้างความปรองดองทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธาน ก็เห็นด้วยที่จะใช้แนวทางคำสั่ง 66/23 และ 66/25 เพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างพรรคและกลุ่มการเมืองให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งคำนึงถึงความสามัคคีและสันติสุข โดยใช้หลักเมตตา ให้อภัย ยุติความเกลียดชัง และใช้หลักนิติรัฐที่ปฏิบัติกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน

นายสังศิตเชื่อว่าจะทำให้สำเร็จ เพราะรัฐบาลอยู่ในฐานะคนกลาง ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง และคนไทยก็ต้องการความปรองดอง ซึ่งการทำงานของอนุกรรมาธิการจะใช้เอกสารจาก 9 คณะที่เคยศึกษาเรื่องความปรองดองมาประกอบในการทำงาน โดยจะเชิญประธานทั้ง 9 คณะ เช่น นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายดิเรก ถึงฝั่ง สถาบันพระปกเกล้า นายคณิต ณ นคร พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ฯลฯ เพื่อให้ข้อมูลและตรวจสอบผลการศึกษาให้เกิดความมั่นใจว่าไม่มีเจตนาบิดเบือนข้อมูล รวมถึงส่งจดหมายถึงพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย กลุ่ม นปช. และ กปปส. ให้ทำเอกสารความเห็นที่เป็นทางการกลับมาภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งกรอบการทำงานของอนุกรรมาธิการจะใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน ก่อนเสนอสู่ที่ประชุม สปท.

ขณะที่นายนิกร จำนง อนุกรรมาธิการ กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยถึงวิธีการนิรโทษ แต่จะศึกษาจากเอกสาร 9 คณะที่เคยศึกษาไว้เป็นแนวทาง การศึกษาของอนุกรรมาธิการจะครอบคลุมในส่วนของผู้ที่อยู่เบื้องหลังผู้ชุมนุม แต่จะไม่ส่งจดหมายถึงอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เพราะไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน

การเมืองนำการทหาร

คำสั่ง 66/23 นโยบายสำคัญในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ช่วงปลายสงครามเย็น โดยใช้ “การเมืองนำการทหาร” ที่หลายฝ่ายเชื่อว่าสามารถนำมาปรับใช้กับความขัดแย้งในสังคมไทยขณะนี้ได้ ต้องเริ่มด้วยการเปลี่ยนวิธีคิดของผู้มีอำนาจที่มาจากรัฐประหารที่ยังคิดแบบทหารและเชื่อแบบทหาร ทั้งที่สถานการณ์บ้านเมืองช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาไม่ต่างกับสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา

คำสั่ง 66/23 เกิดขึ้นในสมัยที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ลงนามอย่างเป็นทางการในสมัย พล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2523 ภายใต้การผลักดันของกลุ่มนายทหารคนสนิท นำโดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พล.ต.ปฐม เสริมสิน พ.อ.หาญ ลีนานนท์ พ.อ.เลิศ กนิษฐะนาคะ พล.ท.สัณห์ จิตรปฏิมา และ พล.อ.สายหยุด เกิดผล ฯลฯ

หลักการคำสั่ง 66/23 คือให้โอกาสสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และมวลชนที่เข้าป่าไปจับปืนต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาหรือประชาชนได้รับการนิรโทษกรรมในคดีการเมืองทั้งหมดและกลับมาใช้ชีวิตตามแบบปรกติในฐานะ “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ซึ่งขณะนั้นเกิดวิกฤตศรัทธาของขบวนการคอมมิวนิสต์

ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยและนักศึกษาหลายคนกลายเป็นผู้นำสำคัญในภาคส่วนต่างๆทั้งเอกชน ภาคประชาชน ราชการ และกลุ่มการเมืองต่างๆ คำสั่ง 66/23 จึงถือเป็นความสำเร็จในการยุติความรุนแรงจากการต่อสู้ของคนไทยด้วยกันเองด้วยการยึดหลักเมตตาธรรม เพื่อให้อภัยและยุติความเคียดแค้นเกลียดชัง พร้อมกับใช้หลักนิติรัฐและนิติธรรมที่ต้องปฏิบัติกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ สอดคล้องกับวิกฤตการเมืองกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่การใช้วาทกรรมปลุกระดมให้เกิดความอคติและเกลียดชังอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่กระบวนการยุติธรรมก็มีส่วนสำคัญอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการยุติธรรมปรกติตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ หรือองค์กรอิสระต่างๆที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเลือกปฏิบัติและสองมาตรฐาน

