วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

‘กระตั้ว’มั่วไปหมด / โดย วรวุฒิ สารพันธ์

On January 30, 2017

คอลัมน์ : เรื่องเล่าต่างแดน
ผู้เขียน : วรวุฒิ สารพันธ์

เห็นนกกระตั้วตัวขาวสวยน่ารักแล้วอดนำมาเล่าไม่ได้

แต่ต้องเรียนพี่ป้าน้าอาทั้งหลายก่อนว่า ผมเล่าเรื่องนี้ส่วนหนึ่งอยากขอความรู้ไปยังผู้เชี่ยวชาญครับ เพราะเท่าที่ค้นหาข้อมูลและดูภาพตามเว็บไซต์แล้วรู้สึกมึนตึ้บ ดูมันมั่วไปหมด

ที่บอกว่ามึนและดูมั่วสับสน เพราะนกชนิดนี้มีหลายสายพันธุ์มาก ที่มึนกว่านั้นคือหน้าตาคล้ายกันมาก

เข้าใจว่าพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกัน ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย ได้แก่ กระตั้วใหญ่หงอนเหลือง (Sulphur-crested cockatoo) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cacatua galerita มีขนขาวนวลสวย หงอนตั้งเรียงสีเหลืองอ่อน มองบางมุมดูคล้ายหมวกนักรบอินเดียนแดง

กระตั้วใหญ่หงอนเหลืองมีพันธุ์ย่อย 4 พันธุ์ เป็นนกท้องถิ่นของออสเตรเลียและนิวกินี

อีกพันธุ์หนึ่งที่เป็นข่าวเมื่อไม่นานที่ผ่านมาคือ กระตั้วหงอนเหลือง (Yellow-crested cockatoo หรือ Lesser sulphur-crested cockatoo) ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Cacatua sulphurea เป็นนกท้องถิ่นของอินโดนีเซียและติมอร์เลสเต มีพันธุ์ย่อยหลายพันธุ์เหมือนกับพันธุ์แรก

ดูชื่อวิทยาศาสตร์ให้แม่นนะครับ พันธุ์แรกที่เอ่ยถึงลงท้ายด้วย “galerita” ส่วนพันธุ์หลังลงท้ายด้วย “sulphurea”

ผมท่องดูข้อมูลในเว็บไซต์บ้านเราออกแนวมั่วครับ คือวงเล็บชื่อภาษาอังกฤษกับชื่อวิทยาศาสตร์มั่วไปหมด เข้าใจว่าคนขายและคนเลี้ยงจำนวนไม่น้อยที่สับสนกับ 2 พันธุ์นี้

พันธุ์หลังจะเรียกว่ากระตั้วเล็กหงอนเหลืองก็พอได้ครับ เพราะตัวเล็กกว่าพันธุ์ “galerita” มีลำตัวยาวประมาณ 12-30 เซนติเมตร ส่วนพันธุ์ใหญ่ “galerita” มีลำตัวยาวประมาณ 50 เซนติเมตร

แยกได้เฉพาะตัวเล็กตัวใหญ่ครับ ส่วนหน้าตาเหมือนกันประหนึ่งเป็นพันธุ์เดียวกัน รูปที่นำเสนอเป็นพันธุ์เล็ก “sulphurea” ทั้งหมด

พันธุ์ “galerita” ไม่เสี่ยงสูญพันธุ์จึงอนุญาตให้เลี้ยงได้ ขณะที่พันธุ์เล็ก “sulphurea” ว่ากันว่าเหลืออยู่ในป่าถิ่นเกิดไม่ถึง 7,000 ตัว กลายเป็นนกเสี่ยงสูญพันธุ์สูง ห้ามซื้อขาย ห้ามนำมาเลี้ยงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ก็เพราะคนลักลอบล่ามาขายนั่นแหละครับ

แต่เป็นความโชคดีของพันธุ์เล็ก “sulphurea” ระดับหนึ่งที่หนีจากกรงในตลาดซื้อขายฮ่องกงเข้าป่าไปเมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันมีลูกหลานอยู่ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าของฮ่องกงประมาณ 200 ตัว

ถือว่าเยอะทีเดียว แต่ก็ยังไม่พอหนีพ้นภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์สูงได้ สาเหตุสำคัญคือยังมีการลักลอบซื้อขายนกพันธุ์นี้อยู่หลายประเทศครับ


You must be logged in to post a comment Login