วันพฤหัสที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เย้ยหยันอำนาจรัฐ(ประหาร)? / โดย ทีมข่าวการเมือง

On January 16, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการตั้ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดอง” ว่าการตั้งคณะกรรมการเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูปและปรองดองให้เกิดความชัดเจน ให้ทุกอย่างอยู่ในแผนแม่บทคือ การปฏิรูประยะที่ 1 ปี 2560 ถ้ามีความจำเป็นก็ต้องใช้มาตรา 44 ดำเนินการ นี่คือการส่งต่อ “การสืบทอดอำนาจ” ให้รัฐบาลใหม่ เพราะตนไม่ได้อยู่ถึง 20 ปี

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเรื่องการปรองดองว่า อย่าเข้าใจว่าต้องพูดคุยกับนักโทษหรือผู้มีความผิดเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรไม่ให้คนไทยทะเลาะกันอีก ถามว่าที่ผ่านมาทะเลาะกันเพราะสาเหตุใด ทำไมคนไทยถึงปฏิสัมพันธ์กันไม่ได้ บ้านเดียวกันยังคุยหรือดูโทรทัศน์ช่องเดียวกันไม่ได้ อย่ามัวสนใจแต่จะเอาคนติดคุกออกมา หรือให้คนที่อยู่ต่างประเทศกลับมา

“เอาคนที่อยู่ในประเทศวันนี้ก่อน เดือดร้อนมากไหม เทียบกับคนที่อยู่ต่างประเทศ ใครเดือดร้อนกว่ากัน แล้วเดือดร้อนเพราะอะไร คิดให้เป็น ต้องปฏิรูปทางความคิดด้วย อย่าหาเหตุจนกระทั่งทำอะไรไม่ได้เลย แต่ก็จะให้ฝ่ายการเมืองเข้ามา ดูสิว่าจะเสนอเรื่องปรองดองอย่างไร ถ้าเสนอร่วมกันไม่ได้ก็ให้แต่ละพรรคเสนอเข้ามา แล้วให้นักข่าวดูแล้วตัดสินเอา” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการประชุมของ คสช. เกี่ยวกับการปรองดองว่า นายกฯมอบให้ตนดูแล จะพยายามทำให้เกิดความปรองดองให้ได้ ขณะนี้มีหน่วยงานสำคัญอย่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม รวมทั้งเหล่าทัพเข้ามาดูแลร่วมกัน โดยอาจเชิญผู้แทนพรรคการเมืองมาพูดคุย แต่จะเชิญทีละพรรคสองพรรคเพื่อพยายามหาข้อยุติให้ได้ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้อยู่กันอย่างสันติ เรื่องในอดีตจะต้องทำอย่างไร เรื่องกฎหมายก็ว่ากันไปตามกฎหมาย

พล.อ.ประวิตรย้ำว่า การปรองดองต้องใช้กติการ่วมกันและต้องให้เสร็จก่อนมีการเลือกตั้ง โดยในส่วนของกระทรวงกลาโหมทำไว้แล้ว ก็ต้องเอามาต่อยอดต่อ

ปรองดองแค่วาทกรรม?

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า การเดินหน้ายุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดอง เพราะปี 2560 เป็นปีสุดท้ายของรัฐบาล ถือเป็นปีแห่งการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดผลอย่างแท้จริงตามการทำงานด้านการปฏิรูปของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรัฐบาล ทั้งการซ่อม เสริม และสร้างใหม่ เพื่อเตรียมการสู่อนาคตภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่และรองรับการตั้งคณะกรรมการสานต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯจะมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน และแบ่งย่อยอีก 4 คณะคือ 1.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 2.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3.คณะกรรมการปรองดอง และ 4.คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ โดยมีสำนักงานบริหารยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดองทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบประเมินแต่ละคณะทำงานเพื่อรายงานต่อนายกรัฐมนตรี

แม้การสร้างความปรองดองเป็นเรื่องที่ดี แต่ฝ่ายการเมืองและกลุ่มสีต่างๆส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อว่าจะเห็นอะไรเป็นรูปธรรม ทั้งตั้งคำถามว่าทำไมเพิ่งมาทำขณะนี้ โดยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ความปรองดองไม่เกิดและยังจะไม่เกิดไปอีกนานคือ กลไกในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ตรงไปตรงมา กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย เพราะการบังคับใช้กฎหมายไม่เสมอภาค สองมาตรฐาน หรือขัดกับหลักความเป็นธรรมจนคนยอมรับไม่ได้ ฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็ผิด แต่อีกฝ่ายหนึ่งสามารถละเมิดกฎหมายได้

