วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เกราะคุ้มกัน2ชั้น

On December 30, 2016

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การลงมติผ่าน 3 วาระรวดด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 182 ต่อ 0 งดออกเสียง 6 ของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์(ฉบับที่..) พ.ศ.2505 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535) ทั้งที่มีเสียงคัดค้านจากคณะสงฆ์กลุ่มหนึ่ง ทำให้มีหลายประเด็นน่าสนใจ

น่าสนใจเพราะ.. สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า การเสนอร่างแก้ไขครั้งนี้แม้จะคิดกันมานานแล้ว แต่ครั้งนี้ทำกันอย่างฉุกละหุกในช่วงไม่กี่วันและเร่งบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมทันที

น่าสนใจเพราะ…ก่อนการพิจารณาทั้งคนในรัฐบาลและสมาชิก สนช.หลายคนต่างออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จะไม่พิจารณา 3 วาระรวด เพราะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน

การรีบร้อนเสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์อย่างฉุกละหุก และรวบรัดพิจารณา 3 วาระรวดเพื่อให้กฎหมายออกมาบังคับใช้โดยเร็ว จึงแสดงให้เห็นว่า มีความเร่งรีบที่ต้องการจะเปลี่ยนหลักเกณฑ์การแต่งตั้งพระสังฆราชองค์ใหม่

เหตุไฉนจึงรีบร้อน ทั้งที่ห้วงเวลาที่ผ่านมาแม้ไม่มีพระสังฆราช หรือก่อนหน้านี้ที่สมเด็จพระสังฆราชองค์เก่าไม่สามารถทำหน้าที่ได้เนื่องจากทรงประชวร ก็ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของคณะสงฆ์

การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การแต่งตั้ง จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาจากคุณสมบัติของสมเด็จช่วงที่ถูกเสนอนามเป็นพระสังฆราชพระองค์ใหม่ เนื่องจากเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงอย่างเดียว

มีคำถามว่าเหตุใดจึงต้องพิจารณา 3 วาระรวด ไม่พิจารณาตามกระบวนการปรกติ ซึ่งจะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาแปรญัตติและรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านจากฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันความขัดแย้ง

แม้จะเป็นการแก้กฎหมายเพียงมาตราเดียวและเป็นเพียงข้อความสั้นๆ แต่ผลของในทางปฏิบัตินั้น ส่งผลกระทบต่อวงการสงฆ์ไม่น้อย ที่สำคัญมีสงฆ์จำนวนมากที่เห็นต่างกับการแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ครั้งนี้

คำตอบง่ายๆคือ เป็นการพิจารณาตาม “ธง” เมื่อมี “ธง” จึงไม่จำเป็นต้องรับฟังความเห็นต่างใดๆ

หากจะถามว่าแล้วไม่กลัวการเคลื่อนไหวคัดค้านหรือการบอยคอตจากสงฆ์กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยหรือ?

มีคำตอบง่ายๆคือจะกลัวทำไม?

เพราะการแก้ไขครั้งนี้มีเกราะป้องกันการเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างดีอยู่แล้วอย่างน้อย 2 ชั้น คือ

เกราะหนึ่งคือกฎหมายนี้เป็นกฎหมายเกี่ยวกับสงฆ์ คนที่เห็นด้วยไม่เห็นด้วย จึงจำกัดอยู่ในวงแคบเพียงคณะสงฆ์เท่านั้น เมื่อเป็นเรื่องของสงฆ์ ฆารวาสคงไม่อยากเข้ามาเกี่ยวข้อง

เมื่อมีแต่สงฆ์ที่จะเคลื่อนไหวคัดค้าน จึงทำได้ไม่ง่าย เพราะติดสถานะมีข้อจำกัดของความเป็นสงฆ์นั่นเอง

อีกเกราะหนึ่งคือ เมื่อการแก้ไขกฎหมายกำหนดให้ “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช”ใครเลยจะกล้าคัดค้านอย่างออกหน้า เพราะสถาบันกษัตริย์เป็นของสูงที่คนไทยไม่คิดก้าวล่วง

การแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์แบบรีบเร่ง พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร) เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ศพศ.) จึงระบุว่า เป็นกฎหมายลักไก่

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเชื่อว่าการแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ครั้งนี้ไม่น่าจะมีแรงกระแทกใดๆตามนัก แม้จะเป็นการแก้ไขหลักเกณฑ์การแต่งตั้งพระสังฆราชที่เป็นประมุขสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย


You must be logged in to post a comment Login