วันพฤหัสที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ความจริงที่น่ากลัว!?/ โดย ทีมข่าวการเมือง

On December 19, 2016

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

กฎหมายที่เป็นประเด็นร้อนทางการเมืองและกระแสสังคมที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากขณะนี้คือ ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ… (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (พ.ร.ป.พรรคการเมือง) ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีผลอย่างมากต่อการเมืองไทยในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพและการถ่วงดุลอำนาจทางการเมือง แม้จะมีการเลือกตั้งและรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่ก็ต้องอยู่ใต้ร่มเงารัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญฉบับพิสดารและแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

2 พรรคใหญ่รุมค้าน กรธ.

ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่จะใช้กับการเลือกตั้งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพราะวางกฎเข้มให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและพรรคการเมืองต้องเป็น “เด็กดี” ไม่ออกนอกลู่นอกทางที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดไว้ ซึ่งร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองประกอบด้วย 10 หมวด 129 มาตรา หนึ่งในมาตราที่มีการคัดค้านอย่างมากคือ กำหนดให้สมาชิกพรรคการเมืองต้องชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองปีละไม่น้อยกว่า 200 บาท ซึ่งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ต่างก็เห็นว่าไม่สอดคล้องกับเจตนาของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากที่สุด พรรคเพื่อไทยจึงไม่มาร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในวันที่ 14 ธันวาคม

นายคณิน บุญสุวรรณ ประธานคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย เห็นว่า ข้อบังคับให้สมาชิกพรรคการเมืองต้องจ่ายค่าบำรุงพรรคเป็นการกีดกันคนมีรายได้น้อยไม่ให้เป็นสมาชิก ส่วนข้อกำหนดที่ให้พรรคการเมืองที่ตั้งใหม่ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน ภายใน 1 ปี มีสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา และต้องเพิ่มสมาชิกเป็น 20,000 คนใน 4 ปี ก็ขัดแย้งกับที่ กรธ. บอกว่าไม่อยากเห็นนายทุนครอบงำพรรค

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า จะทำให้การจัดตั้งพรรคการเมืองมีข้อจำกัดและเงื่อนไขเรื่องเงินเพิ่มมากขึ้น ทำให้คนที่มีอุดมการณ์และอยากตั้งพรรคทางเลือกทำได้ยากขึ้น

ทำไมเบียร์ 3 ขวด 100 ซื้อได้?

ท่าทีของ 2 พรรคใหญ่ไม่ได้ทำให้ กรธ. มีแนวโน้มจะแก้ไขร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์ หนึ่งใน กรธ. กล่าวถึงพรรคเพื่อไทยที่ไม่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ใครไม่ร่วมเราไม่สนใจ เราทำใจเเล้ว และกล่าวถึงข้อกำหนดการจัดตั้งสาขาพรรคและการจ่ายเงินบำรุงพรรคว่า คนมีอุดมการณ์เดียวกันก็ต้องส่งเสริมให้มีส่วนร่วมและรวมกลุ่มกันจัดตั้งพรรคการเมืองได้มิใช่หรือ

“เงิน 100 บาท จะว่ามากก็มาก จะว่าน้อยก็น้อย เชื่อว่าพรรคเก่าๆไม่มีปัญหา เขากันเงินที่มีอยู่เดิมมาเป็นทุนประเดิมได้ ขนาดเบียร์ 3 ขวด 100 กว่าบาทยังซื้อกินได้ จะทำการเมืองแล้วยังบ่น สละเงินร้อยกว่าบาทไม่ได้ ผมว่าชีวิตอยู่ยากแล้ว”

นายปกรณ์ยืนยันว่า หัวใจหลักของกฎหมายพรรคการเมืองคือ โปร่งใส มีส่วนร่วม และตรวจสอบได้ ถ้าพรรคการเมืองยังยึดติดเเบบเดิมคงไม่เหมาะสมกับยุคนี้ ส่วนการกำหนดโทษ ใครผิดก็ต้องรับโทษ แต่ไม่มีเหมารวมให้ยุบพรรคเหมือนในอดีต ถ้าไม่ทำผิดก็ไม่เห็นต้องกลัว สำหรับโทษประหารกรณีซื้อขายตำแหน่งนั้นก็อยู่ที่ศาล ซึ่งในประมวลกฎหมายอาญาก็กำหนดโทษลักษณะนี้กับข้าราชการ ที่ผ่านมาก็ไม่มีใครบ่น แล้วนักการเมืองมาบ่นทำไม

พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เห็นว่า การกำหนดโทษถึงขั้นประหารชีวิตนั้นทำเหมือนพรรคการเมืองเป็นอาชญากร ทั้งที่ควรดึงให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่กำหนดบทลงโทษที่รุนแรงหรือสร้างเงื่อนไขและข้อจำกัดมากมาย

พ.ร.บ.คอมพ์ยิ่งกว่าฝันร้าย

พ.ร.ป.พรรคการเมืองไม่ใช่แค่พยายามบอนไซและควบคุมพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญคือเรื่องสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เต็มไปด้วยเงื่อนไข เช่นเดียวกับสิทธิเสรีภาพภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่าน 2 วาระรวดในการประชุมเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม และพิจารณาวาระ 3 ในวันที่ 15 ธันวาคม ซึ่งเชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จะผ่านแน่นอน

เครือข่ายพลเมืองเน็ตและโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) รณรงค์ให้ประชาชนคัดค้านไปยัง สนช. หรือผู้มีอำนาจให้ชะลอหรือยับยั้งการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ ซึ่งโลกโซเชียลแห่ต้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กว่าแสนคนแล้ว และเครือข่ายพลเมืองเน็ตนำไปยื่นค้านก่อนการประชุม สนช. วันที่ 15 ธันวาคม

ขณะเดียวกันในโลกโซเชียลมีการโพสต์ แท็ก และแชร์สรุปเนื้อหาผลกระทบที่จะเกิดต่อสิทธิเสรีภาพจากร่างกฎหมายฉบับนี้ ตลอดจนส่งอีเมล์เรียกร้องไปยัง สนช. และผู้ที่เกี่ยวข้องตามแนวทางการรณรงค์ของ iLaw

ขณะที่กลุ่มพลเมืองต่อต้าน Single Gateway ประกาศต่อต้านการทำสงครามไซเบอร์ทุกรูปแบบโดยโพสต์พร้อมภาพ “ขออยู่อย่างอิสรชน ไม่ใช่ทาส…” ถึงความเลวร้ายที่จะตามมา อาทิ เพจต่างๆที่ทำหน้าที่เป็นสื่อเสรีจะเป็นเพจผิดกฎหมายทันที คนแชร์ คนไลค์ก็ผิดกฎหมายด้วย เจ้าหน้าที่รัฐสามารถบังคับให้ผู้ให้บริการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของคนโพสต์ คนไลค์ คนแชร์ ข่าวสารต่างๆในโลกออนไลน์จะหายไปมากกว่า 90% โทรศัพท์ สมาร์ตโฟนคือของกลาง ต้องระวังการถูกจับถูกตรวจค้น ข้อมูลส่วนตัวจะไม่ปลอดภัยอีกต่อไป ฯลฯ

นอกจากนี้การบล็อกเว็บด้วย “มาตรการทางเทคนิค” ตามประกาศกระทรวงดิจิทัลฯข้อ 8 ที่จะประกาศใช้ตามอำนาจมาตรา 20 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ทำให้ไอเอสพีเห็นข้อมูลส่วนบุคคลทั้งแชต ธุรกรรมออนไลน์ในการโอนเงิน ซื้อของ คุยกับแฟน คุยกับพ่อแม่ ฯลฯ และยังให้กระทรวงดิจิทัลฯตั้ง “ระบบคอมพิวเตอร์ศูนย์กลาง” (Single Gateway) ให้เจ้าหน้าที่ระงับหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ได้เอง โดยระบบดังกล่าวอาจเชื่อมโยงกับผู้ให้บริการแต่ละราย

นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวถึงการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ว่า ก่อนหน้านี้ได้ส่งรายชื่อให้ สนช. ทบทวนถึง 40,000 ชื่อ แต่ร่างกฎหมายนี้ก็ไม่ได้รับการแก้ไข ที่แย่กว่าคือ กฎหมายใหม่ไม่ใช่แค่การปิดกั้นเว็บไซต์ แต่ให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารของประชาชนทั้งหมดได้

“การคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์รอบนี้ทำให้เกิดกระแสตื่นตัวอย่างกว้างขวาง สามารถรับรู้ได้ว่ามันจะกระทบกับคนทุกคน จึงต้องการทราบว่า สนช. ต้องการทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติหรือเพื่อตัวเอง สนช. จะลงมติเห็นชอบทั้งที่ประชาชนจำนวนมากนอกสภายังคัดค้านหรือไม่ แม้วาระแรก สนช. จะลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายนี้ด้วยคะแนน 160 ต่อ 0 แต่อย่างน้อยก็ยังแอบหวังว่าจะมีสมาชิก สนช. สักคนอภิปรายคัดค้าน เพื่อบันทึกไว้ให้ง่ายต่อการเสนอปรับแก้ไขในภายหลัง”

คดีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อย้อนไปช่วงรัฐประหารปี 2549 กฎหมายแรกที่ถูกผลักดันให้ผ่าน สนช. คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยมีการอภิปรายถึงความจำเป็นเพื่อให้ครอบคลุมอาชญากรรมอันกระทำผ่านระบบคอมพิวเตอร์อย่างการแฮกหรือฟิชชิ่ง และเมื่อมีการนำมาใช้กลับใช้มาตรา 14 (1) ฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาทผ่านระบบคอมพิวเตอร์จำนวนมาก ซึ่ง iLaw ได้วิจัยผลกระทบจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และนโยบายของรัฐกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ปรากฏว่าระหว่างเดือนกรกฎาคม 2550 ถึงธันวาคม 2554 มีคดีความทั้งสิ้น 325 คดี โดยคดีที่ขึ้นสู่ชั้นศาลเป็นคดีที่เกี่ยวกับการเผยแพร่เนื้อหาร้อยละ 66.15 ส่วนคดีที่กระทำต่อตัวระบบหรืออาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยแท้มีเพียงร้อยละ 19 เท่านั้น

ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานศาลยุติธรรมระบุว่า ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่เข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลเพิ่มขึ้นจาก 6 ข้อหาในปี 2554 เป็น 13 ข้อหาในปี 2555, 46 ข้อหาในปี 2556, 71 ข้อหาในปี 2557, 321 ข้อหาในปี 2558 และ 399 ข้อหา (มกราคม-สิงหาคม 2559) ซึ่งที่ผ่านมามีการสัมมนารับฟังความคิดเห็นเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะมาตรา 14 เพื่ออุดช่องว่างเรื่องปลอมแปลงเอกสารและฉ้อโกง และในมาตรา 16 ที่มีเนื้อหาคล้ายกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่แล้ว แต่มาตรา 14 (2) กลับเพิ่มฐานความผิดในลักษณะกว้างขวางมากขึ้น ทำให้วิตกว่าในอนาคตประชาชนจะไม่สามารถโพสต์วิจารณ์นโยบายรัฐหรือตรวจสอบการทุจริตใดๆได้เลย

นอกจากนี้ยังมีมาตรา 15 เรื่องภาระความรับผิดของตัวกลาง เดิมกำหนดให้ตัวกลางหรือผู้ให้บริการ (ซึ่งมีนิยามกว้างขวางตั้งแต่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เจ้าของเน็ตคาเฟ่ ตลอดจนเจ้าบ้านที่ปล่อยสัญญาณไวไฟ) ต้องรับผิดเท่ากับผู้โพสต์ ต่อมามีความพยายามแก้ไขโดยกำหนดว่าจะเอาผิดกับผู้ให้บริการที่ “ให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ” ซึ่งเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยาก ทั้งระบุว่า หากมีผู้แจ้งแล้วนำข้อมูลออกจะไม่ต้องรับโทษ แต่ในร่างประกาศกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกลับเปิดให้ใครก็แจ้งลบได้ โดยที่ผู้ให้บริการต้องลบใน 3 วัน อาจส่งผลให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย

มาตรา 20 เปิดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ขอให้ศาลสั่งบล็อกเว็บได้ มีการเพิ่มความผิดตามกฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา หรืออื่นๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดการบล็อกอย่างกว้างขวางเช่นกัน

มาตรา 20/1 เพิ่มคณะกรรมการกลั่นกรองจำนวน 5 คน ทำหน้าที่ส่งเรื่องต่อศาลพิจารณาบล็อกเว็บที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน คำถามคือจะมีเกณฑ์อย่างไร เนื่องจากไม่ได้อิงกับกฎหมายใดๆเลย

