วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ประหารนักการเมือง

On November 3, 2016

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ท่ามกลางฝุ่นควันฟุ้งตลบอบอวลเรื่องราคาข้าว ที่ทำท่าว่าจะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไปตามแนวทางที่เคยๆ ทำกันมา ไว้ปีหน้ามีปัญหาก็ค่อยแก้กันใหม่ กลับมีข่าวหนึ่งที่น่าสนใจทะลุกลางปล้องขึ้นมา

ข่าวที่ว่าการให้สัมภาษณ์ของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกมาเปิดเผยถึงความคืบหน้าการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก ที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง

ดูเหมือนว่า กรธ.ยังมุ่งใช้ยาแรงกับนักการเมืองและพรรคการเมือง จะด้วยจากความมีอคติกับนักการเมืองว่าเป็นคนชั่ว คนไม่ดี มุ่งแต่แสวงหาผลประโยชน์หรืออะไรก็ตาม แต่แนวทางการยกร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับพรรคการเมืองมีความน่าสนใจ

น่าสนใจเพราะ กรธ. กำหนดแนวทางยุบพรรคการเมืองเอาไว้ 3 ข้อคือ

1.เป็นปฏิปักษ์ ใช้อำนาจ หรือรับเงิน ล้มล้างการปกครอง

2.รับเงินจากต่างด้าว

และ 3.รับเงินเพื่อซื้อขายตำแหน่ง

ผู้ที่จะตัดสินยุบพรรคการเมืองคือศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ที่มีอำนาจส่งฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญคืออัยการสูงสุด โดยกำหนดเงื่อนไขว่าอัยการสูงสุดต้องพิจารณาส่งฟ้องภายใน 30 วันหลังจากมีผู้มายื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคการเมือง หากสั่งฟ้องไม่ทันตามกำหนดให้ผู้ยื่นคำร้องสามารถยื่นฟ้องคดีได้เองโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

อีกทางหนึ่งก็ให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สอบสวนเพื่อยุบพรรคการเมืองที่ทำผิดเงื่อนไข 3 ข้อได้ แต่กรณีของ กกต.จะไม่กำหนดเวลายื่นฟ้อง

หลักการเกี่ยวกับการยื่นฟ้องไม่ถือว่าใหม่

ที่ใหม่คือบทกำหนดโทษนักการเมืองที่พรรคถูกยุบ จากเดิมที่ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคยกพวง ของใหม่จะลงโทษเฉพาะผู้ที่กระทำความผิดเท่านั้น โดยจะเป็นการตัดสิทธิ์ตลอดชีวิตห้ามมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก

อีกประเด็นที่เพิ่มเข้ามาใหม่และถือว่าเป็นยาแรงคือจะให้มีโทษทางอาญาด้วย โดยโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตในฐานความผิดล้มล้างการปกครอง ซื้อขายตำแหน่ง เพราะถือว่าเป็นการทำลายระบบ

กรณีนี้น่าสนใจตรงเรื่องการตีความ โดยเฉพาะกรณีล้มล้างการปกครองว่าการกระทำเช่นใดจึงถือว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

เราเคยมีบทเรียนมาแล้วจากความขัดแย้งที่ผ่านมา ที่มีการใช้ข้อหาล้มล้างการปกครองฟ้องร้องกันระหว่างพรรคการเมือง เช่น กรณีพรรคเพื่อไทยยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าไม่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

หาก กรธ.ไม่ต้องการให้นำประเด็นนี้ไปเล่นการเมือง หรือฟ้องมั่วเป็นคดีรกศาล ควรเขียนกฎหมายให้ชัดเจนว่าการกระทำใดถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง เช่น การจัดชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้งถือเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ หรือการจัดชุมนุมเพื่อเปิดทางให้มีการทำรัฐประหารถือเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่

ส่วนการซื้อขายตำแหน่งที่จะให้มีโทษทางอาญาถึงขั้นประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตก็ไม่ควรใช้บังคับเฉพาะนักการเมือง เพราะการซื้อขายตำแหน่งมีอยู่ทุกระดับในวงราชการ ตั้งแต่ระดับตำบลจนถึงระดับประเทศ จึงควรเสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายที่มีโทษในระดับเดียวกันออกมาบังคับใช้กับข้าราชการทุกระดับด้วย

ไม่ว่าจะล้มล้างการปกครองหรือซื้อขายตำแหน่งไม่ได้เกิดขึ้นในวงการเมืองเพียงกลุ่มเดียว แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของหน่วยงานรัฐ

ถ้ามุ่งแต่จะใช้ยาแรงกับฝ่ายการเมืองเพียงฝ่ายเดียวจะเป็นการแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก ทำให้ไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่ต้องการ


You must be logged in to post a comment Login