วันพฤหัสที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

อึกทึกดีกว่างุบงิบ

On September 12, 2016

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การเมืองสัปดาห์นี้โฟกัสไปที่การทำกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ แต่ฉบับที่คนทั่วไปให้ความสนใจมี 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการจัดเลือกตั้งตามโรดแม็ป ปลายปีหน้า

ส่วนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญว่าสอดคล้องกับผลประชามติของประชาชนหรือไม่ เป็นไปตามคาดว่าจะมีแม่น้ำแค่ 2 สายส่งความเห็นเกี่ยวกับคำถามพ่วงเรื่องอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่จะร่วมคัดเลือกคนเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วง 5 ปีแรกที่รัฐธรรมนูญบังคับใช้จะมีแค่ไหนอย่างไรไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ

แม่น้ำ 2 สายที่ว่าคือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่เป็นคนคิดคำถามพ่วง และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เป็นผู้พิจารณาอนุมัติคำถามพ่วงให้ใช้ทำประชามติ

ส่วนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่มีส่วนร่วมใดๆกับการคิดคำถามพ่วง จึงขอไม่ส่งความเห็น

กรณีนี้มีคำถามว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ ครม.ส่งความเห็นเรื่องคำถามพ่วงทั้งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ จริงๆแล้วศาลรัฐธรรมนูญต้องการฟังความเห็นครม.หรือว่าหัวหน้าครม. ที่มีอีกสถานะเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กันแน่

หากอยากรู้ความต้องการที่แท้จริงของ คสช.ว่าต้องการให้ ส.ว. 250 คน ที่ตัวเองแต่งตั้งมีอำนาจแค่ไหน อย่างไร จริงๆแล้วสามารถสอบถามกันในทางลับได้ ไม่จำเป็นต้องออกมติขอความเห็นให้เสียรูปมวย

อย่างไรก็ตาม หากมองอีกมุม การได้ความเห็นอย่างเป็นทางการ เป็นลายลักษณ์อักษร อาจทำให้การตัดสินชี้ขาดอำนาจหน้าที่ของส.ว.เกี่ยวกับการเลือกนายกรัฐมนตรีทำได้อย่างสบายใจมากกว่า

เมื่อ ครม.ไม่ส่งความเห็นก็ต้องดูว่าจะชี้ขาดออกมาอย่างไรหลังฟังความเห็นจาก สปท.และสนช.ที่จะส่งให้ในวันนี้ (12 ก.ย.)

ย้อนไปที่การทำกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง

ขณะนี้มีประเด็นโยนออกมาสู่สาธารณะจำนวนมากจนทำให้บางคนเกรงว่าจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน และทำให้เกิดบรรยากาศความขัดแย้ง เพราะมีทั้งที่เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง ไม่เกี่ยวข้อง และข้อเสนอจากคณะกรรมาธิการในสภา

อย่างไรก็ตาม การเสนอความเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์ที่อาจดูเหมือนเกิดความขัดแย้งนั้นน่าจะมีประโยชน์มากกว่าให้ผู้เกี่ยวข้องงุบงิบทำกันเองโดยไม่เปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้ รับทราบ

การเปิดประเด็นให้สาธารณชนรับรู้ รับทราบ แม้จะเกิดบรรยากาศของการถกเถียงบ้าง แต่หากจับข้อถกเถียงใส่ตะแกรงร่อนจะเห็นประเด็นที่เป็นประโยชน์ที่เกิดจากการแสดงความเห็นของฝ่ายต่างๆ ทั้งนักการเมือง พรรคการเมืองที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับกฎหมาย และความเห็นจากนักวิชาการ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ตลอดจนสื่อสารมวลชน

การทำให้เกิดบรรยากาศถกเถียง

แม้จะดูอึกทึกจนเป็นที่น่ารำคาญของผู้รักในความสงบอยู่บ้าง แต่ก็ดีกว่าปล่อยให้งุบงิบทำกันเฉพาะในส่วนผู้เกี่ยวข้อง เพราะอาจทำให้คิดได้ไม่รอบด้านเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับการร่างรัฐธรรมนูญ

การถกเถียงกันด้วยเหตุผลไม่ใช่ความขัดแย้ง ขออย่าไปกลัว

ความอึกทึกในการทำกฎหมายลูกประกอบร่างรัฐธรรมนูญ หากรู้จักรับฟัง จับประเด็น จะทำให้ได้กฎหมายลูกออกมาเป็นที่ยอมรับมากกว่างุบงิบทำอย่างแน่นอน


You must be logged in to post a comment Login