มาตรา 26 กำหนดว่าในกรณีจำเป็น เจ้าหน้าที่อาจสั่งให้ผู้ให้บริการเก็บข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้บริการ จากเดิมไม่เกิน 90 วัน เป็นไม่เกิน 2 ปี รวมถึงมาตรา 18 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สั่งให้เก็บข้อมูลที่เป็นหลักฐานในการกระทำความผิดเอาไว้ก่อนได้โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลา

มาตรา 18 และ 19 มีการขยายฐานอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจค้นตรวจสอบ จากเดิมที่มีเฉพาะในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ แต่ร่างใหม่ให้รวมถึงความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย

เสรีภาพที่น้อยลง

นายอาทิตย์กล่าวถึงความผิดตามมาตรา 112 จากผู้ใช้ในโลกโซเชียลว่าอาจไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก เพราะอย่างไรรัฐก็ใช้ทรัพยากรตามจับอยู่แล้ว และคนทั่วไปก็อยู่กับสถานการณ์แบบนี้มานานแล้วนับแต่หลังรัฐประหาร 2557 แม้ไม่มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ใหม่ ก็มีประกาศ คสช. แต่สิ่งที่ต่างคือ สเกลที่ใหญ่ขึ้น มีการใช้เครื่องไม้เครื่องมือในการตามจับได้สะดวกขึ้น

แม้แต่ความเห็นทั่วไปที่วิจารณ์ธุรกิจ หรือกลุ่มคนต่างๆพูดถึงนักการเมืองหรือภาครัฐ ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย หากมีใครไม่พอใจก็ใช้ พ.ร.บ.คอมพ์ฉบับใหม่ฟ้องร้องกล่าวหาได้ หรือไม่ผิดกฎหมายก็สามารถบล็อกเว็บได้ ทั้งยังขยายไปถึงเรื่องลิขสิทธิ์ที่สามารถตีความให้ครอบคลุมเรื่องอื่นๆได้คือ “ขอบเขตของกฎหมายมันกว้างขึ้น ขอบเขตการควบคุมมากขึ้น ขอบเขตของเสรีภาพย่อมน้อยลง”

นายอาทิตย์ยังระบุถึงการตั้งศูนย์บล็อกว่า จะทำให้มีการปิดกั้นอย่างกว้างขวาง จากเดิมที่อาจมีขั้นตอน ต้องเดินทาง มีค่าใช้จ่ายในการกรอกแบบฟอร์ม เมื่อเป็นแบบรวมศูนย์ เจ้าหน้าที่สามารถทำทุกอย่างในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ส่งทีเดียวถึงทุกไอเอสพีก็ทำได้อย่างสะดวก การบล็อกหรือปิดกั้นเว็บหรือตัวเนื้อหาต่อไปนี้จึงเชื่อว่าจะมีการควบคุม ระงับ และลบมากขึ้น

ส่วนการใช้ดุลยพินิจและความสม่ำเสมอของคณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อส่งเรื่องขอคำสั่งบล็อกต่อศาลนั้น เปลี่ยนจากการใช้มติเอกฉันท์เป็นเสียงข้างมาก ซึ่งจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง เพราะไม่ใช่แค่ความไม่ยุติธรรมในแง่เสรีภาพในการแสดงออก แต่อาจมีการเลือกปฏิบัติเพิ่มขึ้น เพราะเปิดให้มีการตีความได้มากขึ้น ผู้ประกอบการที่สามารถเข้าถึงคณะกรรมการที่มีอำนาจตัดสินใจก็อาจได้เปรียบมากกว่ารายเล็กๆ

น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล หนึ่งในเครือข่ายพลเมืองเน็ต ซึ่งรณรงค์ให้แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เริ่มใช้ปี 2549 กล่าวว่า อาจกล่าวได้ว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่เป็นฉบับที่เลวร้ายที่สุดในสามโลก แม้หลายคนจะพูดว่าไม่ต้องกลัว ผู้บริสุทธิ์จะไม่เดือดร้อน แต่เกือบ 10 ปีที่มีกฎหมายนี้มาไม่แย่เท่าฉบับที่แก้ไขใหม่ ทั้งยังมีข้อมูลสถิติมากมายว่าถูกใช้เพื่อการกลั่นแกล้ง คุกคาม หรือปิดปากคนวิพากษ์รัฐ มากกว่าใช้ปราบอาชญากรรมคอมพิวเตอร์หลายเท่า ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยอมรับว่า คดีมาตรา 14 (ถูกใช้ควบกับกฎหมายหมิ่นประมาท) มีคนมาฟ้องและยังไม่ถึงศาลอีกกว่า 1,400 คดี

