วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

พุทธศาสนาไม่เป็นอุปสรรคประชาธิปไตยจริงหรือ? / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On September 26, 2016

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

มิตรสหายบางคนมักหงุดหงิดเวลาเห็นผมวิจารณ์ว่า “พุทธศาสนาเป็นอุปสรรคประชาธิปไตย” เขาแย้งว่าในประเทศเสรีประชาธิปไตยไม่ได้ถือว่าศาสนาใดๆเป็นอุปสรรคประชาธิปไตย แต่ถือว่าความเชื่อทางศาสนาเป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคล แต่ข้อเท็จจริงคือ ในสังคมเสรีประชาธิปไตยศาสนาต่างๆถูกนำมาอยู่ภายใต้ “กติกาเสรีประชาธิปไตย” แล้ว ไม่มีศาสนาใดๆมีอภิสิทธิ์ “อยู่เหนือ” กติกานี้ได้ เช่น ต้อง “แยกศาสนาจากรัฐ” คือให้องค์กรของทุกศาสนาเป็นเอกชนและถูกตรวจสอบความโปร่งใสทางการเงินเท่าเทียมกัน นักบวชที่มีรายได้ตามเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็ต้องจ่ายภาษี เป็นต้น

ที่สำคัญไม่มีการอ้างศาสนาต่อสู้ทางการเมืองสนับสนุนอำนาจเผด็จการใดๆ หากจะมีการอ้างศาสนาในทางการเมืองก็อ้างในทางสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ถ้ามีการอ้างศาสนาเหยียดผิว เหยียดเพศ ก็จะถูกต่อต้านจากสังคม

บางครั้งอาจมีการอ้างความเชื่อทางศาสนาต่อต้านการออกกฎหมายทำแท้งเสรี แต่ก็อ้างภายใต้ “กติกาที่ฟรีและแฟร์” ตามระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายที่เห็นต่างย่อมมีเสรีภาพที่จะโต้แย้งการอ้างศาสนาเช่นนี้ได้เต็มที่

แต่การอ้างพุทธศาสนาทางการเมืองในบ้านเราไม่ได้อ้างภายใต้กติกาที่ฟรีและแฟร์ ถ้าอ้างสนับสนุนขบวนการนักศึกษาและประชาชนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยก็มักจะถูกเพ่งเล็ง ปราบปรามจากอำนาจรัฐ เช่น ช่วงประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 มี “พระฝ่ายซ้าย” ตีความพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตยและสังคมนิยม ปรากฏว่าถูกพระผู้ใหญ่ตำหนิว่า “ลืมผ้าเหลือง” บ้าง ถูกชนชั้นปกครองอภิปรายในสภาว่า “ทำลายความมั่นคงของประเทศชาติและพระพุทธศาสนา” บ้าง สุดท้ายพระฝ่ายซ้ายก็ถูกไล่ออกจากวัด

ส่วน “พระฝ่ายขวา” อย่าง “กิตติวุฑโฒภิกขุ” ที่ต่อต้านพระฝ่ายซ้ายและคอมมิวนิสต์ สนับสนุน “กลุ่มนวพล” และพูดปลุกเร้าความรุนแรงว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” นอกจากไม่ได้ถูกดำเนินการเอาผิดใดๆในทางสงฆ์แล้ว พระผู้ใหญ่และรัฐบาลก็ไม่ได้ตำหนิใดๆด้วย เช่นเดียวกับในปัจจุบันถ้าพระหรือชาวพุทธอ้างพุทธศาสนาในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อปกป้อง “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” นอกจากไม่มีความผิดใดๆยังกลายเป็นพระดี คนดีของสังคมอีกด้วย

ฉะนั้นความเป็นจริงของศาสนากับการเมืองในบ้านเรากับสังคมเสรีประชาธิปไตยจึงต่างกันอย่างสิ้นเชิง ถ้าเราไม่อยากให้พุทธศาสนา (หรือศาสนาใดๆ) เป็นอุปสรรคประชาธิปไตยก็ควรจะทำตามข้อเรียกร้องที่ผมเสนอมาตลอดคือ ให้ “แยกศาสนาจากรัฐ” เพื่อให้ศาสนาอยู่ใต้กติกาเสรีประชาธิปไตยแบบสังคมอารยะ

