วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

2ปีเสียของ?

On January 27, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์ญี่ปุ่นจับ นายสุภัฒ สงวนดีกุล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ขโมยภาพวาด 3 ภาพ มูลค่า 15,000 เยน ขณะที่เป็นตัวแทนประเทศไทยเดินทางไปร่วมประชุมเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของหน่วยงานราชการไทย และผู้มีอำนาจที่ออกไปในทำนอง “อย่าซ้ำเติม” และไม่แสดงความเด็ดขาดจัดการในทันที ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ

แม้ฝ่ายญี่ปุ่นมีหลักฐานชัดเจน แต่ฝ่ายไทยยังต้องรอให้เจ้าตัวกลับมาแผ่นดินเกิดก่อนจึงต้องตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อเอาผิดทางวินัย ซึ่งโทษทางวินัยมีตั้งแต่ระดับเบาๆ คือ ตักเตือน งดการปรับเพิ่มเงินเดือน ส่วนจะถึงการให้ออกจากราชการซึ่งเป็นโทษหนักสุดหรือไม่ ยังต้องรอผลสอบ

ปฏิกิริยาตอบสนองแบบนี้ ฉุดให้ภาพความแข็งขันปราบปรามคอร์รัปชัน ไม่ส่งเสริมคนไม่ดีให้มีอำนาจดูอ่อนด้อยลงไปถนัดตา

สิ่งสำทับด้วยปฏิกิริยาตอบรับกับอันดับความโปร่งใสของประเทศตกกราวรูดไปอยู่ที่ 101 ของโลกจากการสำรวจ 176 ชาติขององค์กรเพื่อความโปร่งใส (ทีไอ) ที่ได้เพียง 35 คะแนนเต็ม 100 ของบรรดาผู้มีอำนาจทั้งหลาย ยิ่งทำให้ความชอบธรรมในการพูดเรื่องความโปร่งใส ความซื่อสัตย์สุจริต ความเป็นคนดี ที่ชอบอ้างกันมาตลอดขาดน้ำหนักความน่าเชื่อถือลงไปอย่างมาก

แม้จะมีเรื่องสินบนอื้อฉาวบริษัทโรลส์-รอยซ์ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แต่น่าจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้คะแนนความโปร่งใสของไทยตกต่ำลงเท่านั้น เพราะการประเมินดัชนีความโปร่งใสเขาดูจากหลายปัจจัยและดูจากภาพรวมทั้งปี ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ที่สำคัญเรื่องสินบนอื้นฉาวที่ว่านั้น ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว แต่เป็นเรื่องที่เกิดต่อเนื่องมานานหลายยุคหลายสมัย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ออกมาขอร้องว่าอย่านำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นโจมตีรัฐบาล เพราะตลอดการทำงานสองปีกว่าที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาการทุจริตไปได้มากกว่า 70% โดยเฉพาะในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้าง

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ไทยอันดับตกรูดจาก 76 มาอยู่ที่ 101 รองนายกฯมองแง่ดีว่าคะแนนต่ำลงเพียง 3 คะแนนเท่านั้น แต่ที่อันดับตกลงมาก เพราะหลายชาติมีคะแนนใกล้เคียงกัน พร้อมทั้งเรียกร้องว่าการจัดอันดับในปีต่อไปควรหันมาใช้วิธีประเมินจากข้อมูลเชิงประจักษ์ หรือ ฮาร์ด ดาต้า มากกว่าการใช้แต่ข้อมูลจากการสัมภาษณ์

คำพูดของรองนายกฯน่าสนใจตรงที่บอกว่าจัดการกับการทุจริตไปได้แล้วกว่า 70% แต่คำถามคือทำไมผลของการจัดอันดับจึงออกมาสวนทางกับสิ่งที่กล่าวอ้าง

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามว่าข้ออ้างปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันเป็นข้ออ้างแรกๆที่ใช้ในการเข้ามายึดอำนาจ แต่ทำไมรัฐบาลทหารบริหารประเทศกลับยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันย่ำแย่ลง ซึ่งเรื่องนี้จะโยนบาปไปให้รัฐบาลเก่าคงไม่ได้ เพราะเป็นการประเมินของปี 2559

รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทยชี้ปมว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อันดับความโปร่งใสของไทยลดลงน่าจะมาจากช่วงบริหารงานของรัฐบาลทหาร กลไกการตรวจสอบทั้งจากภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพลงไปมาก จนส่งผลลดทอนประสิทธิภาพการตรวจสอบลงไปอย่างมากด้วย

ไม่ต่างจากมุมมองของ นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย ที่ระบุว่าการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันถือเป็นวาระแห่งชาติที่ คสช.ประกาศไว้เมื่อครั้งที่เข้ามายึดอำนาจการปกครอง แต่ที่ผ่านมาตลอด 2 ปีกว่า ก็ยังไม่มีการดำเนินใดที่เป็นรูปธรรม มีแต่การสร้างวาทกรรมจะเอาจริงกับการปราบโกง

คำแนะนำต่อรัฐบาลทหารคสช.ของหัวหน้าพรรคคนไทยคือ หากรัฐบาลต้องการกู้ภาพลักษณ์เรื่องเข้ามาปราบโกง รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีควรรับเป็นเจ้าภาพกรณีสินบนบริษัท โรลส์-รอยซ์ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่สืบได้ง่าย รวมทั้งขยายผลในคดีอื่นๆที่มีข้อมูลแล้วว่ามีการทุจริต อาทิ การจัดซื้อเครื่อง GT200 หรือเรือเหาะ ของทางกองทัพ ที่เสียงบประมาณไปจำนวนมาก แต่ไม่สามารถใช้งานได้จริง

“ขอวิงวอนท่านนายกฯ ในฐานะหัวหน้า คสช.ต้องไม่กลัวหยิกเล็บเจ็บเนื้อ โปรดใช้อำนาจที่มีด้วยความกล้าหาญเด็ดขาดเพื่อประเทศชาติ ในการขจัดการทุจริตคอร์รัปชันให้ได้อย่างที่ประกาศครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ไม่เคยทำให้เกิดผล จนรัฐประหารครั้งนี้เสียของมา 2 ปีกว่าแล้ว”

นี่คือแนวทางแก้ไขไม่แก้ตัว ไม่รู้ว่าผู้มีอำนาจทั้งหลายจะรับไปพิจารณาดำเนินการหรือไม่ ถ้าไม่ ก็ต้องถามว่าไม่รู้สึกเขินอายอะไรบ้างหรือ เวลาที่พูดว่าจะเข้ามาปราบโกง


You must be logged in to post a comment Login