“ผมไม่ได้หวังอะไรกับรัฐบาลนี้เท่าไรนัก รัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2557 ยังไม่มีการทำเรื่องปรองดองเป็นชิ้นเป็นอัน และการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เช่น การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะนำไปสู่ความปรองดองได้อย่างไร” นายพงศ์เทพกล่าว

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สิ่งแรกที่รัฐบาลต้องทำคือ จำกัดความคำว่าการปรองดองให้ถูกต้องก่อน ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งตีความเป็นการนิรโทษกรรม อีกฝ่ายบอกต้องไม่นิรโทษกรรม การปรองดองต้องนำข้อเท็จจริงมาพิสูจน์กันว่าที่ผ่านมาขัดแย้งเพราะอะไร เพื่อไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก หรือจะนิรโทษกรรมบางเรื่องก็จำเป็นต้องจำกัดเรื่องของคดีให้ชัดเจน ถ้าไม่เข้าใจตรงกัน สุดท้ายก็จะเกิดความขัดแย้งอีก

นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษา นปช. ถามว่าทำไมเพิ่งมาพูดเรื่องปรองดองขณะนี้ ทั้งที่ควรพูดตั้งแต่ต้น แต่กว่า 2 ปีกลับไม่ทำ หากผู้มีอำนาจยืนยันว่าตัวเองเป็นเจ้าของความถูกต้องทั้งหมด การปรองดองก็เกิดขึ้นลำบาก เพราะการปรองดองที่แท้จริง คู่ขัดแย้งต้องมีเสรีภาพในการพูด แสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ จึงไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้หากรัฏฐาธิปัตย์เป็นเจ้าภาพ

นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการเพื่อการปรองดอง แต่ คสช. ต้องเข้ามาเป็นกรรมการด้วยเพราะมีอำนาจสูงสุด ส่วนกลุ่ม นปช. กปปส. และพันธมิตรฯ ไม่ควรนำเข้ามาเป็นกรรมการ เพราะถือเป็นกลุ่มที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และอาจมีข้อกังขาว่าเพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากคดีความ

นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตแกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า เห็นด้วย แต่ต้องไม่ลืมว่าเขียนกฎหมายดีแค่ไหน ถ้าสังคมยังแตกแยกกันอยู่ หลังเลือกตั้งก็กลับไปสู่วังวนเดิมๆ ถ้าไม่จัดการกับเงื่อนไขหลักๆ เชื้อไฟก็มีโอกาสคุโชนได้ตลอดเวลา

นายโคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งคำถามว่า เป็นกระบวนการที่จะให้ทุกฝ่ายร่วมมือและมีส่วนร่วมมากแค่ไหน ถ้าทำในสไตล์ของทหารก็ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ ที่ผ่านมา คสช. บอกว่าขอเวลาไม่นาน แต่ผ่านไป 2 ปีกว่าแล้วเพิ่งมาเริ่มเรื่องนี้ ทำให้เชื่อว่ามีการตั้งธงอะไรไว้ แต่ก็ขอให้ความพยายามครั้งนี้มีมรรคผลพอสมควรตามที่ตั้งใจ

เย้ยหยันอำนาจรัฐ (ประหาร)?

ทุกฝ่ายเห็นด้วยกับการสร้างความปรองดอง แต่ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ โดยเฉพาะความจริงใจของรัฐบาลและ คสช. เพราะปี 2557 คสช. ประกาศจะสร้างความปรองดองให้สำเร็จภายใน 2-3 เดือน แต่สุดท้ายก็ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง การพยายามจะสร้างความปรองดองขณะนี้จึงมีคำถามว่า ทำไมกว่า 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลและ คสช. มีอำนาจมากมาย แต่กลับใช้อำนาจที่สวนทางกับความปรองดอง ไม่ว่าจะเรียกไปปรับทัศนคติ การจับกุมคุมขังในข้อหาต่างๆ แม้แต่การยืนเฉยๆ หรือการแสดงความคิดเห็นอย่างสงบก็ตาม