ถ้ายังไม่แยกศาสนาจากรัฐ ยังมีศาสนจักรที่พระสงฆ์มีตำแหน่ง ยศศักดิ์ และอำนาจทางกฎหมายแบบที่เป็นอยู่นี้ ต่อให้เราตีความว่าคำสอนหรือหลักการพุทธศาสนาไม่ได้ขัดกับประชาธิปไตย ระบบสงฆ์ตามธรรมวินัยมีความเป็นประชาธิปไตย หรือศีลธรรมพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย ฯลฯ ก็ไม่มีความหมายในทางปฏิบัติจริงแต่อย่างใด ในเมื่อตัวโครงสร้างของระบบองค์กรพุทธศาสนาขัดกับกติกาเสรีประชาธิปไตย

เหมือนเรายกย่องว่าท่านผู้นำแห่งประเทศเกาหลีเหนือเป็น “นักประชาธิปไตย” มันไม่ได้มีความหมายเป็นจริงใดๆเลยเมื่อสถานะอำนาจท่านผู้นำไม่ได้อยู่ภายใต้การตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบได้ตามกติกาเสรีประชาธิปไตย

ความจริงแล้วพระสงฆ์และชาวพุทธที่ยืนยันว่าคำสอน หลักการที่แท้จริงของพุทธศาสนาไม่ได้เป็นอุปสรรคประชาธิปไตย แถมยังสนับสนุนส่งเสริมประชาธิปไตย ควรช่วยกันนำคำสอน หลักการของพุทธศาสนาที่เป็นแก่นแท้นั้นมาแก้ปัญหาโครงสร้างอำนาจและวัฒนธรรมของคณะสงฆ์ไทยให้เปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับเสรีประชาธิปไตยให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก

เพราะถ้าพุทธศาสนามีคำสอน หลักการที่ไม่ขัดแย้ง ไม่เป็นอุปสรรคประชาธิปไตย หรือมีคำสอน หลักการที่สนับสนุนส่งเสริมประชาธิปไตยอยู่จริง แต่ไม่สามารถนำคำสอน หลักการนั้นมาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจและวัฒนธรรมคณะสงฆ์ให้เป็นประชาธิปไตยได้ ก็ไม่มีทางที่จะนำคำสอนหรือหลักการพุทธศาสนามาสนับสนุนและส่งเสริมประชาธิปไตยของสังคมโดยรวมได้

ในทางประวัติศาสตร์ไม่เคยมีองค์กรหรือสถาบันศาสนาใดๆเปลี่ยนแปลงมาอยู่ใต้กติกาเสรีประชาธิปไตยได้จากการนำคำสอน หลักการทางศาสนาของตนมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาเอง

ทุกศาสนาที่เปลี่ยนมาอยู่ภายใต้กติกาเสรีประชาธิปไตยได้ล้วนเป็นผลของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองของประเทศนั้นๆที่ตามมาด้วย “การแยกศาสนาจากรัฐ” หรือเปลี่ยนองค์กรศาสนาที่เคยสนับสนุนโครงสร้างอำนาจเผด็จการให้มาถูกควบคุมตรวจสอบภายใต้กติกาเสรีประชาธิปไตย

เพราะศาสนาในสังคมตะวันตกเขาเปลี่ยนแปลงได้เช่นนั้น ศาสนาจึงไม่ได้เป็นอุปสรรคประชาธิปไตย และศาสนาเองก็ถูกตีความใหม่ คือตีความไปในทางสนับสนุนเสรีภาพและความเท่าเทียม

ในบ้านเราถ้ายืนยันว่าพุทธศาสนาในแง่ตัวคำสอน หลักการ ไม่ได้เป็นอุปสรรคประชาธิปไตย สิ่งแรกที่ต้องพิสูจน์ก็คือ ต้องอ้างอิงคำสอนหรือหลักการนั้นสนับสนุนเสรีภาพและความเท่าเทียม และอ้างเพื่อแยกศาสนาจากรัฐ ให้สถาบันพุทธศาสนาเปลี่ยนโครงสร้างมาอยู่ใต้กติกาเสรีประชาธิปไตยให้ได้จริงๆเท่านั้น

คำสอนหรือหลักการพุทธศาสนาที่ว่าไม่เป็นอุปสรรคประชาธิปไตยจึงจะมีความหมายในทางปฏิบัติจริง!


You must be logged in to post a comment Login