วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

“เรามาถึงวันนี้ได้อย่างไร” โดยมงคล วัชรางค์กุล

On October 15, 2021

เรามาถึงวันนี้ได้อย่างไร เมืองไทยติดเชื้อโควิด วันละสองหมื่นกว่าราย ตายวันละสองร้อยกว่าราย

มเคยเขียนในเฟสบุ๊คไว้ตั้งแต่ตอนก่อนสงกรานต์ที่มีคนติดเชื้อในเมืองไทยวันละ 500 – 700 คน ว่า

อัตราติดเชื้อจะเพิ่มเป็นวันละหลักพัน จนถึงวันละ 7,000 – 8,000 คน แล้วจะติดเชื้อเพิ่มเกินวันละ 10,000 คน แล้วทะลุเกินวันละ 20,000 คน

อัตราคนตายจะเพิ่มจากวันละ 20 – 30 คน เป็นวันละ 70 – 80 คน จนคนตายเกินวันละ 100 – 200 คน

ต่อไปเมืองไทยจะต้องล็อคดาว์นกรุงเทพฯเหมือนที่ฟิลิปปินส์ล็อคดาว์นมนิลา

แล้วเมืองไทยก็มาถึงวันนี้

ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ 3 ส.ค. 2564 ติดเชื้อ 19,843 ราย ( ไม่รวม ATK 548 ราย ) เสียชีวิต 235 ราย

อัตราติดเชื้อบางวันทะลุเกิน 20,000 ราย

เชื่อกันว่า ตัวเลขจริงจะสูงกว่านี้มาก

เมืองไทยไม่ประกาศล็อคดาว์นกรุงเทพฯแต่ใช้คำอื่นหลีกเลี่ยงคำว่าล็อคดาว์น แต่มีความหมายปิดกั้นการเข้าออกกรุงเทพฯโดยสิ้นเชิง

เรามาถึงวันนี้ได้อย่างไร

ต้องยอมรับว่าปัญหาวิกฤติโควิด-19 ในเมืองไทยมีต้นตอจากการขาดแคลนวัคซีนฉีดให้ประชาชน แถมวัคซีนที่มีก็มีคุณภาพไม่เพียงพอ

เดือน ก.พ. 2564 สถานฑูตอินเดียในกรุงเทพฯ แจ้งความจำนงค์จะบริจาค “ วัคซีนการฑูต” ( Politic Vaccine ) ให้ ก็ไม่รับ

คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตร.ม.ต.คลังโพสต์เฟสบุ๊คเรื่องจดหมายจากแอสตร้า ระบุว่า ทีมสาธารณสุขเคยบอกในการประชุมกับเขาเมื่อ 7 ก.ย.2563 ว่า เมืองไทยจะต้องการวัคซีนเพียงเดือนละ 3 ล้านโด๊ส และเขาได้เพิ่มให้แล้วเป็นสองเท่า

จดหมายเขาระบุด้วยว่า ในการติดต่อกันครั้งนั้น เขาได้แนะนำให้ไทยขอใช้สิทธิในโครงการ COVAX ของ UN

แต่ไม่ปรากฏว่า รัฐบาลไทยสนใจเข้า COVAX

เพิ่งจะมีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่า แม้แต่ผู้บริหาร AstraZeneca ก็มีคำแนะนำให้รัฐบาลไทยเข้าร่วมโครงการ COVAX ตั้งแต่เดือน ก.ย. ปีที่แล้ว แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลไทยสายตาสั้นไม่เห็นความสำคัญของ COVAX

ในขณะที่มี 190 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมโครงการ COVAX

กรุงเทพธุรกิจ 29 พ.ค.2564 เสนอข่าว นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆฆกกระทรวงต่างประเทศ เผยเหตุผลไทยเปลี่ยนท่าทีเข้าร่วมโครงการCOVAX Facility ของ WHO เพื่อหวังจัดหาวัคซีนให้พอเพียงกับประชาชน

COVAX Facility เป็นโครงการให้ยืมวัคซีนกันในระหว่างประเทศสมาชิก โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่า ไทยได้ติดต่อขอยืมวัคซีนไปยังหลายประเทศ มีสองประเทศที่ตอบมาคือออสเตรเลียกับเกาหลีที่บอกว่า ประเทศเขาก็มีวัคซีนไม่เพียงพอเหมือนกัน

ในความเป็นจริง COVAX Facility เกิดขึ้นแล้ว เมื่อเกาหลีขอยืมวัคซีนไฟเซอร์จากอิสราเอลมาฉีดให้คนเกาหลีก่อน แล้วจะใช้คืนเมื่อวัคซีนไฟเซอร์ล็อตของเกาหลีมาถึง

ดีลของอิสราเอลและเกาหลีเกิดขึ้น เพราะทั้งสองประเทศต่างเป็นสมาชิก COVAX

ยังไม่มี Room ให้ขอยืมวัคซีนสำหรับไทย เพราะไทยไม่ใช่สมาชิก COVAX

มาดูกันว่า ไทยพลาดโอกาสอะไรบ้างจากการไม่เข้า COVAX เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

ฟิลิปปินส์ ได้รับแล้ว 4,584,000 โด๊ส AstraZeneca, 2,472,210 โด๊ส Pfizer-BioNTech, 3,240,850 โด๊ส Johnson & Johnson

