วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

คณะรักษาความตลกแห่งชาติ / โดย ทีมข่าวการเมือง

On January 2, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

ปี 2559 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปถือเป็นปี “โหด มัน ฮา” ของประเทศไทยอีกปีหนึ่ง เพราะภายใต้รัฐประหารและรัฐบาลทหารที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ทุกครั้งที่โพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ปรากฏว่าส่วนใหญ่พอใจที่บ้านเมืองเงียบสงบ เพราะไม่มีการชุมนุมประท้วง แต่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร

แม้รัฐบาลทหารจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการแก้ปัญหามากมายที่ผ่านมากว่า 2 ปี แต่การแก้ปัญหาใหญ่ๆก็ยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรมชัดเจน การปฏิรูปประเทศก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นแค่วาทกรรม เช่นเดียวกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่จะใช้บังคับให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องทำตามกรอบที่กำหนดไว้ เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาประเทศร่วมกันของรัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชน ให้สามารถขับเคลื่อนบ้านเมืองไปในทิศทางเดียวกัน โดยรัฐบาลและ คสช. เชื่อมั่นว่าจะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงและมั่งคั่ง

โดยเฉพาะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ขายฝัน Thailand 4.0 เร่งพัฒนาให้ประเทศไทยเป็น Gateway ICT แห่งเอเชีย แซงหน้าสิงคโปร์

หลายฝ่ายฟันธงว่ารัฐประหารคือปัญหาที่ทำให้ประเทศไทยจมปลักอยู่กับความขัดแย้ง การแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ แม้แต่การแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่จัดกิจกรรมกันอย่างครึกโครมขณะนี้ก็ถูกมองว่าเป็นแค่การสร้างภาพ

มาตรฐานรัฐประหาร

ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันยังเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลก็ตรวจสอบไม่ได้ คนใกล้ตัวและใกล้ชิดผู้มีอำนาจก็แตะต้องไม่ได้ กระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระต่างๆถูกมองว่า “มาตรฐานเดียว” คือใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อทำลายหรือกำจัดฝ่ายตรงข้ามให้สิ้นซาก เพราะครั้งนี้ต้องทำให้ทุกอย่างสะเด็ดน้ำ

“คนดี” ในความหมายของรัฐบาลทหารคือ ต้องเชื่อในสิ่งที่ผู้มีอำนาจพูด สิ่งที่ผู้มีอำนาจคิด อย่างที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อวยพรปีใหม่ประชาชนในนามของฝ่ายความมั่นคงว่า ขอให้ประชาชนทุกคนเป็นคนดี “อย่าไปทำตัวเเบบนักข่าว” ใครทำดีหรือไม่ไม่มีใครบอกได้นอกจากตัวเราเอง

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ย้อนถามสื่อว่ารู้จักมั้ยคำว่า “ศีลธรรมอันดี” ก่อนที่จะชี้แจงว่าศีลธรรมคือความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศชาติ ถ้าไม่เข้าใจคำนี้ก็ไม่ต้องทำอย่างอื่น ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ต้องการชี้ถึงความจำเป็นต้องมีชุด “กฎหมายความมั่นคงดิจิทัล” และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนที่ถูกพลเมืองเน็ตในโลกออนไลน์ต่อต้านอย่างต่อเนื่องขณะนี้ เพราะเห็นว่าเป็นการละเมิดและจำกัดเสรีภาพของประชาชนด้วยการใช้เครื่องมือและใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นการใช้อำนาจข่มขู่และคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนแม้แต่บนโลกออนไลน์ที่ถือเป็นพื้นที่เดียวที่เหลืออยู่ขณะนี้ โดยอ้างเรื่องความมั่นคงที่ครอบจักรวาล

พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าพร้อมรับฟังความเห็นกลุ่มต้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มพลเมืองเน็ตได้เข้าชี้แจงและยื่นเอกสารต่างๆ รวมถึงการให้ความเห็นกับผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็ไม่ได้รับการแก้ไขหรือหารือกับกลุ่มพลเมืองเน็ต เช่นเดียวกับครั้งล่าสุดที่มีผู้ลงชื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไขใหม่กว่า 360,000 รายชื่อ รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ใช้วาทกรรมเดิมๆคือ ผ่านก่อนแล้วแก้ภายหลัง ซึ่งไม่มีหลักประกันใดๆเลย

หากรัฐบาลและ สนช. รับฟังเสียงของประชาชนจริง คำถามคือทำไมจึงเร่งรีบลงมติเพื่อบังคับใช้ ซึ่งคำตอบก็คือนำกฎหมายนี้มาใช้เป็นเครื่องมือควบคุมและไล่ล่าฝ่ายที่เห็นต่างหรือฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช่แค่การแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ที่เสี่ยงต่อความผิดและถูกจำคุกเท่านั้น แม้แต่กด Like, Follow หรือ Share ก็มีความผิดแล้ว แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดศีลธรรมอันดีตามความหมายของรัฏฐาธิปัตย์

จาก “แม่จ่านิว” ถึง “ไผ่ ดาวดิน”

กรณี น.ส.พัฒน์นรี หรือหนึ่งนุช ชาญกิจ มารดาของ “จ่านิว” นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ แกนนำกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ แค่เปิดอ่านเฟซบุ๊ค “Burin Intin” ของนายบุรินทร์ อินติน แนวร่วมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เพียงตอบกลับว่า “จ้า” ก็ถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามมาตรา 112 และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3)

จึงไม่แปลกที่กรณี “ไผ่ ดาวดิน” นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะถูกกล่าวหาความผิดตามมาตรา 112 เพราะแชร์บทความเรื่องประวัติรัชกาลที่ 10 ของสำนักข่าวบีบีซีไทย ทั้งที่มีผู้แชร์อีกนับพันคนกลับไม่ถูกดำเนินคดี ส่วนสำนักข่าวบีบีซีไทยที่เผยแพร่บทความดังกล่าว รัฐบาลกล่าวเพียงว่ากำลังตรวจสอบว่าเข้าข่ายความผิดหรือไม่ แต่นายจตุภัทร์วันนี้กลับอยู่ในคุกและศาลไม่ให้ประกันตัว

แม้ทีมทนาย (ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน) จะอุทธรณ์ขอประกันตัวนายจตุภัทร์ แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จังหวัดขอนแก่น มีคำสั่งผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มายังนายจตุภัทร์ว่า ผู้ต้องหามีพฤติกรรมไม่เกรงกลัวต่ออำนาจรัฐและกฎหมาย ประกอบกับหากให้มีการปล่อยตัว ผู้ต้องหาอาจทำให้พยานหลักฐานยุ่งเหยิง จึงพิจารณาว่าการออกคำสั่งถอนประกันโดยศาลจังหวัดขอนแก่นนั้นเป็นคำตัดสินโดยชอบแล้ว

ซื้อเครื่องถอดรหัสล้วงข้อมูล

ความผิดหลายเรื่องเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในรูปแบบต่างๆยิ่งทำให้เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนร้อนระอุยิ่งขึ้นหลังจาก สนช. ผ่าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ทำให้กลุ่ม “พลเมืองต่อต้าน Single Gateway : Thailand Internet Firewall #opsinglegateway” ประกาศสงครามไซเบอร์และโจมตีเว็บไซต์ของทางราชการและผู้มีอำนาจในรัฐบาลรวมถึงคนในกองทัพ โพสต์ผ่านเพจว่า รัฐบาลทหารได้จัดซื้อเครื่องมือถอดรหัส SSL คือรุ่น SSLX-GEO จำนวน 2 เครื่อง และรุ่น SSLX-T200 จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งสามารถล้วงข้อมูลส่วนบุคคลได้ โดยใช้งบประมาณปี 2559 จึงเกิดข้อสงสัยมากมายว่า