การสร้างความปรองดองก่อนการเลือกตั้งจึงไม่มีใครเชื่อว่าจะเห็นอะไรเป็นรูปธรรม หากการใช้อำนาจและบรรยากาศทางการเมืองยังปิดกั้นสิทธิเสรีภาพและการแสดงความคิดเห็นต่างๆ หรือ “ทั่นผู้นำ” ยังคิดว่าความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองคือประชาชนทุกคนต้องเชื่อ “ทั่นผู้นำ” ทุกอย่าง

โดยเฉพาะการจับกุมผู้เห็นต่างอย่างต่อเนื่องแม้แต่นักศึกษา อย่างกรณีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ถูกจับในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่แชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ซึ่งรายงานโดยสำนักข่าวบีบีซีไทย แต่คนแชร์อีกนับพันคนกลับไม่มีใครถูกจับกุมดำเนินคดีแม้แต่คนเดียว รวมถึงสำนักข่าวบีบีซีไทย

การจับกุมและตั้งข้อหาหนักกับไผ่มีคำถามทั้งในแง่หลักกฎหมายและมนุษยธรรมว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ อีกทั้งศาลยังไม่ให้ประกันตัวอีก โดยระบุเหตุผลการเพิกถอนประกันว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขการประกันตัวตั้งแต่แรก ทั้งที่ฝ่ายตำรวจอ้างการโพสต์เฟซบุ๊คนี้เป็นหลักฐาน การลบข้อความจึงอาจถูกตีความได้ว่าไปกระทำ “ยุ่งเหยิง” ต่อพยานหลักฐานเสียอีก

ส่วนการระบุว่าผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองและก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาตินั้น ก็มีคำถามว่าเป็นการระบุที่นอกเหนือจากกรอบกฎหมายหรือไม่ เพราะไม่มีกฎหมายใดเลยที่บอกว่าการกระทำ “เย้ยหยันอำนาจรัฐ” เป็นความผิด

แอมเนสตี้ชวนทั่วโลกกดดัน

การจับกุมและเพิกถอนประกันไผ่ ทำให้เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2559 กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรม “กินข้าวหลามเฉยๆ” บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เพื่อแสดงออกโดยสันติว่าไม่เห็นด้วยกับการเพิกถอนประกัน ด้านเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองออกแถลงการณ์คัดค้านการคุมขังไผ่ เพราะเห็นว่าไม่ได้ทำความผิด และเห็นควรที่จะปล่อยตัวชั่วคราวเป็นอย่างน้อยเพื่อให้สิทธิในการต่อสู้คดี

วันที่ 8 มกราคม ประชาชนในนามกลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมประมาณ 15 คน ได้รวมตัวกันจุดเทียนเป็นรูป FREE PAI เพื่อให้กำลังใจและออกแถลงการณ์ให้คืนสิทธิในการได้รับการประกันตัวไผ่

วันที่ 10 มกราคม นักกิจกรรมที่ร่วมลงชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org ได้นำรายชื่อประชาชนกว่า 3,600 รายชื่อ เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ไผ่ รวมถึงหนังสือจากนายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดาของไผ่ โดยเรียกร้องต่อนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมกรณีกระบวนการจับกุมและกระบวนการพิจารณาคำร้องขอฝากขังนายจตุภัทร์มิชอบ กรณีการถอนประกันและไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว และกรณีการใส่โซ่ตรวนและการละเมิดสิทธิในการตรวจร่างกายเมื่อออกมาศาล

นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ กล่าวถึงคดีของไผ่ว่า ไม่มีการฟ้อง แต่เป็นเพียงแค่การฝากขังเท่านั้น ขณะนี้อยู่ในผัดที่ 5 ซึ่งจะมีการฝากขังสูงสุดถึง 7 ผัดๆละ 12 วัน ซึ่งขณะนี้ไผ่เหลือเพียง 1 วิชาที่ต้องสอบกลางเดือนมกราคมนี้ก็จะจบเป็นบัณฑิต จึงอยากขอความเมตตาต่อศาลควรให้โอกาสเยาวชน และในวันที่ 12 มกราคม ทางกลุ่มจะจัดกิจกรรม “หอบรักมาห่มไผ่ รถไฟช้ามาหานะเธอ” เวลา 19.00 น. ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่อเดินทางไปเยี่ยมไผ่และเพื่อนๆที่จังหวัดขอนแก่น

