วันพฤหัสที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

จับแกะชนแพะ / โดย ทีมข่าวการเมือง

On January 23, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

วันครูปีนี้ดังกระหึ่มกว่าทุกปี เพราะมาพร้อมข่าว “ครูแพะ” เมื่อกระบวนการยุติธรรมถูกสั่นคลอนวิกฤตศรัทธาอีกครั้ง หลังศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นมาใหม่ ในคดีนางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อายุ 54 ปี อดีตข้าราชการครูที่ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 3 ปี 2 เดือน ในคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดนครพนมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องข้อหาขับรถโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต ตามที่ พ.ต.ต.ทนงศักดิ์ โพธิ์โหน่ง พนักงานสอบสวน ยื่นฟ้อง โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2548

ที่สำคัญคดีนี้ผ่านทั้งตำรวจในฐานะพนักงานสอบสวน อัยการ และศาลถึง 3 ศาล จนมีคำตัดสินว่าครูจอมทรัพย์มีความผิดจริงและติดคุกเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ก่อนได้รับอภัยโทษเมื่อปี 2558 ซึ่งระหว่างถูกจำคุกเพื่อนและญาติได้ทำการสืบทะเบียนรถที่เกิดเหตุ จนรู้ว่านายสับ วาปี อายุ 59 ปี อยู่ที่ ต.กุดแข้ อ.เมือง จ.มุกดาหาร ซึ่งสารภาพว่าเป็นเจ้าของรถที่ก่อเหตุคือ Isuzu สีเขียว ทะเบียน บค 56 มุกดาหาร ขาดต่อภาษีปี 2551 ขับแซงขวาแล้วเฉี่ยวชนจริงก่อนจะจอดรถและลงไปดู เห็นคนขี่จักรยานนอนแน่นิ่งจึงขับหนีไป และไม่คิดว่าจะมีคนติดคุกแทน พร้อมกับจ่ายชำระค่าเสียหายให้กับครอบครัวเป็นเงิน 170,000 บาท

นายสับยืนยันผ่านรายการทุบโต๊ะข่าว ช่อง AMARIN TV (16 มกราคม) ว่าเป็นคนขับรถชนคนตายจริง ไม่ใช่ครูจอมทรัพย์แต่อย่างใด ก่อนหน้านี้ที่ไม่ออกมาสารภาพเพราะไม่รู้ข่าวว่ามีคนติดคุกแทน ทั้งปฏิเสธกรณีที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ยืนยันว่าครูจอมทรัพย์ว่าจ้างให้มาสารภาพแทนเพื่อจะได้เรียกเงินเยียวยา โดยมีหลักฐานที่สามารถทำให้สังคมเห็นว่าครูจอมทรัพย์ไม่ใช่แพะ แต่ต้องการทำลายกระบวนการยุติธรรมและทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว โดยมีผู้ร่วมขบวนการหลายคน

นอกจากนี้เฟซบุ๊คชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมยังโพสต์ข้อความ (วันที่ 16 มกราคม) ขอเดิมพันหากครูจอมทรัพย์เป็นแพะจริง ชมรมยินดีให้ฟ้องทั้งอาญาและแพ่งได้ทันที รวมทั้งจะไม่มีชมรมนี้ทำหน้าที่อีกต่อไป และยืนยันว่าไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ย้อนคำพิพากษา 3 ศาล

คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาคดีครูจอมทรัพย์ สรุปข้อเท็จจริงจากพนักงานสอบสวนได้ว่า เหตุเกิดบนถนนธาตุน้อย-นาเหนือ อ.เรณูนคร จ.นครพนม รถกระบะขับเร็วแซงจักรยานยนต์ไปชนคนขี่จักรยานสวนมาถึงแก่ความตาย คนขับหยุดรถดูแล้วขับหนีไป คนขี่จักรยานยนต์จำทะเบียนได้ว่า บค 56 สกลนคร ตำรวจตามไปพบว่าเป็นรถของครูจอมทรัพย์ที่ขายให้เพื่อนบ้านแล้ว แต่วันเกิดเหตุยืมรถไปใช้ก่อน รถมีรอยครูดด้านหน้าข้างซ้าย ครูจอมทรัพย์ยืนยันว่าเป็นรอยเก่า แต่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานยืนยันว่ารอยใหม่ทับรอยเก่า ซึ่งพบรอยกระทบด้วยวัตถุที่มีน้ำหนักและอ่อนนุ่มคล้ายส่วนใดส่วนหนึ่งของมนุษย์ ขณะที่เพื่อนบ้านผู้ซื้อรถก็ให้การว่าเป็นรอยครูดใหม่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกโดยไม่รับฟังคำให้การอีกข้อของคนขี่จักรยานยนต์ว่าเห็นคนขับรถกระบะเป็นผู้ชาย แต่พนักงานสอบสวนไม่บันทึกไว้ รวมทั้งไม่รับฟังพยานที่ครูจอมทรัพย์อ้างว่าไปด้วยกัน เพราะศาลเห็นว่าเป็นญาติ

ศาลอุทธรณ์ซึ่งจำเลยเปลี่ยนทนายเป็นนายวันชัย สอนศิริ ศาลพิพากษากลับให้ยกฟ้อง เพราะเห็นว่าคนขี่รถจักรยานยนต์ไม่ได้บอกเพื่อนและญาติผู้ตายในทันทีว่ารถทะเบียนอะไร ทั้งยังให้การว่าคนขับเป็นผู้ชาย ที่สำคัญคือศาลพิเคราะห์ว่า ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหากรถครูจอมทรัพย์ชนจริงก็ต้องมีรอยครูดด้านขวา ไม่ใช่ด้านซ้าย

คำวิเคราะห์ของศาลอุทธรณ์ระบุชัดเจนว่า รถกระบะขับกินเลนไปชนจักรยานขี่สวนมา จึงต้องชนกับหน้ารถด้านขวา แต่หลักฐานของตำรวจระบุพบหลักฐานที่รอยครูดด้านซ้าย ซึ่งทั้งตำรวจและอัยการก็ไม่ได้ฉุกคิดคำวิเคราะห์ของศาลอุทธรณ์ โดยอัยการได้ฎีกาและศาลฎีกาก็เห็นตามศาลชั้นต้น โดยไม่หักล้างเหตุผลของศาลอุทธรณ์

คดีบานปลาย-ผบ.ตร. ขู่ฟ้องกลับ

หากครูจอมทรัพย์เป็นแพะจริงย่อมส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยเฉพาะฝ่ายตำรวจที่ออกมาตอบโต้ข่าวและตรวจสอบผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ โดยเมื่อวันที่ 17 มกราคม พล.ต.ท.มนู เมฆหมอก ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประชุมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนมนานกว่า 2 ชั่วโมง และให้สัมภาษณ์ว่า เท่าที่ฟัง พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ โพธิ์โหน่ง อดีตพนักงานสอบสวน สภ.เรณูนคร จ.นครพนม ยืนยันว่าดำเนินการตามกฎหมายทุกประการ ซึ่งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 ได้ตั้งกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปฝังตัวในพื้นที่ เนื่องจากในคำร้องของครูจอมทรัพย์มีข้อพิรุธว่าทำไมจึงขอรื้อฟื้นคดีตอนนี้ ทั้งขอความเป็นธรรมสื่อนำเสนอข่าวให้ครบทุกประเด็น

พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ซึ่งทำคดีครูจอมทรัพย์กล่าวว่า ทำอย่างตรงไปตรงมาและสอบปากคำพยานถึง 3 รายที่ขี่จักรยานยนต์ตามหลังและเห็นเหตุการณ์ โดยจำตัวเลขและพยัญชนะทะเบียนรถได้ ซึ่งเดือนกันยายนปีนี้ก็จะเกษียณแล้ว ไม่อยากมีคดีติดตัวตอนแก่ จึงขอร้องอย่าฟังความข้างเดียว และยืนยันว่าไม่เคยเรียกร้องผลประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ระบุว่า หากผลสรุปออกมาว่าพนักงานสอบสวนทำสำนวนผิดจริงจะมีการเยียวยาตามกฎหมาย แต่หากครูจอมทรัพย์แจ้งความเท็จและเป็นผู้ที่ทำผิดจริงก็อาจต้องฟ้องกลับฐานทำให้ตำรวจเสื่อมเสียชื่อเสียง แต่ที่น่าสนใจและส่อว่าคดีนี้อาจบานปลายคือการระบุว่ามีขบวนการรับจ้างรับผิด โดย พล.ต.อ.ปัญญา มาเม่น จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ที่ลงพื้นที่ (17 มกราคม) กล่าวว่า พบขบวนการรับจ้างรับผิดที่อาจแจ้งข้อหาประมาณ 6 คน แต่ยังไม่แน่ใจว่าครูจอมทรัพย์ร่วมด้วยหรือไม่ ตราบใดที่พยานหลักฐานยังไม่ชัดเจน อยากให้เรื่องนี้กระจ่างโดยเร็วที่สุด เพราะตอนนี้สังคมสับสน ไม่มีเจตนาทำร้ายฝ่ายใด เพราะไม่รู้จักใครเป็นการส่วนตัว เชื่อว่าภายใน 2-3 วัน ทุกอย่างจะกระจ่างขึ้น ทั้งในส่วนที่ให้การไม่ตรงกับความจริงและพยานหลักฐานบางส่วนที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้อง

ติดคุกแล้วจะจัดฉากอีกทำไม?

นายวันชัย สอนศิริ ทนายความซึ่งทำคดีครูจอมทรัพยในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา ยืนยันผ่านรายการข่าวพีพีทีวีว่า คดีนี้ครูจอมทรัพย์เป็น “ครูแพะ” เป็น “แพะรับบาป” แน่นอน ดูจากพยานหลักฐานถ้อยคำขัดกันไปขัดกันมาจนน่าพิรุธและน่าจะมีกระบวนการที่บกพร่องหลายชั้น ถ้าครูจอมทรัพย์ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมครั้งนี้แล้วเป็นเรื่องไม่จริงก็ถือว่าเป็นการกระทำที่โง่ เพราะอาจทำให้ได้รับผลร้ายซ้ำ

นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความครูจอมทรัพย์ กล่าวว่า ครูติดคุกมาแล้ว 1 ปีครึ่ง แล้วมีเหตุผลอะไรที่จะให้ตัวเองกลับเข้าไปอยู่ในคุกอีกครั้ง คดีนี้อยู่ระหว่างศาลพิจารณา ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่ในตอนนี้ แม้จะอ้างว่าเพื่อให้ความเป็นธรรม แต่ตอนนี้ทางครูก็เหมือนอยู่คนละฝั่ง การลงพื้นที่มีแต่จะทำให้ครูกลัวเสียมากกว่า

นายอำนวย โกมินทรชาติ ประธานสภาวัฒนธรรม อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร อดีตรองผู้อำนวยการโรงเรียนโคกศรีสุพรรณ และผู้แทนครู (อกค.) สกลนคร กล่าวว่า รู้จักครูจอมทรัพย์เป็นอย่างดีตั้งแต่ได้บรรจุเข้ารับราชการที่โรงเรียนโคกศรีสุพรรณ ในแวดวงครูเสียใจกับครูจอมทรัพย์ที่โดนไล่ออกเพราะติดคุก ทำให้ครอบครัวได้รับความลำบากและอับอายต่อสังคม เชื่อว่าครูจอมทรัพย์บริสุทธิ์ และไม่เชื่อว่าครูจอมทรัพย์จะจัดฉาก เพราะได้รับโทษไปแล้ว ถ้าเป็นเรื่องเท็จอาจต้องถูกจำคุกอีก ได้ไม่คุ้มเสียแน่นอน อยากให้ทางราชการช่วยเหลือเยียวยา หรือถ้ากลับเข้ามารับราชการได้อีกยิ่งดี สังคมควรเห็นใจครูจอมทรัพย์

นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงกรณีครูจอมทรัพย์ว่า เข้าข่ายเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรม จะได้รับเงินตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จําเลยในคดีอาญา ประมาณจากค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จำคุกเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน หรือ 548 วัน คิดเป็นเงินเยียวยา 164,400 บาท จะได้รับก็ต่อเมื่อศาลมีคำพิพากษาจากการรื้อฟื้นคดีใหม่แล้วว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด

นายธวัชชัยกล่าวว่า กรณีนี้ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าจะล้อมวงสนทนาในเชิงวิชาการเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างยิ่ง เพราะส่งผลกระทบกับชีวิต ครอบครัว และบุคคลรอบข้างของเหยื่อแพะรับบาปโดยตรง เสียทั้งชื่อเสียงและขาดรายได้ เพราะเหยื่อคือเสาหลักของครอบครัว ส่งผลให้ลูกชายไม่ได้เรียนหนังสือไป 1 คน ซึ่งคดีนี้กระทรวงยุติธรรมได้เข้าไปช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557 หลังจากญาติของครูจอมทรัพย์ได้มาติดต่อสำนักงานยุติธรรมจังหวัดนครพนมและส่งเรื่องยังกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ที่ดูแลกองทุนยุติธรรมในขณะนั้น ซึ่งได้พิจารณาข้อมูลและข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว รวมทั้งได้ตัวผู้กระทำความผิดตัวจริงมาด้วย เห็นว่าครูจอมทรัพย์น่าจะเป็นแพะรับบาป กองทุนยุติธรรมจึงได้อนุมัติในการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่

ความจริงแท้..มีแค่หนึ่งเดียว

ความเห็นต่างๆที่ออกมาหลังจากครูจอมทรัพย์ยืนยันความบริสุทธิ์และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้มีการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นมาใหม่ ถือว่าการร้องเรียนของครูจอมทรัพย์มีน้ำหนักและเหตุผล จากหลักฐานต่างๆทำให้เกิดคำถามว่า ทั้งตำรวจ อัยการ และศาล มองข้ามเหตุผลหลักของคดีไปได้อย่างไร คือช่วงที่เกิดเหตุการณ์และสภาพของรถกระบะที่ขับแซงจักรยานยนต์ไปชนรถจักรยานที่ขี่สวนมา รอยครูดของรถต้องอยู่ด้านหน้าฝั่งขวา ไม่ใช่ด้านหน้าฝั่งซ้าย เป็นไปไม่ได้ที่ระยะกระชั้นชิดแล้วหักหลบทางขวาที่ผิดธรรมชาติ ทั้งคำให้การของพยานก็ไม่ได้บอกว่ารถหักขวา บอกแต่เพียงชนแล้วจอดดูและขับหนีไป

ในขณะที่การสอบสวนของตำรวจที่ยืนยันว่าทำอย่างตรงไปตรงมาและสอบปากคำพยานถึง 3 ราย แต่ปักใจว่าการที่ครูจอมทรัพย์ไม่ยอมให้ปากคำชั้นสอบสวนทำให้มีพิรุธ จึงส่งฟ้อง โดยที่ฝ่ายอัยการก็มองข้ามเหตุผลของศาลอุทธรณ์ จึงฎีกาตามหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้รื้อฟื้นคดีใหม่และกระทรวงยุติธรรมได้เข้ามาดูแลคดีนี้ ครูจอมทรัพย์ยังยืนยันความบริสุทธิ์ใจของตัวเองว่าเป็นแพะจริง ทั้งยังมีคนมายืนยันว่าเป็นคนทำผิดตัวจริง ซึ่งศาลนัดสืบพยานอีกครั้งในวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์นี้

กรณีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความเห็นว่า ต้องลงไปดูและฟังเหตุก่อน ไม่ใช่ไปเขียนว่าครูแพะติดคุกไปแล้ว อย่าเพิ่งไปลงความเห็นว่าใครผิดใครถูก ถ้าถูกก็พร้อมเยียวยาให้เหมาะสมและขอโทษกันไป เป็นครูก็กลับมาสอนได้ แต่จะแจ้งความเท็จหรือพูดเท็จหรือเปล่าก็ไม่รู้ ให้เขาตัดสินมาก่อนว่าแพะหรือแกะก็ไม่รู้ ตนไม่ได้ปกป้องคนผิด ต้องพูดด้วยหลักฐานและกฎหมาย อย่าพูดด้วยความรู้สึก นึกถึงตำรวจอีกกี่แสนคนจะรู้สึกอย่างไร “พูดกันไปมาก็ไปกันใหญ่ แล้วต่างประเทศได้ยินก็มาบอก โอ้โห ประเทศไทยมีอะไรนักหนาวะเนี่ย สอบก็สอบแทนกัน อาจารย์ก็ปลอม แต่ไม่ใช่ทั้งหมดนี่นา ช่วยกันรักษาหน้าตาประเทศไทยหน่อย ผิดคือผิด ไม่ได้ปิดบัง”

ดังนั้น ไม่ว่าคดีนี้จะเป็นแกะหรือแพะ ทุกอย่างก็ต้องเอาความจริงมาพิสูจน์ เพราะ “ความจริงแท้นั้นย่อมมีแค่หนึ่งเดียว” ฝ่ายตำรวจต้องเปิดใจกว้างกับหลักฐานที่ศาลอุทธรณ์ได้ให้เหตุผลในการรื้อฟื้นคดีใหม่ ไม่ใช่เริ่มต้นก็ดาหน้ากันออกมาข่มขู่จะฟ้องกลับครูจอมทรัพย์ตั้งแต่หัวแถวยันหางแถว

โดยเฉพาะการสร้างกระแสในสื่อออนไลน์บางข่าวที่ยิ่งกว่ายกเมฆ กล่าวหาว่าครูแพะติดคุกแทนสามี และใครเป็นพยานจะซื้อวัวซื้อควายให้ เพราะจะได้เงินชดเชยจากการติดคุก 50 ล้านบาท ทั้งที่ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯครูจอมทรัพย์จะได้เงินเยียวยาเพียง 164,400 บาท จากการสูญเสียอิสรภาพ 548 วัน

(เด็กเลี้ยง)แกะหรือแพะ(รับบาป)

คดีของครูจอมทรัพย์จะเป็นการ “จับแพะ” หรือ “จับแกะ” หรือ “เอาเด็กเลี้ยงแกะมาชนแพะรับบาป” ก็หวังว่าคงไม่เป็นแค่ดราม่ามหากาพย์แล้วเงียบหายกันไปเฉยๆ เพราะมีหลายฝ่ายเป็นตัวละครที่เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบที่เผชิญกับวิกฤตศรัทธาอีกครั้ง หลังจากเคยปรากฏคดีดังในอดีตที่เป็นตราบาปมาแล้วคือคดี “เชอร์รี่แอน” หลัง น.ส.เชอร์รี่แอน ดันแคน หายตัวไปหลังเลิกเรียนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2529 และพบเป็นศพในเวลาถัดมา หลังจากนั้น 1 เดือน ตำรวจจับกุมผู้ต้องหา 4 รายคือ นายรุ่งเฉลิม กนกชวาลชัย นายพิทักษ์ ค้าขาย นายกระแสร์ พลอยกลุ่ม และนายธวัชชัย กิจประยูร

ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องทั้งหมด แต่ให้ขังระหว่างรอฎีกาอีก 6 ปี ก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาว่าทั้งหมดเป็นผู้บริสุทธิ์ในปี 2536 ซึ่งระหว่างผู้ต้องหาติดคุก นายรุ่งเฉลิมเสียชีวิตในเรือนจำจากอาการหัวใจวาย ส่วนอีก 3 คนได้รับการปล่อยตัว โดยนายพิทักษ์และนายธวัชชัยเสียชีวิตในเวลาต่อมาจากโรคที่ติดมาจากเรือนจำ ขณะที่นายกระแสร์กลายเป็นผู้พิการกระดูกสันหลังร้าว ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องชดใช้ค่าเสียหายกว่า 38 ล้านบาท ถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ที่ทุกครั้งที่มีข่าวเรื่องการ “จับแพะ” ก็จะมีการยกกรณี “เชอร์รี่แอน” ขึ้นมาเพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก

กรณีครูจอมทรัพย์ไม่ใช่แค่การค้นหา “ความจริงแท้ที่มีหนึ่งเดียว” เท่านั้น แต่ยังเป็นการตอกย้ำว่าจำเป็นต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ และศาล ซึ่งมักอ้างถึงกระบวนการหลักฐานที่มีหลายชุด โดยเฉพาะฝ่ายตำรวจที่เป็นพนักงานสืบสวนสอบสวนมักจะยืนยันทุกครั้งว่าทำหน้าที่อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และตรงไปตรงมา แต่หลายกรณีที่มีการเร่งรัดให้รวดเร็วหรือเต้นไปตามกระแสการเมืองก็มักจะเห็นการออกมากล่าวหาอย่างไร้ความรับผิดชอบ หรือยังมีคนบริสุทธิ์ต้องติดคุกฟรีอยู่เสมอ

กรณีคดีครูจอมทรัพย์จะเป็นการ “จับแพะชนแกะ” หรือ “จับแกะชนแพะ” สังคมคงต้องอดใจรอ เพราะทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมสู้กันด้วยหลักฐาน ใครถูกใครผิดว่าไปตามความจริง ที่สำคัญคือ เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับ “อคติ” ทางสีเสื้อ คือไม่มีเหลืองไม่มีแดง มีแต่ขาวกับดำเท่านั้น ต่างจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ “ความจริงมีหลายชุด” และ “วาทกรรมมีมากมาย” บวกกับ “อคติ” ที่บดบังความจริงจนมืดมิดยากจะหาความปรองดอง โดยเฉพาะที่ภาวะบ้านเมืองอยู่ภายใต้อำนาจพิเศษ แม้ผู้มีอำนาจจะประกาศว่า “กฎหมายเป็นกฎหมาย” แต่ก็เป็นกฎหมายไม่ปรกติภายใต้อำนาจพิเศษที่ไม่ใช่สภาวะปรกติ ไม่ใช่กฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมปรกติ บางครั้งอาจทำให้ผู้ใช้อำนาจย่ามใจ หรือทำทุกอย่างตามคำสั่งของผู้มีอำนาจ เพราะอ้างกฎหมายที่ให้ทำอะไรก็ไม่ผิด อย่างคดีรับจำนำข้าวที่ผู้มีอำนาจสั่งให้เร่งรัดให้เสร็จเร็วที่สุด โดยผู้ปฏิบัติตามคำสั่งจะไม่มีความผิดในทุกกรณี ไม่สามารถถูกใครฟ้องได้ทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย แม้ว่าปัจจุบันมีข้าวเน่าหรือข้าวเสียมากน้อยหรือไม่ แค่ไหน หรือยังไม่สามารถชี้ชัดได้ชัดเจนก็ตาม แต่มีการเอาผิดเรียกค่าเสียหายอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ไปเรียบร้อยแล้ว เหมือนในอดีตที่เกิดกรณีลอบสังหารอดีตนายกฯทักษิณด้วย “คาร์บอมบ์” ที่มีหลักฐานว่าเป็นระเบิดจริงกลางเมือง ยังถูกฝ่ายมีอำนาจเสกให้สื่อเสนอข่าวว่าเป็นแค่ “คาร์บ๊องส์” มาแล้ว