1.กองทัพบกดำเนินการเรื่องดังกล่าวจริงหรือไม่ อย่างไร 2.เอาเครื่องมือดังกล่าวมาทำอะไร เพื่อวัตถุประสงค์อะไร 3.เอาเครื่องมือดังกล่าวมาสอดแนมประชาชนหรือไม่ อย่างไร และได้ปฏิบัติการกับใครไปแล้วบ้าง กี่ราย 4.ใช้อำนาจตามกฎหมายใด (ระบุมาตราให้ชัดเจน) มากระทำการตามข้อ 3 และใครเป็นผู้ลงนามอนุมัติการใช้งานดังกล่าว

5.ขณะที่กฎหมายว่าด้วยความมั่นคงไซเบอร์ยังไม่มีสภาพบังคับใช้ขณะนี้ เท่ากับว่ายังไม่สามารถบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย แต่กองทัพบกได้ปฏิบัติการไปล่วงหน้าโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายใช่หรือไม่ อย่างไร 6.การสั่งซื้ออุปกรณ์ที่กองทัพบกไม่มีอำนาจตามกฎหมายในขณะสั่งซื้อสามารถทำได้หรือไม่ อย่างไร และ 7.ให้รัฐบาลลุงตู่อธิบายการกระทำดังกล่าว เพราะให้สัมภาษณ์ว่าไม่ต้องการไปสอดแนมประชาชน

พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์ กองทัพบก และ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ปฏิเสธว่า กองทัพบกไม่ได้จัดซื้อและไม่มีอุปกรณ์เครื่องถอดรหัส SSL ดังกล่าวแม้แต่รายการเดียว ข้อมูลที่ปรากฏเป็นการสร้างกระแสโจมตีกองทัพทำให้เกิดความเสียหาย และโยงถึงรัฐบาลว่าสอดแนมหรือล้วงดูข้อมูลของประชาชน ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตรายการอุปกรณ์ดังกล่าวว่า ควรอยู่ในบัญชีอุปกรณ์สายสื่อสารและเกี่ยวข้องกับศูนย์ไซเบอร์ กองทัพบก โดยตรง แต่กลับอยู่ในบัญชีอุปกรณ์สายทหารช่างลำดับสุดท้าย ยืนยันว่ากองทัพบกไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าวในแผนงานการจัดหาและสามารถตรวจสอบได้ เพราะไม่มีความจำเป็นในการใช้ นอกจากอุปกรณ์ด้าน Cyber Security

แฉเอกสารไอซีทีจัดซื้อ

หลังกองทัพบกออกมาปฏิเสธ เพจ “พลเมืองต่อต้าน Single Gateway” ได้นำเอกสารคำสั่งที่ 3/2557 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณะ เพื่อติดตาม กลั่นกรอง ตรวจสอบ รวบรวม วิเคราะห์การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านสื่อออนไลน์ทุกประเภท และให้พิจารณาในการกำหนดแนวทางการปฏิบัติมาตรการป้องกันและยับยั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวให้เกิดความชัดเจนและมีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ แต่ในการปฏิบัติงานมีอุปสรรคในการตรวจสอบและปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีการเข้ารหัสป้องกันข้อมูล (SSL : Secure Socket Layer) จึงเห็นควรให้มีการจัดหาและทดสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ระบบเฝ้าติดตามสื่อออนไลน์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะทำงานด้านสื่อออนไลน์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ฯลฯ

