วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ใครจะนับหนึ่ง

On January 13, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ไม่มีใครรู้ว่าอะไรทำให้เรื่องการสร้างความปรองดองในชาติถูกจุดพลุขึ้นมาอีกครั้งในช่วงนี้

หลายคนได้แต่หวังว่าพลุแห่งความปรองดองที่ถูกจุดขึ้นมาอีกครั้งจะไม่เพียงสว่างวาบแล้วหายไปเหมือนพลุแห่งความปรองดองที่ถูกจุดขึ้นมาหลายลูกก่อนหน้านี้

วันที่ 12 มกราคม ที่ผ่านมา “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกประชุมเตรียมการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์เป็นครั้งแรกที่ทำเนียบรัฐบาล

ผลการประชุมจากการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีสรุปได้ว่า เป็นการประชุมเพื่อแบ่งงานรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีให้รับเรื่องไปดำเนินการ ซึ่งในส่วนของการกำหนดยุทธศาสตร์ชาตินั้น จะดึงภาคเอกชนทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมด้วย โดยวางเป้าหมายว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยพ้นจากประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางไปเป็นชาติที่มีรายได้สูงภายใน 15 ปี

ในส่วนของการสร้างความปรองดองนั้น นายกฯไม่ได้ให้รายละเอียดอะไร มีแต่ตัดพ้อว่าเมื่อพูดถึงการสร้างความปรองดองคนมักสนใจแต่เรื่องนิรโทษกรรม

อย่างไรก็ตาม ย้อนไปก่อนหน้าประชุมเตรียมการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์หนึ่งวัน นายกฯยืนยันชัดเจนว่าการสร้างความปรองดองจะไม่เริ่มต้นด้วยการนิรโทษกรรม

เมื่อไม่เริ่มจากการพูดถึงเรื่องนิรโทษกรรม ก็ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะเริ่มกระบวนการสร้างความปรองดองของคนในชาติด้วยวิธีการใด

กรณีนี้คงต้องติดตามการทำงานของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวเรือสร้างความปรองดอง

แนวทางที่พล.อ.ประวิตร จะดำเนินการดูเหมือนว่าไม่มีอะไรใหม่ โดยจะเริ่มจากเชิญทุกฝ่ายมาพูดคุยหารือ

อย่างไรก็ตาม แม้ท่านผู้นำจะประกาศชัดเจนไม่เริ่มต้นสร้างความปรองดองด้วยการนิรโทษกรรม แต่ดูเหมือนว่าการนิรโทษกรรมกับการสร้างความปรองดองก็เป็นอะไรที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้

แม้แต่ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่จะนำเข้าที่ประชุมสปท.ภายในเดือนนี้เพื่อขอมติรับรองก่อนส่งต่อให้รัฐบาลดำเนินการก็พุ่งเป้าไปที่นิรโทษกรรมคดีการเมือง

แม้จะเลี่ยงบาลีใช้คำว่า “พักโทษ” แต่ความหมายของการพักโทษก็คือนิรโทษกรรม

ผู้ที่จะได้รับการพักโทษตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองคือผู้ทำความผิดและเป็นคดีความที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 โดยจะแยกประเภทคดี ที่เกี่ยวกับประชาชน แกนนำ และแบ่งประเภทความร้ายแรงของคดี ซึ่งแนวทางการพักโทษจะใช้เฉพาะคดีไม่ร้ายแรง ไม่รวมคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 และคดีทุจริต

จะว่าไปนี่ไม่ใช่ข้อเสนอใหม่

ต้องรอดูว่าเมื่อที่ประชุม สปท.ให้ความเห็นชอบข้อเสนอนี้และถูกส่งต่อไปยังรัฐบาลจะได้รับพิจารณาดำเนินการหรือไม่ หรือจะถูกโยนทิ้งลงตะกร้าเหมือนกับที่มีการศึกษาและเสนอแนวทางสร้างความปรองดองมาแล้วหลายครั้งก่อนหน้านี้

ถ้าจะสร้างความปรองดองจริงต้องเสียเวลาศึกษา ไม่ต้องเสียเวลาพูดคุย ลองไปคุ้ยข้อเสนอเก่าที่กองเป็นภูเขามาพิจารณา แล้วหยิบสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดมาเริ่มทำก่อนสักหนึ่งอย่าง เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้น เป็นก้าวแรกของการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในชาติ

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าเรายังไม่มีแนวทางสร้างความปรองดอง แต่ปัญหาอยู่ที่ใครจะเป็นผู้เริ่มผลักสังคมไทยให้เริ่มต้นนับหนึ่งในการสร้างความปรองดอง เพราะที่ผ่านมามีแต่คนพูด ไม่มีคนทำ


You must be logged in to post a comment Login