วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ทำอะไรต่อเมื่อการเมืองเชิงลึกลงตัว? / โดย Pegasus

On January 30, 2017

คอลัมน์ : เพื่อชาติประชาชน
ผู้เขียน : Pegasus

หลังจากใช้เวลาพักใหญ่กว่าการเมืองเชิงลึกที่มองกันภายนอกว่าไม่ลงตัวนั้น ขณะนี้ถึงเวลาที่การเมืองปรกติจะเริ่มเดินหน้าแล้ว ในระหว่างนี้ฝ่ายต่อต้านเผด็จการหลายกลุ่มก็แตกออกเป็นหลายพวก ตั้งแต่พวกที่ต้องการเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐซึ่งส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ พวกที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายก้าวหน้า พวกที่รัก นปช. พวกที่รักทักษิณ และพวกที่ดูจะมากที่สุดคือกลุ่มรักประชาธิปไตยและความเป็นธรรม

ในที่นี้ขออิงกับกลุ่มก้อนใหญ่เพื่อให้ทราบว่าคนส่วนใหญ่ควรสนใจอะไรและควรจะทำอะไรต่อเมื่อสถานการณ์เปิดให้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยได้มากขึ้น โดยจะมองข้ามความเห็นกลุ่มที่โจมตีและโหนสถาบัน เพราะไม่เกิดผลดีอะไรกับสถานการณ์ขณะนี้

สิ่งที่เป็นประเด็นใหญ่ต่อสังคมคือ ความพยายาม “สืบทอดอำนาจเผด็จการ” ด้วยการซ่อนรูปในรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เป็นองค์กรอิสระ สมาชิกรัฐสภา และอื่นๆที่ได้รับการแต่งตั้งจากฝ่ายเผด็จการ หมายความว่าแม้จะมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งก็ล้วนเป็นสิ่งจอมปลอมทั้งสิ้น

นอกเหนือไปกว่านั้นคือ ภาวะเศรษฐกิจที่ต่างประเทศดูออกว่านักการเมืองจากการแต่งตั้งจะสืบทอดอำนาจเพื่อควบคุมนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้การตกลงหรือเจรจาด้านการค้าเป็นไปได้ยาก เพราะต้องไปล็อบบี้นอกระบบรัฐบาลและติดสินบน หมายถึงต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่ทราบว่ากี่มากน้อย คนในแวดวงธุรกิจทั้งคนไทยและต่างประเทศต่างก็มีตัวเลขนี้ในใจ จะตรงกันหรือไม่เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเผด็จการและทุนสามานย์ที่ซ่อนรูปในระบบการเมือง

เมื่อรัฐธรรมนูญมีการสืบทอดอำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบนี้แล้ว ภารกิจของประชาชนคนไทยคือ การสืบสวนและตรวจสอบว่าการรวบอำนาจทางรัฐสภาและทางเศรษฐกิจทำกันอย่างไร แล้วตีแผ่เพื่อต่อต้านการนำรัฐธรรมนูญนี้มาใช้

หลายคนอาจบอกว่ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้วถือว่าจบ แต่นั่นเป็นการพูดข้างเดียวของภาครัฐในสถานการณ์แวดล้อมเดิม ขณะนี้สิ่งแวดล้อมใหม่อาจไม่เป็นไปในทิศทางเดิมก็ได้ ทั้งการลงประชามติที่ชัดเจนว่ามีการโกง เช่น การนับคะแนนกันเอง ไม่มีประชาชนเข้าไปตรวจสอบ เป็นต้น สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นข้ออ้างความไม่สมบูรณ์ของการลงประชามติ

เมื่อบังเอิญต้องมีเหตุให้แก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว ก็ยิ่งตอกย้ำว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปได้ ซึ่งอาจแก้ไขใหญ่เลยด้วยซ้ำ ส่วนจะแก้ไขประเด็นอะไร เช่น ไม่ควรมี ส.ว. จากการแต่งตั้ง การควบคุมนโยบายรัฐบาลไม่ให้มีอิสระ และอำนาจขององค์กรอิสระที่สามารถก้าวก่ายอำนาจอธิปไตยอื่นๆ แค่ 2-3 ประเด็นก็ทำให้ต้องกลับมาทบทวนรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว

จริงอยู่คำสั่งห้ามพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองเคลื่อนไหวยังมีอยู่ มีแต่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายเผด็จการเท่านั้นที่เคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างเสรี แต่ยังสามารถรณรงค์ต่อต้านในลักษณะให้ความรู้ การแสดงออกโดยไม่ชุมนุมกันเกินกว่าที่กำหนด เช่น การคุยกันหรือแพร่ภาพสดทางเฟซบุ๊ค หรือการสนทนาเป็นกลุ่มย่อยจำนวนมาก เป็นสิ่งที่ทำได้ โดยไม่ไปเกี่ยวข้องการบริหารงานของรัฐบาล เราก็ต่อต้านของเราไป

สรุปแล้วปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญที่สุดคือ การขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการซ่อนรูปด้วยทุนผูกขาดสามานย์ ประชาชนควรจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบ แต่กว้างขวาง ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียทั้งหลายอย่างขะมักเขม้นคนละไม้คนละมือ

สื่อโซเชียลมีเดียมีทั้งคนไทยและต่างประเทศที่คอยติดตาม ซึ่งจะพบเห็นข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญและช่วยกันเผยแพร่ไปทั่วโลก

สุดท้ายการเคลื่อนไหวนี้ก็จะสามารถหยุดยั้งรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและสืบทอดอำนาจเผด็จการและทุนผูกขาดสามานย์ได้ในที่สุด ซึ่งจะเป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยที่แท้จริง


You must be logged in to post a comment Login