สอดคล้องกับ FB Thailand (26 มกราคม 2558) ที่เปิดเผยว่า พบคำสั่งเครือข่ายผู้ใช้เฟซบุ๊คและไลน์รายงานว่ามีการขอความร่วมมือไปยังโอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยในการเอาอุปกรณ์ไปติดตั้งที่ดาต้าเซ็นเตอร์ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อดักจับทราฟฟิคผู้ใช้เฟซบุ๊ค ผลคือจะทำให้ดูยูสเซอร์เนมกับพาสเวิร์ดได้ โดยล่าสุดมีผู้ใช้เฟซบุ๊คหลายรายพบเหตุการณ์ที่หน้าจอปรากฏขึ้นมาให้ระบุตัวตนอีกครั้ง และมีการแจ้งจากทางเฟซบุ๊คว่ามีการเข้าใช้งานจากแหล่งที่มาที่ไม่ปลอดภัย เป็นลักษณะของผู้ใช้ที่ถูกเข้าถึงข้อมูลในเฟซบุ๊ค ซึ่งมีหลายกรณีที่น่าสงสัย โดยเฉพาะกรณี “แม่จ่านิว” มีการตั้งคำถามว่าโดนดักหรือไม่

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม เพจ “พลเมืองต่อต้าน Single Gateway” ยังได้เผยแพร่เอกสารของกระทรวงไอซีที คำสั่งที่ 163/2557 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานทดสอบระบบเฝ้าติดตามออนไลน์ ซึ่งระบุว่า ให้กระทรวงไอซีทีใช้เครื่องมือถอดรหัสเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติงานจริง ส่วนคณะทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ทหารและผู้แทนจากกองทัพหลายราย แต่ไม่ใช่เอกสารจัดซื้อจัดจ้างเครื่องถอดรหัสแต่อย่างใด

“วีระ” จี้ให้ตรวจสอบ

วันที่ 27 ธันวาคม นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวให้ พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงข่าวการจัดซื้อเครื่องถอดรหัสดังกล่าวซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูง เพราะประเทศไทยยังไม่มีการออกกฎหมายรองรับการใช้เครื่องมือดังกล่าวเพื่อทำการสอดแนมกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งนายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะยึดหลักการบริหารด้วยความโปร่งใส ไร้การทุจริต จึงต้องชี้แจงการใช้งบประมาณดังกล่าวที่เกินขอบเขตอำนาจตามที่กฎหมายกำหนด

“รัฐบาลทำอย่างนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ กรณีนี้ต้องชี้แจงพร้อมนำหลักฐานมาเปิดเผยต่อสังคมโดยด่วน รัฐบาลทหาร คสช. ไม่มีสิทธิทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย เมื่อทำผิดเสียเองต้องถูกตรวจสอบและลงโทษ”

ขณะที่เพจ Pipob Udomittipong โพสต์ถามว่า รัฐบาลทหารไทยจัดซื้ออุปกรณ์ RCS (Remote Control Systems) เพื่อการสอดแนมข้อมูลประชาชนจากบริษัท Hacking Team ในอิตาลี ใช่หรือไม่ และใช้อำนาจตามกฎหมายมาตราใด ซึ่ง Hacking Team เป็นบริษัทที่ถูกโจมตีอย่างมากว่าขายเทคโนโลยีการสอดแนมข้อมูลให้กับรัฐบาลเผด็จการทั่วโลกที่มีสถิติด้านสิทธิมนุษยชนเลวร้าย อาทิ อียิปต์ รัสเซีย เวียดนาม ซูดาน บาห์เรน เวเนซุเอลา และซาอุดีอาระเบีย ฯลฯ

เครื่อง RCS ที่มีข่าวว่าทางการไทยจัดซื้อนั้น สามารถดู “ข้อมูลเข้ารหัส” โดยไม่ต้องถอดรหัส ทำงานโดยไปฝังตัวที่เครื่องปลายทางเพื่อเข้าควบคุมเครื่อง จากนั้นก็สามารถอ่านข้อมูลที่เครื่องเป้าหมายก่อนข้อมูลจะถูกเข้ารหัสและส่งออกไป และหลังข้อมูลถูกส่งเข้ามาและได้รับการถอดรหัส (แอพฯสื่อสารเป็นผู้ถอดรหัสเอง แล้ว RCS ค่อยไปอ่าน) ทำให้การเข้ารหัสของแอพฯต่างๆแทบหมดความหมาย ถือเป็นการล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของประชาชน

นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ได้เขียนบทความ “Hacking Team RCS กับการดู “ข้อมูลเข้ารหัส” โดยไม่ต้องถอดรหัส” เผยแพร่ผ่านบล็อก bact.cc โดยระบุว่า แม้จะยังไม่แน่ชัดว่าอุปกรณ์ชื่อ SSLX-GEO และ SSLX-T200 ที่กลุ่ม “พลเมืองต่อต้าน Single Gateway” พบในระบบที่อ้างว่าเป็นของกองทัพบกนั้นคืออะไร และกองทัพบกก็ได้ปฏิเสธข้อมูลดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อปีที่แล้วมีเอกสารอีกชุดใน Wikileaks เป็นอีเมล์และเอกสารส่งสินค้าของบริษัท Hacking Team ที่ระบุว่ามีการส่งสินค้า ติดตั้ง และทดสอบระบบส่งโปรแกรมฝังตัวเพื่อเข้าควบคุมเครื่องปลายทางที่ชื่อ Remote Control System (RCS) Galileo ในประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558

จับ “แพะแฮคเกอร์”?

ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงว่าได้จับแฮคเกอร์ 9 คนที่แฮคเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐ โดยหนึ่งในจำนวนนี้คือ นายณัฐดนัย คงดี อายุ 19 ปี ซึ่งพบของกลางปืนพก 2 กระบอก ปืนยาว 1 กระบอก โครงปืน 2 ชิ้น กระสุนปืน กัญชาอัดแท่ง 3 แท่ง และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อีกหลายรายการ โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ระบุว่านายณัฐดนัยเป็นสมาชิกของกลุ่มแฮคเกอร์ 3 กลุ่มหลัก และยังเป็นสมาชิกกลุ่มไลน์แฮคเกอร์และสมาชิกเพจพลเมืองต่อต้าน Single Gateway เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาทั้งสิ้น 4 ข้อหาด้วยกันคือ 1.ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ 2.ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 3.ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน และ 4.ความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด

หนึ่งในหลักฐานการจับกุมยังพบหนังสือ Network Security ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ EZ-Genius ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆนานานั้น ผู้เขียนหนังสือ “สุเมธ จิตภักดีบดินทร์” ได้โพสต์เฟซบุ๊คชี้แจงยืนยันว่า หนังสือมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาและเป็นสื่อการสอนเท่านั้น ซึ่งการทดลองต้องทำในแล็บเท่านั้น ไม่แนะนำให้ทดสอบกับระบบจริง จึงแปลกใจและตกใจมากที่หนังสือเล่มนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานการกระทำผิด โดยส่วนตัวเห็นว่าหนังสือไม่ใช่หลักฐานแต่อย่างใด สุดจะเดาใจตำรวจและหน่วย digital forensic ที่เข้าร่วมการจับกุมจริงๆ

กลุ่ม Anonymous ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Hackread.com ว่า DDos attack เยาะเย้ยตำรวจจับ 9 ผู้ต้องหาว่า การกดปุ่ม F5 ไม่ได้เรียกว่าการแฮค และพวกเขาก็งงที่ตำรวจไทยจับ 9 ผู้ต้องหาได้อย่างไร เพราะ Anonymous เป็นคนเจาะข้อมูลและปล่อยข้อมูลพวกนั้นออกมาเอง ไม่ใช่เด็กที่ถูกจับ ซึ่งพวกเขาไม่ได้อยู่ในเมืองไทย พวกเขาจะโจมตีรัฐบาลไทยอีกครั้งเพราะจับคนมั่ว ซึ่งกลุ่ม Anonymous ประกาศสงครามไซเบอร์กับภาครัฐ 9 วัน และระดมพลเจาะระบบออนไลน์ส่วนราชการล่มไปแล้วนับสิบหน่วยงาน

