วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

คิดช้าทำช้า?

On January 6, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

แม้ไทยเราจะมีสำนวน “มาช้าดีกว่าไม่มา” แต่ของบางเรื่องบางอย่าง ถ้าจะมาช้าขนาดนี้ไม่ต้องมาเสียดีกว่า

ของบางเรื่องบางอย่างที่ว่านั้นคือการสร้างความปรองดองของรัฐบาลทหารคสช.

ทั้งนี้ จากกรณีที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่มีคำสั่งมาตรา 44 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศไปเมื่อวันที่ 27 ธันวาคมปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรจะเพิ่มเรื่องการสร้างความปรองดองให้เชื่อมโยงกับการปฏิรูปและคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์คสช. โดยให้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ เพื่อนำประเด็นต่างๆมาจัดลำดับความเร่งด่วนว่ามีเรื่องอะไรสำคัญ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ หากเรื่องไหนแก้ไขกฎหมายนาน จำเป็นจะต้องดึงบางเรื่องออกมาประกาศเป็นมาตรา 44 หรือไม่

“นายกฯคิดโมเดลนี้ขึ้นมาเพื่อให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณาว่าโมเดลดังกล่าว กับโมเดล แบบเดิมที่แยกกันคนละส่วน โมเดลแบบไหนดีกว่ากัน เพื่อให้งานที่รัฐบาลทำไป ไม่ว่าจะเป็นงานเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ที่สอดคล้องกับเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ส่วนเรื่องการสร้างความปรองดองคงต้องให้แต่ละกลุ่มที่เห็นต่างมาพูดคุยกันก่อนเพื่อให้ตกผลึก คาดว่าอาจจะดึงภาคประชาชนต่างๆ เข้ามาร่วมด้วย ส่วนกลุ่มการเมืองยังไม่ได้ลงรายละเอียด คาดว่าอาจจะเป็นไปได้”

หากพิจารณาจากระยะเวลาที่เหลืออยู่บนอำนาจของรัฐบาลทหารคสช. ที่นั่งยันนอนยันไม่รู้กี่ครั้งว่าจะลงจากอำนาจตามระยะเวลาโรดแม็พ ซึ่งก็คือภายในกลางปี 2561

ทำให้มีคำถามว่าการที่เพิ่งขยับทำเรื่องปรองดองในตอนนี้ช้าไปหรือไม่

ระยะเวลาที่นั่งทับอำนาจมากกว่า 2 ปีที่ผ่านมาทำอะไรอยู่ ทำไมไม่ทำเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม ทั้งที่หัวข้อสร้างความปรองดองขจัดความแตกแยกของคนในชาติเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักที่ใช้เป็นข้ออ้างเข้ามายึดอำนาจ

ระยะเวลาที่ผ่านมาทั้งก่อนการยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2557 และหลังยึดอำนาจมีผลการศึกษาข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางสร้างความปรองดองออกมาจากส่วนต่างๆมากมาย แต่รัฐบาลทหารคสช.ก็ไม่ได้หยิบยกมาพิจารณา

หากฟังตามที่โฆษกรัฐบาลพูดออกมานั้น ดูเหมือนว่าการทำเรื่องปรองดองของรัฐบาลทหารคสช.จะเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้งด้วยการเรียกกลุ่มต่างๆมาพูดคุยกัน

เมื่อเทียบกับระยะเวลาที่เหลือในอำนาจถือว่าสายเกินไปที่จะทำเรื่องนี้ เพราะกว่าจะพูดคุยหาจุดลงตัวกันได้รัฐบาลทหารคสช.ก็คงพ้นไปจากอำนาจแล้ว และเมื่อรัฐบาลทหารคสช.พ้นจากอำนาจสิ่งที่ได้จากวงพูดคุยก็คงเสียเปล่า รัฐบาลหลังเลือกตั้งไม่หยิบมาทำแน่นอน เพราะจะถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ที่สำคัญรัฐบาลเลือกตั้งไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากพอที่จะทำอะไรได้เหมือนรัฐบาลทหาร

จะสร้างความปรองดองกันช่วงท้ายอำนาจแบบนี้ถือว่าคิดช้าทำช้าเกินไป ดีไม่ดีนอกจากไม่สำเร็จแล้วยังอาจไปเขี่ยไฟขัดแย้งที่กำลังมอดไหม้ให้ลุกโชนขึ้นมาอีกครั้งก็เป็นได้

อย่างที่รู้กันทุกครั้งที่พูดกันถึงแนวทางสร้างความปรองดองจะมีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้านดังอื้ออึงมาจากทุกฝ่าย

ดีไม่ดีจะกลายเป็นว่าไปฉายภาพความขัดแย้งแตกแยกให้ชัดเจนเด่นชัดขึ้นมาอีกเพื่อให้เห็นว่าสังคมยังไม่พ้นความขัดแย้ง จนเกิดความกริ่งเกรงหลังเลือกตั้งทุกอย่างจะปะทุกลับไปสู่ความวุ่นวายเหมือนเดิม

จากนั้นก็จะตามมาด้วยเสียเรียกร้องให้รัฐบาลทหารคสช.อยู่ต่อ เพราะประชาชนพอใจอยู่แล้ว บ้านเมืองสงบไม่มีม็อบเดินกันเพ่นพ่านวุ่นวายบนท้องถนน เหมือนที่โพลหลายสำนักสำรวจพบตรงกันก่อนหน้านี้


You must be logged in to post a comment Login