วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

แจงข้อเท็จจริงก่อสร้างบริเวณแยกรัชโยธิน

On December 5, 2016

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เผยข้อเท็จจริง กรณีการรื้อสะพานลอยข้ามแยกรัชโยธิน ดังนี้
1. ทำไมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือสร้างข้ามดอนเมืองโทลล์เวย์ สร้างข้ามสะพานบริเวณห้าแยกลาดพร้าว สร้างข้ามสะพานบริเวณวงเวียนหลักสี่ได้ แต่ไม่สามารถสร้างข้ามสะพานรัชโยธินได้
คำชี้แจง เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือฯ ได้ใช้พื้นที่บริเวณเกาะกลางของถนนพหลโยธินสำหรับการก่อสร้างฐานรากและเสารถไฟฟ้า จึงส่งผลให้ช่องจราจรของถนนพหลโยธินบริเวณแยกรัชโยธินลดลงจากเดิม ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการรองรับปริมาณจราจรของทางแยกลดลง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องสร้างสะพานลอยรถยนต์ข้ามแยกรัชโยธินตามแนวถนนพหลโยธินเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาจราจรของแยกรัชโยธินอย่างสมบูรณ์ หากไม่รื้อสะพานรัชโยธินและไม่สร้างสะพานรถยนต์ตามแนวถนนพหลโยธินในเวลานี้ ก็จะก่อให้เกิดปัญหาจราจรบริเวณแยกรัชโยธินในอนาคตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมาดำเนินการแก้ไขปัญหาในภายหลัง ทั้งนี้ เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องก่อสร้างสะพานข้ามแยกในแนวถนนพหลโยธิน ก็พบปัญหาว่า สะพานรถยนต์ตัวใหม่ที่อยู่ใต้ทางวิ่งรถไฟฟ้าตามแนวถนนพหลโยธินนี้จะมีความสูงระดับเดียวกันกับสะพานข้ามแยกรัชโยธินเดิมตามแนวถนนรัชดาภิเษก จึงจำเป็นต้องรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธินดังกล่าว
รูปแบบการก่อสร้างบริเวณแยกรัชโยธินดังกล่าวเป็นรูปแบบ Ultimate Design ได้ผ่านการพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แล้ว โดยเห็นว่าเป็นรูปแบบการก่อสร้างบริเวณแยกรัชโยธินที่ดีที่สุด สามารถแก้ปัญหาจราจรบริเวณแยกรัชโยธินได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จบริเวณแยกรัชโยธินจะมีทางสำหรับรถยนต์ 3 ระดับ และทางวิ่งรถไฟฟ้า 1 ระดับ รวม 4 ระดับ (รูปที่ 1) ดังนี้
1) อุโมงค์ทางลอดตามแนวถนนรัชดาภิเษก (ต่ำกว่าระดับถนนประมาณ 7.50 เมตร)
2) ถนนระดับพื้นดิน (ตามแนวถนนพหลโยธินและถนนรัชดาภิเษก)
3) สะพานข้ามแยกรัชโยธินตามแนวถนนพหลโยธิน (สูงกว่าถนนประมาณ 8.50 เมตร)
4) ทางวิ่งรถไฟฟ้าตามแนวถนนพหลโยธิน (สูงกว่าถนนประมาณ 16 เมตร)
หากไม่รื้อสะพานรัชโยธินเดิมแล้วสร้างสะพานรถยนต์ตัวใหม่ตามแนวถนนพหลโยธินข้ามสะพานรัชโยธินเดิม (รูปที่ 2)สถานีรถไฟฟ้าที่อยู่ใกล้แยกรัชโยธิน ได้แก่ สถานีพหลโยธิน 24 (N10) และสถานีรัชโยธิน (N11) จะอยู่ห่างกันประมาณ 750 เมตร หากจะก่อสร้างสะพานรถยนต์ตัวใหม่ตามแนวถนนพหลโยธินข้ามสะพานรัชโยธินเดิม สะพานตัวใหม่ตามแนวถนนพหลโยธินจะต้องมีความสูงประมาณ 16 เมตร และเชิงทางลาดของสะพานทั้งสองด้านจะมีความลาดชันสูงมาก ไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางวิศวกรรมและไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนน (รูปที่ 3) ดังนั้นแนวทางเลือกดังกล่าวข้างต้นจึงไม่มีความเหมาะสมที่จะนำมาดำเนินการต่อไป
ด้วยเหตุนี้รูปแบบการก่อสร้างบริเวณแยกรัชโยธินที่จะทำการก่อสร้างโดยรื้อสะพานรัชโยธิน สร้างสะพานรถยนต์ข้ามแยกตามแนวถนนพหลโยธิน สร้างอุโมงค์ทางลอดทดแทนตามแนวถนนรัชดาภิเษกและสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าตามแนวพหลโยธิน เป็นรูปแบบการก่อสร้างที่ดีที่สุดซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาจราจรบริเวณแยกรัชโยธินได้อย่างยั่งยืน