น.ส.สฤณียังกล่าวในบทความ (เว็บไซต์ The Momemtum) ว่า ในโลกจริงที่ชื่อประเทศไทย หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ลำพังการวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการทหาร การโพสต์ภาพขันแดงจากอดีตนายกรัฐมนตรี หรือเป็นแอดมินเพจล้อเลียน หรือเพจวิพากษ์วิจารณ์รัฐ ก็ถูกทางการจับกุมในข้อหายุยงปลุกปั่น นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงได้ทั้งสิ้น

ยังไม่นับว่าการบล็อกเนื้อหาตามร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่จะทำให้ผู้ประกอบการมองเห็นข้อมูลส่วนบุคคลของเราทั้งหมด ตั้งแต่การแชต ซื้อของออนไลน์ อีเมล์ ฯลฯ เพราะมอบอำนาจให้กระทรวงดิจิทัลฯสามารถออกมาตรการทางเทคนิคใดๆก็ได้เพื่อให้ผู้ประกอบการบล็อกเนื้อหา แปลว่ามีอำนาจ “ถอดรหัส” การสื่อสารได้ทุกกรณี โลกแห่งความจริงบางครั้งก็เลวร้ายยิ่งกว่าโลกในเกมมากมาย

ความจริงที่เลวร้าย

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และ พ.ร.ป.พรรคการเมืองจึงสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยภายใต้ระบอบพิสดารนั้น มีการพยายามออกกฎหมายต่างๆเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมฝ่ายที่เห็นต่างหรือเป็นปรปักษ์กับผู้มีอำนาจ โดยอ้างความมั่นคงและศีลธรรมของเหล่า “คนดี” แต่ก็หนีไม่พ้นข้อครหาเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มผู้มีอำนาจต้องการอยู่ในอำนาจให้นานและยั่งยืนที่สุด แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่ได้ตลอดชาติ และที่สำคัญธรรมชาติของการเมืองไม่ว่าระบอบใดก็ต้องมี 2 ขั้วที่ต่อสู้กัน เมื่อฝ่ายหนึ่งมีอำนาจ อีกฝ่ายก็ไม่มีอำนาจ

การออกกฎหมายและมาตรการต่างๆที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม หรือเพียงเพราะความเกลียดชังเคียดแค้นเพื่อทำลายฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในที่สุดก็ต้องถูกยกเลิกไปตามกาลเวลา จะช้าหรือเร็วเท่านั้น อย่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ไม่มีวันจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหากอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะผิดทั้งหลักการนิติรัฐ นิติธรรม และหลักสิทธิเสรีภาพ

แม้วันนี้กฎหมายจะรับใช้ผู้มีอำนาจ แต่ในอนาคตเมื่ออำนาจมีการเปลี่ยนแปลง ขั้วอำนาจใหม่ก็จะนำกฎหมายนั้นมาเล่นงานกลุ่มอำนาจเดิมและบรรดากองเชียร์ทั้งหลาย การใช้อำนาจกฎหมายหรือกลไกต่างๆที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม สุดท้ายก็จะกลับมาเล่นงานผู้ใช้อำนาจนั้นเอง เหมือนบรรยากาศบ้านเมืองที่สงบเงียบขณะนี้ เพราะอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่มาจากการรัฐประหาร อำนาจภายใต้กระบอกปืนที่ไม่มีใครกล้าจะออกมาคัดค้าน ทำให้ผู้มีอำนาจจะพูด จะคิด จะทำอะไรก็ได้

บ้านเมืองวันนี้จึงไม่ได้สงบเรียบร้อยและสงบสุขจากความสามัคคีปรองดอง แต่เกิดจากความกลัวมากกว่า รัฐประหารจึงไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริงของบ้านเมืองอย่างที่กล่าวอ้าง ทั้งยิ่งทำให้เกิดวัฏจักรความเกลียดชังและเคียดแค้นไม่สิ้นสุด

วงจรอุบาทว์ก็จะยังเกิดซ้ำซากไม่รู้จักจบจักสิ้น

สังคมไทยวันนี้ ไม่ว่าโลกออนไลน์หรือโลกแห่งความจริงจึงเลวร้ายและน่ากลัวยิ่งนัก!??


You must be logged in to post a comment Login