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 9 มกราคม สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกปฏิบัติการด่วนเชิญชวนผู้สนับสนุนกว่า 7 ล้านคนทั่วโลกร่วมเขียนจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเรียกร้องให้ปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาต่อไผ่ โดยระบุว่าไผ่ตกเป็นเป้าหมายโจมตีเพียงเพราะใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ ซึ่งจะมีการรณรงค์ไปถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์

ย้อนคดีไผ่ ดาวดิน

การเคลื่อนไหวของไผ่กับการถูกจับกุมครั้งล่าสุดถือว่าน่าสนใจอย่างมาก เพราะมีคำถามว่าเป็นการใช้กลไกทางกฎหมายที่เลือกปฏิบัติหรือไม่ เนื่องจากไผ่และเพื่อนกลุ่มดาวดินเป็นนักศึกษากลุ่มแรกๆที่แสดงตัวไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร การเคลื่อนไหวที่เป็นข่าวไปทั่วโลกคือการ “ชู 3 นิ้ว” ร่วมกับเพื่อนอีก 4 คน ต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ขณะกำลังกล่าวเปิดงานรวมใจสู้ภัยแล้งที่ขอนแก่น โดยสวมเสื้อสีดำที่สกรีนคำว่า “ไม่-เอา-รัฐ-ประ-หาร” ซึ่งถือเป็นการท้าทาย คสช. ที่กล้าหาญอย่างมาก

การจับไผ่เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2559 ในข้อหามาตรา 112 หลังแชร์รายงานของบีบีไทย แต่คนที่แชร์อีกนับพันไม่ถูกดำเนินคดี ยิ่งตอกย้ำเรื่องสองมาตรฐานหรือเลือกปฏิบัติ ยิ่งไผ่ไม่ได้ประกันตัวถึง 4 ครั้ง ก็ยิ่งทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปล่อยตัวไผ่จากกลุ่มกิจกรรมและองค์กรต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เมื่อย้อนดูการยื่นขอประกันตัวของไผ่ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมายคือ วันที่ 4 ธันวาคม 2559 ศาลจังหวัดขอนแก่นให้ประกันตัวโดยไผ่ยื่นหลักทรัพย์ 400,000 บาท โดยยกเหตุผลว่าไม่เคยมีพฤติกรรมหลบหนี อีกทั้งวันที่ 8 ธันวาคม ต้องสอบ 1 วิชา หากไม่ได้เข้าสอบจะส่งผลให้ไม่จบตามหลักสูตร ศาลจึงพิจารณาให้ประกันตัว

วันที่ 22 ธันวาคม 2559 ศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งถอนประกันไผ่ ระบุว่าเพราะไม่ลบโพสต์ข่าวบีบีซีไทยที่เป็นเหตุแห่งคดี และยังระบุว่ามีการโพสต์เย้ยหยันอำนาจรัฐ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ

วันที่ 23 ธันวาคม 2559 ไผ่ยื่นอุทธรณ์คำสั่งถอนประกันถึงศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยืนยันว่าไม่เคยผิดเงื่อนไขประกันหรือก่อความเสียหาย และไม่มีแนวโน้มจะก่อความเสียหาย ทั้งระบุว่าข้ออ้างของผู้ร้องขอถอนประกันเลื่อนลอย และข้อวินิจฉัยของศาลจังหวัดขอนแก่นคลาดเคลื่อน แต่ในวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งถอนประกันดังกล่าว และยืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้น โดยระบุว่าผู้ต้องหามีพฤติกรรมไม่เกรงกลัวต่ออำนาจรัฐและกฎหมาย และหากมีการปล่อยตัวผู้ต้องหาอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้

การไม่ให้ไผ่ประกันตัวอาจส่งผลต่อการเรียนของไผ่อย่างมาก เพราะวันที่ 16 มกราคม ไผ่ต้องสอบวิชาคอมพิวเตอร์ที่เป็นวิชาสุดท้ายในหลักสูตรปริญญาตรี หากไม่ได้สอบก็ไม่จบในปีการศึกษานี้โดยปริยาย

