วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ผีถึงป่าช้า!

On December 16, 2016

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ถึงจะมีประชาชนมากกว่า 300,000 รายชื่อที่ร่วมกันคัดค้านร่างพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่

ถึงการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาวาระที่ 2-3 อันเป็นวาระสุดท้ายก่อนกฎหมายจะคลอดออกมาบังคับใช้จะถูกเลื่อนจากกำหนดเดิมในวันที่ 15 ธันวาคมออกไป

แต่หากจับสัญญาณจากผู้มีอำนาจทั้งหลายแหล่แล้วมองไม่เห็นว่าจะมีเหตุผลใดที่ร่างพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่จะไม่ผ่านการพิจารณาของ สนช.ในวาระที่ 3 ออกมามีผลบังคับใช้

เมื่อมองจากฉายาของสนช.ที่ว่าเป็นสภาฝักถั่ว เป็นสภาที่ทำงานเพื่อตอบสนองต่อนโยบายของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน และอง์ประกอบของสนช.เต็มไปด้วยคนของรัฐ ทั้งที่ยังรับราชการอยู่และเกษียณอายุไปแล้ว

สัญญาณจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. นั้นชัดเจนว่า จำเป็นต้องมีพ.ร.บ.คอมพ์ฉบับใหม่ เพื่อสกัดกั้นข้อมูลด้านลบที่มาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการหมิ่นสถาบัน พร้อมขอประชาชนว่าอย่าหลงเชื่อข้อมูลบิดเบือนที่ใช้ปลุกระดมต่อต้านพ.ร.บ.คอมพ์ และยืนยันว่ารัฐบาลไม่ต้องการลิดรอนสิทธิใดๆ

ขณะผู้มีหน้าที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงอย่างผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์ กองทัพบก พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ ยืนยันว่ากฎหมายใหม่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศเพราะแก้ไขของเดิมให้มีความทันสมัยต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน

“ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล หรือคุกคามสิทธิส่วนบุคคลในโลกไซเบอร์ตามที่มีคนบางกลุ่มพยายามสร้างกระแสบิดเบือนเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อและคัดค้าน ตรงกันข้ามกฎหมายนี้จะเป็นประโยชน์ด้านการคุ้มครอง และให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนทั่วไป และผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ รวมทั้งเป็นมาตรการทางกฎหมาย เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบดิจิทัลของประเทศด้วย อยากขอว่าศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน อย่าไปเชื่อกระแสบิดเบือนทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ ซึ่งเป็นเวลาที่คนไทยทั้งชาติอยู่ในความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งต้องการความรัก สามัคคี และกำลังใจในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กลับคืนมาโดยเร็ว ”

ส่วนความเห็นของคนกลางๆอย่าง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชี้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องเลือกระหว่างความมั่นคงสูงสุด กับ ความเสี่ยงในการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือจะเอาเรื่องสิทธิส่วนบุคคลเป็นหลัก แล้วสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคง

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้นเห็นด้วยกับการแก้กฎหมายเพื่อเล่นงานพวกที่เผยแพร่ข้อมูลกระทบต่อความมั่งคง แต่ภาครัฐก็ต้องให้ความมั่นใจการบังคับใช้กฎหมายว่าจะเป็นอย่างตรงไปตรงมาไม่บิดเบือน

“จะทำอย่างไรที่จะมาหาทางออกให้ทุกคนเข้าใจร่วมกัน แล้วจะไม่มีปัญหาในการที่จะบิดเบือนการใช้กฎหมาย ทุกวันนี้คนเป็นแอดมิน หรือแม้กระทั่งคนเล่นโซเชียลมีเดีย บางทีก็ยังไม่ค่อยแน่ใจเลยว่า ตกลงมันผิด หรือไม่ผิด เพราะเวลาเรารับข้อมูลมา เราไม่รู้ว่ามันถูกบิดเบือนมาหรือไม่”

สรุปปัญหาในตอนนี้คือฝ่ายรัฐเห็นว่าจำเป็นเพราะเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ฝ่ายคัดค้านห่วงว่าจะไปจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมาเกินไป และอาจมีปัญหาต่อการบังคับใช้เพราะอาจทำให้เกิดกรณีทำความผิดโดยไม่รู้ตัวเกิดขึ้นได้โดยง่าย เพียงแค่แชร์หรือคอมเมนต์ข้อความต่างๆที่มีคนเอามาเผยแพร่ เพราะอาจถูกตีความได้ว่าเป็นการเสนอข้อมูลที่บิดเบือน ซึ่งเป็นคำขยายความเพิ่มเติมจากกฎหมายเก่าที่ใช้คำว่าเผยแพร่ข้อมูลเท็จ

อย่างไรก็ตาม สภาพของพ.ร.บ.คอมพ์ฉบับใหม่นี้ เหมือนผีถูกหามมาถึงป่าช้า อย่างไรเสียก็ต้องเผาหรือต้องฝัง คงจะชะลอหรือทบทวนอะไรไม่ได้แล้ว เพราะผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญมาแล้ว ที่สำคัญสภาชุดนี้ไม่มีวุฒิสภามาคอยกลั่นกรองกฎหมายอีกชั้นหนึ่งเหมือนการเมืองปรกติ

ถึงจะลงชื่อกันเป็นล้าน คัดค้านกันให้ตายก็ผ่านแน่นอน ยกเว้นแต่ว่าจะมีผู้มีอำนาจสั่งให้เป็นอย่างอื่น ซึ่งก็คงเป็นไปได้ยาก


You must be logged in to post a comment Login