วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

โลก 4.0 ของเผด็จการ? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On December 22, 2016

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

มีน้องๆสื่อมวลชนหลายท่านโทรศัพท์สอบถามความเห็นของผมเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับล่าสุดที่ผ่านสภาทหารมาสดๆร้อนๆว่ามีความเห็นอย่างไร ผมก็เรียนไปตามตรงว่าเนื้อหาสาระรายละเอียดและความไม่ชัดเจนของ พ.ร.บ. ตลอดจนความไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการออกกฎหมายฉบับนี้ ถูกนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีที นักกฎหมาย NGO ตลอดจนประชาชนทั่วไป วิพากษ์วิจารณ์แต่ละมาตราไว้อย่างชัดเจนแล้ว ผมคงไม่ต้องแสดงความเห็นอะไรเพิ่มเติมอีก

แม้ที่ผ่านมาฝ่ายที่รับผิดชอบทั้งหลายจะพยายามแสดงเหตุผลต่างๆออกมาหักล้างข้อเสียและข้อด้อยของกฎหมายฉบับนี้ แต่สิ่งที่อธิบายกลับไม่สามารถตอบคำถามสังคมให้เกิดความกระจ่างได้เลย สิ่งที่ได้ยินอยู่ขณะนี้มีแต่เสียงอ้อมแอ้มและคำชี้แจงที่คลุมเครือ นอกจากจะไม่ตอบคำถามแล้วยังนำไปสู่คำถามใหม่ๆไม่สิ้นสุด ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ยิ่งดิ้นยิ่งพัน ยิ่งอธิบายยิ่งโชว์วาระซ่อนเร้นออกมาให้เห็นชัดเจนมากขึ้น

ผมจึงไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดเพราะภาพมันฟ้อง นอกจากการแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้

เหตุผลสำคัญที่ไม่เห็นด้วยแม้กฎหมายฉบับนี้จะมีข้อดีอยู่ไม่น้อยคือ อำนาจการบังคับใช้กฎหมายแบบครอบจักรวาลที่เปิดโอกาสให้ผู้บังคับใช้กฎหมายสามารถล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของพี่น้องประชาชนได้โดยง่าย แม้แต่การโพสต์ข้อมูลที่ไม่ผิดกฎหมาย หากผู้มีอำนาจตีความว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีก็สามารถสั่งการบล็อกข้อมูลเหล่านั้นได้ทันที

เรื่องแบบนี้นานาอารยประเทศที่เป็นประชาธิปไตยไม่ทำกันอย่างแน่นอน นอกเสียจากประเทศที่ปกครองด้วยทหารหรือมีระบอบการปกครองแบบเผด็จการเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะปกครองโดยทหาร แต่ผมเห็นว่าประเทศเรายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายเพื่อตรวจสอบและควบคุมประชาชนขนาดนี้ เพราะเท่าที่ผ่านมารัฐบาลก็สามารถใช้กฎหมายพิเศษทั้งหลายมาบังคับใช้ได้ตามอำเภอใจอยู่แล้ว

แม้ประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยครึ่งใบและประชาชนยังไม่มีสิทธิเสรีภาพเหมือนประเทศอื่นๆ แต่การร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมาต้องถือว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยมากจริงๆ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเสรีชนย่อมยอมรับไม่ได้และมองว่าเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลออกแบบมาเพื่อความมั่นคงของรัฐบาลเองมากกว่าจะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

น่าเสียดายเพราะกฎหมายฉบับนี้ควรถูกออกแบบให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลที่ตอบสนองการเดินหน้าไปสู่การเป็น Thailand 4.0 มากกว่าจะกลายสภาพเป็นอาวุธร้ายของรัฐบาลที่ใช้จัดการกับใครก็ได้ ซึ่งนอกเหนือจากการเป็นกฎหมายที่สุ่มเสี่ยงกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบกับผู้ทำธุรกิจด้านไอซีทีอีกไม่มากก็น้อย น่าเป็นห่วงจริงๆ

สาเหตุที่ต้องนำเรื่องนี้มาบ่นให้ฟัง เพราะผมเชื่อว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้มีความจำเป็นกับพี่น้องประชาชน และมีความสำคัญกับประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต ท่านผู้อ่านลองมองไปรอบๆ ผมเชื่อว่าต้องเห็นคนรอบๆตัวท่านกำลังใช้งานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หลากหลายชนิดแน่นอน คงไม่มีใครปฏิเสธว่าคอมพิวเตอร์กลายเป็นเครื่องมือจำเป็นต่อชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ไปเรียบร้อยแล้ว

เราใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ในการติดต่อสื่อสารและทำธุรกรรมต่างๆมากมาย รูปแบบของการสื่อสารระหว่างกันในสังคมออนไลน์กลายเป็นช่องทางหลักให้คนทุกชาติทุกภาษาใช้งานแบบไร้พรมแดน ใครจะเชื่อว่าวันนี้มือถือเครื่องเดียวสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้เกือบทั้งหมด น่ามหัศจรรย์จริงๆ

ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสมในการดูแลพี่น้องประชาชนให้ใช้งานคอมพิวเตอร์และระบบต่างๆที่เกี่ยวข้องได้อย่างสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งกฎหมายคือเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องถูกออกแบบให้มีความถูกต้องเหมาะสมกับบริบทและสภาพแวดล้อมของประเทศ เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆของรัฐบาลเป็นไปด้วยความราบรื่นและสัมฤทธิผล

อีกเรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจและการยกระดับบุคลากรด้านไอซีทีทุกระดับ รัฐบาลมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเลือกใช้บริการของมืออาชีพเพื่อรับผิดชอบเรื่องนี้ ต้องยอมรับว่ามีการตั้งคำถามอยู่พอสมควรเมื่อรัฐบาลตีปี๊บป่าวประกาศว่า Digital Economy จะเป็นเครื่องมือวิเศษในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และท่านผู้นำสูงสุดพูดเรื่อง Thailand 4.0 หลายครั้ง แต่สภาพข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่เราเห็นยังห่างไกลความเป็นจริงแบบไม่น่าเชื่อ

ในขณะที่ผู้มีอำนาจป่าวประกาศว่ากำลังวางแผนพาประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0 แต่เชื่อหรือไม่ว่าเรายังเห็นการประชุมของทางราชการเกือบทุกระดับแจกเอกสารต่างๆกองเต็มโต๊ะไปหมด ทั้งที่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและลงทุนเปลี่ยนชื่อกระทรวงไอซีที เราไม่น่าจะเห็นภาพเหล่านี้อีกแล้ว การทำงานแบบ Analog ที่สวนทางกับนโยบาย Digital เช่นนี้นี่เองที่กลายเป็นคำถามว่า ผู้บริหารประเทศทั้งหลายมีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้มากแค่ไหน

ท่านผู้มีอำนาจที่เป็นผู้กำหนดนโยบายเพื่อพาคนไทยทั้งประเทศเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลนั้น ท่านมีความจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องพวกนี้บ้าง เพราะสิ่งที่ท่านประชุมถกแถลงนั้นเป็นเรื่องของโลกยุคใหม่ทั้งสิ้น ผมเคยได้ยินนักวิชาการและข้าราชการหลายท่านบ่นถึงเรื่องนี้ให้ฟังแล้วอดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะผู้หลักผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และก้าวไม่ทันเทคโนโลยี แต่เป็นคนที่ต้องตัดสินใจ

ลองนึกภาพตามก็แล้วกัน ถ้าเรากำลังคุยกันเรื่องความปลอดภัยในการทำธุรกรรมด้านการเงินผ่านทางออนไลน์ แต่คนที่ต้องตัดสินใจไม่เคยใช้ Internet Banking, Mobile Banking หรือแม้แต่ PayPal

ส่วนคนที่ต้องตัดสินใจเรื่องนโยบายการทำธุรกิจออนไลน์ก็ไม่เคยรู้จัก eBay, Amazon, AliExpress หรือเจ้าอื่นๆ

ประชุมหารือกันเพราะกังวลการก้าวเข้ามาของธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ แต่ไม่เคยจองตั๋วเดินทางที่พักออนไลน์ ไม่เคยใช้ Uber, GrabTaxi

ถกเถียงกันว่าจะมีนโยบายทำงานร่วมกันแบบบูรณาการอย่างไร แต่ตัวท่านไม่เคยใช้ Google Calendar, Collaboration Tools, Skype, LinkedIn แต่เดี๋ยวนี้อาจดีขึ้นมาหน่อย เพราะ Line กับ Facebook คงช่วยท่านได้บ้าง

ไม่เคยอ่าน eBook ไม่เคยอ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ไม่เข้าใจว่า PDF คืออะไร ข้อนี้ท่านผู้อ่านคงไม่สงสัย เพราะประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ใช้กระดาษเปลืองเป็นอันดับต้นๆของโลก

ทั้งหมดที่ผมนำมาบ่นให้ฟังวันนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวพวกเราทุกคน และหากรัฐบาลยืนยันจะบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับนี้โดยไม่ฟังเสียงจากประชาชน ก็เชื่อได้ว่าผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและผู้ที่บังคับใช้กฎหมายจะต้องเกิดความขัดแย้งวุ่นวายขึ้นในอนาคตแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว ถ้าไม่เชื่อก็คอยดูกันต่อไป!


You must be logged in to post a comment Login