ยุคทรานซิสเตอร์ถึงยุค 4.0

แม้ยังไม่เห็นแนวทางชัดเจนถึงการสร้างความปรองดอง แต่ดูเหมือนว่าทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกสี ต่างก็ออกมาขานรับ จะเพราะสถานการณ์บังคับหรือเบื้องลึกใดๆก็ตาม ก็มีเสียงจากประชาชนที่ร่วมต่อสู้และญาติพี่น้องที่สูญเสียคนในครอบครัวว่า การปรองดองต้องไม่ลืมผู้ที่บาดเจ็บและล้มตายนับร้อยนับพัน ไม่ว่าสีเสื้อใด ทุกคนล้วนต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ อย่างลุงนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ที่ฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอใต้สะพานลอยถนนวิภาวดีรังสิต หลังขับรถแท็กซี่พุ่งชนรถถังคณะรัฐประหารเพื่อประท้วงรัฐประหารและการเหยียดหยามของรองโฆษกคณะรัฐประหาร

การพยายามสร้างความปรองดองครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะกว่า 10 ปีที่ผ่านมาคนไทยถูกวาทกรรมปลุกระดมให้เกิดทั้งอคติและความเกลียดชังจนฝังลึกไปทุกภาคส่วน แม้แต่ในครอบครัวตัวเองยังขัดแย้ง การสร้างความปรองดองจะสำเร็จหรือไม่ต้องแก้ไขที่ต้นตอของปัญหาให้ได้ ซึ่งต้องทำให้ทุกฝ่าย ทุกกลุ่มเปิดกว้างในการรับฟังความคิดความเห็นของแต่ละฝ่าย เพื่อนำมาหาข้อสรุปและแนวทางการแก้ปัญหาที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน

ไม่ใช่กระทำเป็นพิธีการเท่านั้น แต่ต้องทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ โดยเฉพาะบทบาทของ คสช. และกองทัพ ต้องยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่สำคัญ ไม่ได้เป็นเพียงคนกลางที่จะลอยตัวอยู่เหนือความขัดแย้งอย่างที่พยายามยืนยัน

การเป็นเจ้าภาพของ คสช. และกองทัพครั้งนี้ยิ่งต้องแสดงให้เห็นความจริงใจมากเป็นทวีคูณเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับให้มากที่สุด ไม่ใช่ยืนกระต่ายขาเดียวว่าไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับใครหรือฝ่ายใด ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต่างกับพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และภาคประชาชน ที่ยืนยันว่าตัวเองไม่ผิดและไม่ได้รับความเป็นธรรม ขณะที่กองทัพทำรัฐประหารปล้นอำนาจจากประชาชนถึง 2 ครั้ง ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ก็ตาม ก็มีหลายสิ่งที่เชื่อว่ามีการวางแผนสร้างสถานการณ์เพื่อให้กองทัพทำรัฐประหาร เพราะ “ตบมือข้างเดียวไม่ดัง”

กองทัพจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นตัวละครสำคัญของความขัดแย้งและไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการทำให้บ้านเมืองเดินไปตามครรลองระบอบประชาธิปไตยที่ประชาคมโลกยอมรับ เหมือนที่หลายฝ่ายพูดถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระว่าต้องโปร่งใส เป็นธรรม และเสมอภาคอย่างแท้จริง

ดังนั้น เมื่อ คสช. และกองทัพเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมสร้างความปรองดอง คสช. และกองทัพก็ต้องยอมรับฟังเสียงเรียกร้องและความเห็นของทุกฝ่ายในสังคม เมื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในสังคมเปลี่ยน แต่ตัวเองไม่ยอมเปลี่ยน ความปรองดองก็ไม่เกิด ประเทศก็เดินหน้าไปไม่ได้ ไม่ว่าจะปฏิรูปประเทศอีกกี่สิบปีก็หนีไม่พ้นวงจรอุบาทว์เดิมๆ อย่างที่ “ทั่นผู้นำ” ก็พูดชัดเจนว่าความปรองดองเกิดขึ้นจากฝ่ายเดียวไม่ได้

แม้แต่ข้อเสนอ 66/23 และ 66/25 ก็ต้องมีการนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพราะสถานการณ์เปลี่ยน ปัญหาก็เปลี่ยน การสร้างความปรองดองและยุติความขัดแย้งต้องยืนอยู่บนความจริง ไม่ใช่แค่พิธีการหรือวาทกรรม

ข้อเสนอให้นำแนวทางคำสั่ง 66/23 และ 66/25 มาปรับใช้เพื่อความปรองดองในยุค “ประเทศไทย 4.0” จึงเสมือนย้อนยุคไปหาอดีตอีกครั้ง เปรียบดังได้ฟังเพลง “สะพาน” ของ “ทั่นผู้นำ” ผ่านวิทยุทรานซิสเตอร์ พานไปนึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมามากมายสมัย 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 ที่เวียนว่ายตายเกิดไปมาไม่รู้จบ…

“ปรองดองๆๆๆๆๆๆๆๆ…โปรดฟังอีกครั้ง”!!??


You must be logged in to post a comment Login