ยุติธรรมไม่มี ปรองดองไม่เกิด

กรณีของไผ่เป็นหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นการบังคับใช้กฎหมายภายใต้อำนาจรัฐประหารที่ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองใดๆได้เลย แม้จะเป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างสงบก็ตาม ทำให้หลายคนต้องตกเป็นผู้ต้องหาและถูกจับกุม ไม่ต่างกับผู้ชุมนุมทางการเมืองที่หลายคนถูกจำคุกและหลายคนถูกดำเนินคดีในข้อหาต่างๆ

ที่สำคัญการใช้กลไกทางกฎหมายถูกตั้งคำถามเรื่องเลือกปฏิบัติและไม่เสมอภาค การปฏิรูปประเทศและสร้างความปรองดองจึงต้องเริ่มต้นที่รัฐบาลและ คสช. ต้องมีความจริงใจและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีความเป็นธรรมและเสมอภาคตรงไปตรงมา เพราะแม้แต่กระบวนการยุติธรรมปรกติก็ยังถูกตั้งคำถามว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมายตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ไม่อคติและเลือกปฏิบัติจริงหรือไม่

นายอุกฤษ มงคลนาวิน อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตประธานวุฒิสภา อดีตประธานรัฐสภา เคยให้แนวทางการสร้างความปรองดองว่า การบริหารหรือปกครองประเทศต้องยึดหลักนิติธรรม การตรากฎหมายต้องไม่ขัดกับหลักนิติธรรม ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องบังคับใช้กฎหมายด้วยความยุติธรรม หากความยุติธรรมไม่มี ความสามัคคีไม่เกิด ความยุติธรรมจะมีสองมาตรฐานไม่ได้ นอกจากนี้ในการบังคับใช้กฎหมายของศาลหรือหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมต้องคำนึงถึงสิทธิผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา โดยเฉพาะการใช้ดุลยพินิจเพื่อปล่อยตัวชั่วคราวนั้นควรใช้ในกรอบของหลักเมตตาธรรม

นายอุกฤษยังระบุว่า ที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความยุติธรรมของคนกลุ่มต่างๆ ทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหาหลายมาตรฐาน การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ

กระบวนการยุติธรรมเป็นจุดเริ่มต้นของการปรองดอง เช่นเดียวกับการนิรโทษกรรมหรือการอภัยโทษที่เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการตามกฎหมายและทำให้ความศรัทธาในระบบยุติธรรมกลับคืนมา ซึ่ง “ทั่นผู้นำ” ต้องแสดงความจริงใจว่าต้องการสร้างความปรองดองให้เห็นเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่วาทกรรมเพื่อสร้างภาพและสืบทอดอำนาจ

แม้ “ทั่นผู้นำ” จะมาคุมการสร้างความปรองดองเอง แต่ถ้าในทางปฏิบัติไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม ยังใช้อำนาจพิเศษหรือกลไกทางกฎหมายต่างๆกวาดล้างผู้เห็นต่าง ความปรองดองก็ไม่เกิด

โดยเฉพาะกรณี “ไผ่ ดาวดิน” ที่เป็นแค่นักศึกษาซึ่งมีความกล้าที่จะแสดงความเห็นต่าง ยังทำให้ “ทั่นผู้นำ” และคณะหวั่นไหว จับกุมคุมขังครั้งแล้วครั้งเล่า ยิ่งทำให้เห็นว่าการสร้างความปรองดองกับระบอบประชาธิปไตย 99.99% แบบไทยๆ เป็นแค่วาทกรรมเหมือนคำขวัญวันเด็กทุกปีมากกว่า

ส่วน “ไผ่ ดาวดิน” ก็กลายเป็น “เด็กดื้อ” สำหรับ “ทั่นผู้นำ” และ คสช. เพียงเพราะเห็นว่ารัฐประหารคือหายนะ ไม่ใช่หนทางสร้างประชาธิปไตย ซึ่งไผ่ยังยืนหยัดต่อสู้ตามเจตนารมณ์ของตน “จะชนะเมื่อไรไม่รู้ แต่ตราบใดที่ยังสู้ แสดงว่าเรายังไม่แพ้”

เย้ยหยัยอำนาจรัฐ(ประหาร)ลำเค็ญ

คน ยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย..


You must be logged in to post a comment Login