ส่วนกรณีไผ่ ดาวดิน สมยศ พฤกษาเกษมสุข และอีกหลายคนที่ถูกจำกัดหรือพรากสิทธิการประกันตัวระหว่างที่ต้องสู้คดี ผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้แม้คดียังไม่ถึงที่สุด แต่ที่น่าอนาถคือ เขาเหล่านี้ไม่มีโอกาสออกมาหาหลักฐานต่อสู้ภายนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นเรื่องสะเทือนใจยิ่งนัก

ถ้ากรณีครูจอมทรัพย์เป็นผู้บริสุทธิ์จริง แล้วยังมีการพยายาม “จับแกะชนแพะ” โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้บริสุทธิ์ที่ต้องติดคุกว่าจะทุกข์ทรมานอย่างไร ชีวิตครอบครัวจะพังพินาศอย่างไร อาจจะยิ่งกระทบกระบวนการยุติธรรมโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เรื่องความยุติธรรมไม่เกี่ยวกับความแตกแยกหรือสีเหลืองสีแดง ไม่ใช่สงครามระหว่างครูกับตำรวจ ตำรวจทำหน้าที่อย่างถูกต้องเป็นธรรมก็เรียกร้องได้ หากครูโกหกลวงโลกก็ต้องรับโทษไป ศาลก็ต้องพิจารณาไปตามหลักฐาน อย่างไรก็ตาม ศาลไม่ได้เป็นคนไปหาหลักฐาน ขั้นตอนการหาหลักฐานและพยานอยู่ที่ตำรวจซึ่งเป็นต้นน้ำเป็นฝ่ายสอบสวน ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาก็ต้องหาหลักฐานมาหักล้าง กระบวนการยุติธรรมจึงต้องโปร่งใส เป็นธรรม เสมอภาค และตรวจสอบได้

สังคมไทยวันนี้เต็มไปด้วยวาทกรรมโกหกตอแหล ทั้งที่รู้ว่าความจริงแท้ย่อมมีแค่หนึ่งเดียว นอกจากไม่มีความจริงใจในการแสวงหาความจริงแล้ว กลับมีวาทกรรมใหม่ๆที่เคลือบด้วยอคติมาบดบังอยู่เสมอ

วาทกรรมปรองดองภายใต้คำสั่งมาตรา 44 ที่กำลังโหมกระพืออยู่ขณะนี้จะเดินหน้าไปต่อได้แค่ไหน สรุปว่ารู้หรือยังว่าใครคือคู่ขัดแย้ง ใครคือกรรมการ หรือกรรมการก็คือคู่ขัดแย้ง การปรองดองจึงไม่ใช่แค่การให้สัตยาบัน เพราะขนาดผู้นำกองทัพประกาศต่อสาธารณชนครั้งแล้วครั้งเล่าว่าจะไม่ทำรัฐประหารเด็ดขาด แต่ในรอบ 10 ปีก็ยังเกิดรัฐประหารถึง 2 ครั้งมาแล้วโดยผู้พูดเอง

สังคมไทยจะเกิดความสามัคคีปรองดองได้ก็ต้องลดละเลิกความอคติและเกลียดชังให้ได้ก่อน คนไทยและสังคมไทยก็จะมีสติและค้นหารากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งที่เป็นความจริงแท้ที่มีแค่หนึ่งเดียว

จาก “วาทกรรม” ขบวนการ (ตามผัง) ล้มเจ้า กลายเป็น “ผังกำมะลอ” จากกระบวนการยุติธรรม (ที่ยังรอการพิสูจน์) กลายเป็น “ขบวนการรับจ้าง (ติดคุก)” ที่ติดคุกไปรอบหนึ่งแล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้

สุดท้ายจะเป็น “จับแพะชนแกะ” หรือ “จับแกะชนแพะ” จะเป็น “ขบวนการยุติธรรมหรือขบวนการตอแหล?” หรือจะซวยซ้ำซ้อนเป็น “แพะยกกำลัง 2” เพราะดันไปต่อกรเย้ยหยันอำนาจรัฐ (ประหาร) โปรดใช้สติ ปัญญา และวิจารณญาณ โดยปราศจากอคติ!!?


You must be logged in to post a comment Login