2 งานก่อสร้างบริเวณแยกรัชโยธินจะใช้เวลานานเท่าใด
คำชี้แจง การรื้อสะพานรัชโยธินจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน และจะเร่งสร้างสะพานลอยรถยนต์ข้ามแยกตัวใหม่ตามแนวถนนพหลโยธินให้แล้วเสร็จภายในต้นปี 2561 และจะเปิดให้ประชาชนใช้งานเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านจราจร สำหรับอุโมงค์ทางลอดทดแทนในแนวถนนรัชดาภิเษกจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 2 ปี หรือสามารถเปิดให้ใช้งานได้ภายในต้นปี 2562

3. การเตรียมการก่อนการก่อสร้างบริเวณแยกรัชโยธินได้มีการดำเนินการอย่างไรบ้าง
คำชี้แจง รฟม.ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กทม. ธนาคารไทยพาณิชย์ สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการขยายผิวจราจรของถนนรัชดาภิเษกบริเวณแยกรัชโยธินทั้ง 4 ด้าน เพื่อเพิ่มช่องจราจรจากเดิม 2 ช่องจราจร เป็น 3 ช่องจราจร ให้เสร็จเรียบร้อยก่อนจะเข้าดำเนินงานก่อสร้างบริเวณแยกรัชโยธิน

4. การก่อสร้างบริเวณแยกรัชโยธินโดยรื้อสะพานรัชโยธินเป็นการดำเนินการที่สิ้นเปลืองงบประมาณ และเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน
คำชี้แจง งานก่อสร้างบริเวณแยกรัชโยธิน (งานรื้อสะพานรัชโยธินงานก่อสร้างสะพานข้ามแยกตามแนวถนนพหลโยธินงานก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทดแทนและงานก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้า) เป็นเนื้องานส่วนหนึ่งของงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต สัญญาที่ 1 ซึ่ง สนข. และ กทม. ได้ออกแบบไว้ตั้งแต่ปี 2551 เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในระยะยาว และต่อมา รฟม. ได้เข้ามาดำเนินงานก่อสร้างโครงการฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 และ รฟม. ได้ประมูลคัดเลือกผู้รับจ้างเข้ามาดำเนินงานก่อสร้างโดยมีเนื้องานตามที่ สนข. และ กทม. ออกแบบเอาไว้ตั้งแต่ต้น จึงไม่มีกรณีการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนแต่อย่างใด
สำหรับชิ้นส่วนโครงสร้างสะพานที่รื้อออกไปซึ่งเป็นโครงสร้างเหล็กนั้น กทม.จะพิจารณานำชิ้นส่วนโครงสร้างสะพานไปก่อสร้าง/ติดตั้งเป็นสะพานลอยข้ามแยกในบริเวณทางแยกอื่นที่เหมาะสม เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณและการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครต่อไป


You must be logged in to post a comment Login