วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

อลวนMOU

On January 19, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

MOU ซึ่งย่อมาจาก Memorandum of Understanding แปลเป็นไทยได้ความหมายว่า “บันทึกความเข้าใจ”

ส่วนความหมายที่ถูกขยายความไว้มากกว่านั้น ถูกบ่งบอกว่า MOU คือ เอกสารหรือหนังสือที่เก็บบันทึกข้อตกลง ความเข้าใจที่ตรงกัน หรือ ข้อตกลงที่จะร่วมมือระหว่างสองฝ่าย MOU จะมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในเอกสารนั้น

ที่นำความหมายของ MOU มาให้ดู ก็เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังพูดถึงกันเรื่องทำ MOU สร้างความปรองดอง ที่รัฐบาลทหารคสช.อาสาเป็นคนกลางตั้งเวทีให้ฝ่ายต่างๆในบ้านเมืองที่มีความขัดแย้งกันอยู่มานั่งพูดคุยหารือว่าจะมีแนวทางร่วมมือกันอย่างไรบ้างเพื่อให้บ้านเมืองก้าวข้ามความขัดแย้ง

เมื่อพูดคุยจนได้ข้อยุติร่วมกันแล้ว รัฐบาลทหารคสช.จะให้ทุกฝ่ายที่ร่วมพูดคุยลงนามใน MOU เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติ

แต่ช้าแต่…ความขัดแย้งที่มีมากกว่าทศวรรษจะให้คุยกันจบภายในระยะเวลา 3 เดือนอย่างที่รัฐบาลทหารคสช.ต้องการคงเป็นไปได้ยาก เพราะแค่เริ่มต้นความเห็นก็หลากหลาย

ดีไม่ดีจะกลายเป็นว่าความพยายามให้เกิดการเจรจาและทำ MOU ระหว่างฝ่ายที่ขัดแย้งกันนั้นจะกลายเป็นเชื้อจุดชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ให้เกิดขึ้นอีกต่างหาก

ในตอนแรกที่ดูเหมือนมีสัญญาณการตอบรับที่ดีจากหลายฝ่าย แต่เวลาผ่านไปไม่นานสัญญาณดีที่ว่านั้นแผ่วบางลงไปเรื่อยๆ

ที่เป็นเช่นนี้เพราะ

1.กองทัพโดยเฉพาะทหารบกถูกมองว่าไม่ใช่คนกลาง แต่ถูกจัดเป็นหนึ่งในคู่ขัดแย้ง จึงไม่มีความเหมาะสมที่จะมาทำหน้าที่นั่งหัวโต๊ะจับทุกฝ่ายมาคุย หน้าที่ของกองทัพคือร่วมพูดคุยหาทางออกกับกลุ่มอื่นๆด้วย

ขณะนี้จึงมีข้อเรียกร้องที่ถูกโยนออกมาซึ่งน่าจะกลายเป็นประเด็นร้อน อาจถึงขั้นส่งผลให้วงแตกก่อนเริ่มพูดคุยสร้างความปรองดอง นั่นคือข้อเรียกร้องให้กองทัพร่วมลงนาม MOU ว่าจะไม่ทำรัฐประหารอีกต่อไป

2.แม้จะมีการพูดคุยกันจนได้ข้อสรุปและลงนาม MOU ร่วมกันแล้ว ก็ไม่มีหลักประกันใดว่า MOU ที่ลงนามกันไว้อย่างสวยหรูนั้นจะเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง เพราะ

2.1 ไม่มีใครมั่นใจว่าคนที่จะมาร่วมวงพูดคุยเพื่อนำไปสู่การลงนามใน MOUนั้นมีอำนาจมากแค่ไหนในการสั่งหรือคุมมวลชนพรรคพวกในฝ่ายตัวเอง

ถ้าคนลงนามใน MOU ไม่มีพาวเวอร์สั่งการ ต่อให้เขียนข้อตกลงกันไว้เริ่ดหรูแค่ไหนก็ไม่เกิดประโยชน์

คนลงนาม MOU อาจทำตาม แต่หากมวลชนที่สนับสนุน หรือแกนนำทางความคิดคนอื่นๆ ไม่เห็นด้วย ไม่ยึดถือปฏิบัติตาม MOU ใครจะไปบังคับได้

2.2 MOU มีสถานะเพียงแค่เป็นบันทึกความเข้าใจ “ว่าจะทำ” ร่วมกัน ไม่ได้มีสถานะเป็นกฎหมายหรือข้อบังคับที่หากใครไม่ทำตามต้องมีความผิดต้องได้รับโทษ

เมื่อ MOU มีสถานะแค่ข้อตกลง แม้จะมีตัวอักษรกำกับอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่มาคุย คนที่ร่วมลงนาม หรือคนที่เป็นแนวร่วมสนับสนุนจะต้องยึดมั่และทำตามข้อตกลงที่ปรากฏในกระดาษโดยไม่สามารถบิดพลิ้วได้

2.3 ยังมีคนมองโลกในแง่ลบ ตั้งข้อสังเกตว่าการที่รัฐบาลทหารคสช.ออกมาทำเรื่องความปรองดองในช่วงท้ายอำนาจแบบนี้ เพราะรู้อยู่เต็มอกอยู่แล้วว่าเมื่อเริ่มต้นพูดเรื่องสร้างความปรองดอง ความขัดแย้งรอบใหม่ก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะมีผลทำให้ประชาชนทั่วไปหวาดหวั่นว่าบ้านเมืองจะกลับไปวุ่นวายเหมือนเดิมอีก อันจะมีผลทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลทหารคสช.นั่งทับอำนาจอยู่ต่อไป โดยไม่ต้องสนใจโรดแม็พเลือกตั้ง หรือถ้ายิ่งเกิดความวุ่นวายขึ้นมาจริง ยิ่งสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลทหารคสช.อยู่ต่อ

ความอลวนของการทำ MOU สร้างความปรองดองจึงเริ่มเกิดให้เห็นด้วยประการฉะนี้


You must be logged in to post a comment Login