ส่วนกลุ่ม “พลเมืองต่อต้าน Single Gateway” ก็เย้ยการจับกุมดังกล่าวว่า การไปจับ “แพะ” ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร และเพิ่งเคยได้ยินแฮคเกอร์พกปืนเป็นครั้งแรกในชีวิต ทั้งยืนยันว่า “พวกเราทุกคนที่เข้ามาสู่สมรภูมินี้ ต่างต้องรู้ตัวว่านี่คือสงครามไซเบอร์จริงที่หากใครพลาดไปก็จบ ไม่มีใครทำด้วยความคึกอย่างเดียว แต่พวกเราทุกคนที่เข้าร่วมก็รู้ว่านี่คือการปกป้องเสรีภาพสุดท้ายของประชาชน…อย่าคิดว่าพวกเราจะหยุด เพราะมีพวกเราคนใดคนหนึ่งถูกจับไป ถึงจับพวกเราได้แต่ก็หยุดความคิดของพวกเราไม่ได้”

คณะรักษาความตลกแห่งชาติ

ช่วงก่อนเปลี่ยนผ่านที่จะมีการเลือกตั้งปลายปี 2560 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ยังยืนยันมาตลอด แต่ที่น่าสังเกตคือ ระยะหลัง พล.อ.ประยุทธ์จะแสดงความไม่พอใจหากผู้สื่อข่าวถาม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่จะหงุดหงิด เพราะทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และ คสช. ต่างก็ย้ำนักย้ำหนา รวมถึงยืนยันว่าไม่มีการสืบทอดอำนาจ

แต่กงล้อประวัติศาสตร์การเมืองก็เป็นอุทาหรณ์ให้เห็นว่า คำพูดของผู้นำกองทัพหรือผู้นำทางการเมืองหลายครั้งไม่เป็นไปตามคำพูด ไม่ว่าจะพูดในฐานะใดก็ตาม โดยเฉพาะการทำรัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุด ซึ่งผู้นำกองทัพต่างก็ยืนยันอย่างหนักแน่นว่าจะไม่มีรัฐประหาร หรือตัวเองไม่ทำรัฐประหารเด็ดขาด

เช่นเดียวกับผู้นำกองทัพหลายคนที่ประกาศไม่หวังตำแหน่งและผลประโยชน์ใดๆ โดยเฉพาะตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” แต่สุดท้ายผู้นำกองทัพที่ประกาศดังกล่าวก็เป็น “นายกรัฐมนตรี” โดยอ้างความจำเป็น “เพื่อชาติ” ซึ่งไม่ผิดหากบ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างแท้จริงและไม่มีบุคคลหรือสถาบันใดจะแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ตามกระบวนการปรกติ แต่รัฐประหารทุกครั้งก็ไม่เคยแก้ปัญหาประเทศชาติและประชาชนได้เลย

จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ประชาชนทุกคนเชื่อคำพูดของผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำกองทัพหรือนักการเมืองจะยืนยันกี่ร้อยกี่พันครั้ง หรือสาบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหน อย่างไร

ประชาชนทุกคนอยากเห็นรัฐประหารของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ไม่ใช่แค่ “ตลกร้าย” หรือเป็นเพียง “คณะรักษาความตลกแห่งชาติ” ที่เล่นแต่ตลกฝืดๆ จนไม่ขำ ฮาไม่ออก

เชื่อว่าประชาชนอยากเห็นการทำรัฐประหารของ คสช. ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อ “คืนความสุขให้กับประเทศไทย คืนความสุขให้คนในชาติ” และทำให้ได้อย่างที่พูดจริงๆ

ไม่ใช่ได้แต่ร้องเพลงคืนความสุขที่เปิดกรอกหูไปวันๆ

ปีใหม่นี้หวังว่าจะเป็นปีสุดท้ายที่ “คณะรักษาความตลกแห่งชาติ” จะหมดไปจากประเทศไทยเสียที!!?


You must be logged in to post a comment Login