มาเลย์เซีย ได้รับแล้ว 828,000 โด๊ส AstraZeneca, 1,000,000 โด๊ส Pfizer-BioNTech จากการบริจาคของอเมริกาผ่าน COVAX

มาเลย์เซีย สั่งจอง Pfizer 44,800,000 โด๊สจาก Pfizer เบลเยี่ยม, AstraZeneca 6,400,000 โด๊สจาก SK Bioscience เกาหลี, 6,400,000 โด๊สจาก Siam Bioscience ไทย ( แต่ต้องดีลกับบริษัทแม่ บริษัทไทยเป็นแค่ “ โรงงานรับจ้างผลิต ” )

กัมพูชา เป็นประเทศแรกในโลกที่ได้รับวัคซีนจาก COVAX 324,000 โด๊สเป็น AstraZeneca จากอินเดีย และได้รับ AstraZeneca บริจาคจากญี่ปุ่น

สปป.ลาว ได้รับ132,000 โด๊ส AstraZeneca อินเดีย, 100,620 โด๊ส Pfizer,ล่าสุดได้รับ Johnson & Johnson 1,008,000 โด๊ส

เวียดนาม ได้รับ AstraZeneca 811,000 โด๊ส, AstraZeneca 1,682,400 โด๊ส,

Moderna 2,000,040 โด๊ส บริจาคจากอเมริกา, จะได้รับจัดสรร AstraZeneca อีก4,176,000 โด๊ส

ค่าเสียโอกาสของไทยในการไม่ได้รับวัคซีนเนื่องจากไม่เข้าโครงการ COVAX เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านนั้นใหญ่หลวงยิ่งนัก

แต่ไทยยังโชคดีที่อเมริกา บริจาค Pfizer ให้ 1,500,000 โด๊ส ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นสมาชิก COVAX และจะบริจาคให้อีก 1,000,000 ล้านโด๊ส

และยังได้รับบริจาค AstraZeneca จากโรงงานญี่ปุ่นอีก 1,050,000 โด๊ส

ญี่ปุ่นบริจาค AstraZeneca ที่ผลิตในประเทศทั้งหมดให้ 15 ประเทศ

อังกฤษบริจาค AstraZeneca ให้ไทย 415,000 โด๊ส

การติดเชื้อวันละประมาณ 20,000 รายและกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยเป็นที่จับตาของชาวโลก พร้อมความกังขาว่าจะหลุดรอดจากวิกฤติได้อย่างไร

อเมริกา เตือนคนอเมริกันให้ระวังระดับ 3 “ คิดใหม่ก่อนเดินทาง “ ถ้าจะมาเมืองไทย เพราะเมืองไทยเต็มไปด้วยเชื้อไวรัส

ประชาชาติธุรกิจ 16 ก.ค.2564 พาดหัวว่า อียูถอด ” ไทย “ จากลิสต์ประเทศปลอดภัยจากโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในไทยมีสัดส่วนของผู้ติดเชื้อต่อจำนวนประชากรสูงเกินเกณฑ์ การถอดไทยออกนี้ทำพร้อมกับการถอดชื่อประเทศรวันดา

ความหมายนี้ คือคนไทยและคนรวันดาห้ามเดินทางเข้าอียู

ข่าวสด 15 ก.ค.2564 รายงานว่า“ เวิลด์ แบงค์ “ หั่น GDP ไทย ปี 64 ลดเหลือโต 2.2 % จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะโต 3.4 % เซ่นพิษโดวิด

ประชาชาติธุรกิจ 7 ก.ค. 2564 กกร.( คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ) หั่น GDP ปี 2564 เหลือ 0 – 1.5 % วัคซีนโควิดช้าตัวแปรเศรษฐกิจ

นิเคอิ 7 ก.ค. 2021 จัดอันดับประเทศที่จะฟื้นตัวจากโควิด-19 ไทยอยู่ในอันดับประเทศที่ 119 รองโหล่ อันดับโหล่ 120 มี 2 ประเทศคือนามิเบียและแอฟริกาใต้ การจัดอันดับนี้ดูจากการจัดการ 3 ประการคือ

  1. การจัดการแพร่ระบาด
  2. อัตราการฉีดวัคซีน
  3. การเคลื่อนไหวหรือการเดินทางของสังคม

จึงไม่มีข้อสงสัยเลยว่า การจัดการแพร่ระบาดและอัตราการฉีดวัคซีนของไทยจะอยู่ที่อันดับรองบ๊วยของโลก

เรามาถึงวันนี้ วันแห่งความทุกข์ยาก สลดหดหู่จากการติดเชื้อ จนระบบสาธารณสุขของประเทศรองรับไม่ไหว

เพราะการตัดสินใจผิดพลาดของรัฐบาล ไม่จัดเตรียมวัคซีนให้เพียงพอ

ทางแก้ไขมีทางเดียว คือต้องรีบจัดซื้อวัคซีนคุณภาพ ( ไม่ใช่ผูกขาดแต่วัคซีนจีน ) มาฉีดให้ประชาชนโดยรีบด่วน

เลิกซี้อเรือดำน้ำ เลิกซื้ออาวุธทุกชนิด เอาเงินมาซื้อวัคซีนสู้โควิดประการเดียว


You must be logged in to post a comment Login